ขางน้ำผึ้ง
ขางน้ำผึ้ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Claoxylon indicum (Reinw. ex Blume) Hassk. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Claoxylon polot Merr.) จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1]
สมุนไพรขางน้ำผึ้ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ฉับแป้ง (อุตรดิตถ์), ผักหวานใบใหญ่ (จันทบุรี), หูควาย (นครศรีธรรมราช), ขางน้ำผึ้ง งุ้นผึ้งขาว (ภาคเหนือ), ขากะอ้าย (ภาคใต้) เป็นต้น[1]
ลักษณะของขางน้ำผึ้ง
- ต้นขางน้ำผึ้ง จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดใหญ่ มีความสูงได้ประมาณ 2-10 เมตร ทุกส่วนมีขนขึ้นหนาแน่น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ในทุกสภาพพื้นดิน พบได้ตามป่าไม่ผลัดใบ บริเวณชายเขา และในพื้นที่เปิดโล่ง ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 80-1,650 เมตร พบปลูกในทุกภาคของไทย โดยเฉพาะทางภาคเหนือแถวแม่ฮ่องสอน เชียงราย และเชียงใหม่[1],[2]
- ใบขางน้ำผึ้ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ผิวใบมีขนสั้นนุ่ม ลักษณะของใบเป็นรูปโล่แกมขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบเว้าตื้น ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟันตื้น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-16 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ส่วนก้านใบยาวได้ถึง 8 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกขางน้ำผึ้ง ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะ โดยจะออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นแบบแยกเพศ อยู่คนละต้น กลีบรวมมีขน ช่อดอกเพศผู้ยาวได้ถึง 33 เซนติเมตร มีสีเหลืองแกมเขียว ดอกเพศผู้นั้นมีขนาดประมาณ 4.5 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ 20 อัน ส่วนช่อดอกเพศเมียจะยาวได้ถึง 7.5 เซนติเมตร มีสีเขียวอ่อน ดอกเพศเมียนั้นจะมีขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร รังไข่มี 3-4 ช่อง[1],[2]
- ผลขางน้ำผึ้ง ผลเป็นผลแห้งและแตกได้กลางพู ผิวผลเป็นสันร่องและมีขนสั้นนุ่มขึ้นหนาแน่น ผลเป็นสีเขียวมีเมล็ดขนาดประมาณ 3-3.8 มิลลิเมตร และมีเยื่อหุ้มสีแดง[1],[2]
สรรพคุณของขางน้ำผึ้ง
- ชาวเขาเผ่าแม้วจะใช้ลำต้นขางน้ำผึ้ง นำมาตำพอกแก้อาการปวดหู หูอื้อ (ลำต้น)[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ขางน้ำผึ้ง”. หน้า 70.
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ขางน้ำผึ้ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [03 มิ.ย. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Yeoh Yi Shuen, techieoldfox, 阿橋, musalmah_nasardin, Ria Tan)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)