กำลังเสือโคร่ง สรรพคุณของกําลังเสือโคร่ง 25 ข้อ ! (ขวากไก่, เขี้ยวงู)

กำลังเสือโคร่ง สรรพคุณของกําลังเสือโคร่ง 25 ข้อ ! (ขวากไก่, เขี้ยวงู)

กําลังเสือโคร่ง

กำลังเสือโคร่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Strychnos axillaris Colebr. จัดอยู่ในวงศ์กันเกรา (LOGANIACEAE หรือ STRYCHNACEAE)

สมุนไพรกําลังเสือโคร่ง ชนิดนี้จัดเป็นไม้เลื้อยที่มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขวากไก่ หนามเข็ม (ชัยภูมิ), ขอเบ็ด (หนองคาย), เขี้ยวงู (ชุมพร), ขี้แรด (ปราจีนบุรี), ตึ่ง เครือดำตัวแม่ (ลำปาง), เล็บครุฑ (จันทบุรี), หมากตาไก้ (เลย), เล็บรอก (พัทลุง), เบน เบนขอ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นต้น

สมุนไพรกําลังเสือโคร่ง กับความเข้าใจผิด ๆ ยังมีหลายคนที่กำลังสับสนในชื่อของกำลังเสือโคร่งว่าแท้จริงแล้วชื่อต้นไม้ชนิดนี้เป็นพันธุ์ไม้ชนิดนี้ใดกันแน่ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3-4 ชนิด ที่ล้วนแล้วแต่เป็นต้นไม้คนละชนิด ต่างสกุล และต่างวงศ์กัน แต่มีสรรพคุณที่เหมือนกันคือ “เป็นยาบำรุงกำลัง”

  1. กำลังเสือโคร่ง หรือ กำลังพญาเสือโคร่ง หรือ พญาเสือโคร่ง ชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 20-35 เมตร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betula alnoides Buch.-Ham. ex D.Don จัดอยู่ในวงศ์กำลังเสือโคร่ง (BETULACEAE)
  2. กําลังเสือโคร่ง ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ziziphus attopensis Pierre จัดอยู่ในวงศ์พุทรา (RHAMNACEAE) ส่วนนี้ผมพยายามหาข้อมูลที่ถูกต้องอยู่ครับ ว่าแท้จริงแล้วมันคือชนิดใดกันแน่ เพราะบางแห่งบอกว่าเป็นไม้พุ่มสูง 7 เมตร ขอบใบเป็นฟันเลื่อย (ข้อมูลจากเว็บ rspg.or.th) แต่ข้อมูลอีกแห่งระบุว่าเป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 10-15 เมตร ขอบใบไม่เป็นฟันเลื่อย ซึ่งมีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกายและบำรุงกำลังทางเพศเป็นหลัก (ข้อมูลจากเว็บมติชนและไทยรัฐ) ซึ่งจะเห็นได้ว่าข้อมูลทั้งสองขัดแย้งกันเอง และผมได้พยายามค้นหาในเว็บไซต์ต่างประเทศ (plantillustrations.org) ก็ได้ไปเจอรูปนี้ครับ ที่อธิบายถึงลักษณะของต้นกำลังเสือโคร่ง ชนิด Ziziphus attopensis Pierre ตามภาพด้านล่างเลยครับ

    กำลังเสือโคร่ง
    กำลังเสือโคร่ง ชนิด Ziziphus attopensis Pierre

    เมื่อสังเกตดูตามภาพแล้ว จะเห็นว่ามันช่างคล้ายกับ ต้นกำลังเสือโคร่ง ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Strychnos axillaris Colebr. ซึ่งเป็นชนิดไม้พุ่มมากเลยทีเดียว และจากรูปจะเห็นว่าขอบใบนั้นไม่ได้เป็นฟันเลื่อย จนอาจคิดไปว่าเป็นต้นไม้ชนิดเดียวกัน แต่ทั้งนี้ข้อมูลจากเว็บต่างประเทศดังกล่าวก็ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นพรรณไม้คนละตระกูลและคนละวงศ์กันเลย โดยระบุว่าชนิด Ziziphus attopensis Pierre นั้นจัดอยู่ในวงศ์พุทรา ส่วนชนิด Strychnos axillaris Colebr. จะจัดอยู่ในวงศ์กันเกรา (ภาพลักษณะอยู่ด้านล่าง) ส่วนใครมีข้อมูลเพิ่มเติมก็เสนอแนะได้เลยนะครับ

  3. นางพญาเสือโคร่ง หรือ ซากุระเมืองไทย ที่มีดอกเบ่งบานสีชมพู เป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 10-15 เมตร ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prunus cerasoides จัดอยู่ในวงศ์กุหลาบ
  4. กำลังเสือโคร่ง (ไม้พุ่ม) เป็นชนิดที่เรากล่าวถึงในบทความนี้ (ตามภาพด้านล่าง) ซึ่งเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Strychnos axillaris Colebr. และจัดอยู่ในวงศ์กันเกรา

ต้นกำลังเสือโคร่ง

ลักษณะของกำลังเสือโคร่ง

  • ต้นกำลังเสือโคร่ง จัดเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เถาขนาดใหญ่ มีลำต้นสีเขียวอมเทาถึงสีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลอมดำ ลำต้นกลมหรือเป็นเหลี่ยม ไม่มีช่องอากาศ ลำต้นมีหนามตามง่ามใบ มีมือจับอันเดียวและมีขน สามารถพบขึ้นได้ทั่วไปตามป่าดงดิบแล้ง ป่าละเมาะ และป่าโปร่งทั่ว ๆ ไป

ต้นกําลังเสือโคร่งต้นกำลังเสือโคร่ง
สมุนไพรกำลังเสือโค่รง
  • ใบกำลังเสือโคร่ง มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน แผ่นใบมีลักษณะเป็นรูปสีเหลี่ยมข้าวหลามตัดถึงค่อนข้างกลม รูปใบหอกถึงรูปไข่ โคนใบแหลมถึงตัดหรือเว้าเล็กน้อยคล้ายรูปหัวใจ ส่วนปลายใบแหลมหรือมนเป็นติ่ง ใบมีความกว้างประมาณ 1-5.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-11 เซนติเมตร แผ่นใบหนาเกลี้ยง หรือมีขนสั้นตามเส้นกลางใบและตามโคนเส้นแขนงใบ มีเส้นตามยาวของใบ 3-5 เส้น ส่วนเส้นกลางใบด้านบนจะเป็นร่อง ด้านล่างนูน หูใบเป็นแนวนูนเกลี้ยง หรืออาจมีขน และก้านใบมีความประมาณ 1-10 มิลลิเมตร

ใบกำลังเสือโคร่ง

  • ดอกกำลังเสือโคร่ง ออกดอกเป็นช่อกระจุกแยกแขนงตามง่ามใบหรือปลายกิ่ง ยาวประมาณ 5-20 มิลลิเมตร ก้านช่อดอกสั้นหรือยาวได้ถึง 9 มิลลิเมตร ดอกมีจำนวนมาก ส่วนก้านดอกยาว 0-2.5 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ลักษณะคล้ายรูปไข่ถึงกลม มีความยาวประมาณ 0.9-1.7 มิลลิเมตร ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขน ส่วนด้านในเกลี้ยง กลีบดอกมีสีเขียวถึงสีขาว มีกลีบ 5 กลีบ ยาวประมาณ 2.3-3.6 มิลลิเมตร โคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก หลอดยาวกว่าแฉก 2 เท่า ด้านนอกเกลี้ยงมีขนหรือเป็นตุ่ม ๆ ส่วนด้านในมักมีขนเป็นวงอยู่ตรงปากหลอด นอกนั้นเกลี้ยง แฉกหนา มีเกสรตัวผู้อยู่ 5 ก้าน ติดอยู่ใกล้ปากหลอด ยาวยื่นออกมาพ้นปากหลอด ก้านเกสรมีความยาวประมาณ 0.2-0.6 มิลลิเมตร ส่วนอับเรณูเป็นรูปไข่ มีความยาวประมาณ 0.6-0.9 มิลลิเมตร มีขนแผง และมักมีติ่งแหลมอ่อน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีอยู่ 2 ช่อง แต่ละช่องจะมีไข่อ่อนจำนวนมาก และยอดเกสรตัวเมียเป็นตุ่ม

ดอกกำลังเสือโคร่ง

  • ผลกำลังเสือโคร่ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-1.5 เซนติเมตร ผลมีสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีส้มหรือแดง เปลือกผลบางเรียบ ในผลมีเมล็ด 1-2 เมล็ด

ผลกำลังเสือโคร่ง

สรรพคุณของกําลังเสือโคร่ง

  1. แก่นกำลังเสือโคร่งใช้ต้มน้ำดื่ม มีสรรพคุณช่วยบำรุงกำลัง (แก่น)
  2. ช่วยบำรุงร่างกาย ด้วยการใช้ลำต้นผสมกับผลพริกไทยและหัวกระเทียม แล้วนำมาต้มดื่ม (ลำต้น)
  3. ช่วยบำรุงโลหิตในร่างกาย (แก่น)
  4. แก่นช่วยแก้กระษัย หรือจะใช้เปลือกต้น แก่น และใบ นำมาต้มดื่ม (เปลือกต้น, แก่น, ใบ)
  5. ช่วยแก้โลหิตเป็นพิษในการคลอดบุตร บาดทะยักปากมดลูก และสันนิบาตหน้าเพลิง (ลำต้น)
  1. ช่วยรักษาอาการปอดพิการ (ลำต้น)
  2. ช่วยแก้พิษตานซาง (ลำต้น)
  3. แก่นช่วยดับพิษไข้ (แก่น)
  4. ช่วยแก้อาการไอ (ลำต้น)
  5. ผลใช้เป็นยาถ่ายสำหรับเด็ก (ผล)
  6. ช่วยขับพยาธิในท้อง (ลำต้น)
  7. ช่วยแก้เถาดานในท้อง (ลำต้น)
  8. ช่วยแก้ริดสีดวงในลำไส้ (ราก)
  9. ช่วยแก้กามโรค (ลำต้น)
  10. ช่วยแก้ปัสสาวะพิการ (แก่น)
  11. ช่วยแก้ไตพิการ (แก่น)
  12. ใบช่วยรักษาโรคผิวหนัง (ใบ)
  13. รากใช้ตำพอกแก้ฝี (ราก)
  14. ช่วยดับพิษในข้อกระดูกและเส้นเอ็น (ลำต้น)
  15. ช่วยแก้อัมพาต (ใบ)
  16. ช่วยแก้เส้นเอ็นพิการโดยใช้เปลือกต้น แก่น และใบ นำมาต้มดื่ม (เปลือกต้น, แก่น, ใบ)
  17. ช่วยแก้เหน็บชา แก้เข้าข้อ โดยใช้เปลือกต้น แก่น และลำต้น นำมาต้มดื่มแก้อาการ (เปลือกต้น, แก่น, ใบ)
  18. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยใช้แก่นนำมาต้มเป็นน้ำดื่ม หรือจะใช้เปลือกต้น แก่น และใบ นำมาต้มดื่ม (เปลือกต้น, แก่น, ใบ)
  19. สารสกัดใบแห้งด้วยแอลกอฮอล์ 95% ช่วยยับยั้งเชื้อหนองชนิด Staphylococcus aureus แต่ไม่มีผลต่อเชื้อหนองชนิด Bacillus subtilis และ Pseudomonas aeruginosa รวมทั้งเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของอาการตกขาวหรือฝ้าขาวในปากได้ (Candida albicans)
  20. นอกจากนี้ยังใช้ใบในการอาบลูกดอกด้วย (ใบ) (แต่ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าอาบลูกดอกอะไร อาบลูกดอกยาพิษรึเปล่า อันนี้ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน)

แหล่งอ้างอิง : ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, สมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 4 กกยาอีสาน, ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ภาพประกอบ : www.phargarden.com (by Sudarat Homhual), www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual), www.flickr.com (by ibsut)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด