14 สรรพคุณและประโยชน์ของดอกกุหลาบมอญ ! (ดอกยี่สุ่น)

กุหลาบมอญ

กุหลาบมอญ ชื่อสามัญ Damask rose, Pink damask rose, Summer damask rose, Rose[1],[2],[3],[4],[5]

กุหลาบมอญ ชื่อวิทยาศาสตร์ Rosa × damascena Mill. จัดอยู่ในวงศ์กุหลาบ (ROSACEAE)[1],[2],[3],[4],[5]

สมุนไพรกุหลาบมอญ มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ยี่สุ่น (ภาคกลาง), กุหลาบออน (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[2],[5]

ลักษณะของกุหลาบมอญ

  • ต้นกุหลาบมอญ หรือ ต้นยี่สุ่น เป็นกุหลาบพันธุ์พื้นเมืองของหงสาวดี (เมืองของชาวมอญในอดีต) โดยเป็นดอกไม้ที่ทรงโปรดของสมเด็จพระนเรศวร พระองค์ทรงนำกลับมาปลูกหลังจากเสร็จสงครามที่เมืองมอญ โดยจัดเป็นไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น เปลือกต้นเรียบ มีหนามแหลมตามกิ่งและตามลำต้น ปกติมีหนามมากและมีความยาวไม่เท่ากัน มีลักษณะตรงถึงโค้งเล็กน้อย หนามอ่อนเป็นสีน้ำตาลแกมสีแดง ส่วนหนามแก่เป็นสีเทา ต้นกุหลาบมอญเป็นไม้ดอกกลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในที่โล่งกลางแจ้งและในดินร่วนซุยที่มีธาตุอาหารเพียงพอและระบายน้ำได้ดี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การปักชำกิ่ง และวิธีการตอนกิ่งซึ่งเป็นที่นิยมที่สุด เนื่องจากออกรากได้ง่าย[1],[3],[4],[6],[7]

ต้นกุหลาบมอญ

ต้นยี่สุ่น

  • ใบกุหลาบมอญ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายใบคี่ ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 3-5 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเป็นจักแบบฟันเลื่อยตลอดทั้งขอบใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร แผ่นใบด้านล่างมีขนไม่มีต่อม หูใบส่วนใหญ่ขอบเรียบ ปลายยื่นยาว ส่วนก้านใบมีขนสีน้ำตาลแดง[1],[3]

ใบกุหลาบมอญ

  • ดอกกุหลาบมอญ หรือ ดอกยี่สุ่น ออกดอกเป็นช่อแบบกระจะหรือช่อแบบกระจุกแตกแขนง มีประมาณ 3-10 ดอก หรืออาจมีมากกว่านี้ โดยจะออกดอกบริเวณปลายยอด ดอกย่อยเป็นสีชมพูและมีกลิ่นหอม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างถึง 8 เซนติเมตร กลีบดอกมีลักษณะค่อนข้างกลมเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ปลายกลีบดอกมน หรือเป็นหยักตื้น ๆ หรือเป็นคลื่น กลีบดอกโดยปกติแล้วจะมีประมาณ 20-30 กลีบ ถ้ากลีบไม่ปกติจะมีประมาณ 5-10 กลีบต่อดอก กลีบดอกมีตั้งแต่สีแดงจนถึงสีขาว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสีชมพูกุหลาบถึงแดง ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก มีประมาณ 100-120 ก้าน ส่วนเกสรเพศเมียก็มีจำนวนมากเช่นกัน ก้านเกสรมีขน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม เป็นติ่งแหลมกว้าง ม้วนโค้งตอนดอกบาน และจะร่วงในเวลาต่อมา มีต่อม ส่วนฐานรองดอกมีลักษณะเป็นรูปถ้วย ด้านนอกมีต่อมขนอยู่เป็นจำนวนมากและด้านในมีขน ส่วนก้านช่อดอกยาวได้ถึง 7 เซนติเมตรและมีหนามเล็ก ๆ[1],[3]

ยี่สุ่น

ดอกกุหลาบมอญ

ดอกยี่สุ่น

  • ผลกุหลาบมอญ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม บ้างว่ารูปไข่ ยาวได้ถึง 2.5 เซนติเมตร ผลเป็นผลสดและเป็นผลกลุ่ม ผลเป็นสีแดงอ่อนถึงเข้ม ในผลมีเมล็ดสีออกน้ำตาลประมาณ 1-3 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยมกลม ยาวประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร[1],[3]

สรรพคุณของกุหลาบมอญ

  1. ตำรายาไทยใช้กลีบดอกมีรสสุขม ใช้เข้ายาหอมเป็นยาบำรุงหัวใจ (กลีบดอก, ดอกแห้ง)[1],[2],[3],[5]
  2. ดอกแห้งช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย (ดอกแห้ง)[3],[5]
  3. น้ำดอกไม้เทศที่มีส่วนผสมของกุหลาบมอญ ช่วยแก้อาการอ่อนเพลียและกระวนกระวาย[1],[2]
  4. กลีบดอกช่วยขับน้ำดี (กลีบดอก)[1],[2]
  5. ดอกแห้งใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ (ดอกแห้ง)[1],[3],[5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกุหลาบมอญ

  • กุหลาบมอญมีฤทธิ์ในการคลายกล้ามเนื้อเรียบ[3]
  • มีฤทธิ์กดการทำงานของกล้ามเนื้อลาย[3]
  • น้ำมันกุหลาบมอญเป็นสารที่มีความปลอดภัยในการใช้ โดยมีค่าทำให้สัตว์ทดลองครึ่งหนึ่ง (LD50) เมื่อให้ยาทางปากกับหนูขาวและให้ยาทาโดยการทาผิวหนังของกระต่ายมากกว่า 5 กรัมต่อกิโลกรัม[3]

ประโยชน์ของกุหลาบมอญ

  1. ที่เห็นกันอยู่ทั่วไปก็คือ การนำดอกมาใช้ในการร้อยพวงมาลัย ใช้ในการร้อยพวงอุบะดอกไม้ในงานมงคลหรือในงานพิธีต่าง ๆ โดยนำกลีบมาร้อยเป็นพวง[7]
  2. กลีบดอกสามารถนำมาชุบแป้งทอด ใช้รับประทานเป็นผักร่วมกับน้ำพริกได้ หรือใช้ทำเป็น “ยำดอกกุหลาบ[6],[7]
  3. สำหรับการใช้ในงานด้านอาหาร เช่น การนำมาแต่งหน้าขนมตะโก้ หรือนำมาใช้โรยบนท่อนอ้อยควั่น เพิ่มความสวยงามให้กับอาหารให้ดูน่ารับประทานยิ่งขึ้น[7]
  4. กลีบดอกใช้ทำเป็นชากุหลาบ ด้วยการใช้กลีบกุหลาบที่ตากแห้งแล้วนำมาชงในน้ำเดือด ก็จะได้ชากุหลาบสีสดสวยงาม โดยมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ แก้อาการอ่อนเพลีย และมีฤทธิ์เป็นยาระบายแบบอ่อน ๆ หากมีรสฝาดก็ให้เติมมะนาวหรือเกลือ[7]
  5. กลีบดอกสดของกุหลาบมอญมีน้ำมันหอมระเหยที่สามารถนำมาใช้ในการแต่งกลิ่นเครื่องสำอาง แต่งกลิ่นยา แต่งกลิ่นอาหารและน้ำเชื่อมของขนมไทย[1],[2],[3],[4],[5]
  6. กลีบดอกนอกจากจะนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยแล้ว ยังนำมาทำดอกไม้ประดิษฐ์และบุหงาได้อีกด้วย[4]
  7. น้ำมันกุหลายมอญใช้เป็นหัวน้ำหอมได้[3]
  8. น้ำกุหลาบใช้เป็นส่วนผสมของน้ำดอกไม้เทศ (หัวน้ำหอมที่ทำจากดอกกุหลาบชนิดหนึ่ง)[1],[2]
  9. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากกุหลาบมอญเป็นไม้ดอกที่มีดอกสวยงามและมีกลิ่นหอมแรงมาก ดอกบานได้หลายวัน ออกดอกได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งยังเป็นกุหลาบพันธุ์ที่สามารถปลูกได้ง่าย การดูแลรักษาก็ไม่ยาก[4],[7]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “กุหลาบมอญ (Ku Lhap Mon)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 53.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  “”กุหลาบมอญ”.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  หน้า 181.
  3. ฐานข้อมูลน้ำมันหอมระเหยไทย, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.).  “กุหลาบมอญ”.  อ้างอิงใน: หนังสืออุทยานสมุนไพรพุทธมณฑล, หน้า 21, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและพลังงาน.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th/essentialoils/.  [04 ก.พ. 2014].
  4. คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  “กุหลาบมอญ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.natres.psu.ac.th.  [04 ก.พ. 2014].
  5. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กุหลาบมอญ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [04 ก.พ. 2014].
  6. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “กุหลาบมอญ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [04 ก.พ. 2014].
  7. หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 484, วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553.  “กุหลาบมอญ กุหลาบในตำนาน”.  (องอาจ ตัณฑวณิช).

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Peter Karlsson, jacraghead, Ahmad Fuad Morad, Roscoea, agromonitor, ing123)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด