10 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นขี้เหล็กเลือด !

10 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นขี้เหล็กเลือด !

ขี้เหล็กเลือด

ขี้เหล็กเลือด ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna timoriensis (DC.) H.S.Irwin & Barneby (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cassia timoriensis DC.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1],[3],[5]

สมุนไพรขี้เหล็กเลือด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้เหล็กคันชั่ง ขี้เหล็กตาซี ขี้เหล็กแดง ขี้เหล็กยายชี ขี้เหล็กปันช่าง บี้ตะขะ ช้าขี้เหล็ก ขี้เหล็กแมลงสาบ (เชียงใหม่), มะเกลือเลือด (ราชบุรี), กะแลงแง็น (นราธิวาส), ขี้เหล็กคันชั่ง ขี้เหล็กแดง (ภาคเหนือ), ขี้เหล็กดง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ขี้เหล็กป่า (ภาคตะวันออกเฉียงใต้), กะแลงแงน ขี้เหล็กนางชี ขี้เหล็กเลือด ช้าขี้เหล็ก (ภาคใต้), ปี้ตะขะ (ละว้า-เชียงใหม่), แมะขี้เหละที แมะแคะแหล่ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮองสอน), จี้ลีหลอย (เงี้ยว-แม่ฮองสอน) เป็นต้น[1],[3]

ลักษณะของขี้เหล็กเลือด

  • ต้นขี้เหล็กเลือด จัดเป็นพรรณไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีลักษณะคล้ายขี้เหล็กบ้าน ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 8-15 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลเข้ม ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลหรือสีเหลืองถึงสีเหลืองทองขึ้นปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เจริญเติบโตได้ในดินทั่วไป มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่ศรีลังกา พม่า กัมพูชา ลาว เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าราบ ป่าผลัดใบ ชายป่าที่แห้งแล้ง สองข้างถนน หรือบางครั้งพบขึ้นตามเขาหินปูน[1],[2],[3],[5]
  • ใบขี้เหล็กเลือด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกตรงข้ามกัน มีใบย่อยประมาณ 10-20 คู่ แกนกลางยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่ม ก้านใบประกอบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลมสั้น ๆ หรือเป็นติ่ง โคนใบมนหรือกลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-6 เซนติเมตร แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้านของแผ่นใบ ก้านใบย่อยสั้น ท้องใบเป็นสีแดง มีหูใบเป็นรูปติ่งหู ขนาดประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร[1],[2],[3]
  • ดอกขี้เหล็กเลือด ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงแบบหลวม ๆ โดยจะออกตามซอกใบ ยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร เกลี้ยงหรือมีขน ใบประดับเป็นรูปไข่ ปลายแหลม ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร หลุดร่วงได้ง่าย ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่ม ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายกลม ยาวไม่เท่ากัน โดยจะยาวประมาณ 0.7-1.5 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่มด้านนอก สำหรับกลีบดอกนั้นจะเป็นสีเหลืองสด กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปวงรีหรือรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร โคนกลีบดอกแหลม มีก้านกลีบสั้น ๆ ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน 2 อันมีขนาดใหญ่กว่า ก้านเกสรยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร อับเรณูยาวประมาณ 8-10 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้อีก 5 อัน มีอับเรณูขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย อับเรณูมีช่องเปิดที่ปลาย เกสรเพศผู้ที่ลดรูปจะมี 3 อัน ขนาดยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร รังไข่และก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง ยอดเกสรมีขนาดเล็ก โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม[1],[3],[5]

ดอกขี้เหล็กเลือด

  • ผลขี้เหล็กเลือด ผลมีลักษณะเป็นฝักขนาดเล็ก ฝักเป็นรูปแถบ แบน และเกลี้ยง ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-16 เซนติเมตร เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลเข้ม กระเปาะแตกได้ ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลหลายเมล็ด หรือประมาณ 10-30 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปรีแบนและเป็นมันวาว เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร โดยจะติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม[1],[3],[5]

ฝักขี้เหล็กเลือด

สรรพคุณของขี้เหล็กเลือด

  1. แก่นมีรสขม ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต (แก่น)[1],[2],[5]
  2. ใช้เป็นยาแก้กระษัย (แก่น)[1],[2],[5]
  3. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (แก่น)[1],[2],[5]
  4. แก่นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคสตรีที่มีโลหิตระดูเสีย เป็นยาล้างขับโลหิต (แก่น)[1],[2],[5]
  5. ใช้เป็นยาแก้ไตพิการ (แก่น)[1],[2],[5]
  6. เปลือกต้นมีรสขม ใช้เป็นยาแก้โรคหิด (เปลือกต้น)[1]
  7. ใช้เป็นยารักษาอาการปวดเอว แก้ปวดเมื่อย แก้เส้นปัตคาดบริเวณท้องน้อยและหน้าขาตึง (แก่น)[1],[2],[5]

ประโยชน์ของขี้เหล็กเลือด

  1. ใบอ่อนและดอกตูม ใช้รับประทานเป็นอาหารได้[2]
  2. ใช้ปลูกเป็นไม้เบิกนำ เจริญเติบโตได้ในดินทั่วไป ทนความแล้งได้ดี[3]
  3. ชาวขมุจะใช้เนื้อไม้หรือกิ่งนำมาใช้ในการก่อสร้าง ส่วนลำต้นนำไปใช้ทำฟืน[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “ขี้เหล็กเลือด (Kii Lek Lueat)”.  หน้า 66.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ขี้เหล็กเลือด”.  หน้า 145-146.
  3. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ขี้เหล็กเลือด”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [30 ม.ค. 2015].
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ขี้เหล็กเลือด”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [30 ม.ค. 2015].
  5. ฐานข้อมูลชนิดพรรณพืช พื้นที่เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี.  “ขี้เหล็กเลือด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.en.mahidol.ac.th/conservation/.  [30 ม.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.fca16mr.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด