ขี้กาเทศ
ขี้กาเทศ ชื่อสามัญ Bitter apple, Colocynth, Colocynth pilp.[1]
ขี้กาเทศ ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrullus colocynthis (L.) Schrad. จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE)[1]
ลักษณะของขี้กาเทศ
- ต้นขี้กาเทศ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นมีลักษณะเลื้อยพัน[1]
- ใบขี้กาเทศ แผ่นใบเป็นสีเขียว ขอบใบหยิก
- ดอกขี้กาเทศ ดอกเป็นสีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน
- ผลขี้กาเทศ ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมเรียบ เมื่ออ่อนเป็นสีเขียว และจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อสุก ผลจะมีขนาดเท่ากับผลส้มขนาดเล็ก ภายในมีเนื้อนิ่ม และมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปไข่แบนสีขาวหรือสีออกน้ำตาล[1]
สรรพคุณของขี้กาเทศ
- เนื้อผลนำมาปั่นเป็นน้ำดื่มเป็นยาลดคอเลสเตอรอลในเลือด ลดระดับน้ำตาลในเลือด และลดความดันโลหิตสูง (เนื้อผล)[1]
- เนื้อผลมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (เนื้อผล)[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของขี้กาเทศ
- สารสำคัญที่พบในสมุนไพรขี้กาเทศ ได้แก่ alanine, caffeic acid, citrullonol, coumaric acid, cacurbitacin, clateridine, fructose, tetradecenoic acid[1]
- ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิตสูง ลดไข้ ขับปัสสาวะ แก้ปวด ต้านเชื้อรา[1]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าจะเป็นพิษเมื่อใช้สารสกัดผลด้วยแอลกอฮอล์ในขนาด 70 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และสารสกัดจากผลด้วย ethyl acetate ในขนาด 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือสารสกัดจากผลด้วยคลอโรฟอร์มขนาด 60 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม[1]
- จากการทดลองแบบ Randomized, double-blind, placebo-controlled clinical trial ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 50 คน แบ่งเป็นชาย 12 คน และหญิงอีก 38 คน ที่มีอายุ 40-65 ปี โดยทำการแบ่งกลุ่มผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 25 คน ให้รับประทานแคปซูลผลขี้กาเทศขนาด 100 มิลลิกรัม 3 ครั้งต่อวัน หรือรับประทานยาหลอกร่วมกับการรักษาปกติ เป็นระยะเวลา 2 เดือน พบว่าผู้ป่วยที่รับประทานแคปซูลขี้กาเทศมีปริมาณ HbA1C และระดับน้ำตาลลดลง ตลอดการทดลองไม่พบอาการข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร จึงเห็นได้ว่าผลขี้กาเทศสามารถช่วยควบคุมปริมาณน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ได้โดยไม่ก่ออาการข้างเคียง แต่การรับประทานผลขี้กาเทศนี้ไม่มีผลลดระดับไขมัน ทั้งระดับคอเรสเตอรอลรวม, Low-density lipoprotein, High-density lipoprotein, ไตรกลีเซอไรด์ ระดับเอนไซม์ asparate transaminase, alanine transaminase, alkaline phosphatase ปริมาณยูเรียและ creatinine ในเลือด[2]
- จากการศึกษาฤทธิ์ลดไขมันและน้ำตาลในเลือดของสารสกัดเมทานอลจากผลขี้กาเทศในหนูแรท ผลการทดลองพบว่า การป้อนสารสกัดเมทานอลจากผลขี้กาเทศในขนาด 200 และ 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม มีผลลดระดับคอเลสเตอรอล, ไตรกลีเซอไรด์, low-density lipoprotein และ very low-density lipoprotein และเพิ่ม high-density lipoprotein ในเลือดของหนูแรท ทั้งในภาวะที่มีไขมันในเลือดสูงและในภาวะที่เป็นโรคเบาหวาน เมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีภาวะไขมันในเลือดสูงหรือเป็นโรคเบาหวานเพียงอย่างเดียว และการป้อนสารสกัดเมทานอลจากผลขี้กาเทศทั้งสองขนาดมีผลเพิ่มระดับเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ superoxide dismutase, glutathaione และ catalase และลดอัตราการเกิดปฏิกิริยาการเกิดออกซิเดชันของไขมัน ทั้งในภาวะที่มีไขมันในเลือดสูงและในภาวะเป็นโรคเบาหวาน นอกจากนี้ ยังมีผลลดระดับของเอนไซม์ aspartate aminotransferase และ alanine aminotransferase ในตับ และลดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างมีนัยสำคัญในหนูที่มีภาวะเป็นโรคเบาหวาน ผลจากการทดลองนี้จึงแสดงให้เห็นว่า สารสกัดเมทานอลจากผลขี้กาเทศมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และสามารถลดไขมันและระดับน้ำตาลในเลือดได้[3]
- เมื่อมี ค.ศ.2007 ที่ประเทศจอร์แดนได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากผลขี้กาเทศ โดยทำการทดลองในหนู 20 ตัว แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มควบคุม ส่วนอีกกลุ่มเป็นกลุ่มที่ให้สารสกัดขี้กาเทศ ขนาด 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อน้ำหนักตัว เป็นเวลา 7 วัน ผลการทดลองพบว่า ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของกลุ่มควบคุม = 180 ± 9.69 mg./dl. ส่วนอีกกลุ่มมีระดับคอเลสเตอรอล = 135 ± 6.82 mg./dl. (P < 0.01) ค่า LDL-C พบ P < 0.01[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ขี้กาเทศ” หน้า 113-71.
- หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “การรักษาโรคเบาหวานด้วยผลขี้กาเทศ (Citrullus colocynthis (L.) Schrad)”. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/. [23 ก.พ. 2015].
- หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์ลดไขมันและน้ำตาลในเลือดของผลขี้กาเทศ (Citrullus colocynthis)”. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/. [23 ก.พ. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Pia Öberg, Sergey Yeliseev, naturgucker.de, Russell Cumming, Mike Stoy)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)