ขมิ้นเครือ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นขมิ้นเครือ 20 ข้อ !

ขมิ้นเครือ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นขมิ้นเครือ 20 ข้อ !

ขมิ้นเครือ

ขมิ้นเครือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Arcangelisia flava (L.) Merr. จัดอยู่ในวงศ์บอระเพ็ด (MENISPERMACEAE)[1]

สมุนไพรขมิ้นเครือ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขมิ้นฤาษี ฮับ (ภาคใต้), ชั้วตั่วเหล่ง (ม้ง) เป็นต้น[2]

ลักษณะของขมิ้นเครือ

  • ต้นขมิ้นเครือ จัดเป็นพรรณไม้เลื้อยหรือไม้เถาเนื้อแข็ง ทุกส่วนเกลี้ยง ยกเว้นมีต่อมที่ใบ ลำต้นมีเนื้อไม้เป็นสีเหลือง เมื่อสับหรือฟันจะมียางสีเหลือง มีรอยแผลเป็นตามก้านใบที่หลุดร่วงไป ซึ่งรอยแผลเป็นจะมีลักษณะเป็นรูปถ้วย[1],[2] ส่วนรากสดที่อายุน้อยและขนาดเล็กจะมีรูปร่างโค้งงอไปมา ลักษณะค่อนข้างแบน และมีร่องคล้ายแอ่งเล็กอยู่ตรงกลางตลอดความยาวของราก ส่วนผิวนั้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอมเขียวหรือเป็นสีเทาปนน้ำตาล บางตอนของรากมีรอยแตกเล็ก ๆ พาดขวางอยู่ ส่วนรากที่มีอายุมากและมีขนาดใหญ่ จะมีรูปร่างทรงกระบอกค่อนข้างตรง มีโค้งงอบ้างบางตอน ผิวเรียบเป็นสีน้ำตาลอ่อน เปลือกบางมีรอยแตกเล็ก ๆ เป็นแนวตามยาวของราก รอยแตกที่พาดขวางจะเป็นรอยนูนเล็กน้อย รากขมิ้นเครือที่แห้งแล้ว ผิวจะเป็นสีน้ำตาลอ่อนและมีรอยแตกพาดขวางอยู่ทั่วไป เปลือกหลุดง่าย[5] จัดเป็นพืชหายากชนิดหนึ่ง มักขึ้นตามชายป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้นที่ระดับความสูงไม่เกิน 300 เมตร มีเขตการกระจายพันธุ์และถิ่นกำเนิดในภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ ในต่างประเทศพบได้ที่จีน (เกาะไหหลำ) ภูมิภาคมาเลเซีย และภูมิภาคอินโดจีน[3]

ต้นขมิ้นเครือ

  • ใบขมิ้นเครือ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปไข่แกมรี รูปไข่กว้าง หรือรูปหัวใจ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-16 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบกลม ตัด หรือเป็นรูปหัวใจเล็กน้อย เนื้อใบหนาคล้ายแผ่นหนัง หลังใบเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบไม่มีขน มีเส้นใบออกจากโคนใบเป็นรูปฝ่ามือ 5 เส้น และมีเส้นแขนงใบอีก 1-3 คู่ โดยมักจะออกเหนือครึ่งหนึ่งของเส้นกลางใบไป เมื่อแห้งแล้วจะเห็นเส้นร่างแหไม่ชัดเจน ก้านใบยาว ที่โคนและปลายบวม โคนก้านใบงอ[1],[2],[5]

เถาขมิ้นเครือ

ใบขมิ้นเครือ

  • ดอกขมิ้นเครือ ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามง่ามใบหรือตามเถา ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร แตกกิ่งด้านข้างยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร ดอกเป็นแบบแยกเพศ มีสีขาวแกมเหลืองหรือแกมเขียว โดยดอกเพศผู้จะไม่มีก้านหรือก้านสั้น มีใบประดับย่อยลักษณะเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร โคนหนาเห็นได้ชัด กลีบเลี้ยงวงนอกมีประมาณ 3-4 กลีบ มีขนาดสั้นกว่า 1 มิลลิเมตร ส่วนวงในใหญ่กว่า มีลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปไข่ยาวประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้จะเชื่อมกัน ยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร ส่วนดอกเพศเมียจะมีกลีบเลี้ยง 6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนานแคบ ยาวได้ประมาณ 2.5-4 มิลลิเมตร ปลายโค้ง มีเกสรเพศผู้ปลอมขนาดเล็กลักษณะคล้ายเกล็ด เกสรเพศเมียจะมี 3 อัน ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ยอดเกสรเพศเมียกว้าง ไม่มีก้าน เป็นตุ่ม[1],[2] ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน[3]
  • ผลขมิ้นเครือ ผลเป็นผลสด ลักษณะเป็นรูปทรงกลม ออกเป็นช่อตามลำดับ มักแตกก้านยาวประมาณ (5-)7-30 (-45) เซนติเมตร แกนกลางและก้านใหญ่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-6 มิลลิเมตร ผลกับก้านผลจะแตกจากด้านข้าง มีประมาณ 1-3 ผลติดอยู่ด้วยกันบนก้านที่มีลักษณะเป็นรูปตะบอง ที่ปลายบวมยาวได้ถึง 4 เซนติเมตร ผลสุกเป็นสีเหลือง ค่อนข้างแบน ด้านข้าง รูปกึ่งรูปไข่ตามขวาง ยาวประมาณ 2.5-3.3 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.2-3 เซนติเมตร และหนาประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร เมื่อแห้งจะย่น ขนเกลี้ยง ผนังผลชั้นในแข็ง[1],[2] ภายในผลมีเมล็ดใหญ่แข็ง 1 เมล็ด ติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน[3]

ผลขมิ้นเครือ

สรรพคุณของขมิ้นเครือ

  1. ตำรายาไทยจะใช้เนื้อไม้ขมิ้นเครือเป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงโลหิต (เนื้อไม้)[1],[5] น้ำต้มจากลำต้นหรือรากใช้เป็นยาบำรุง (ลำต้น, ราก)[2]
  2. รากมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงน้ำเหลือง (ราก)[5]
  3. ลำต้นและรากใช้เป็นยาแก้เบาหวาน (ลำต้นและราก)[4]
  4. รากใช้เป็นยาหยอดตา แก้ตาแดง ตาเปียก ตาแฉะ (ราก)[5]
  5. ลำต้นและรากมีสารอัลคาลอยด์ชื่อ berberine ซึ่งใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร รักษามาลาเรีย แก้ไข้ และรักษาโรคอหิวาต์ได้ผลดีเทียบเท่ากับยาคลอแรมเฟนิคอล (ลำต้นและราก)[1]
  1. ยางจากต้นใช้ดื่มเป็นยาลดไข้ (ยาง)[2]
  2. น้ำต้มจากลำต้นหรือราก ใช้เป็นยาแก้ไอ (ลำต้น, ราก)[2]
  3. รากใช้เป็นยาขับลม (ราก)[5]
  4. น้ำต้มจากลำต้นหรือกิ่งก้าน ใช้เป็นยาแก้ระบบย่อยอาหารไม่ปกติ (ลำต้น, กิ่งก้าน)[2]
  5. ยางจากต้นใช้เป็นยาแก้โรคเมืองร้อนที่เกี่ยวกับอาหารไม่ย่อย (ยาง)[2]
  6. ใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย (ลำต้น, เนื้อไม้, ราก)[1],[4]
  7. ในซาราวักจะใช้ลำต้นและรากเป็นยารักษาโรคกระเพาะ (ลำต้นและราก)[4]
  8. เนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยาสมานลำไส้ (เนื้อไม้)[5]
  9. รากมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ราก)[1]
  10. เนื้อไม้ใช้เป็นยาขับประจำเดือน ส่วนน้ำต้มจากลำต้นหรือรากมีสรรพคุณเป็นยาขับประจำเดือน แก้ปวดท้อง (ลำต้น, เนื้อไม้, ราก)[1],[2],[5]
  11. ลำต้นหรือกิ่งก้านนำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้โรคดีซ่าน (ลำต้น, กิ่งก้าน)[2]
  12. เนื้อไม้ใช้ขูดเป็นยาล้างแผลพุพอง แผลเรื้อรัง และแก้อาการคัน (เนื้อไม้)[2]
  13. ชาวม้งจะใช้ใบขมิ้นเครือนำมาทุบแล้วใช้ห่อพันบริเวณที่เอ็นขาดเพื่อช่วยประสานเอ็น (ใบ)[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของขมิ้นเครือ

สมุนไพรขมิ้นเครือ

  • มีรายงานพิษต่อเม็ดเลือดในหลอดทดลอง แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน จึงควรมีการทดลองทางพิษวิทยาเพิ่มเติมก่อนนำมาใช้[1]
  • รากและลำต้นที่ได้มาจากร้านขายยาแผนโบราณจากป่าหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และจากสวนสมุนไพรของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดจันทบุรี มีปริมาณของสาร berberine อยู่สูงถึง 3.22% โดยขมิ้นเครือจากตลาดจะมีปริมาณของสารดังกล่าวอยู่น้อยกว่ามาก ส่วนขมิ้นเครือของจังหวัดสงขลานั้นไม่มีเลย ส่วนรากขมิ้นเครือจากสวนสมุนไพร จังหวัดจันทบุรี จะมีปริมาณของสาร berberine สูงสุด[5]

ประโยชน์ของขมิ้นเครือ

  • เมล็ดขมิ้นเครือมีพิษ หากรับประทานอาจทำให้อาเจียนและถึงตายได้ มันจึงถูกนำมาใช้เป็นยาเบื่อปลา[2]
  • ในกาลิมันตันจะใช้สีเหลืองจากลำต้นนำมาย้อมเสื่อที่ทำจากหวาย ส่วนในอินเดียและอินโดจีนจะใช้ย้อมผ้า และบางครั้งก็นำสีเหลืองที่ได้ไปผสมกับสีจากคราม ซึ่งจะทำให้ได้สีเขียว[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ขมิ้นเครือ”.  หน้า 54.
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ขมิ้นเครือ”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [08 มิ.ย. 2015].
  3. พืชถิ่นเดียวและพืชหายากของประเทศไทย, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ขมิ้นเครือ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th.  [08 มิ.ย. 2015].
  4. หนังสือทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3 : พืชให้สีย้อมและแทนนิน.  (สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย).  “ขมิ้นเครือ”.  หน้า 89-90.
  5. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์.  (ถนอมหวัง อมาตยกุล, ดรุณ เพ็ชรพลาย).  “การศึกษาทางพฤกษศาสตร์และเภสัชเวทของขมิ้นเครือ (Arcangelisia flava)”.  หน้า 19-30.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad), www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด