ก่อสร้อย
ก่อสร้อย ชื่อวิทยาศาสตร์ Carpinus viminea Wall. ex Lindl. จัดอยู่ในวงศ์กำลังเสือโคร่ง (BETULACEAE)[1],[2]
สมุนไพรก่อสร้อย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กำลังเสือโคร่ง (น่าน), ก่อสร้อย สนสร้อย ส้มพอหลวง (เลย), ก่อหัด (เพชรบูรณ์), เส่ปอบบล๊ะ เส่ปอบมละ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของก่อสร้อย
- ต้นก่อสร้อย จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้น มีความสูงได้ประมาณ 20 เมตร เปลือกต้นเป็นสีเทาและมีลายเป็นทางสีดำ เปลือกนอกจะลอกออกเป็นแผ่นงอม้วน ลักษณะของลำต้นกิ่งมีช่องอากาศเป็นตุ่ม ๆ จำนวนมาก ตามยอดอ่อนจะมีขนปกคลุมเล็กน้อย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง เป็นพรรณไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีอากาศเย็น มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย เนปาล ภูฏาน พม่า ลาว และเวียดนาม ในประเทศไทยพบขึ้นทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมักจะพบขึ้นในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น ตามภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800-900 เมตร ขึ้นไป เช่น บนดอยอินทนนท์ ดอยปุย ในจังหวัดเชียงใหม่, บริเวณภูกระดึง ภูหลวง จังหวัดเลย เป็นต้น[1],[2]
- ใบก่อสร้อย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลมเป็นหางยาว โคนใบแหลม มนกลม หรือเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยซ้อนกัน 2 ถึง 3 ชั้น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-11 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา ผิวใบด้านล่างมีขนเล็กน้อยตามเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบมีข้างละ 10-12 เส้น เส้นใบย่อยเป็นเส้นตรงและเส้นขนานกัน ซึ่งจะเห็นได้ชัดทั้งสองด้าน ส่วนก้านใบมีขน ยาวได้ประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกก่อสร้อย ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน แยกกันอยู่คนละช่อ ช่อดอกเพศผู้จะออกตามซอกใบ เป็นช่อห้อยลงมา ยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร มีใบประดับลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายแหลม มีสันนูน และมีขนตามขอบเล็กน้อย อับเรณูมีขนยาว ๆ กระจุกหนึ่งอยู่ด้านบน ส่วนช่อดอกเพศเมียจะออกบริเวณยอด โดยจะออกเป็นช่อตั้งตรงหรือเกือบตรง ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร มีดอกห่าง ๆ ใบประดับเป็นรูปยาวแคบ[1],[2]
- ผลก่อสร้อย ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายผลแหลม ยาวประมาณ 5-7 มิลลิเมตร เปลือกผลแข็ง และมีเส้นนูนตามยาว 7-8 เส้น มีต่อมให้ยางเหนียวเป็นจุด ๆ และทั้งสองข้างจะมีใบประดับเจริญขึ้นเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอก ยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ข้างซ้ายและข้างขวาจะมีขนาดไม่เท่ากัน มีเส้นนูน 3-4 เส้น ส่วนขอบจักหรือหยัก[1],[2]
สรรพคุณของก่อสร้อย
- เปลือกต้นใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (เปลือกต้น)[1]
- เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร (เปลือกต้น)[1]
- ใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ (เปลือกต้น)[1]
- ใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บำรุงเส้นเอ็น (เปลือกต้น)[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ก่อสร้อย”. หน้า 46-48.
- ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ก่อสร้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [22 มิ.ย. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Vijayasankar Raman)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)