ขางครั่ง
ขางครั่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Dunbaria longiracemosa Craib (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dunbaria longeracemosa Craib) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[3],[4]
สมุนไพรขางครั่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ดอกครั่ง (เชียงใหม่), เถาครั่ง (เลย) ส่วนลำพูนเรียก “ขางครั่ง“[1],[3]
ลักษณะของขางครั่ง
- ต้นขางครั่ง จัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยหรือไม้พุ่มเลื้อยพัน ลำต้นมีความยาวได้ประมาณ 3-5 เมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นประมาณ 2.83-9.47 มิลลิเมตร ลำต้นเป็นสีเขียวอมน้ำตาลและมีขนละเอียดยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ขึ้นปกคลุมอยู่มาก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและปักชำ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ระบายน้ำดี ชอบที่ร่มและมีความชุ่มชื้น ในประเทศไทยพบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ในพื้นที่มีร่มเงาน้อย ดินเหนียว เนื้อดินละเอียด เช่น อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา หรือพบได้ในป่าผลัดใบ ป่าเต็งรัง ป่าดิบ จนถึงความสูง 400 เมตร จากระดับน้ำทะเล ส่วนในต่างประเทศมีเขตการกระจายพันธุ์ในลาว กัมพูชา และเวียดนาม[1],[2],[3],[6]
- ใบขางครั่ง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบย่อยส่วนปลายเป็นรูปไข่หรือรูปไข่แกมใบหอก ส่วนใบย่อยด้านข้างจะมีลักษณะเป็นรูปไข่เบี้ยวหรือรูปใบหอกแกมสามเหลี่ยม ใบส่วนปลายนั้นมีขนาดกว้างประมาณ 2.05-2.73 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5.94-8.88 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยด้านข้างกว้างประมาณ 1.8-2.14 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5.11-6.61 เซนติเมตร ส่วนก้านใบรวมยาวประมาณ 1.01-2.91 เซนติเมตร ก้านใบข้างจะสั้นมากหรือยาวได้เพียง 2 มิลลิเมตร หน้าใบและหลังใบมีขนละเอียดสั้น ๆ ขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น ผิวใบนุ่ม สีใบด้านหน้าเป็นสีเขียวอมเหลืองอ่อนถึงเขียวเข้มและค่อนข้างมัน ส่วนสีใบด้านหลังจะเป็นสีเขียวอมเหลืองเข้มกว่าด้านหน้าและผิวออกด้านเล็กน้อย ขอบใบมีรอยหยักแบบขนครุย เส้นใบด้านหลังนูนขึ้นเป็นสันเล็กน้อย เส้นใบแตกแบบขนนก ก้านใบมีขนขึ้นปกคลุมหนาแน่น หูใบแหลม สั้นประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร[1],[3]
- ดอกขางครั่ง ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบ เป็นช่อยาวประมาณ 6.43-14.29 เซนติเมตร ดอกย่อยมีหลายดอก ลักษณะของดอกเป็นรูปดอกถั่ว มีจำนวน 6-35 ดอกต่อช่อ เกิดเรียงสลับรอบแกนช่อดอก กลีบดอกด้านนอกเป็นสีเขียวอมเหลือง ส่วนด้านในเป็นสีม่วงอมแดงเข้ม ช่อดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ส่วนดอกเพศเมียจะเป็นช่อง 3 ช่อง โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม[3],[4]
- ผลขางครั่ง ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนยาว มีขนละเอียดขึ้นปกคลุม เมื่อแห้งจะแตกเป็นสองแนว ภายในมีเมล็ดหลายเมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาล ออกผลในช่วงประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม[1],[3],[4],[5]
สรรพคุณของขางครั่ง
- ยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากหรือใบขางครั่ง นำมาผสมกับใบโผงเผง บดให้เป็นผงละเอียด ปั้นเป็นยาลูกกลอนกินแก้ไข้ (ราก, ใบ)[1],[3]
ประโยชน์ของขางครั่ง
- ดอกสามารถนำมาใช้บริโภคได้ โดยนำมาทำเป็นผักรวม[2] ทำอาหารประเภทผัก[5] หรือใช้ใบอ่อนและช่อดอกรับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก ให้รสฝาดมัน[6]
- ฝักใช้รับประทานได้[4]
- ใช้เป็นแหล่งอาหารสัตว์ตามธรรมชาติ สำหรับสัตว์แทะเล็มของโคกระบือ โดยคุณค่าทางอาหารของใบและเถาอ่อนนั้น จะมีค่าโปรตีน 13.34%, เยื่อใย 29.14%, ไขมัน 2.18%, เถ้า 6.87%, คาร์โบไฮเดรต (NFE) 48.47%, เยื่อใยส่วน ADF 33.38%, NDF 45.11%, ลิกนิน 9.88%[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ขางครั่ง”. หน้า 91.
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ดอกครั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [03 มิ.ย. 2015].
- สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์. “ขางครั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th. [03 มิ.ย. 2015].
- ฐานข้อมูลชนิดพรรณพืช พื้นที่เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี. “ขางครั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.en.mahidol.ac.th/conservation/. [03 มิ.ย. 2015].
- พรรณไม้สวนรุกขชาติห้างฉัตร. “ขางครั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : lampang.dnp.go.th/Departments/Techical_Group/plant/ขางครั่ง.pdf. [03 มิ.ย. 2015].
- พืชกินได้ในป่าสะแกราช, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “ขางครั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tistr.or.th. [03 มิ.ย. 2015].
ภาพประกอบ : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)