ขยุ้มตีนหมา
ขยุ้มตีนหมา ชื่อสามัญ Morningglory, Tiger-foot Morning Glory[2]
ขยุ้มตีนหมา ชื่อวิทยาศาสตร์ Ipomoea pes-tigridis L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ipomoea hepaticifolia L., Ipomoea capitellata Choisy, Convolvulus pes-tigridis (L.) Spreng.) จัดอยู่ในวงศ์ผักบุ้ง (CONVOLVULACEAE)[1],[2]
สมุนไพรขยุ้มตีนหมา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เถาสายทองลอย (สิงห์บุรี), ผักบุ้งทะเล (พังงา), เพาละมูลู เพาละบูลู (มาเลย์-ยะลา) เป็นต้น[1]
ลักษณะของขยุ้มตีนหมา
- ต้นขยุ้มตีนหมา จัดเป็นพรรณไม้เถาล้มลุกมีอายุเพียง 1 ปี ไม่มีมือเกาะ ลำต้นมีลักษณะเล็กเรียว มักเลื้อยไปตามพื้นดินหรือเลื้อยพาดพัน ซึ่งจะมีความยาวได้ประมาณ 0.5-3 เมตร ลำต้นปกคลุมไปด้วยขนแข็งสีขาว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้ที่พบขึ้นอยู่ตามบริเวณที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ในนาข้าว และตามดินทรายใกล้ทะเล ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 1,000 เมตร[1],[3] และขยุ้มตีนหมายังเป็นพืชที่พบกระจายอยู่เกือบทั่วโลก เช่น จีน, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, แคชเมียร์, มาเลเซีย, พม่า, เนปาล, ปากีสถาน, นิวกินี, ฟิลิปปินส์, ศรีลังกา, เวียดนาม, แอฟริกา, ออสเตรเลีย, และในหมู่เกาะแปซิฟิก[2]
- ใบขยุ้มตีนหมา ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงตัวแบบสลับ แผ่นใบกว้างเป็นรูปไข่ ส่วนขอบใบเป็นแฉกหรือเป็นจักเว้าลึกประมาณ 7-9 แฉก ซึ่งมักจะเป็นจักลึกไปถึงโคนใบ หรือขอบใบเว้าลึกแยกเป็น 3 พู ซึ่งแต่ละพูจะเว้าลึกแยกเป็นส่วนอีก 2-3 พู ดูคล้ายเป็นใบประกอบที่มีใบย่อยประมาณ 7-9 ใบ ปลายใบแต่ละแฉกแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ผิวใบมีขนนุ่มปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน ก้านใบมีลักษณะเล็กและเรียวยาวประมาณ 1.5-10 เซนติเมตร[1],[3]
- ดอกขยุ้มตีนหมา ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ช่อดอกมีประมาณ 2-3 ดอก หรือเป็นดอกเดี่ยวเกิดที่ซอกใบ ก้านดอกหรือก้านช่อยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร มีขนขึ้นปกคลุม ช่อดอกมีใบประดับลักษณะเป็นรูปหอกแกมขอบขนาน ปลายแหลม ยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงติดกันมี 5 กลีบ ยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร และมีขนยาวสีขาว ปลายกลีบแหลม ส่วนกลีบดอกจะเป็นสีขาวมี 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นรูปปากแตรหรือติดกันเป็นรูประฆัง ความยาวกลีบดอกประมาณ 4-6 เซนติเมตร ผิวกลีบเรียบ ปลายกลีบเว้าหยักเข้าเล็กน้อย เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 เซนติเมตร ส่วนเกสรเพศผู้และเพศเมียนั้นจะมีลักษณะเรียบเกลี้ยง ไม่มีขนปกคลุม โดยเกสรเพศผู้จะมี 5 อัน ติดอยู่บนหลอดกลีบดอก ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 อัน รังไข่เป็นแบบ Superior ovary ลักษณะเป็นรูปไข่[1],[3]
- ผลขยุ้มตีนหมา ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่แบบแคปซูล ยาวประมาณ 8-9 มิลลิเมตร ผิวผลเกลี้ยง ถ้าผลแห้งจะเป็นสีน้ำตาล ส่วนเมล็ดจะมีความยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร และมีขนสีเทาขึ้นกระจายอยู่[1],[3]
สรรพคุณของขยุ้มตีนหมา
- รากขยุ้มตีนหมา ใช้เป็นยารุ รักษาโรคไอเป็นเลือด (ราก)[1]
- เมล็ดขยุ้มตีนหมา ใช้เป็นยารักษาโรคท้องมาน (เมล็ด)[1]
- ทั้งต้นนำมาตำให้ละเอียดผสมกับเนย ใช้ปิดหัวฝีไม่ให้แพร่กระจาย (ทั้งต้น)[1]
- ทั้งต้นใช้ทำเป็นยาระงับพิษสุนัขบ้า (ทั้งต้น)[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ขยุ้มตีนหมา”. หน้า 92-93.
- Fang Rhui-cheng, George Staples (1995). “ Flora of China – Ipomoea”. Science Press, Peking und Missouri Botanical Garden Press, St. Louis. หน้า 6.
- สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. “ขยุ้มตีนหมา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : science.sut.ac.th. [04 มิ.ย. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Satyendra Kumar Tiwari, 翁明毅, Ahmad Fuad Morad)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)