กำจัดหน่วย
กำจัดหน่วย ชื่อสามัญ Shiny-Leaf Prickly Ash
กำจัดหน่วย ชื่อวิทยาศาสตร์ Zanthoxylum nitidum (Roxb.) DC. จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)[1],[3]
สมุนไพรกำจัดหน่วย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กำจัดเถา, กำจัดเครือ, สรรพลังวน, งูเห่า (อุดรธานี), กำจัดหน่วย (ภาคใต้เรียก), ยิบตี่กิมงู้ เหลี่ยงหมิ่งจำ (จีนแต้จิ๋ว), ลู่ตี้จินหนิว เหย่เชียนหนิว เหลี่ยงเมี่ยนเจิน (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3]
ลักษณะของกำจัดหน่วย
- ต้นกำจัดหน่วย จัดเป็นพรรณไม้เถาหรือไม้พุ่มรอเลื้อยอายุหลายปี (มีลักษณะเหมือนเป็นไม้พุ่ม แต่ถ้าไปขึ้นใกล้กับต้นไม้อื่นก็จะเลื้อยพาดพันไปยังต้นไม้ที่อยู่ใกล้เคียง) มีความสูงได้ประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นและกิ่งมีหนามแหลมขึ้นกระจายแบบห่าง ๆ ในประเทศไทยพบขึ้นได้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนในต่างประเทศพบได้ในจีน อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย และในญี่ปุ่น โดยมักขึ้นบนพื้นที่ระดับต่ำจนถึงสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 500 เมตร[1],[2],[3]
- ใบกำจัดหน่วย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับ ยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร ก้านใบและแกนใบมีหนามแหลม มีใบย่อยประมาณ 2-4 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบและโคนใบแหลมหรือมน ส่วนขอบใบหยักห่าง ๆ บริเวณรอยหยักมักมีต่อมกลม ๆ อยู่ใกล้ ๆ ขอบใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร มีเส้นแขนงใบข้างละ 5-12 เส้น และมีหนามเล็ก ๆ อยู่ตามเส้นกลางใบด้านล่าง[1]
- ดอกกำจัดหน่วย ออกดอกเป็นช่อที่ง่ามใบและปลายยอด ยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร ก้านช่อดอกอาจมีขนละเอียด ดอกมีขนาดเล็ก เป็นแบบแยกเพศ มีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย โดยดอกเพศผู้จะยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ก้านดอกสั้น มีกลีบดอก 4 กลีบ กลีบดอกเป็นสีเหลืองอมเขียว ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงดอกมีขนาดเล็ก มี 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม โคนกลีบเชื่อมติดกันเล็กน้อย มีเกสรเพศผู้ 4 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ชูอับเรณูโผล่พ้นกลีบดอก อับเรณูมีขนาดเล็กมาก มี 2 ช่อง รังไข่ไม่สมบูรณ์และมีขนาดเล็กมาก ส่วนดอกเพศเมียจะมีลักษณะคล้ายดอกเพศผู้ แต่จะต่างกันตรงที่ดอกเพศเมียจะมีขนาดเล็กกว่าดอกเพศผู้ และมีรังไข่ใหญ่เห็นได้ชัด โดยจะมีรังไข่ 4 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียจะสั้น ยอดเกสรเพศเมียเล็ก[1]
- ผลกำจัดหน่วย ผลมี 4 พู ที่ค่อนข้างอิสระ จะติดกันเฉพาะที่โคน พูมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-7 มิลลิเมตร ผลเมื่อแก่จะแตกออกตามยาวกลางพู ในแต่ละพูจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ผิวเมล็ดเกลี้ยงและเป็นมัน[1] ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ส่วนเมล็ดจะออกในช่วงประมาณเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม[3]
สรรพคุณของกำจัดหน่วย
- ทั้งต้นมีรสเผ็ดขม เป็นยาสุขุม มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะและตับ ใช้เป็นยาช่วยไล่ลม ขับลมชื้นในร่างกาย ทำให้ลมปราณโปร่งโล่ง (ทั้งต้น)[3]
- ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียจะใช้เป็นยาลดไข้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]
- ใช้เป็นยาแก้หวัดแดด (ทั้งต้น)[3]
- ใช้เป็นยาแก้คอตีบอักเสบ (ทั้งต้น)[3]
- ใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน ปวดกระเพาะ (ทั้งต้น)[3]
- ในภูมิภาคอินโดนจีนจะใช้ผลกำจัดหน่วยปรุงเป็นยาขับลม ขับพยาธิ (ผล)[1]
- ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]
- ผลมีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน (ผล)[1]
- ใช้เป็นยาแก้ฝีหนอง แก้ไขข้ออักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]
- ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก พิษจากงูกัด และใช้แก้พิษต่าง ๆ ถอนพิษผิดสำแดง ด้วยการใช้เปลือกต้น ต้มกับน้ำนำมาล้างแผล เช็ดให้แห้ง แล้วจึงใช้เปลือกกำจัดหน่วยที่บดเป็นผงนำมาโรยบริเวณแผล (เปลือกต้น)[3]
- ใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามข้อ ฟกช้ำ ปวดบวม ตำรับยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้ฟกช้ำ จะใช้เปลือกต้นกำจัดหน่วย 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา (เปลือกต้น)[3]
- ใช้กำจัดหน่วยนำมาต้มกับน้ำ แล้วใช้ไอร้อนมาอบผิวหนังบริเวณที่บวมช้ำหรือปวดเมื่อยได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[3]
ขนาดและวิธีใช้ : ในกรณีต้มหรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา ให้ใช้ครั้งละประมาณ 6-12 กรัม ส่วนการใช้ภายนอก (ล้างแผล, แก้พิษงู, พิษต่าง ๆ) สามารถใช้ได้ตามความต้องการ โดยนำมาฝนแล้วผสมกับเหล้า ใช้ทาแก้พิษหรือไหม้น้ำร้อนลวกได้[3]
ข้อควรระวัง : ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้พร้อมกับของเปรี้ยวหรือของจำพวกที่มีกรด ส่วนสตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน สำหรับวิธีแก้พิษนั้น ให้ชงน้ำตาลรับประทานหรือให้ฉีดน้ำเกลือเข้าในร่างกาย[3]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกำจัดหน่วย
- สารที่พบ คือสารจำพวก อัลคาลอยด์ ,Nitidne, Oxynitidine, Diosmin และในเมล็ดพบน้ำมันระเหย[3]
- กำจัดหน่วยที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ 2 ซีซี หรือใช้กำจัดหน่วยแห้งประมาณ 3 กรัม ต้มกับน้ำแล้วนำมาฉีดเข้ากล้ามเนื้อของคนวันละ 1-2 ครั้ง พบว่าสามารถรักษาอาการปวดศีรษะ และแก้ปวดมวนกระเพาะลำไส้ได้ โดยปกติใช้ยาประมาณ 5-10 นาที ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้แล้ว[3]
- กำจัดหน่วย 2 กรัม และหนุมานประสานกาย 4 กรัม (ในปริมาณนี้เมื่อนำมาสกัดแล้วจะได้กำจัดเถา 1 กรัม และหนุมานประสานกาย 2 กรัม) เมื่อสกัดเป็นน้ำยาแล้ว ได้นำมาฉีดเข้ากล้ามเนื้อคน โดยฉีดครั้งละ 2 ซีซี พบว่ามีประสิทธิภาพในการบรรเทาปวดได้ถึง 95% ใช้ยาประมาณ 3-10 นาที และจะเห็นผลฤทธิ์ยาแก้ปวดนี้อยู่ได้นานประมาณ 3-8 ชั่วโมง[3]
- กำจัดหน่วยที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์หรือคลอโรฟอร์ม เมื่อนำน้ำยาที่สกัดได้มาพ่นใส่เหงือกฟัน พบว่าจะทำให้เหงือกชา จึงใช้ในการถอนฟันได้[3]
- สารสกัดหยาบที่สกัดโดยคลอโรฟอร์มมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อวัณโรค (Mycobacterium tuberculosis) และเชื้อมาลาเรียชนิดขึ้นสมอง (Plasmodium falciparum)[2]
ประโยชน์ของกำจัดหน่วย
- เปลือกผลใช้เป็นเครื่องปรุงรสในแกง ยำ ลาบ มีรสเผ็ด กลิ่นหอมจัด ช่วยดับความคาว และทำให้อยากอาหารได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกับมะแขว่น[2]
- ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียจะใช้ทำยาสีฟัน[2]
- นำมาใช้เป็นยาฆ่าแมลงและยากำจัดศัตรูพืช[2]
เอกสารอ้างอิง
- ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กำจัดหน่วย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [16 มิ.ย. 2015].
- มูลนิธิสุขภาพไทย. “มะแข่วน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaihof.org. [16 มิ.ย. 2015].
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “กำจัดเถา”. หน้า 76.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Bryan To, jennyhsu47, 石川 Shihchuan, Foggy Forest, judymonkey17)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)