ข่อยหยอง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นข่อยหยอง 4 ข้อ !

ข่อยหยอง

ข่อยหยอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Rinorea virgata (Thwaites) Kuntze (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Scyphellandra pierrei H. Boissieu) จัดอยู่ในวงศ์หน้าแมว (VIOLACEAE)[1]

สมุนไพรข่อยหยอง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ข่อยหิน เฮาสะท้อน เฮาะสะต้อน (เชียงใหม่), หัสสะท้อน (เชียงราย), ข่อยนั่ง (ลำปาง), ชาป่า (จันทบุรี), ข่อยป่า (ตราด), คันทรง คันเพชร (สุราษฎร์ธานี), ข่อยหยอง ผักกรูด (ประจวบคีรีขันธ์), หัสสะท้อน (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), กะชึ่ม, ข่อยเตี้ย, ข่อยหนาม, เป็นต้น[1]

หมายเหตุ : มีข้อมูลจากหลาย ๆ เว็บไซต์ระบุว่า ข่อยหยองนั้นมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Streblus ilicifolius (Vidal) Corner[2] ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นข้อมูลที่ผิด เพราะชื่อวิทยาศาสตร์ดังกล่าวนั้นเป็นของต้นข่อยหนาม ซึ่งเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น ที่มีความสูงได้ถึง 20 เมตร

ลักษณะของข่อยหยอง

  • ต้นข่อยหยอง จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงได้ประมาณ 10 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีเทาปนสีน้ำตาลอ่อน หรือเป็นสีเทาค่อนข้างขาว มีหนามแหลมยาวออกตามลำต้นและกิ่งก้าน ไม่มียาง เนื้อไม้เหนียว ส่วนบนค่อนข้างคดงอเป็นปุ่มปมและเป็นร่องเล็กน้อย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้กับทุกสภาพดิน ชอบความชื้นและแสงแดดในระดับปานกลาง เป็นพรรณไม้ที่ชอบขึ้นตามป่าบนเนินเขาทั่วทุกภาคของประเทศ มีถิ่นกำเนิดในแถบอินโดจีนและมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ที่ปากถ้ำวิมานจักรี จังหวัดสระบุรี และที่เขากระวาน จังหวัดจันทบุรี และตำบลทุ่งกร่าง[1],[2],[3]

ต้นข่อยหยอง

ข่อยหยอง

  • ใบข่อยหยอง ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน ใบมีลักษณะกลม ส่วนริมขอบใบจักไม่เรียบและมีหนามแหลม[1],[2]

ใบข่อยหยอง

  • ดอกข่อยหยอง ออกดอกเป็นช่อขนาดเล็ก มีสีขาวและเหลือง[3]
  • ผลข่อยหยอง ผลมีลักษณะกลม มีขนาดเท่าหัวเข็มหมุด ผิวผลเรียบ ผลอ่อนเป็นสีขาวหรือสีเทา เปลือกด้านในมียางสีขาว ผลเมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง[3]

สรรพคุณของข่อยหยอง

  • เนื้อไม้และรากใช้เป็นยารักษาโรคกษัย ไตพิการ (เนื้อไม้และราก)[1],[3]
  • ใช้ปรุงเป็นยาขับเมือกในลำไส้ (เนื้อไม้และราก)[1],[2]
  • ใช้ปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ (เนื้อไม้และราก)[1],[2]
  • ใบข่อยหยองมีรสเมาเฝื่อน ใช้ตำกับข้าวสารคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยาถอนพิษยาเบื่อยาเมา หรืออาหารแสลง (ใบ)[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ข่อยหยอง”.  หน้า 99.
  2. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “ข่อยหยอง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com.  [04 มิ.ย. 2015].
  3. คมชัดลึกออนไลน์.  (นายสวีสอง).  “ข่อยหยอง เนื้อ-รากเป็นยา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.komchadluek.net.  [04 มิ.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.biogang.net (by Phuphaman2)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด