ตั้งครรภ์ (ตั้งท้อง) คืออะไร ? & การตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ตั้งครรภ์ (ตั้งท้อง) คืออะไร ? & การตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

การตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์ (Pregnancy) คือ ภาวะที่เกิดจากการปฏิสนธิระหว่างไข่กับอสุจิ แล้วได้ตัวอ่อนเกิดขึ้นมา ในการตั้งครรภ์ปกติ ตัวอ่อนจะไปฝังอยู่ที่เยื่อบุโพรงมดลูก และตัวอ่อนที่มีเพียงเซลล์เดียวจะแบ่งตัวและพัฒนาเป็นอวัยวะต่าง ๆ จนเจริญเติบโตเป็นทารก ซึ่งผู้หญิงโดยทั่วไปที่มีประจำเดือนปกติและมาสม่ำเสมอทุก ๆ 28-30 วัน จะมีอายุครรภ์ประมาณ 40 สัปดาห์ หรือประมาณ 280 วัน นับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุด

คุณแม่มีลูกได้อย่างไร

ฮอร์โมนที่เป็นตัวกำหนดให้เกิดวงจรการตกไข่ของคุณแม่ ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน, โปรเจสเตอโรน, แอลเอช (LH – Luteinozing Hormone) และเอฟเอสเอช (FSH – Follicle Stimulating Hormone) โดยฮอร์โมนทั้ง 4 ชนิดนี้จะคอยควบคุมการตกไข่ ฮอร์โมน FSH จะทำหน้าที่สร้างไข่และทำให้ไข่เติบโตพร้อมกันประมาณ 15-20 ฟอง จากนั้นฮอร์โมนเอสโตรเจนและ LH จะช่วยกันคัดเลือกไข่ที่สมบูรณ์เพียงฟองเดียว และเร่งให้ไข่ตกในช่วงประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือน ไข่ฟองนี้จะทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่จะช่วยในการดูแลตัวอ่อนต่อไป เมื่อมีการตั้งครรภ์แล้ว ระดับฮอร์โมนในตัวคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงไป รกจะเป็นตัวหลักในการสร้างฮอร์โมน ฮอร์โมนตัวสำคัญที่รกสร้างขึ้นจะมีชื่อย่อว่า HCG ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้คุณแม่มีอาการแพ้ท้อง และทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนกับโปรเจสเตอโรนสูงขึ้นด้วย ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งกลายเป็นคุณแม่ได้อย่างเต็มตัว

สำหรับระบบสืบพันธุ์ของคุณแม่นั้น อวัยวะสืบพันธุ์ของคุณแม่จะอยู่ภายในร่างกายเกือบทั้งหมด ยกเว้นหัวหน่าว แคมใหญ่ แคมเล็กที่เรียกโดยรวมว่า “ปากช่องคลอด” ที่อยู่ภายนอก สิ่งสำคัญที่ทำให้ตั้งครรภ์ได้นั้นคือ “ไข่” ซึ่งไข่ใบนี้นี่แหละที่สามารถสร้างชีวิตน้อย ๆ ให้เติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ และไข่ทั้งหมดจะเก็บสะสมอยู่ในรังไข่ทั้งสองข้าง ซึ่งมีติดตัวมาตั้งแต่ยังเป็นทารกในครรภ์แล้วครับ เพราะเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ 5 เดือน ทารกเพศหญิงจะมีไข่เก็บไว้สูงถึง 6-7 ล้านฟอง และจะค่อย ๆ สลายตัวไปเหลือเพียง 2 ล้านฟองเมื่อแรกเกิด จากนั้นจะลดลงเรื่อย ๆ จนเข้าสู่วัยสาวจะอยู่ที่ประมาณ 2-5 แสนฟอง แต่จะมีไข่ที่มีผลทำให้ตั้งครรภ์ได้เพียง 400-500 ฟองเท่านั้น เพราะการตกไข่แต่ละครั้งจะมีไข่เพียงฟองเดียวที่สมบูรณ์เท่านั้นที่พร้อมจะให้อสุจิเข้ามาผสม (ขนาดของไข่ที่เติบโตสมบูรณ์ คือ 0.133 มม.)

ซึ่งแน่นอนครับว่าจะต้องมีแหล่งที่คอยผลิตไข่เป็นประจำทุกเดือน โดย “รังไข่” (Ovaries) นั้นจะอยู่บริเวณช่องท้องส่วนล่าง ตรงส่วนปลายบนของปากมดลูกทั้งซ้ายและขวา ส่วนบริเวณที่อยู่ใกล้กับรังไข่จะเป็น “ปลายหลอดมดลูก” (Fimbriae) ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายนิ้วมือแผ่คลุมเอาไว้ เพื่อช่วยเชื่อมระหว่างรังไข่กับท่อนำไข่ (Fallopian Tube) เมื่อไข่สุกจะเคลื่อนตัวผ่านท่อนำไข่ แล้วจะค่อย ๆ เจริญเติบโตเข้าไปฝังตัวอยู่ในมดลูก (Uterus or Womb) ซึ่งภายในจะกลวงเป็นโพรง ตอนปลายแคบและชี้ลงด้านล่าง มีลักษณะโดยรวมคล้าย ๆ กับลูกแพร์ขนาดเท่าลูกชมพู่ ส่วนบริเวณปากทางเข้ามดลูกจะเรียกว่า “คอมดลูก” (Cervix) และถัดมาคือ “ช่องคลอด” (Vagina) ที่มีความยาวประมาณ 8 เซนติเมตร โดยช่องคลอดจะมีลักษณะแบนเรียบ สามารถขยายตัวได้ในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์หรือในขณะคลอดลูกออกมา ซึ่งจะอยู่ระหว่างกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ตรง สำหรับด้านหน้าของช่องคลอดจะมีลักษณะเป็นกลีบเนื้อพับตัวอยู่คู่กัน ที่เรียกว่า “แคม” (Labia) ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันอวัยวะต่าง ๆ ที่อยู่ภายใน และตรงรอยต่อด้านบนของแคมเล็กจะมีปุ่มกล้ามเนื้อเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ปุ่มกระสัน” (Clitoris) ซึ่งจะขยายตัวใหญ่ขึ้นเมื่อเกิดอารมณ์ทางเพศ

ระบบสืบพันธุ์ของสตรี

ในกระบวนการสร้างไข่นั้น ฟองไข่จะเจริญเติบโตอยู่ภายในรังไข่ เริ่มตั้งแต่ประมาณวันที่ 5 ของรอบเดือน นับจากวันแรกที่ประจำเดือนมา ไข่ภายในถุงรังไข่ (Ovarian Follicle) จะค่อย ๆ เติบโต และต่อมาจะมีไข่ประมาณ 15-20 ฟองเกิดขึ้นพร้อมกัน แล้วทั้งหมดจะช่วยกันสร้างฮอร์โมนเพื่อช่วยให้ไข่ใบเดียวเกิดความสมบูรณ์และสุกเต็มที่ แล้วจะตกไข่ในช่วงประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือน ในระหว่างที่ไข่ตก ถุงรังไข่ซึ่งอยู่ตรงผิวหน้าของไข่จะค่อย ๆ พองออกเล็กน้อย เมื่อขยายได้ขนาดประมาณ 2 เซนติเมตรก็จะฉีกขาด และปล่อยให้ไข่หลุดออกมา ซึ่งเราจะเรียกขั้นตอนนี้ว่า “การตกไข่” (Ovulation) ส่วนของถุงรังไข่ที่เหลือจะสลายตัวเป็นก้อนสีเหลืองเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “วัตถุสีเหลืองในรังไข่” (Corpus Luteum) มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ถ้าในช่วงนี้มีไข่ผสมกับอสุจิ ฮอร์โมนตัวนี้ก็จะช่วยฟูมฟักไข่ ช่วยเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกให้สมบูรณ์และเหมาะสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน ทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายอุ่นขึ้น คุณแม่จึงรู้สึกมีอาการอ่อนเพลีย แต่ถ้าไข่ตกแล้ว ยังไม่ได้รับการปฏิสนธิ ระดับฮอร์โมนก็จะลดลง และเกิดการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาเป็นประจำเดือนในช่วง 14 วันหลังจากไข่ตก

หลังจากไข่ตก ไข่ที่สุกแล้วจะเคลื่อนตัวไปยังท่อนำไขทันที แต่ยังไม่สามารถปฏิสนธิได้ ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเดินทางไปถึงบริเวณท่อนำไข่ ซึ่งการปฏิสนธิจะเกิดขึ้นในบริเวณนี้ครับ และไข่ยังสามารถเดินทางเข้าสู่ท่อนำไข่ข้างเดียวกัน ผ่านโพรงมดลูกไปยังท่อนำไข่อีกข้างหนึ่งได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไข่จะไม่สามารถเคลื่อนตัวไปได้หากไม่มีการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อท่อนำไข่ และการหดรัดตัวนี้จะบีบตัวให้ไข่เคลื่อนตัวเป็นจังหวะ ๆ (ไม่ใช่เคลื่อนไปเรื่อย ๆ) ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 วันก่อนจะฝังตัวที่โพรงมดลูก

คุณพ่อมีลูกได้อย่างไร

ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการสร้างอสุจิ ทุกครั้งที่มีการหลั่งน้ำเชื้อก็จะมีการสร้างอสุจิด้วย คุณพ่อจึงสามารถหลั่งน้ำเชื้อและสร้างอสุจิได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และจะลดลงเมื่อมีอายุเกิน 40 ปี แต่การหลั่งอสุจิบ่อย ๆ ก็ทำให้มีการสร้างตัวอสุจิน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งหมายความว่า ความสามารถในการมีลูกของคุณพ่อก็จะลดลงตามไปด้วยนั่นเอง

อวัยวะสืบพันธุ์บางส่วนจะอยู่ภายนอกร่างกาย และส่วนที่เหลือจะอยู่ภายในช่องท้อง โดยส่วนสำคัญที่อยู่ภายนอกคือ “ลูกอัณฑะ” ซึ่งจะมีลักษณะลูกกลม ๆ เล็ก ๆ อยู่ในถุงอัณฑะ และมีองคชาตที่มีลักษณะเป็นท่อหรือหลอดอยู่เหนือลูกอัณฑะ ในท่อที่อยู่เหนือลูกอัณฑะแต่ละข้างจะมีท่อเล็ก ๆ ขดไปมาที่เรียกว่า “ถุงสร้างน้ำเชื้อ” (Seminiferous Tubules) ซึ่งอสุจิจะมีการผลิตอยู่ภายในท่อนี้ จากนั้นจะถูกลำเลียงมาตาม “กระเปาะอสุจิ” (Epididymis) เข้าสู่ “ท่อส่งตัวอสุจิ” (Vas Deferens) ซึ่งในวันหนึ่ง ๆ อัณฑะจะมีการผลิตอสุจิออกมานับร้อยล้านตัว อสุจิจะถูกส่งจากลูกอัณฑะมาตามท่อส่งตัวอสุจิที่ทอดตัวคดเคี้ยวไปตามส่วนต่าง ๆ ของระบบปัสสาวะ จากนั้นจะผสมกับของเหลวที่ผลิตมาจากต่อมลูกหมาก กลายเป็นของเหลวขุ่นข้นคล้ายนม ที่เราเรียกว่า “น้ำเชื้ออสุจิ” (Semen) ซึ่งจะถูกกักเก็บเอาไว้ใน “ถุงเก็บน้ำเชื้ออสุจิ” (Seminal Vesicles) เมื่อคุณพ่อมีเพศสัมพันธ์จนถึงจุดสุดยอด ถุงน้ำเชื้อก็จะสูบฉีดน้ำเชื้อให้ไหลไปตามท่อขององคชาต แล้วหลั่งน้ำเชื้อออกมาภายนอก

การตั้งครรภ์คือ

ปริมาณน้ำอสุจิในการหลั่งแต่ละครั้งจะมีปริมาตรเฉลี่ย 3-3.5 มล. และมีอสุจิที่สมบูรณ์อยู่ประมาณ 60-150 ล้านตัว (คิดเป็นประมาณ 75-80% นอกนั้นจะเป็นอสุจิที่ผิดปกติ) แต่จะมีอสุจิที่สมบูรณ์เพียงตัวเดียวเท่านั้นที่จะสามารถผสมกับไข่ได้ โดยน้ำอสุจิที่หลั่งออกมาจะมีลักษณะเหลวหนืด และเอนไซม์ที่สร้างจากต่อมลูกหมากจะช่วยละลายให้ได้ภายใน 30 นาที เมื่อหลั่งน้ำอสุจิแล้ว ตัวอสุจินับร้อยล้านตัวจะพากันแหวกว่ายเข้าไปในช่องคลอด และภายใน 90 วินาที จะมีอสุจิไปจ่ออยู่ที่ปากมดลูกแล้ว อสุจิจะต้องเร่งรีบทำเวลาเพื่อไปพบไข่ให้ได้ หากพลาดโอกาสนี้นั่นหมายความว่า “ความเป็นไปได้ในการปฏิสนธิจะน้อยลงตามไปด้วย” ส่วนการหดรัดตัวของมดลูกเองก็มีส่วนเร่งให้ตัวอสุจิเคลื่อนไปยังบริเวณท่อนำไข่ได้เร็วขึ้นด้วย ซึ่งจะรวมเวลาในการเดินทางโดยเฉลี่ยประมาณ 4-6 ชั่วโมง (แม้การหดรัดตัวของมดลูกจะช่วยให้ตัวอสุจิเดินทางได้เร็วขึ้น แต่อุปสรรคเกี่ยวกับสภาพความเป็นกรดในช่องคลอดก็ยังเป็นตัวกีดกันไม่ให้อสุจิมีชีวิตอยู่รอดได้ จึงทำให้มีตัวอสุจิเหลือเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้นที่รอดชีวิตและเดินทางไปถึงไข่จริง ๆ ซึ่งคาดว่ามีเพียงไม่ถึง 200 ตัวเท่านั้น) และเมื่อมาถึงด่านสุดท้าย คือ การพบไข่ของอสุจิ อสุจิที่เหลือรอดมาจะต้องแข่งขันกันเอง และจะเหลือตัวอสุจิที่เข้มแข็งที่สุดเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่จะเจาะผ่านไข่เข้าไปได้ ต่อจากนั้นไข่ก็จะห่อหุ้มป้องกันไม่ให้อสุจิตัวอื่นเข้าไปผสมซ้ำ

อสุจิช่วยเลือกเพศของลูกได้อย่างไร ?

ตามที่เราทราบกันดีว่าคุณแม่จะมีโครโมโซมเพศเป็น XX ส่วนคุณพ่อจะมีโครโมโซมเพศเป็น XY ถ้าอสุจิของคุณพ่อตัวที่เจาะไข่เป็นตัว X ก็จะได้ลูกสาว แต่ถ้าเป็นตัว Y เจาะไข่ก็จะได้ลูกชาย ดังนั้นการจะได้ลูกสาวหรือลูกชายนั้นจึงขึ้นอยู่กับอสุจิของคุณพ่อโดยตรง นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับสภาพกรดด่างภายในช่องคลอดกับคุณสมบัติของอสุจิด้วย คือ อสุจิตัว X จะตัวใหญ่กว่า จึงวิ่งได้ช้ากว่า แต่จะมีความทนทานกว่าอสุจิตัว Y และชอบสภาพความเป็นกรด ส่วนอสุจิตัว Y จะชอบสภาพความเป็นด่างมากกว่า ซึ่งเราพอจะกำหนดเพศลูกได้อย่างคร่าว ๆ คือ

  • จังหวะ : ถ้าอยากได้ลูกชายให้ร่วมเพศวันที่ตกไข่พอดี เนื่องจากอสุจิตัว Y จะวิ่งได้เร็วกว่าและจะเข้าไปเจาะไข่ได้ก่อน แต่ถ้าอยากได้ลูกสาว ให้ร่วมเพศก่อนวันตกไข่ประมาณ 2-3 วัน เพราะพอถึงจังหวะที่ไข่ตก อสุจิตัว X จะคงทนต่อสภาพความเป็นด่างซึ่งมีปริมาณมากกว่าได้
  • ความถี่ : การร่วมเพศบ่อย ๆ จะทำให้อสุจิตัว Y มีจำนวนลดลง จึงมักจะได้ลูกสาว แต่ถ้าร่วมเพศน้อยครั้งลง ปริมาณของอสุจิตัว Y ก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสได้ลูกชายมากขึ้น

เพศของลูกในครรภ์

การปฏิสนธิ

หลังจากตกไข่ในช่วง 12-14 ชั่วโมง หากคุณพ่อหลั่งน้ำเชื้อปล่อยให้อสุจิแหวกว่ายเข้าไปในช่องคลอด อสุจิจะมีเวลาเพียง 48 ชั่วโมงในการปฏิสนธิ ถ้าปล่อยให้โอกาสผ่านไป แม้ตัวอสุจิยังเคลื่อนไหวได้อยู่ แต่ก็ไม่สามารถปฏิสนธิได้แล้ว เมื่ออสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้แล้ว จะถือว่ามีการปฏิสนธิเกิดขึ้นแล้ว ชีวิตใหม่ของมนุษย์ก็จะเริ่มต้นจากจุดนี้

โดยภายนอกของไข่จะประกอบไปด้วยเซลล์หลายชั้น (Cumulus Oophorus) ซ้อนกันอยู่ อสุจิหลายตัวอาจเจาะผ่านเข้าไปได้ บริเวณภายในจะเรียกว่า “เขตโปร่งใส” (Zona Pellucida) ที่มีเซลล์บาง ๆ และชั้นของเนื้อเยื่อชนิดหนึ่งห่อหุ้มอยู่ ซึ่งเขตนี้เป็นเขตหวงห้าม ที่จะมีอสุจิเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่จะทะลุเข้าไปผสมกับไข่ได้ เมื่ออสุจิแหวกว่ายเข้าไปถึงไข่ ส่วนหัวจะมีเอนไซม์ชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ย่อยสลายเยื่อหุ้มของไข่ เมื่ออสุจิแทรกตัวเข้าไปแล้ว ส่วนของหางที่เป็นเยื่อหุ้มจะเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกับเยื่อหุ้มไข่ ในตอนนี้หัวอสุจิที่บรรจุข้อมูลทางพันธุกรรมหรือโครโมโซม 23 แท่ง จะจับคู่เข้าหาโครโมโซมของไข่อีก 23 แท่ง รวมเป็น 46 แท่ง นับแต่บัดนี้ไข่และอสุจิจะกลายเป็นเซลล์เดียวกัน แล้วจะมีการแบ่งตัวทวีคูณอย่างรวดเร็วเกิดเป็นตัวอ่อนจนกระทั่งเจริญเติบโตเป็นทารกในที่สุด

การปฏิสนธิ

ในระยะแรกของการตั้งครรภ์ ตัวอ่อนยังต้องอาศัยฮอร์โมน HCG ในการช่วยฟูมฟักเลี้ยงดู เมื่อตัวอ่อนโตเกินกว่า 4 เดือนแล้วก็จะเริ่มมีการสร้างรก (Placenta) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับฟองน้ำขนาดใหญ่ที่พัฒนามาจากเนื้อเยื่อของทารก โดยมีสายสะดือประกอบด้วยหลอดเลือดอยู่ภายใน สายนี้จะช่วยเชื่อมต่อระหว่างรกกับระบบต่าง ๆ ของคุณแม่ เพื่อฝากชีวิตไว้และคอยป้องกันอันตราย และนับวันรกจะยิ่งเติบโตขึ้นจนฝังตัวเข้ากับผนังมดลูกอย่างเหนียวแน่น ส่วนที่ยื่นออกมาจะมีลักษณะคล้ายกับนิ้วมือที่จะแตกแขนงคล้ายรากแล้วหยั่งลึกลงไปในผนังมดลูก เส้นทางนี้เองจะช่วยลำเลียงอากาศ เลือด และสารอาหารในระบบเลือดของคุณแม่ไปบำรุงลูกน้อยให้โตวันโตคืนในขณะที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์

หลังจากการปฏิสนธิ เซลล์จะแบ่งตามกลไกธรรมชาติที่จัดสรรไว้อย่างลงตัว บริเวณเยื่อบุโพรงมดลูกที่ตัวอ่อนฝังตัวจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงให้หนาและนุ่มขึ้นเพื่อเตรียมรับตัวอ่อน นอกจากนี้ยังยืดขยายได้เมื่อตัวอ่อนโตขึ้น รวมทั้งมูกบริเวณปากมดลูกก็จะเหนียวข้นขึ้นด้วย เพื่อคอยปิดทางเข้าไว้ไม่ให้เชื้อโรคผ่านเข้ามาทำอันตรายได้ เมื่อ 4 สัปดาห์ ตัวอ่อนจะเติบโตไปพร้อมกับการเกิดรกที่เป็นแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิต อย่างไรก็ตาม “แม้ว่าไข่จะได้รับการปฏิสนธิแล้ว แต่ไม่ผ่านขั้นตอนการคัดเลือกตามธรรมชาติ คือ ตัวอ่อนไม่สมบูรณ์หรืออ่อนแอมาก ก็จะทำให้เกิดการแท้งออกมา” คุณแม่ที่เกิดการแท้งก็ไม่ต้องเสียใจว่ามีลูกไม่ได้ แต่ควรทราบไว้ว่านั่นเป็นเพราะกลไกธรรมชาติที่ต้องการให้ตัวอ่อนมีคุณภาพดี มีความปกติ และสมบูรณ์ที่สุดสำหรับการสืบต่อเผ่าพันธุ์นั่นเอง

ลูกแฝดเกิดขึ้นได้อย่างไร

ปกติแล้วในแต่ละรอบเดือนจะมีการตกไข่เพียง 1 ฟองเท่านั้น แต่คุณแม่บางคนอาจตกไข่ครั้งหนึ่งได้ถึง 2 ฟอง เมื่อมีการปฏิสนธิ ไข่ 2 ฟองนี้ก็จะได้รับการผสมจากอสุจิคนละตัว คุณแม่ก็จะได้ลูกแฝดไม่เหมือนและอาจเป็นคนละเพศ แต่ถ้าไข่และอสุจิเพียงคู่เดียวมีการปฏิสนธิกันแล้วเกิดเหตุบังเอิญให้แบ่งออกเป็น 2 คุณแม่ก็จะให้กำเนิดลูกฝาแฝดที่มีโครโมโซมชุดเดียวกัน จึงทำให้แฝดคู่นี้มีเพศเดียวกัน รูปร่างหน้าตาเหมือนกัน และมีเลือดกรุ๊ปเดียวกัน

อาการที่บ่งบอกว่ากำลังตั้งครรภ์

คุณแม่ส่วนใหญ่เมื่อสังเกตได้ว่าประจำเดือนไม่มา ประกอบกับมีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ก็อาจคิดว่าตัวเองตั้งครรภ์ แต่บางคนนั้นกลับไม่ใช่เลย เพราะอาจมีอาการบางอย่างเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวแล้วกลับสู่สภาพปกติ เพื่อความมั่นใจคุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจครรภ์ อย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์จะต้องมีอาการเตือนหลายอย่าง และมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นชัดเจนทั้งร่างกายและจิตใจ เนื่องจากเป็นกลไกตามธรรมชาติ

  • ประจำเดือนขาด คุณแม่ที่มีรอบเดือนปกติและสม่ำเสมอ เมื่อจู่ ๆ ก็ขาดหายไปเกินกว่า 10 วัน ควรสงสัยไว้ก่อนว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ แต่อาการนี้อาจไม่ใช่การตั้งครรภ์ได้เสมอไป เพราะหากเป็นหญิงที่เพิ่งมีประจำเดือน หญิงวัยกำลังหมดประจำเดือน คุณแม่หลังคลอดที่กำลังให้นมบุตร และคุณแม่ที่มีความเครียดมากจนทำให้ไข่ไม่ตก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรอบเดือนไม่แน่นอน และผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนทุกชนิด ประจำเดือนก็อาจขาดหายไปได้ครับ
  • มีอาการแพ้ท้อง ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งจะปรากฏในช่วงตั้งครรภ์ได้ประมาณ 6 สัปดาห์ และอาจกินเวลาต่อไปนานถึง 12 สัปดาห์ เพราะฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นจากการตั้งครรภ์ไปรบกวนระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้หรือรู้สึกพะอืดพะอมและอาเจียนออกมา คุณแม่ที่มีอาการรุนแรงมากจะรับประทานอาหารอะไรไม่ได้เลย และอาจต้องนอนให้น้ำเกลือทดแทน โดยอาการแพ้นั้นคุณแม่มักจะมีอาการแพ้หลังตื่นนอนตอนเช้า (หรือมีอาการมากในช่วงเช้า) แต่บางคนก็แพ้ได้ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะเวลาท้องว่าง และอาจทำให้เป็นลมเนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หลายคนเป็นมากจนน้ำหนักตัวลด ส่วนคุณแม่บางคนก็อาจมีอาการเหม็นกลิ่นกระเทียมหรือน้ำหอมที่คุ้นเคย หรือบางทีรู้สึกเหม็นกลิ่นคุณพ่อด้วยก็ได้ นอกจากนี้คุณแม่ยังอาจอยากกินอาหารแปลก ๆ แต่บางรายก็กินอะไรไม่ลงเลยก็มี เนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์อ่อน ๆ ทำให้ไม่ค่อยรับรู้รสชาตินั่นเอง
  • มีอาการอ่อนเพลีย รู้สึกเหน็ดเหนื่อย อยากนอนหลับตลอดเวลา เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้นมีผลทำให้กล้ามเนื้อในร่างกายคลายตัวเหมือนยากล่อมประสาท ภายในร่างกายมีการเผาไหม้อาหารสำหรับทารกตัวน้อยมากขึ้น ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงและสูญเสียพลังงานมากขึ้น ถ้าคุณแม่ได้พักผ่อนก็จะสบายขึ้น
  • มีอารมณ์แปรปรวน อาจปวดศีรษะบ่อยขึ้น แต่ไม่รุนแรงมากนัก
  • การเปลี่ยนแปลงของเต้านม เต้านมจะเริ่มคัดตึง ขยายใหญ่ขึ้น หัวนมมีสีคล้ำลง รู้สึกเจ็บเต้านมและหัวนม ไวต่อการสัมผัส บริเวณลานหัวนมจะกว้างขึ้นและมีเส้นเลือดดำสีเขียว ๆ กระจายอยู่โดยรอบ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนในคุณแม่ครรภ์แรกมากกว่าครรภ์หลัง
  • สีของเยื่อบุช่องคลอด คุณแม่อาจรู้สึกว่าอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานบวมน้ำ เยื่อบุช่องคลอดคล้ำขึ้นเป็นสีม่วงแดงหรือสีน้ำเงิน แต่บางครั้งอาจเกิดจากการอักเสบของอวัยวะในช่องคลอดก็ได้
  • ปัสสาวะบ่อย ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะปวดปัสสาวะบ่อย เนื่องจากมดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้นจึงเบียดกับกระเพาะปัสสาวะ เมื่อมดลูกโตเข้าสู่ช่องท้อง การกดทับกระเพาะปัสสาวะจะลดลง ทำให้ปัสสาวะกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง
  • รู้สึกเด็กดิ้น เมื่อมีอายุครรภ์ประมาณ 4-5 เดือน คุณแม่อาจรู้สึกได้ว่าเจ้าตัวน้อยกำลังเคลื่อนไหวเบา ๆ อยู่ในท้องได้ (คุณแม่ครรภ์แรกจะมีความรู้สึกนี้ช้ากว่าคุณแม่ครรภ์หลัง)

ทดสอบการตั้งครรภ์อย่างไรให้แน่ใจ

เมื่อสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองได้ ซึ่งจะมีชุดทดสอบการตั้งครรภ์จำหน่ายอยู่ทั่วไป ถ้าคุณแม่รู้ว่าตั้งครรภ์ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ ประเมินอายุครรภ์ที่แน่นอน ประเมินภาวะเสี่ยงในการตั้งครรภ์ และตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่ รวมถึงการตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมียด้วย เพื่อเป็นการดูแลทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์

  • ชุดตรวจปัสสาวะ จะเป็นการตรวจหาฮอร์โมน HCG ในปัสสาวะ มีความแม่นยำร้อยละ 90 ในรายที่มีการขาดประจำเดือนตั้งแต่ 10-14 วันขึ้นไป
  • ตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรือตรวจอัลตราซาวนด์ เป็นอีกวิธีการตรวจที่จะช่วยยืนยันได้ว่าการตั้งครรภ์ภายในโพรงมดลูกเป็นไปอย่างปกติ หากตรวจปัสสาวะแล้วได้ผลบวก การตรวจอัลตราซาวนด์อีกครั้งก็จะช่วยรับรองผลได้ดี
  • ตรวจการเต้นของหัวใจทารก ในกรณีที่คุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 17-19 สัปดาห์ แพทย์สามารถใช้หูฟังฟังเสียงเต้นของหัวใจทารกได้ แต่วิธีนี้จะเป็นการตรวจหลังการตรวจยืนยันว่าตั้งครรภ์แล้วจริง ๆ
  • ตรวจเลือด จะเป็นการตรวจเพื่อหาระดับฮอร์โมน HCG โดยจะตรวจพบได้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ แต่วิธีนี้มีค่าใช้จ่ายสูงและทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ จึงไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่วิธีนี้จะนิยมใช้เฉพาะในกรณีของคุณแม่ที่กำลังรักษาภาวะการมีบุตรยาก หรือในรายที่คุณแม่มีประวัติการแท้งบุตรบ่อย ๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาให้ฮอร์โมนเสริมเพื่อป้องกันการแท้งบุตร

กำหนดวันคลอด

ตลอดอายุการตั้งครรภ์จนถึงวันคลอดนับดูแล้วจะประมาณ 280 วัน หรือประมาณ 40 สัปดาห์ นับจากวันแรกที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้าย ดังนั้นจึงมีสูตรคำนวณวันคลอดกันอย่างง่าย ๆ โดยนับจากวันแรกของรอบเดือนครั้งสุดท้าย แล้วนับย้อนเดือนที่มีประจำเดือนขึ้นไป 3 เดือน แล้วบวก 7 แต่การนับวันคลอดด้วยวิธีนี้จะได้ผลแม่นยำมากในกรณีที่คุณแม่จำวันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายได้ และหากคุณแม่มีรอบเดือนมาสม่ำเสมอทุก ๆ 28-30 วัน คุณแม่ส่วนใหญ่ก็มักจะคลอดก่อนวันที่กำหนดไว้ประมาณ 1 สัปดาห์

ตัวอย่าง : สมมติว่าวันแรกที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายคือวันที่ 1 มกราคม 2558 กำหนดวันคลอดของคุณแม่จะตรงกับวันที่ 8 ตุลาคม 2558 ซึ่งได้มาจากการนำ 1 ไปบวกกับ 7 แล้วนับถอยหลังจากเดือนมกราคมไปอีก 3 เดือน คือ ธันวาคม พฤศจิกายน และตุลาคม แต่คุณแม่ส่วนใหญ่ที่มีรอบเดือนสม่ำเสมอในทุก ๆ 28-30 วัน จะมักคลอดก่อนกำหนดประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งก็จะตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม 2558 (โดยประมาณ) เพราะมีคุณแม่เพียง 5-6% เท่านั้นที่จะให้กำเนิดลูกได้ตรงกับกำหนดวันคลอดพอดี

ระยะเวลาการตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์มีกี่ระยะ

ในทางการแพทย์นั้นการตั้งครรภ์จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน คือ

  • ระยะที่มีการตั้งครรภ์ ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจมีอาการคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่อาการจะเริ่มดีขึ้นเมื่อผ่านช่วงนี้ไปแล้ว นอกจากนี้คุณแม่ยังอาจมีอาการอ่อนเพลีย และมีอาการท้องผูกได้บ้างในบางราย เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นประมาณ 20 สัปดาห์ คุณแม่จะเริ่มรู้สึกได้ถึงการดิ้นของทารกในครรภ์ ซึ่งคุณแม่ควรสังเกตการดิ้นของลูกทุกวันว่ายังมีชีวิตดีอยู่หรือไม่ ถ้าสงสัยว่าเด็กดิ้นผิดปกติ คือ ดิ้นน้อยลง หรือไม่ดิ้น ให้รีบไปพบแพทย์
  • ระยะการเจ็บท้องคลอด ซึ่งจะมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ได้แก่ อาการเจ็บครรภ์คลอด ซึ่งจะมีลักษณะปวดทั่วท้องทั้งหมด โดยอาการปวดจะบีบและคลายเป็นพัก ๆ อย่างสม่ำเสมออย่างน้อยประมาณ 10 นาทีต่อครั้ง และในบางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปที่เอวร่วมด้วย, มีมูกปนเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งเป็นอาการที่แสดงว่าเริ่มมีการเปิดปากมดลูกและพร้อมที่จะคลอดแล้ว, มีน้ำเดิน คือจะมีน้ำใส ๆ ไหลออกมาทางช่องคลอด ซึ่งเกิดจากถุงน้ำคร่ำแตก
  • ระยะหลังคลอด ระยะนี้คุณแม่จะยังคงมีเลือดไหลออกทางช่องคลอดอยู่บ้าง (ปริมาณไม่มาก) หรือที่เรียกกันว่า “น้ำคาวปลา” ซึ่งในช่วงแรกนี้น้ำคาวปลาจะเป็นสีแดงสด จากนั้นจะค่อย ๆ จางลงเป็นสีน้ำตาล และเปลี่ยนเป็นสีใส ๆ แล้วจะหมดไปภายใน 2-4 สัปดาห์ แต่ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น เป็นเลือดสดตลอดเวลา มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ หรือเมื่อผ่านระยะนี้ไปแล้วยังมีน้ำคาวปลาอยู่ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะคุณแม่อาจติดเชื้อในมดลูกหรือมีรกค้างอยู่ได้ นอกจากนี้คุณแม่จะยังมีอาการปวดบริเวณท้องน้อย บีบเป็นพัก ๆ เพราะมดลูกกำลังหดตัวเข้าสู่อุ้งเชิงกราน ในส่วนของการขับปัสสาวะหลังคลอด 2-3 วันแรก ปริมาณปัสสาวะจะออกมากกว่าปกติ เนื่องจากร่างกายกำลังขับน้ำส่วนเกินที่เกิดจากการตั้งครรภ์ออกจากร่างกาย ภายหลังการคลอดบุตรคุณแม่อาจมีอาการผิดปกติทางด้านจิตใจได้ด้วย เช่น มีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า ซึ่งมีสาเหตุมาจากความสับสนในบทบาทการเป็นแม่คน โดยอาการจะค่อย ๆ กลับมาเป็นปกติภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ถ้ายังเป็นเรื้อรังอยู่ก็ควรไปพบแพทย์ครับ

การดูแลตัวเองในขณะตั้งครรภ์

  1. การรับประทาน หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับประทานอาหารเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมประมาณ 300 กิโลแคลอรีต่อวัน ควรได้รับธาตุเหล็กเสริมในระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อฝากครรภ์แล้ว แพทย์จะให้ธาตุเหล็กในรูปของยาเม็ดมารับประทาน โดยให้รับประทานวันละ 1 เม็ด ตลอดการตั้งครรภ์
  2. การออกกำลังกาย ถ้าไม่มีอาการเหนื่อยง่ายหรือเป็นการออกกำลังกายแบบรุนแรง หญิงตั้งครรภ์ก็สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ
  3. การเดินทาง หญิงตั้งครรภ์สามารถเดินทางได้ตามปกติ กรณีที่นั่งรถยนต์ก็ควรคาดเข็มขัดนิรภัยไว้เสมอ และควรมีโอกาสลุกเดินบ้างทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง
  4. การทำงาน ในช่วงนี้ควรหลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องออกกำลังมาก ๆ ไม่ควรทำงานต่อเนื่องจนเหนื่อย ควรหาเวลาพักบ้างระหว่างวัน และหญิงตั้งครรภ์ที่เคยคลอดบุตรน้ำหนักน้อยมาก่อนควรจำกัดการทำงานไม่ให้มากเกินไป
  5. การขับถ่าย หญิงตั้งครรภ์มักมีโอกาสท้องผูกและเป็นริดสีดวงทวารหนักได้มากกว่าปกติ การดื่มน้ำให้มากพอ รับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารมากขึ้นอย่างผักและผลไม้ และการออกกำลังบ้างพอสมควร จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการท้องผูกได้
  6. การสวมใส่เสื้อผ้า หญิงตั้งครรภ์ควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่เมื่อสวมแล้วรู้สึกสบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป
  7. การดูแลสุขภาพฟัน หญิงตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพฟันจากทันตแพทย์ หากมีปัญหาจะได้ทำการรักษาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
  8. ควรงดสูบบุหรี่ หญิงตั้งครรภ์รวมทั้งสามีควรงดการสูบบุหรี่ในระยะนี้ เนื่องจากบุหรี่จะมีผลต่อน้ำหนักตัวของทารกในครรภ์
  9. ควรงดดื่มแอลกอฮอล์ หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์ เนื่องจากจะทำให้เกิดภาวะทารกเจริญเติบโตได้ช้า ปัญญาอ่อน และมีรูปร่างพิการแต่กำเนิดได้
  10. การมีเพศสัมพันธ์ หญิงตั้งครรภ์สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ ยกเว้นในช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์
  11. การใช้ยาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย ในขณะตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะยาบางชนิดมีผลทำให้ทารกพิการได้
  12. หญิงตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัว รวมทั้งโรคธาลัสซีเมีย ควรรีบไปฝากครรภ์เพื่อประเมินความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ว่าจะส่งผลต่อทารกในครรภ์หรือตัวคุณแม่หรือไม่

ครรภ์เสี่ยงสูงคืออะไร

ครรภ์เสี่ยงสูง คือ ภาวะการตั้งครรภ์ที่อาจเกิดอันตรายต่อมารดาหรือต่อทารกในครรภ์ได้ เช่น การที่คุณแม่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคมะเร็ง และโรคภูมิต้านตนเอง ซึ่งการตั้งครรภ์อาจจะส่งผลให้โรคของคุณแม่ที่เป็นอยู่แย่ลง หรืออาจส่งผลอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์มีความเสี่ยงสูงที่พบได้บ่อย ๆ ก็คือ คุณแม่มีโรคประจำตัวตามที่กล่าวมา, คุณแม่มีอายุน้อยกว่า 15 ปี หรือมีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป, คุณแม่มีน้ำหนักตัวเกินหรือผอมมากเกินไป, คุณแม่มีประวัติการตั้งครรภ์ผิดปกติมาก่อนหน้า เช่น การคลอดบุตรก่อนกำหนด หรือการแท้งบุตร

ผลข้างเคียงจากการตั้งครรภ์

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการตั้งครรภ์มีหลายอย่าง เช่น มีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดหลัง ท้องผูก เป็นริดสีดวงทวาร หลอดเลือดขาขอด มีอาการแสบในกระเพาะ มีตกขาว และเป็นตะคริว

จะรู้ได้อย่างไรว่าครรภ์อาจผิดปกติ

หากมีอาการดังต่อไปนี้ คุณแม่ควรรีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยด่วน เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอด, มีอาการบวมที่หน้า ขา เท้า หรือนิ้ว, ปวดศีรษะอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง, ปวดท้อง อาเจียนอย่างต่อเนื่อง, มีไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะขัด และมีน้ำไหลออกทางช่องคลอด, ทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลงจากเดิมมาก, ตามองเห็นได้ไม่ชัด (อาการของภาวะครรภ์เป็นพิษ) เป็นต้น

เมื่อใกล้คลอดควรทำอย่างไร

เมื่อมีอาการที่บ่งบอกว่ากำลังใกล้คลอด คือ เจ็บครรภ์สม่ำเสมอทุก ๆ 10 นาที มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด หรือมีน้ำใส ๆ ไหลออกทางช่องคลอดคล้ายปัสสาวะแต่กลั้นไม่ได้ ควรรีบพาคุณแม่ไปโรงพยาบาล

สามารถตั้งครรภ์ได้อีกเมื่อไหร่

ในการตั้งครรภ์ถัดไปนั้น คุณแม่ควรเว้นระยะห่างจากการตั้งครรภ์แรกอย่างน้อย 1 ปี ทั้งนี้เพื่อให้คุณแม่ได้มีโอกาสพักบ้างในระหว่างที่ยังไม่ตั้งครรภ์ แต่ถ้ายังไม่พร้อมจะตั้งครรภ์ครั้งถัดไป คุณพ่อและคุณแม่ควรมีการวางแผนเพื่อคุมกำเนิด ซึ่งการคุมกำเนิดในปัจจุบันก็มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี เช่น การรับประทานยาคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิด การฝังยาคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัย ฯลฯ ดังนั้น คุณแม่ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ในเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อเริ่มมีการฝากครรภ์

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ.  (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์).  หน้า 12-19.
  2. หาหมอดอทคอม.  “การตั้งครรภ์ (Pregnancy)”.  (นพ.ธีรยุทธ เต็มธนะกิจไพศาล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [05 พ.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.britannica.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด