ขี้เหล็กเทศ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นขี้เหล็กเทศ 44 ข้อ !

ขี้เหล็กเทศ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นขี้เหล็กเทศ 44 ข้อ !

ขี้เหล็กเทศ

ขี้เหล็กเทศ ชื่อสามัญ Coffea senna, Coffeeweed[2], Croton[6]

ขี้เหล็กเทศ ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna occidentalis (L.) Link (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cassia occidentalis L.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[2],[8]

สมุนไพรขี้เหล็กเทศ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้เหล็กเผือก ผักเห็ด ลับมืนน้อย หมากกระลิงเทศ (ภาคเหนือ), ขี้เหล็กผี ชุมเห็ดเล็ก พรมดาน (ภาคกลาง), ชุมเห็ดเทศ (ภาคใต้), ผักจี๊ด (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), กิมเต่าจี้ ม่อกังน้ำ (จีน), ว่างเจียงหนาน (จีนกลาง), คางเค็ด, ผักเค็ด, ผักเคล็ด, เลนเค็ด เป็นต้น[2],[3],[6],[7],[8]

ลักษณะของขี้เหล็กเทศ

  • ต้นขี้เหล็กเทศ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มเตี้ยอายุหลายปี มีความสูงได้ประมาณ 1-2.5 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นเกลี้ยง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10.4-12.74 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสีเขียวอมม่วง ไม่มีขน เนื้อไม้ตรงโคนต้นแข็ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ พบขึ้นเป็นวัชพืชกระจายอยู่ทั่วไปในเขตร้อนชื้น ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาคจนถึงระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตร โดยมักขึ้นทั่วไปในพื้นที่โล่ง ที่รกร้าง ที่แห้งแล้งตามไหล่เขา ริมน้ำลำคลอง และทำเลเลี้ยงสัตว์สาธารณะทั่วไป[2],[3],[4],[6]

ต้นขี้เหล็กเทศ

  • ใบขี้เหล็กเทศ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ มีใบย่อย 3-5 คู่ แกนกลางใบยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร มีต่อมรูปไข่ระหว่างก้านใบย่อย ส่วนก้านใบประกอบยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนานหรือรูปไข่แกมใบหอก แต่ละข้างไม่สมมาตรกัน ปลายใบแหลมยาว โคนใบกลม ส่วนขอบใบมีขนครุยและมีสีม่วงแดง แผ่นใบบางเกลี้ยง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร ผิวใบเป็นสีเขียวเข้มค่อนข้างนุ่ม หน้าใบและหลังใบไม่มีขน หลังใบเห็นเส้นกลางใบสีม่วงแดงนูนขึ้นชัดเจน ก้านใบด้านหน้ามีสีม่วงแดง ส่วนด้านหลังเป็นสีเขียวมีสีม่วงแดงประปราย ที่โคนก้านใบด้านในมีต่อมสีแดงเข้ม ก้านใบย่อยยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร หูใบเป็นขนแข็งและยาวได้ประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ร่วงได้ง่าย[1],[2],[3]

ใบขี้เหล็กเทศ

  • ดอกขี้เหล็กเทศ ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะสั้น ๆ ส่วนมากจะออกตามปลายกิ่ง มีประมาณ 2-4 ดอก มีใบประดับเป็นรูปแถบ ร่วงได้ง่าย ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 5-10 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบด้านนอกกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 มิลลิเมตร ส่วนกลีบด้านในเป็นรูปไข่ มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย ส่วนกลีบดอกเป็นสีเหลืองมี 5 กลีบ มีเส้นกลีบสีม่วงแซม แผ่นกลีบมีลักษณะเป็นรูปไข่ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบด้านนอกจะใหญ่กว่า ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร มีก้านกลีบสั้น ๆ ดอกมีเกสรเพศผู้ 9-10 อัน มี 2 อัน ก้านเกสรยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร อับเรณูยาวประมาณ 5-7 มิลลิเมตร 4 อัน ก้านเกสรยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร อับเรณูยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร มีช่องเปิดที่ปลาย เกสรเพศผู้ที่ลดรูปมี 3-4 อัน ก้านเกสรยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร อับเรณูมีขนาดเล็ก รังไข่มีขนสั้นหนานุ่ม ยอดเกสรมีขนาดเล็ก และจะเริ่มออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมตลอดจนถึงเดือนมกราคม[2],[3]

ดอกขี้เหล็กเทศ

  • ผลขี้เหล็กเทศ ผลมีลักษณะเป็นรูปฝักรูปแถบ แบน เกลี้ยง มีรอยแบ่งระหว่างข้อไม่ชัดเจน สีฝักอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนฝักแก่เป็นน้ำตาลและไม่แตก ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 0.7-0.8 เซนติเมตร และยาวได้ประมาณ 10-12 เซนติเมตร ปลายข้างหนึ่งจะมีลักษณะค่อนข้างแหลม ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลประมาณ 30-40 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลม แบน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-4 มิลลิเมตร[1],[2],[3],[8]

ผลขี้เหล็กเทศ

ชุมเห็ดเล็ก

เมล็ดขี้เหล็กเทศ

สรรพคุณของขี้เหล็กเทศ

  1. ชาวเขาเผ่าอีก้อ กะเหรี่ยงและลีซอ จะใช้รากหรือทั้งต้นขี้เหล็กเทศ นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย (ราก, ทั้งต้น)[1],[8]
  2. ใช้เป็นยาบำรุง บำรุงธาตุ รักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจ ด้วยการใช้เมล็ดที่นำมาคั่วให้จนหอมเกรียมแล้ว นำมาชงกับน้ำกิน (เมล็ด)[8]
  3. เปลือกต้นใช้ชงกับน้ำกินเป็นยารักษาโรคเบาหวาน (เปลือกต้น)[8]
  4. ใช้ลดความดันโลหิต ด้วยการใช้เมล็ดคั่ว นำมาบดเป็นผงกินครั้งละ 3 กรัม วันละ 3 ครั้ง หรือชงกับน้ำผสมกับน้ำตาลกรวดพอสมควร ใช้ดื่มแทนน้ำชาเป็นประจำก็ได้ (เมล็ด)[7],[8]
  5. ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากขี้เหล็กเทศ นำมาผสมกับข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เครือข้าวเย็น ต้นกระไดลิง ต้นมะกอกเผือก รากกรามช้าง รากเกล็ดลิ่น รากงิ้ว รากถั่วพู รากชุมเห็ดเทศ รากแตงเถื่อน รากปอขาว และรากฟักข้าว ใช้ฝนกับน้ำซาวข้าวกินเป็นยารักษารำมะนาด (ราก)[1]
  1. ใบใช้ตำพอกแก้ปวดศีรษะ ปวดฟัน (ใบ)[1],[5] หรือจะใช้ฝักและเมล็ดหรือทั้งต้นและใบนำมาต้มกับน้ำกินก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะได้เช่นกัน (ฝักและเมล็ด, ทั้งต้นและใบ)[8] จากการใช้รักษาอาการปวดศีรษะเรื้อรัง โดยใช้ใบสดประมาณ 20 กรัม และเนื้อหมูอีก 250 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินวันละ 1 ตำรับ จากการรักษาคนไข้จำนวน 42 ราย พบว่าได้ผล 36 ราย ส่วนที่เหลืออีก 6 ราย ไม่ได้ผล และจากการติดต่อสอบถามคนไข้ที่หายจากอาการปวดศีรษะเรื้อรังมาแล้วครึ่งปี ยังไม่ปรากฏว่ามีอาการเดิมอีก (ใบ)[8]
  2. ฝักและเมล็ดมีรสขมชุ่มใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้วิงเวียน (ฝักและเมล็ด)[8]
  3. ฝักและเมล็ด ใช้เป็นยาทำให้ตาสว่าง รักษาอาการตาบวมแดง (ใบ, เมล็ด)[7],[8]
  4. ใช้เป็นยาแก้ตาแดงตาอักเสบ (ฝักและเมล็ด[7], ทั้งต้นและใบ[8])
  5. ใช้รักษาตาแดงบวมเห็นพร่ามัว ด้วยการใช้เมล็ดแห้ง 15-30 กรัม ผสมกับน้ำตาลกรวดประมาณ 30 กรัม แล้วชงกับน้ำกิน (เมล็ด)[8]
  6. ตำรายาพื้นบ้านจะใช้รากขี้เหล็กเทศ นำมาฝนกับน้ำใช้หยอดรักษาแผลในหู (ราก)[1]
  7. รากใช้เป็นยาเย็นดับพิษร้อนในร่างกาย (ราก)[5]
  8. รากหรือทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (ราก, ทั้งต้น)[1] ส่วนยาชงจากเปลือกต้นหรือรากก็ใช้เป็นยารักษาไข้มาลาเรียได้เช่นกัน (เปลือกต้น, ราก)[8] หรืออีกวิธีให้ใช้เมล็ดที่คั่วจนเหลืองแล้ว นำมาบดให้เป็นผง ใช้ประมาณ 6-9 กรัม ชงกับน้ำกินวันละ 2 ครั้ง (เมล็ด)[7]
  9. ตำรายาไทยจะใช้ใบขี้เหล็กเทศเข้าตำรายาเขียว แก้ไข้ (ใบ)[1] หรือจะใช้เมล็ดคั่วนำมาชงกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ก็ได้ (เมล็ด)[8]
  10. ใช้เป็นยาแก้ไอหอบหืด แก้ร้อนในปาก (ใบ, เมล็ด)[7] หรือจะใช้ทั้งต้นและใบเป็นยาแก้หอบ รักษาอาการไอก็ได้ (ทั้งต้นและใบ)[4],[8]
  11. ฝักและเมล็ดใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาบำรุงกระเพาะอาหาร แก้ปวดกระเพาะอาหาร ช่วยรักษาระบบการย่อยอาหารไม่ดี ทำให้การขับถ่ายดี (ฝักและเมล็ด)[8]
  12. ใบใช้เป็นยาแก้ลมจุกเสียด แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ (ใบ, เมล็ด)[7]
  13. ราก เมล็ด หรือทั้งต้นและใบใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดท้อง (ราก, เมล็ด, ทั้งต้นและใบ)[1],[8]
  14. ฝักและเมล็ดใช้เป็นยาแก้ปวดท้องของโรคบิด (ฝักและเมล็ด)[7],[8] ส่วนยาชงจากเปลือกต้นหรือรากใช้เป็นยาแก้บิดที่เกิดจากเชื้อมาลาเรีย (เปลือกต้น, ราก)[8]
  15. ใบใช้เป็นยาแก้อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ (ใบ, เมล็ด)[7] ส่วนอีกข้อมูลระบุให้ใช้รากหรือทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำกินแก้อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ (ราก, ทั้งต้น)[1]
  16. น้ำต้มจากรากมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อท้องเสีย เช่น Salmonella (ราก)[1]
  17. ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบเรื้อรัง ด้วยการใช้เมล็ดที่คั่วจนเป็นสีน้ำตาลแล้วประมาณ 15-30 กรัม นำมาบดให้เป็นผงกินครั้งละ 0.5-1 กรัม ติดต่อกันประมาณ 10 วัน (เมล็ด)[7]
  18. ทั้งต้นและใบ้ใช้เป็นยาแก้อาการท้องผูก (ทั้งต้นและใบ)[1],[4],[5],[8]
  19. รากหรือใบใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย (ใบ)[1],[5],[8]
  20. ใบหรือฝักใช้ต้มกินเป็นยาถ่ายพยาธิ (ใบ, ฝัก)[8] หรือจะใช้รากเป็นยาถ่ายพยาธิก็ได้ (ราก)[5],[8]
  21. รากหรือทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ ฆ่าเชื้อโรค รักษาโรคทางเดินปัสสาวะและนิ่ว (ราก, ทั้งต้น)[1],[8] หรือใช้เมล็ดนำมาชงกับน้ำกินเป็นยาขับปัสสาวะ (เมล็ด)[8]
  22. หากปัสสาวะเป็นเลือด ให้ใช้ต้นสดประมาณ 30 กรัม หรือทั้งต้นและใบแห้งประมาณ 6-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน หรือจะใช้ยาชงจากเปลือกต้นหรือรากก็ได้ (ต้น, เปลือกต้น, ราก, ทั้งต้นและใบ)[8]
