กำลังพญาเสือโคร่ง สรรพคุณและประโยชน์ของกำลังพญาเสือโคร่ง 18 ข้อ !

กำลังพญาเสือโคร่ง

กำลังพญาเสือโคร่ง ชื่อสามัญ Birch

กําลังพญาเสือโคร่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Betula alnoides Buch.-Ham. ex D.Don จัดอยู่ในวงศ์กำลังเสือโคร่ง (BETULACEAE)

กำลังพญาเสือโคร่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กำลังเสือโคร่ง (เชียงใหม่), พญาเสือโคร่ง, นางพญาเสือโคร่ง (คนเมือง), ลำแค ลำแคร่ ลำคิแย (ลั้วะ), เส่กวอเว (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น

ลักษณะของกำลังพญาเสือโคร่ง

  • ต้นกำลังพญาเสือโคร่ง มีถิ่นกำเนิดและพบได้มากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800-1,000 เมตร และเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดน่าน โดยจัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นสูงขนาดใหญ่ มีความสูงราว 20-40 เมตร วัดรอบลำต้นได้ประมาณ 1-2 เมตร เปลือกต้นมีสีน้ำตาลเทาหรือเกือบดำ เปลือกมีต่อมระบายอากาศเป็นจุด ๆ เล็ก ๆ ขาว ๆ ลักษณะกลมหรือรีปะปนกันอยู่ เปลือกมีกลิ่นคล้ายกับการบูร เมื่อแก่จะลอกออกเป็นชั้น ๆ คล้ายกระดาษ ที่ยอดอ่อน ก้านใบ และช่อดอกจะมีขนสีเหลืองหรือสีน้ำตาลปกคลุมอยู่ ขนเหล่านี้จะลดลงเรื่อย ๆ จนเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยงเมื่อแก่ ส่วนของเนื้อไม้ กระพี้ และแก่นมีสีต่างกันเพียงเล็กน้อย เนื้อไม้มีสีน้ำตาลอ่อนออกเหลืองปนขาวหรือค่อนข้างขาว เนื้ออ่อนค่อนข้างละเอียด มีเสี้ยนตรง แข็งปานกลาง มีลวดลายที่สวยงาม และสามารถไสกบตบแต่งได้โดยง่าย ขัดเงาได้ดี ต้นกำลังพญาเสื้อโคร่งขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด

กำลังพญาเสือโคร่ง

ต้นกำลังพญาเสือโคร่งต้นกําลังพญาเสือโคร่ง
  • ใบกำลังพญาเสือโคร่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปหอกหรือเป็นรูปหอก ขนาดใบกว้างประมาณ 1.5-6.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6.55-13.5 เซนติเมตร เนื้อใบบางคล้ายกระดาษหรืออาจจะหนา ด้านใต้ของใบมีตุ่ม ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อยสองถึงสามชั้น ซี่หยักแหลม ขอบซี่เรียวแหลม โคนใบป้านหรือเกือบเป็นเส้นตรง ปลายใบเรียวแหลม ใบมีเส้นกลางใบเป็นร่องตื้น ๆ ทางด้านหลังใบเส้นแขนง 7-10 คู่ ส่วนหูใบเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือแคบ ยาวประมาณ 3-8 มิลลิเมตร ส่วนก้านใบเป็นร่องลึกด้านบนยาว 0.5-2.5 เซนติเมตร

ใบกําลังเสือโคร่ง

  • ดอกกำลังพญาเสือโคร่ง ออกดอกเป็นชายาวคล้ายกับหางกระรอก ออกตามง่ามใบแห่งละ 2-5 ช่อ ดอกย่อยไม่มีก้าน ช่อดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่แยกกัน โดยช่อดอกเพศผู้ยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร มีกลีบรองดอกเป็นรูปกลมหรือรูปโล่ มีแกนอยู่ตรงกลาง ส่วนปลายค่อนข้างแหลม มีขนอยู่ที่ขอบ เกสรตัวผู้มีอยู่ 4-7 ก้านติดอยู่ที่แกนกลาง ส่วนช่อดอกเพศเมียมีความยาวประมาณ 3-9 เซนติเมตร กลีบรองดอกไม่มีก้าน มี 3 หยัก ยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขน รังไข่แบน กรอบนอกเป็นรูปไข่หรือเกือบกลม มีขน ท่อรังไข่จะยาวกว่ารังไข่เล็กน้อย มีความกว้างประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 2.5-4 มิลลิเมตร มีปีกบางและโปร่งแสง มักออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์

ดอกกําลังพญาเสือโคร่ง

  • ผลกำลังพญาเสือโคร่ง ลักษณะของผลแบนกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 2-14 มิลลิเมตร มี 2 ข้าง ปีกบางและโปร่งแสง ผลแก่ร่วงง่าย มักออกผลในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์

สรรพคุณของกำลังพญาเสือโคร่ง

  1. เปลือกต้นใช้ทำเป็นยาดองเหล้าดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย หรือจะใช้เปลือกต้นที่ตากแห้งแล้วใช้ผสมกับม้ากระทืบโรง โด่ไม่รู้ลืม ตานเหลือง มะตันขอ ข้าวหลามดง หัวยาข้าวเย็น ไม้มะดูก แก่นฝาง ลำต้นฮ่อสะพายควาย และจะค่าน นำมาต้มเป็นยาดื่ม (เปลือกต้น)
  2. เปลือกใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (เปลือกต้น)
  3. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือกต้น)
  4. ช่วยบำรุงเลือด (เปลือกต้น)
  5. เปลือกใช้ต้มเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (เปลือกต้น)
  1. ช่วยบำรุงกองธาตุให้เป็นปกติ (เปลือกต้น)
  2. ช่วยอาการปวดฟัน ป้องกันฟันผุ ด้วยการใช้เปลือกต้น นำมาถากออกเป็นแผ่นแล้วนำมาเผาไฟ แล้วนำผงที่ได้มาทาบริเวณที่ปวดฟันหรือฟันผุ (เปลือกต้น)
  3. เปลือกต้นช่วยขับลมในลำไส้ (เปลือกต้น)
  4. ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร (เปลือกต้น)
  5. ช่วยชำระล้างไตให้สะอาดมากขึ้น (เปลือกต้น)
  6. ช่วยบำบัดอาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับมดลูกของสตรีไม่สมบูรณ์ หรือมดลูกชอกช้ำหรืออักเสบอันเนื่องมาจากการถูกกระทบกระเทือน การแท้งบุตร หรือมดลูกไม่แข็งแรงให้หายเร็วเป็นปกติ (เปลือกต้น)
  7. ช่วยบำรุงเส้นเอ็นให้แข็งแรง (เปลือกต้น)
  8. รากใช้ต้มเป็นน้ำดื่มร่วมกับรากโด่ไม่รู้ล้ม ใช้ดื่มเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือจะใช้เปลือกต้นที่ตากแห้งแล้วใช้ผสมกับม้ากระทืบโรง โด่ไม่รู้ล้ม ตานเหลือง มะตันขอ ข้าวหลามดง หัวยาข้าวเย็น ไม้มะดูก แก่นฝาง ลำต้นฮ่อสะพายควาย และจะค่าน นำมาต้มเป็นยาดื่ม (ราก, เปลือกต้น)
  9. เปลือกต้นมีน้ำมันหอมระเหยชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นฉุนแรงคล้ายน้ำมันระกำ หากทิ้งไว้จนเปลือกแห้ง กลิ่นจะทำให้เส้นเอ็นแข็งแรง (เปลือกต้น)
  10. เปลือกต้นมีกลิ่นหอม ใช้ดมแก้อาการหน้ามืดตาลายได้ (เปลือกต้น)

วิธีใช้เปลือกต้นต้มเป็นยา

  • ให้ใช้เปลือกต้นที่ถากออกจากลำต้นพอประมาณตามความต้องการ แล้วนำใส่ในภาชนะ ต้มกับน้ำให้เดือดแล้วเคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ น้ำสมุนไพรที่ได้จะเป็นสีแดง แล้วใช้รับประทานในขณะอุ่น ๆ จะทำให้มีสรรพคุณทางยามากขึ้น (หากต้องการปรุงรสเพิ่มเติมให้หอมหวานก็ให้ใช้ชะเอมพอสมควรและน้ำตาลกรวดผสมลงไป)
  • หากทำเป็นยาดองเหล้า สีที่ได้จะแดงเข้มมาก ถ้าต้องการจะปรุงรสก็ให้เติมน้ำผึ้งกับโสมตังกุยตามต้องการ ซึ่งสูตรดองเหล้านี้จะช่วยให้สรรพคุณทางยาแรงขึ้นเป็นทวีคูณ โดยทั้งสองสูตรสามารถนำมาทำได้ 3-4 ครั้งจนกว่าจะหมดสีของสมุนไพร

ประโยชน์ของกำลังพญาเสือโคร่ง

  • เนื้อไม้สามารถนำไปใช้ทำเป็นกระดานพื้น ทำเครื่องเรือน ใช้ในการก่อสร้างต่าง ๆ ทำเป็นด้ามเครื่องมือ ฯลฯ
  • นอกจากเปลือกจะใช้ทำเป็นยาแล้ว เปลือกยังมีกลิ่นหอม ใช้ทำเป็นการบูรและใช้ทำเป็นกระดาษได้
  • เปลือกนำมาบดให้ละเอียดใช้ผสมกับแป้งทำเป็นขนมปังหรือเค้กได้ (ข้อมูลจากเกษตรอินทรีย์)

แหล่งอ้างอิง : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน),

ภาพประกอบ : www.gotoknow.org (สุญฺญตา), www.flickr.com (by Tony Rodd)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด