ขี้หูอุดตัน อาการ สาเหตุ และการรักษาขี้หูอุดตันรูหู 5 วิธี !!

ขี้หูอุดตัน อาการ สาเหตุ และการรักษาขี้หูอุดตันรูหู 5 วิธี !!

ขี้หู

ขี้หู หรือ ขี้ไคลในช่องหู (Earwax หรือศัพท์การแพทย์เรียกว่า Cerumen) เกิดจากต่อมสร้างขี้หู (Ceruminous gland) ที่อยู่ระหว่างช่องหูชั้นนอก (External ear canal) กับเยื่อแก้วหู (Eardrum) น้ำมันที่ขับออกจากต่อมผลิตขี้หูนี้จะไหลไปตามช่องหูอย่างช้า ๆ รวมกับไขมันที่ผลิตจากต่อมเหงื่อ (Sebaceous gland) ผิวหนังหรือเยื่อบุช่องหูที่หลุดลอก (Ketatin) ฝุ่น และเหงื่อ กลายเป็นขี้หู ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วขี้หูจะถูกผลักดันออกสู่ภายนอกช่องหูวันละน้อย โดยการเคลื่อนตัวของเซลล์ผิวหนังชั้นผิวที่ปกคลุมหูชั้นนอกอยู่ เราจึงไม่จำเป็นต้องใช้วิธีแคะ เขี่ย หรือล้างทำความสะอาดในรูหูแต่อย่างใด

ขี้หูไม่ใช่เป็นเพียงแค่ขี้ไคลธรรมดา ๆ เพราะขี้หูมีหน้าที่สำคัญ คือ

  • เป็นยาฆ่าเชื้อ ขี้หูมีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อน ๆ ที่สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียที่ล่วงล้ำเข้าไปในรูหูได้ จึงช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อของผนังรูหูจนลามเข้าไปสู่หูส่วนกลางและส่วนในได้
  • ป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าหู เช่น แมลง เศษผง หรือฝุ่นละอองที่อาจเล็ดลอดเข้าไปในช่องหู
  • ช่วยหล่อลื่นและเคลือบผนังหูให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอเพื่อป้องกันการอักเสบ ในช่วงฤดูหนาวผิวหนังมักจะแห้งเป็นขุยขาว ๆ ซึ่งเกิดจากความชื้นในอากาศต่ำ ผิวหนังจึงแห้ง แตก และคัน จึงอาจต้องทาครีมช่วย แต่ผิวหนังในของรูหูนั้นบางกว่าผิวปกติมาก จึงต้องมีน้ำมันคอยเคลือบอยู่ตลอดเวลา มิฉะนั้นก็อาจจะแห้งจนแตกระแหงและเกิดการติดเชื้อตามมาได้

ขี้หูแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ขี้หูแห้ง (Dry cerumen) และขี้หูเปียก (Wet cerumen) ซึ่งขี้หูเปียกจะมีไขมันและเม็ดสีมากกว่าขี้หูแห้ง จึงมีความเหนียวและมีสีที่เข้มกว่า นอกจากนี้ยังเชื่อว่าเชื้อชาติที่แตกต่างกัน อาจเป็นสาเหตุให้มีลักษณะขี้หูที่ต่างกันด้วย เช่น ชาวผิวเหลืองและอินเดียนแดงส่วนใหญ่จะมีขี้หูแห้ง แต่ชาวผิวขาวและชาวผิวดำส่วนใหญ่จะมีขี้หูเปียก ส่วนปริมาณของขี้หูในแต่ละคนนั้นก็มีความแตกต่างกันออกไป

ขี้หูอุดตัน

ขี้หูอุดตันรูหู (Cerumen impaction หรือ Earwax blockage) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในแผนกหู คอ จมูก สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกช่วงอายุ ทั้งนี้ยังไม่มีรายที่แน่นอนเกี่ยวกับอุบัติการณ์การเกิดภาวะขี้หูอุดตัน แต่มีรายงานว่า พบได้ประมาณ 10% ในเด็กทั้งหมด พบได้ประมาณ 5% ในผู้ใหญ่ และพบได้สูงถึงประมาณ 57% ในผู้สูงอายุ

ขี้หูอุดตันอาการ
IMAGE SOURCE : medlineplus.gov

สาเหตุของขี้หูอุดตัน

ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการทำความสะอาดช่องหูบ่อยเกินไป เช่น การใช้ไม้แคะหู ไม้พันสำลี ก้านไม้ขีด หรืออุปกรณ์อื่น ๆ แคะหู (โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนหลังอาบน้ำ แล้วมีน้ำเข้าหูทำให้รู้สึกรำคาญ) ซึ่งการกระทำเหล่านี้จะทำให้เกิดการระคายเคืองหรือการอักเสบ กระตุ้นให้ต่อมสร้างขี้หูผลิตขี้หูออกมามากขึ้น จึงเกิดการสะสมของขี้หูเป็นก้อนแข็งจนอุดตันรูหู อีกทั้งการทำความสะอาดด้วยวิธีดังกล่าวยังเป็นการผลักดันขี้หูให้เคลื่อนลึก เข้าไปสะสมอุดตันลึกอยู่ข้างในมากขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดขี้หูอุดตันได้ด้วยเช่นกัน คือ

  • ลักษณะทางกายวิภาคในช่องหู เช่น ช่องหูแคบ
  • ส่วนประกอบของขี้หูผิดสัดส่วน เช่น มีส่วนประกอบของผิวหนังหรือเยื่อบุช่องหูที่หลุดลอก (Ketatin) มาก ทำให้ขี้หูแข็งและเคลื่อนตัวออกจากช่องหูลำบาก จึงทำให้อุดตันได้ง่าย การผลิตขี้หูเพิ่มมากผิดปกติ จากภาวะมีเหงื่อออกมาก หรืออยู่ในที่มีฝุ่นละอองมากตลอดเวลา
  • การใช้หูฟัง หรือเครื่องช่วยฟัง (Hearing aid) เป็นประจำ ซึ่งจะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุช่องหู จึงทำให้มีการสร้างขี้หูมากขึ้น
  • โรคความผิดปกติของผิวหนังช่องหู เช่น โรค Keratosis Obturans ซึ่งเกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังหรือเยื่อบุช่องหูผิดปกติ ขี้หูจึงมีส่วนประกอบของเคราติน (Keratin) มากขึ้น ทำให้ขี้หูแข็งและติดแน่นกับช่องหู ถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ อาจเกิดการกร่อนต่อผนังช่องหูได้ นอกจากนี้โรคดังกล่าวยังอาจก่อให้เกิดการอักเสบติดเชื้อที่ช่องหูได้ด้วย

อาการของขี้หูอุดตัน

ผู้ป่วยจะมีอาการคันหู ปวดหน่วง ๆ หรือปวดตื้อ ๆ ในช่องหู มีอาการหูอื้อ การได้ยินลดลง หูแว่ว หรือมีเสียงดังในหู (เกิดจากการเคลื่อนที่ไปมาของขี้หู)

  • การได้ยินเสียงแว่วเกิดจากการมีขี้หูจำนวนมากสะสมอุดตันอยู่ในช่องหูจนหลุดร่วงออกมาเองไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อขี้หูพองตัวจากการเปียกน้ำ หรือเป็นขี้หูที่จับตัวกันเป็นก้อนแข็ง ก้อนขี้หูที่อุดตันจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดตื้อ ๆ ในช่องหู ถ้าปล่อยทิ้งไว้จนอาการรุนแรงขึ้น ก็อาจทำให้หูตึง ได้ยินเสียงไม่ชัด หรือเกิดเสียงแว่วในหูได้
  • อาการหูอื้อ มักเป็นเพียงข้างเดียว ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันหลังการว่ายน้ำ อาบน้ำ หรือสระผม เนื่องจากขี้หูที่สะสมอยู่ได้อุ้มน้ำที่เข้าไปในช่องหู จนก้อนขี้หูเกิดการพองตัวและอัดแน่นในช่องหู ในบางรายอาจมีความรู้สึกเหมือนมีน้ำค้างอยู่ในหูตลอดเวลา พอพยายามเอาไม้พันสำลีเช็ดออก แต่ยิ่งเช็ดก็กลับยิ่งอื้อขึ้น เพราะการเช็ดขี้หูด้วยวิธีนี้มักจะดันขี้หูให้เข้าไปลึกและอัดแน่นมากยิ่งขึ้น และบางรายอาจมีอาการปวดหูหรือวิงเวียนร่วมด้วย

อาการขี้หูอุดตัน
IMAGE SOURCE : www.mymedspricelist.com

ภาวะแทรกซ้อนของขี้หูอุดตัน

โดยธรรมชาติขี้หูมักหลุดร่วงจากร่างกายได้เองอยู่แล้วในขณะพูดหรือเคี้ยวอาหาร การใช้นิ้ว ไม้แคะหู ไม้พันสำลี ก้านไม้ขีด หรืออุปกรณ์อื่น ๆ แคะหู จึงเป็นการผลักขี้หูให้เคลื่อนลึกเข้าไปสะสมอุดตันลึกอยู่ข้างในมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ต่อมขี้หูผลิตขี้หูมากขึ้นจนอาจเกิดการอุดตันตามมา เราจึงไม่ควรแคะหูไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ๆ นอกจากนี้การแคะหูยังอาจทำให้เยื่อแก้วหูเป็นแผลหรือเกิดรอยทะลุ หรือทำให้เยื่อบุช่องหูที่บอบบางอยู่แล้วเกิดรอยถลอกได้ง่าย เมื่อเกิดรอยถลอกหรือรอยแผลเยื่อบุช่องหูก็จะหลั่งสารฮิสตามีนออกมา ทำให้เกิดอาการคันหู (ถ้ายิ่งแคะหูเกาหูเพราะคันก็จะยิ่งทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น) และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา ทำให้หูชั้นนอกอักเสบ (Otitis externa) ได้ (ผู้ป่วยจะมีอาการหูอื้อ ปวดหูมาก และมีหนองไหล) ซึ่งวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเมื่อเกิดรอยถลอกคือการหยุดแคะหูสักระยะ เพื่อรอให้ผิวกลับคืนสู่สภาพปกติ

การวินิจฉัยภาวะขี้หูอุดตัน

แพทย์จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Otoscope ส่องตรวจในช่องหูชั้นนอก ซึ่งจะช่วยให้เห็นว่ามีขี้หูอุดตันในช่องหูหรือไม่ โดยเป็นวิธีง่ายและไม่เจ็บ ในรายที่มีขี้หูอุดตัน จะพบขี้หูอุดตันอยู่เต็มรูหูจนมองไม่เห็นเยื่อแก้วหู เพราะถูกขี้หูบังไว้

ขี้หูอุดตันทําไงดี
IMAGE SOURCE : www.welchallyn.com

วิธีรักษาขี้หูอุดตัน

เมื่อสงสัยว่ามีขี้หูอุดตัน ทำให้เกิดอาการผิดปกติของหู เช่น หูอื้อ ปวดหู การได้ยินลดลง (โดยเฉพาะอาการหูอื้อที่เกิดขึ้นฉับพลันหลังเล่นน้ำหรือมีน้ำเข้าหู และเป็นอยู่นานเป็นวัน ๆ) ถ้าเป็นไปได้ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคจากภาวะอื่น ๆ เช่น หูชั้นนอกอักเสบจากการติดเชื้อ ประสาทหูอักเสบเฉียบพลัน เนื่องจากภาวะเหล่านี้มีความรุนแรงมากกว่าภาวะขี้หูอุดตัน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาเฉพาะเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น ประสาทหูเสื่อมถาวร เป็นต้น

  • ในกรณีที่แพทย์ได้วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะขี้หูอุดตัน ถ้าส่องไฟดูในช่องหูแล้ว เห็นขี้หูค่อนข้างหลวม ไม่แน่นมาก แพทย์จะนำขี้หูออกมาเพื่อให้การได้ยินของผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติ โดยอาจใช้เครื่องดูดขี้หู (Suction) การคีบ หรือการแคะด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ (เป็นห่วงแคะหูหรือตะขอแคะหู) ค่อย ๆ เขี่ยเอาขี้หูออกมา แต่ถ้าเขี่ยไม่ออกหรือขี้หูแข็ง แพทย์จะใช้น้ำเกลือนอร์มัลหรือน้ำสะอาดผสมโซเดียมไบคาร์บอเนตที่มีอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส ฉีดล้างออก (ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า หรือสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส เพราะอาจกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดอาการวิงเวียนได้)

    โรคขี้หูอุดตัน
    IMAGE SOURCE : Kyle Davis

    ดูดขี้หูอุดตัน
    IMAGE SOURCE : Paul Nand

  • ถ้ายังไม่ได้ผล คือ ไม่สามารถเอาขี้หูออกมาได้หรือเอาขี้หูออกได้เพียงบางส่วน หรือในรายที่มองเห็นเป็นขี้หูแข็ง หรือขี้หูอัดแน่นมาก หรือเขี่ยถูกเจ็บ แพทย์จะไม่พยายามแคะออกให้ในทันที แต่จะสั่งยาละลายขี้หู (Cerumenolytic agents) เช่น น้ำมันมะกอก หรือน้ำยา 2.5% NaHCO3 (โซเดียมไบคาร์บอเนต) ให้ผู้ป่วยกลับไปหยอดหูซ้ำ ๆ บ่อย ๆ วันละ 7-8 ครั้ง เป็นเวลา 3-7 วัน เพื่อทำให้ขี้หูนิ่มก่อน แล้วแพทย์จะนัดมาดูอีกครั้ง ผู้ป่วยไม่ควรที่จะลืมหยอดหูในวันที่แพทย์นัด เพราะจะทำให้ขี้หูแห้งและเอาออกได้ยาก และถ้าเป็นไปได้ในระหว่างที่รอคิวพบแพทย์ก็ควรหยอดหูไปด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้เอาขี้หูออกมาได้ง่ายขึ้น โดยการใช้น้ำเกลือนอร์มัลฉีดล้างขี้หูออกมา

    วิธีแก้ขี้หูอุดตัน
    IMAGE SOURCE : NotEnoughLlamas

  • ในรายที่มีการอักเสบติดเชื้อเกิดขึ้น แพทย์จะให้การรักษาแบบเดียวกับหูชั้นนอกอักเสบ (Otitis exterma) ด้วยการให้รับประทานยาแก้ปวดลดไข้และยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) และอาจให้ยาหยอดหูที่เข้ายาปฏิชีวนะ (Antibiotic ear drops) ร่วมด้วย ใช้หยอดหูวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละมากกว่า 5 หยด เป็นต้น
  • หลังจากแพทย์เอาขี้หูออกได้สำเร็จจนบรรเทาอาการผิดปกติของหูแล้ว ควรป้องกันไม่ให้ขี้หูอุดตันซ้ำอีก โดยการ
    • ไม่ใช้ไม้พันสำลีทำความสะอาดหูหรือปั่นหูอีก แต่ถ้าเกรงว่าน้ำจะเข้าหูจนก่อให้เกิดความรู้สึกรำคาญ ควรป้องกันโดยการใช้สำลีชุบวาสลีน หรือใช้ที่อุดหูสำหรับนักดำน้ำ (มีขายตามร้านอุปกรณ์กีฬา) มาอุดหูในขณะอาบน้ำ หรือในผู้หญิงที่สวมหมวกอาบน้ำ ก็ควรดึงหมวกให้มาคลุมใบหูเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู เป็นต้น
    • อาจใช้ยาละลายขี้หูหยอดในหูเป็นประจำเพื่อล้างขี้หู โดยอาจใช้เพียงสัปดาห์ละครั้ง และถ้าไม่มีปัญหาก็อาจใช้ห่างออกไปเป็น 2, 3, หรือ 4 สัปดาห์ครั้ง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดการอุดตันของขี้หูในช่องหูชั้นนอกได้เป็นอย่างดี

คำแนะนำ : ถ้าใช้ไฟส่องแล้วมองเห็นขี้หูได้ไม่ชัด อย่าพยายามแคะ เขี่ยขี้หู หรือใช้น้ำฉีดล้างออกมา

วิธีป้องกันขี้หูอุดตัน

  1. ควรเลิกนิสัยการแคะหู ล้างหู และไม่ควรใช้ไม้พันสำลีเช็ดหรือปั่นรูหูเป็นประจำ เพราะนอกจากจะไม่มีประโยชน์เท่าที่ควรแล้ว ยังอาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดขี้หูมากขึ้นจนอุดตันรูหูหรืออาจเกิดอันตรายอื่น ๆ ได้ดังที่กล่าวมา
  1. การทำความสะอาดหูที่ถูกต้องควรเป็นการทำความสะอาดเพียงหูส่วนนอกเท่านั้น ถ้าจำเป็นต้องใช้อะไรแคะหูก็ควรเป็นนิ้วของเราเองจับกับผ้าสะอาดหรือสำลีเช็ดเข้าไปในรูหู (โดยไม่มีไม้หรือเหล็กต่อ) ให้ลึกเท่าที่นิ้วมือจะเข้าไปได้เท่านั้นเป็นพอ และอย่าลึกไปกว่านั้น แต่ถ้าอยากจะใช้ไม้พันสำลีสำเร็จรูปก็ขอให้ใช้เช็ดเฉพาะที่ใบหูหรือตามซอกต่าง ๆ อย่าใช้เป็นเครื่องมือกระทุ้งขี้หูเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายและเกิดขี้หูอุดตันตามมาได้
  2. ในการป้องกัน ขี้หูอุดตันซ้ำ ส่วนใหญ่เมื่อนำขี้หูออกแล้ว ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าการได้ยินดีขึ้น ส่วนการเกิดซ้ำในแต่ละรายนั้นไม่เหมือนกัน เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ถ้ามีช่องหูแคบผิดปกติ ต้องใช้เครื่องช่วยฟังเป็นประจำ หรือเป็นโรคของผิวหนังในช่องหู Keratosis Obturans ส่วนใหญ่จะเกิดขี้หูอุดตันซ้ำได้ ดังนั้นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงนี้ถ้ามีอาการหูอื้อเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อนำขี้หูออกมา เพราะเป็นเรื่องยากที่ผู้ป่วยจะทำความสะอาดช่องหูได้เอง และอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อช่องหูได้ ส่วนในผู้ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงแต่เกิดจากขี้หูแข็ง ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก ถึงวิธีในการดูแลตนเอง ไม่ควรซื้อยาหยอดหูมาใช้เองหรือใช้วิธีแคะหูใด ๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน

ขี้หูอุดตันเกิดจาก
IMAGE SOURCE : www.wisegeek.com

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ขี้หูอุดตันรูหู (Wax blockage/Impacted cerumen)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 926-927.
  2. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ขี้หูอุดตัน…ทำอย่างไรดี”.  (รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [23 ส.ค. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “ภาวะขี้หูอุดตัน (Impacted cerumen)”.  (พญ.อุศนา พรหมโยธิน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [24 ส.ค. 2016].
  4. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 85 คอลัมน์: เรื่องน่ารู้.  “ขี้หู ขี้หู ขี้หู”.  (นพ.จินดา ผลารักษ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [25 ส.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด