10 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกำลังควายถึก !

กำลังควายถึก

กำลังควายถึก ชื่อวิทยาศาสตร์ Smilax perfoliata Lour. จัดอยู่ในวงศ์ข้าวเย็นเหนือ (SMILACACEAE)[2]

สมุนไพรกำลังควายถึก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เครือเดา เดาน้ำ สะเดา (เชียงใหม่), ก้ามกุ้ง (อุตรดิตถ์), เขืองปล้องสั้น (นครราชสีมา), เขือง (ภาคอีสาน), เขืองแดง เขืองสยาม (ภาคกลาง), พอกะอ่ะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), หนามป๋าวหลวง (ไทใหญ่) เป็นต้น[1],[3]

ลักษณะของกำลังควายถึก

  • ต้นกำลังควายถึก จัดเป็นพรรณไม้เถาเกาะเกี่ยวพาดพัน ลำต้นเป็นเถากลมหรือเป็นเหลี่ยมมนเกลี้ยง หรือมีหนามโค้งประปราย หนาประมาณ 0.3-1.2 เซนติเมตร ช่วงระหว่างข้อยาวประมาณ 8-25 เซนติเมตร มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย เนปาล จีน ไต้หวัน พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาคของประเทศ โดยมักขึ้นตามป่าดิบ บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงความสูงประมาณ 1,500 เมตร[1],[2]

ต้นกำลังควายถึก

  • ใบกำลังควายถึก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีกว้าง รูปรี รูปไข่แกมรี หรือรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือค่อนข้างแหลม มีบ้างที่โคนใบเว้าตื้น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-13 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-18 เซนติเมตร แผ่นใบหนาแข็ง มีนวลเล็กน้อยแอ่นเป็นร่อง เส้นแขนงใบออกจากโคนใบมีประมาณ 5-7 เส้น นูนเห็นชัดเจนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบ 3 เส้นที่อยู่ตรงกลาง โคนเชื่อมกันห่างจากโคนใบประมาณ 0.5-1.3 เซนติเมตร เส้นใบย่อยสานเป็นร่างแห ก้านใบเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวได้ประมาณ 1.5-6 เซนติเมตร ก้านใบตอนโคนแผ่ออกเป็นกาบกว้างประมาณ 0.7-1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ที่โคนกาบเป็นรูปหัวใจเว้าลึกโอบรอบลำต้น ปลายแหลม มีมือพัน 1 คู่ ยาวประมาณ 7-20 เซนติเมตร[1],[2]

ใบกำลังควายถึก

รูปกำลังควายถึก

  • ดอกกำลังควายถึก ดอกเป็นแบบแยกเพศ และอยู่ต่างต้นกัน โดยจะออกตามโคนหรือตอนปลายกิ่ง ออกดอกเป็นช่อกระจะรวมที่มีช่อย่อย ๆ แบบช่อซี่ร่ม ช่อยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ส่วนมากจะมีช่อซี่ร่มประมาณ 1-3 ช่อ แต่ในช่อดอกเพศผู้ช่ออาจยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร และมีช่อซี่ร่มได้ถึง 15 ช่อ และข้อที่ 4-6 ของช่อมีช่อซี่ร่มได้ข้อละ 2-4 ช่อ ที่โคนของแก่นช่อดอกจะมีใบประดับย่อย ลักษณะเป็นรูปไข่ปลายแหลม ยาวประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร ก้านช่อดอกแข็ง ยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร ช่อซี่ร่มจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-5 เซนติเมตร และมีดอกย่อยประมาณ 20-70 ดอก ก้านช่อยาวประมาณ 0.7-1.5 เซนติเมตร วงกลีบรวมมี 6 กลีบ แยกจากกัน เรียงเป็น 2 วง ดอกเพศผู้กลีบรวมจะยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร เมื่อดอกบานกลีบจะโค้งลง กลีบรวมวงนอกเป็นรูปขอบขนาน ปลายมน มีขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร ส่วนกลีบรวมวงในจะแคบกว่า และมีเกสรเพศผู้ 6 อัน ส่วนดอกเพศเมียกลีบรวมจะเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอก ยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร เมื่อดอกบานกลีบจะกางตรง กลีบรวมวงนอกมีขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร ส่วนกลีบรวมในจะแคบกว่า มีรังไข่เป็นรูปรี อยู่เหนือวงกลีบ มี 3 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียมี 3 แฉก มีเกสรเพศผู้ที่ไม่สมบูรณ์ที่มีลักษณะคล้ายเข็ม 3 อัน ยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร[1],[2]

กําลังควายถึก

ดอกกำลังควายถึก

  • ผลกำลังควายถึก ออกผลเป็นช่อ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม เนื้อผลนุ่ม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน ๆ เมื่อสุกจะเป็นสีแดง ภายในมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด เมล็ดเป็นสีแดงเข้ม ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่กลับเกือบกลม มีขนาดกว้างและยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร[1],[2]

ผลกําลังควายถึก

ผลกำลังควายถึก

สรรพคุณของกำลังควายถึก

  1. ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (เถาและหัว[5], เปลือก[4])
  2. เปลือกใช้เป็นยาบำรุงโลหิต ทำให้ธาตุสมบูรณ์ (เปลือก)[4]
  3. รากเหง้าใช้ปรุงเป็นยาแก้ต่อมน้ำเหลืองภายใน ขับต่อมน้ำในร่างกาย (รากเหง้า)[1]
  4. รากเหง้าใช้ปรุงเป็นยาแก้ฝีภายใน (รากเหง้า)[1]
  5. ใช้เป็นยาบำรุงกำหนัด (เถาและหัว)[5]
  6. ใช้เป็นยาขับโลหิต (เถาและหัว)[5]
  7. น้ำจากยอดที่หักใช้หยดลงบริเวณที่เป็นหูด โดยให้ทำประมาณ 7 วัน หูดจะหาย (น้ำจากยอด)[4]
  8. เปลือกใช้เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (เปลือก)[4]

ประโยชน์ของกำลังควายถึก

  • ผลสุกใช้รับประทานได้ ส่วนช่อดอกใช้ลวกรับประทานร่วมกับน้ำพริก แต่จะไม่นำต้นมารับประทานเพราะจะทำให้คัน[3]
  • ยอดและใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักเหนาะ และแกงเลียง ส่วนผลใช้เป็นผักเหนาะหรือใช้แกงส้ม มีรสมันเจือฝาดและเปรี้ยวเล็กน้อย[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “เขือง”.  หน้า 82.
  2. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กําลังควายถึก”.  อ้างอิงใน : หนังสืออนุกรมวิธานพืช อักษร ก. (ราชบัณฑิตยสถาน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.  [26 ม.ค. 2015].
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “กำลังควายถึก, เครือเดา”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.   [26 ม.ค. 2015].
  4. สมุนไพร ภูมิปัญญาไทย, เทศบาลเมืองทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช.  “กําลังควายถึก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.tungsong.com.  [26 ม.ค. 2015].
  5. พันธุ์ไม้ในท้องถิ่น อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช.  “กำลังควายถึก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : taqservices.net.  [26 ม.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by SierraSunrise), florakarnataka.ces.iisc.ernet.in, www.virboga.de

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด