ขันทองพยาบาท
ขันทองพยาบาท ชื่อวิทยาศาสตร์ Suregada multiflora (A.Juss.) Baill. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gelonium multiflorum A.Juss.[1]) จัดอยูในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1],[5]
สมุนไพรขันทองพยาบาท มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ยางปลวก[2] ยางปลอก[1] ยายปลวก[5] ฮ่อสะพานควาย (แพร่, น่าน), ทุเรียนป่า ไฟ (ลำปาง), ขุนตาก[1] ข้าวตาก[2] (กาญจนบุรี), ขันทองพยาบาทเครือ ขัณฑสกร ช้องลำพัน สลอดน้ำ (จันทบุรี), มะดูกดง (ปราจีนบุรี), ขันทอง (พิษณุโลก), ดีหมี (พิษณุโลก, อุตรดิตถ์), ขันทองพยาบาท ดูดหิน (สระบุรี), ดูกใส ดูกไทร ดูกไม้ เหมือนโลด (เลย), ดูกไหล (นครราชสีมา), ขนุนดง[1] ขุนดง[2] (หล่มสัก-เพชรบูรณ์), ข้าวตาก ขุนทอง คุณทอง (ประจวบคีรีขันธ์), ขอบนางนั่ง (ตรัง), มะดูกเหลื่อม[2] (ภาคเหนือ), มะดูกเลื่อม[1] (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), ขันทองพยาบาท มะดูก หมากดูก (ภาคกลาง), กะดูก[1] กระดูก[2] (ภาคใต้), หมากดูด (ไทย), เจิง[1] โจ่ง[3] (ส่วย-สุรินทร์), มะดูกเลี่ยม, เหมือดโรค, ป่าช้าหมอง, ยายปลูก เป็นต้น[1],[2],[4],[9]
ลักษณะของขันทองพยาบาท
- ต้นขันทองพยาบาท มีเขตการกระจายพันธุ์ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแถบประเทศอินเดีย พม่า ไทย อินโดจีน และในคาบสมุทรมลายู[8] จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นมีความสูงประมาณ 7-13 เมตร ลำต้นตั้งตรง เป็นทรงพุ่มแน่นทึบ แตกกิ่งก้านค่อนข้างกลม กิ่งก้านอ่อนและห้อยลู่ลง ที่กิ่งจะมีขนรูปดาว เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลแก่และแตกเป็นร่องแบบตื้น ๆ ตามยาว เนื้อไม้เป็นสีขาว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด มักขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วไป ตามป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 600 เมตร[1],[2],[5],[8]
- ใบขันทองพยาบาท ใบหนาแข็งและดกทึบ โดยใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบแหลม ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟัน ใบมีความกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 9-22 เซนติเมตร เนื้อใบมีลักษณะหนาเหนียวคล้ายแผ่นหนัง หลังใบเรียบลื่นเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบและมีสีอ่อนกว่า ผิวใบด้านล่างมีต่อมสีเหลืองและมีขนเป็นรูปดาว มีเส้นใบข้าง 5-9 คู่ มีก้านใบยาวประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ส่วนหูใบมีขนาดเล็กประมาณ 2 มิลลิเมตร แต่ละคู่เชื่อมกัน หลุดร่วงได้ง่าย และจะทิ้งแผลเป็นวงไว้[1],[2],[5]
- ดอกขันทองพยาบาท ดอกมีกลิ่นหอมสีเขียวอมสีเหลืองอ่อน ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบ ขนาดประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร ในช่อดอกจะมีดอกอยู่ประมาณ 5-10 ดอก อยู่ตรงข้ามกับใบ ดอกมีใบประดับลักษณะเป็นรูปหอกปลายแหลมยาวประมาณ 1 มิลลิเมตรและกว้างประมาณ 0.7-0.8 มิลลิเมตร ส่วนดอกจะเป็นแบบแยกเพศแยกต้นและไม่มีกลีบดอก โดยดอกเพศผู้จะมีขนาดประมาณ 2.5 มิลลิเมตร และมีเกสรเพศผู้ประมาณ 35-60 ก้าน แต่ละอันจะมีต่อมอยู่ที่ฐาน ฐานรองดอกนูนพองออก และอาจพบเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันปะปนอยู่ด้วย ส่วนดอกเพศเมียจะมีลักษณะเหมือนกับดอกเพศผู้ แต่จะมีรังไข่เหนือวงกลีบ มีขนอยู่หนาแน่น มีรังไข่ 3 ช่อง รังไข่มีขนละเอียดและมีหมอนรองดอก มีก้านเกสรเพศเมีย 3 ก้าน ก้านดอกยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร กลีบรองดอกหนามี 5 กลีบ โคนเชื่อมกันเล็กน้อยและขอบจักเป็นซี่ฟัน โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[5]
- ผลขันทองพยาบาท ผลมีลักษณะเกือบกลม ผิวผลเกลี้ยง มีขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนสีเหลืองอมส้ม แตกตามพู มีพู 3 พูและมีติ่งเล็ก ๆ อยู่ที่ยอด ภายในผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 3 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดประมาณ 7-8 มิลลิเมตร เมล็ดเป็นสีน้ำตาลเข้มและมีเนื้อบาง ๆ สีขาวหุ้มเมล็ดอยู่ โดยจะติดผลในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน[5]
สรรพคุณของขันทองพยาบาท
- เปลือกต้นมีรสเมาเบื่อ ใช้เป็นยาบำรุงเหงือก ใช้รักษาเหงือกอักเสบ ทำให้ฟันทน เหงือกแข็งแรง (เปลือกต้น)[1],[2],[3],[5]
- ตำรายาไทยเนื้อไม้มีรสเฝื่อนเมา ช่วยแก้ไข้ (เนื้อไม้)[4],[5] บ้างว่าใช้รากนำมาต้มดื่มเป็นยาแก้ไข้ (ราก)[8]
- ช่วยแก้ลมและโลหิตเป็นพิษ (เปลือกต้น, เนื้อไม้)[5]
- ใช้เป็นยาซาง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[7]
- รากมีรสเมาเบื่อร้อน ช่วยแก้ลม (ราก)[5]
- ช่วยแก้ปอดพิการ (เปลือกต้น)[5]
- เปลือกต้นใช้เป็นยาถ่าย เป็นยาระบาย (เปลือกต้น)[1],[2],[3],[5]
- ใช้เป็นยาแก้เส้นท้องตึง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[7]
- ใช้เป็นยาฆ่าพยาธิ (เนื้อไม้[1],[3],[5], เปลือกต้น[4],[5])
- ช่วยรักษากามโรค (เนื้อไม้[1],[2],[3],[4],[5], เปลือกต้น[2])
- ช่วยรักษาน้ำเหลืองเสีย (เนื้อไม้, ราก)[5]
- ช่วยถ่ายน้ำเหลืองเสีย (เปลือกต้น)[5]
- ช่วยรักษาโรคตับพิการ (เปลือกต้น)[1],[2],[3],[5]
- เนื้อไม้และเปลือกต้นใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนังทุกชนิด ผดผื่นคัน รักษาโรคเรื้อน กลากเกลื้อน รักษามะเร็ง มะเร็งคุดทะราด ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาต้มแล้วพอกหรือตำคั้นเอาแต่น้ำนำมาใช้ทารักษาโรคผิวหนัง (เนื้อไม้, เปลือกต้น)[1],[2],[3],[5],[8] ส่วนรากก็ช่วยแก้โรคผิวหนังได้เช่นกัน (ราก)[5]
- ช่วยฆ่าพยาธิผิวหนัง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
- ใช้รักษาประดง (โรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการคัน) (เนื้อไม้[1],[2],[3],[5], เปลือกต้น[2],[5], ราก[5])
- ช่วยแก้ลมพิษ ลมเป็นพิษ (เนื้อไม้, เปลือกต้น)[1],[2],[3],[4],[5]
- ช่วยรักษาอาการพิษในกระดูก (เนื้อไม้[1],[2],[3],[5], เปลือกต้น[2],[5], ราก[5])
- ช่วยแก้พิษต่าง ๆ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
- ใช้รักษาอาการปวดไขข้อ (เปลือกต้น)[9]
- ลำต้นใช้ต้มกับน้ำอาบสำหรับสตรีอยู่ไฟ (ลำต้น)[5]
- รากขันทองพยาบาท จัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดเนาวโลหะ” ซึ่งในตำรับยาประกอบไปด้วย รากขันทองพยาบาท รากทองกวาว รากทองพันชั่ง รากใบทอง รากจำปาทอง รากทองหลางหนาม รากทองหลางใบมน รากทองโหลง โดยเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ลม แก้ลมที่เป็นพิษ แก้โรคดี แก้เสมหะ ฆ่าพยาธิ สมานลำไส้ ชำระล้างลำไส้ ขับระดูร้าย แก้โรคตับ ถอนพิษ และดับพิษ (ราก)[10]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของต้นขันทองพยาบาท
- สารสกัดจากเปลือกต้นขันทองพยาบาทด้วยไดคลอโรมีเทน แล้วนำมาแยกสารให้บริสุทธิ์ จะพบสารไดเทอร์ปีน 7 ชนิด คือ abbeokutone, ent-3-oxo-16-kaurene-15β,18-diol, ent-16-kaurene-3β, 15β-diol, ent-kaurene-3β,15β,18-diol, helioscopinolide A, helioscopinolide C และ helioscopinolide I เมื่อนำสารแต่ละชนิดมาทดสอบฤทธิ์แก้แพ้ พบว่าสารทั้งหมดมีฤทธิ์ยับยั้งการปล่อยเอนไซม์ β-Hexosaminidase (เป็นเอนไซม์ที่ถูกปล่อยออกมาเมื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการแพ้ของเซลล์ RBL-2H3) โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) ของสารดังกล่าว ระหว่าง 22.5 – 42.2 ไมโครโมล ซึ่งดีกว่ายา ketotifen fumarate (IC50 = 47.5 ไมโครโมล) แต่จะมีฤทธิ์น้อยกว่า quercetin (IC50 = 4.5 ไมโครโมล) และเมื่อนำสารทั้ง 7 ชนิดมาทดสอบการฤทธิ์การยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ β-Hexosaminidase โดยใช้ความเข้มข้นของสารเท่ากับ 100 ไมโครโมล พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งน้อยมาก แสดงให้เห็นได้ว่าสารทั้ง 7 ชนิดออกฤทธิ์แก้แพ้โดยยับยั้งการสลายตัวแกรนูลที่ปลดปล่อยเอนไซม์ β-Hexosaminidase ได้ แต่ไม่ได้ยับยั้งฤทธิ์ของเอนไซม์โดยตรง[11]
ประโยชน์ของขันทองพยาบาท
- เนื้อไม้มีพิษทำให้เมา ใช้สำหรับเป็นยาเบื่อ[5]
- เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำเครื่องมือใช้สอยหรือนำมาใช้ทำเครื่องจักสานได้[9]
- ต้นขันทองพยาบาทมีลักษณะทรงพุ่มสวยงาม ใบเป็นมัน ผลสุกมีสีสันสะดุดตา และดอกยังให้กลิ่นหอม สามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับสวน หรือใช้ปลูกเป็นฉากหลังแบบกลุ่ม ๆ[6]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ขันทองพยาบาท”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 101-102.
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ขันทองพยาบาท (Khan Thong Phayabat)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 61.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “ขันทองพยาบาท”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 77.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “ขันทองพยาบาท”. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 196.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ขันทองพยาบาท”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [12 ก.พ. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ขันทองพยาบาท”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [12 ก.พ. 2014].
- ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. “ดูกใส ขันทองพยาบาท”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: copper.msu.ac.th/plant/. [12 ก.พ. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ขันทองพยาบาท”. อ้างอิงใน: หนังสือพืชสมุนไพร เล่ม 2 และ 3, หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [12 ก.พ. 2014].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ, สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ขันทองพยาบาท”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th. [12 ก.พ. 2014].
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “กวาวเครือแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [12 ก.พ. 2014].
- หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์แก้แพ้ของสารสกัดที่ได้จากเปลือกของต้นขันทองพยาบาท”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [12 ก.พ. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad), เว็บไซต์ phargarden.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)