  23. ใช้รักษาโรคหนองใน ด้วยการใช้ต้นสด 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน หรือใช้ยาชงจากเปลือกต้นหรือราก ใช้น้ำต้มจากทั้งต้นและใบก็ได้ (ต้น, เปลือกต้น, ราก, ทั้งต้นและใบ)[4],[8]
  24. ใช้เป็นยาดับพิษร้อนในตับ (ใบ, เมล็ด)[7]
  25. ทั้งต้นและใบ ใช้แห้งประมาณ 6-10 กรัม ส่วนใบสดให้เพิ่มอีกเท่าตัว นำมาต้มกับน้ำหรือคั้นเอาน้ำกินเป็นยาขับของเสียออกจากไต ใช้กล่อมตับ (ทั้งต้นและใบ)[8] หรือจะใช้ฝักและเมล็ดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยากล่อมตับก็ได้ (ฝักและเมล็ด)[8]
  26. ยาชงจากรากใช้เป็นยารักษาอาการบวมน้ำ รักษาโรคเดียวกับตับ (ราก)[8] หรือจะใช้เมล็ดคั่วนำมาชงกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการบวมน้ำก็ได้ (เมล็ด)[8]
  27. ใบใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ใช้เกลื่อนฝี ทารักษากลากเกลื้อน ผิวหนังพุพอง (ใบ)[1],[5],[8] หรือจะใช้ฝักนำมาต้มกินเป็นยารักษากลากเกลื้อน (ฝัก)[8] หรือใช้เมล็ดคั่วที่นำมาบดให้เป็นผง ทำเป็นยาขี้ผึ้งทารักษาผิวหนังอักเสบ พุพอง โรคผิวหนังอักเสบ โรคผิวหนังต่าง ๆ กลากเกลื้อน ผื่นคัน ใช้ดูดหนองฝี และแก้อาการปวดบวม (เมล็ด)[7],[8]
  28. ใบใช้ต้มกับน้ำอาบแก้ผื่นคัน (ใบ)[5]
  29. ใช้เป็นยาถอนพิษ (ฝักและเมล็ด, ทั้งต้นและใบ)[4],[8]
  30. ใช้รักษาแมลงสัตว์กัดต่อย ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น (ใบ, ทั้งต้นและใบ)[8]
  31. หากงูกัด ให้ใช้ใบสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มคั้นเอาน้ำกิน แล้วเอากากมาใช้พอก (ใบ, ทั้งต้นและใบ)[8]
  32. ทั้งต้นและใบใช้ตำพอกรักษาอาการบวม แก้แผลบวมอักเสบ (ทั้งต้นและใบ)[1],[4],[8]
  33. ใช้รักษาอาการอักเสบภายนอก ด้วยการใช้ทั้งต้นและใบสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาตำพอกบริเวณที่เป็น หรือจะใช้เมล็ดประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินก็ช่วยรักษาอาการอักเสบได้เช่นกัน (ต้น, ใบ, เมล็ด)[7],[8]
  34. เมล็ดคั่วใช้ชงกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดข้อ (เมล็ด)[8]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [7] ในส่วนของเมล็ดให้เลือกใช้เมล็ดแห้งประมาณ 6-9 กรัม เมล็ดที่ผ่านการคั่วแล้วใช้ประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน หรือบดเป็นผงกินครั้งละ 0.5-1 กรัม การนำใช้ภายนอกให้กะใช้ตามความเหมาะสม ส่วนก้าน ราก และใบ ถ้าเป็นแบบแห้งให้ใช้ครั้งละ 6-10 กรัม ถ้าสดให้ใช้ครั้งละ 15-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน[7] ส่วนการใช้ตาม [8] ทั้งต้นและใบ ถ้าเป็นแบบแห้งให้ใช้ประมาณ 6-10 กรัม ถ้าสดให้เพิ่มอีกประมาณเท่าตัว นำมาต้มกับน้ำหรือคั้นเอาน้ำกิน ส่วนฝักและเมล็ดนั้น ควรเก็บเมื่อฝักแก่จัดเป็นสีน้ำตาล แล้วนำมาตากแห้ง เด็ดก้านฝักออกแล้วหั่นเป็นท่อนเล็ก ๆ หรือแกะเปลือกออกเอาแต่เมล็ดมาใช้ โดยให้ใช้ประมาณ 6-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน[8]

ข้อควรระวัง : ในเมล็ดขี้เทศจะมีโปรตีนที่เป็นพิษ (Toxalbumin) ก่อนนำมาใช้ต้องกำจัดพิษเสียก่อน โดยการนำเมล็ดไปคั่วจนเป็นสีน้ำตาลและมีกลิ่นหอมก็จะสามารถกำจัดพิษได้ แต่ถ้าได้รับพิษดังกล่าวก็จะเกิดอาการอาเจียนและท้องร่วงอย่างรุนแรง ต้องรีบนำส่งแพทย์เพื่อทำการล้างกระเพาะอาหาร โดยเอาไข่ขาวผสมกับกรดฝาด (tannic acid) และถ่านให้กิน ถ้าอาการหนักต้องให้น้ำเกลือและกลูโคส และอาจให้ยาอื่น ๆ เพื่อรักษาไปตามอาการของคนไข้[7],[8]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของขี้เหล็กเทศ

  • ในเมล็ดขี้เหล็กเทศ พบสาร Aloe-emodin, Cassiollin, Chrysophanol, Dianthronie heteroside, Emodin, Homodianthrone, Islandicin, N-methylmorpholine alkaloid, Physcion, Physcion-l-glycoside, Physcion homodianthrone, Toxalbulmin, Rhein, กรดอะมิโน (aspartic acid, arginine, alanine, cystein-cystine, histidine, glutamic acid, glycine, isoleucine, methionine, lysine, leucine, phenylalanine, proline, serine, threonine), น้ำมันหอมระเหยประมาณ 0.7%, โปรตีนที่มีพิษต่อตับ ระบบเลือด หัวใจ และปอด, และกรดอะมิโนอื่น ๆ ที่ยังไม่ทราบอีก นอกจากนี้ในเมล็ดยังมีคาร์โบไฮเดรตที่สามารถละลายน้ำได้ 5.52% ซึ่งจะประกอบไปด้วย lactose, maltose, sucrose และ raffinose มีไขมันที่ประกอบด้วย oleic acid 30.7%, linolenic acid 63%, linoleic acid 31.4%, กรดไขมันอิ่มตัวประมาณ 19.7%, unsaponfifed matters 7.4%, galactomannan[7],[8]
  • ทั้งต้นมีปริมาณโพแทสเซียมมากกว่าต้นชุมเห็ดไทย ใช้ทำปุ๋ยพืชสด ทั้งต้นที่ฝักแห้งหนัก 14 กิโลกรัม ให้แกะกินติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่า 17 วัน จะมีผลระคายเคืองต่อระบบการย่อยอาหาร[8]
  • รากมีสาร total anthraquinone 4.5%, emodin, oxymethylanthraquinone 0.3%, free anthraquinones 1.9%, chrysophanol, heterodianthrone จะประกอบไปด้วย chrysophanol, cassiollin, helminthosportin, islandicin, physcon quercetin, phytosterol, stigmasterol, xanthorin[8]
  • ใบมีสาร oxymethylanthraquinones เล็กน้อย และมี physcion, 1, 8-dihydroxyanthraquinone, hydroxyanthraquinone, dianthronic heteroside, chrysophanol, 4, 5, 5′, 5′, -tetrahydroxy-2, 2′-dimethybianthraquinone emodin, matteucinol-7-rhamonside, jaceidin-7-rhamnoside, heterodianthrones quercetin[8]
  • ดอกมีสาร emodin, physcion, physcion-l-β-D-glucopyranoside, β-sitosterol[8]
  • ผลมีสาร oxymethylanthraquinones 0.25%[8]
  • จากงานวิจัยพบว่า สารสกัดจากใบและเปลือกต้นขี้เหล็กเทศด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อในลำไส้เล็กและมดลูกของหนูใหญ่ มีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิตของสุนัขทดลอง ช่วยกระตุ้นหัวใจของกระต่ายได้เล็กน้อย และฆ่าเชื้อได้เล็กน้อย[1],[7]
  • สารสกัดที่ได้จากต้นขี้เหล็กเทศด้วยแอลกอฮอล์ผสมกับอีเทอร์ปริมาณ 100 มิลลิกรัม จะมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ทำให้เพิ่มปริมาณน้ำปัสสาวะของสุนัขที่ทำให้สลบ และเมื่อให้น้ำสม่ำเสมอพบว่าจะมีปัสสาวะเพิ่มขึ้นอีก 300% เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับสัตว์ที่ทดลองกลุ่มที่ไม่ได้ให้สารสกัดนี้[8]
  • สาร Emodin และ Rhein จากเมล็ดขี้เหล็กเทศมีฤทธิ์กระตุ้นลำไส้ให้บิดตัวและเคลื่อนไหว จึงช่วยในการขับถ่ายได้[7]
  • สารที่สกัดด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์ เบนซิน และแอลกอฮอล์จากใบ ราก และเมล็ด ทำให้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น Bacillus subtillis, Bacillus proteus, Staphylococcus aureus และ Vibrio cholerae โดยฤทธิ์ที่สามารถฆ่าเชื้อนี้เกิดจากน้ำมันระเหยของขี้เหล็กเทศ ส่วนสารสกัดด้วยน้ำของขี้เหล็กเทศจะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้บางชนิด[8]
  • ผงจากใบขี้เหล็กเทศมีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูขาว[1],[7]
  • เมล็ดขี้เหล็กเทศมีความเป็นพิษต่อตับและไต ทำให้ตับและไตอักเสบ และยังพบว่ามีพิษต่อระบบเลือดของหัวใจและปอดด้วย[1],[7]

ประโยชน์ของขี้เหล็กเทศ

  1. ยอดอ่อนและใบอ่อนนำมานึ่งให้สุกรับประทานกับแจ่ว หรือนำไปปรุงอาหาร เช่น แกงเลียง แกงเผ็ด แกง (คล้ายขี้เหล็ก) ผัด เป็นต้น แต่ไม่ควรรับประทานมากเกินไป เพราะจะทำให้ท้องเสียและลำไส้อักเสบได้[6]
  2. ในมัลดีฟส์จะใช้ใบเป็นอาหาร ใช้เป็นส่วนประกอบของมัสฮูนี่ และใช้เป็นพืชสมุนไพร[5]
  3. เมล็ดนำมาคั่วแล้วบดใช้ชงดื่มแทนกาแฟหรือชา หรือใช้ผสมกับกาแฟ แต่ในเมล็ดขี้เหล็กเทศจะไม่มีกาเฟอีน (เมล็ดมีพิษรุนแรงต้องนำมาทำให้สุกก่อน)[2],[5]
  4. ต้นและใบใช้เป็นแหล่งอาหารสัตว์สำหรับโค กระบือ แกะ โดยยอดอ่อน ใบ และก้านใบ จะมีค่าโปรตีน 16.82%, เยื่อใย 16.82%, ไขมัน 3.56%, เถ้า 10.04%, คาร์โบไฮเดรต 50.83%, เยื่อใยส่วน ADF 19.79%, NDF 27.88%, ลิกนิน 4.95%[3] แต่บางข้อมูลก็ระบุว่า พืชชนิดนี้เป็นพิษต่อสัตว์เคี้ยวเอื้อง[5]
  5. ทั้งต้นใช้ทำปุ๋ยพืชสด และให้ปริมาณโพแทสเซียมมากกว่าต้นชุมเห็ดไทย[8]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ชุมเห็ดเล็ก”.  หน้า 63.
  2. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ชุมเห็ดเล็ก”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [04 ม.ค. 2015].
  3. สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์.  “ชุมเห็ดเล็ก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th.  [04 ม.ค. 2015].
  4. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “ขี้เหล็กเทศ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [04 ม.ค. 2015].
  5. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  “ชุมเห็ดเล็ก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org.  [04 ม.ค. 2015].
  6. ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.  “เลนเค็ด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : area-based.lpru.ac.th/veg/.  [04 ม.ค. 2015].
  7. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ขี้เหล็กเทศ”.  หน้า 138.
  8. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ขี้เหล็กเทศ”.  หน้า 140-145.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Bryan To, Tony Rodd, Andy Firk, Nobuhiro Suhara, Somjit2012)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด