กูดพร้าว สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกูดพร้าว 5 ข้อ !

กูดพร้าว สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกูดพร้าว 5 ข้อ !

กูดพร้าว

กูดพร้าว ชื่อวิทยาศาสตร์ Cyathea latebrosa (Wall. ex Hook.) Copel. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Alsophila latebrosa Wall. ex Hook., Dichorexia latebrosa (Wall. ex Hook.) C. Presl) จัดอยู่ในวงศ์ CYATHEACEAE[1]

สมุนไพรกูดพร้าว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กูดต้น (ภาคเหนือ), มหาสดำ (ภาคตะวันออกเฉียงใต้), กูดพร้าว (เชียงใหม่)[1] บางแห่งเรียกว่า “กูดต้นดอยสุเทพ

ลักษณะของกูดพร้าว

  • ต้นกูดพร้าว จัดเป็นเฟิร์นต้นที่มีลำต้นตั้งตรง สูงได้ประมาณ 3-5 เมตร ตามลำต้นมีเกล็ดขึ้นปกคลุมและมีรอยก้านใบที่หลุดร่วงไป รากมีลักษณะเป็นเส้นแข็งสีดำ มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีนตอนใต้ กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ โดยมักพบขึ้นตามไหล่เขาในป่าดิบเขา บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลต่ำกว่า 1,000 เมตร[1]

ต้นกูดพร้าว

กูดต้นดอยสุเทพ

  • ใบกูดพร้าว ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกรวมกันเป็นกลุ่มบริเวณใกล้ยอด แกนกลางของใบประกอบไม่เรียบ มีตุ่มขรุขระทางด้านล่าง ส่วนด้านบนมีขนและเกล็ดขึ้นประปราย ก้านใบเป็นสีน้ำตาลปนเหลืองหรือสีน้ำตาลเข้ม ยาวได้ประมาณ 40 เซนติเมตร มีหนามสั้น ๆ ที่โคนมีเกล็ดสีน้ำตาลเป็นมัน เกล็ดมีลักษณะเป็นรูปแถบ มีขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ด้านบนมีขน กลุ่มใบย่อยคู่ล่างลดขนาดลงยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร มีรูปร่างไม่แน่นอน ส่วนกลุ่มใบย่อยถัดขึ้นมาจะมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานแคบ ปลายเรียวแหลมและมีติ่งยาว มีขนาดกว้างประมาณ 14 เซนติเมตร และยาวประมาณ 40 เซนติเมตร แกนกลุ่มใบย่อยมีเกล็ดแบนสีน้ำตาลทางด้านล่าง ใบย่อยจะมีมากกว่า 25 คู่ เรียงห่างกันประมาณ 1.6 เซนติเมตร ลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก มีขนาดกว้างประมาณ 1.7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลม โคนกึ่งตัด ส่วนขอบหยักเว้าลึกเกือบถึงเส้นกลางใบย่อย หยักเฉียง รูปเคียว มีขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ปลายมน ส่วนขอบเรียบหรือจักเป็นฟันเลื่อย เส้นกลางใบย่อยมีขนทางด้านบน ส่วนด้านล่างมีเกล็ดแบนสีน้ำตาล แผ่นใบบาง ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างเป็นสีเขียวอ่อน เส้นใบแยกสาขาออกเป็นคู่ 7-8 คู่ ก้านใบย่อยไม่มี[1]

ใบกูดพร้าว

  • กลุ่มอับสปอร์กูดพร้าว กลุ่มอับสปอร์จะมีลักษณะเป็นรูปเกือบกลม อยู่บนเส้นใบทั้งสองข้าง โดยจะอยู่ตรงเส้นกลางใบย่อย เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์เป็นเกล็ดเล็ก อยู่ที่ฐานของกลุ่มอับสปอร์[1]

กูดต้น

กลุ่มอับสปอร์กูดพร้าว

สรรพคุณของกูดพร้าว

  • แพทย์แผนชนบทจะใช้เนื้อไม้นำมาทำเป็นยาแก้ไข้ ใช้ฝนเป็นยาทาแก้ฝี แก้อักเสบ และแก้บวม (เนื้อไม้)[2]

ประโยชน์ของกูดพร้าว

  • ลำต้นของกูดพร้าวสามารถนำมาใช้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ได้[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กูดพร้าว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.  [27 ส.ค. 2015].
  2. หนังสือคำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์.  (ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาศ ชวลิต, วิเชียร จีรวงส์).  “กูดพร้าว”.  หน้า 519.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ronnie, techieoldfox, Yeoh Yi Shuen, hellimli, Tom Ballinger)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด