การตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ (Stool Occult Blood)

การตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ

การตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ (ภาษาอังกฤษ : Stool Occult Blood) คือ การตรวจอุจจาระเพื่อหาเม็ดเลือดแดงที่อาจมีแอบซ่อนอยู่ หรือเป็นการตรวจหาเลือดปริมาณน้อย ๆ ที่ปนอยู่ในอุจจาระ (Occult Blood) ซึ่งมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า และนำมาใช้เป็นหนึ่งในวิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

หมายเหตุ : ชื่ออื่นที่มีความหมายเดียวกัน ได้แก่

  • Fecal Occult Blood (FOB)
  • Fecal Occult Blood test (FOBT)
  • Blood in Stool Test
  • Fecal Occult Blood Test-guaiac smear
  • Stool Occult Blood Test-guaiac smear
  • Guaiac Smear Test

วัตถุประสงค์ของการตรวจ

  • เพื่อตรวจสอบร่างกายของผู้ที่มีสุขภาพเป็นปกติดี โดยยังมิได้มีอาการของโรคภัยไข้เจ็บใด ๆ ว่า มีเศษของเม็ดเลือดแดงออกมาในช่องทางเดินอาหารตั้งแต่ปาก กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก ปนมากับอุจจาระบ้างหรือไม่
  • โดยวัตถุประสงค์หลัก คือ ใช้ผลการตรวจเลือดในอุจจาระเพื่อบ่งชี้ว่า เกิดโรคมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colorectal cancer) ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบันหรือไม่

คำแนะนำก่อนการตรวจ

  • ก่อนการตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระประมาณ 48-72 ชั่วโมง ห้ามกินอาหารบางชนิดเหล่านี้ (ขอยกตัวอย่างเฉพาะชนิดอาหารที่คนไทยคุ้นเคย) เช่น บีตรูต, แครอท, กล้วยหอม, น้ำองุ่น, แคนตาลูป, แตงกวา, ผักบล็อกโคลี, ผักดอกกะหล่ำ, ฮอสแรดิช (Horseradish), เทอร์นิพ (Turnip), เห็ดชนิดต่าง ๆ, เนื้อแดง (เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรุงแบบกึ่งดิบ), เนื้อปลา, เนื้อไก่, การทานธาตุเหล็ก หรือเลือดหมู เลือดไก่, การทานวิตามินซีหรืออาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของวิตามินซี
    • ผักและผลไม้บางชนิดจะมี Peroxidase activity ที่ทำให้เกิดผลบวกปลอมได้* เช่น แคนตาลูป บล็อกโคลี ดอกกะหล่ำ
    • อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ อาจทำให้เกิดผลบวกปลอมได้เช่นกัน (เนื่องจากในเนื้อสัตว์จะมี Myoglobin ซึ่งสามารถทำปฏิกิริยาเช่นเดียวกับ Hemoglobin ที่อยู่ในเม็ดเลอดแดงได้) ผู้รับการตรวจจึงควรงดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ประมาณ 3 วัน ก่อนทำการตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ
    • สารจําพวก Ascobic acid อาจทำให้เกิดผลลบปลอมได้* เมื่อรับประทานวิตามินซีทุกวันในปริมาณที่มากกว่า 500 มิลลิกรัม (เนื่องจากเป็น Reducing agent)
    • นอกจากอาหารดังกล่าวแล้ว การรักษาที่มีธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบ การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาโคลชิซีน (Colchicine) ซึ่งเป็นยารักษาและป้องกันโรคเกาต์ การเก็บตัวอย่างอุจจาระที่ปนเปื้อนกับปัสสาวะซึ่งอาจมี RBC ปนเปื้อน ก็อาจทำให้เกิดผลบวกปลอมได้เช่นกัน
  • ผู้รับการตรวจอาจจำเป็นต้องงดการกินยารักษาโรคบางชนิด ทั้งนี้ ควรปรึกษากับแพทย์หรือโรงพยาบาลที่รับการตรวจ
  • ไม่แนะนำให้ตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระในกรณีที่ท่านมีอาการหรือโรคบางชนิดเหล่านี้ เช่น มีอาการท้องผูก (Constipation), มีอาการท้องเสีย (Diarrhea), มีอาการลำไส้อักเสบ (Colitis), มีอาการอักเสบจากโพรงเล็ก ๆ ข้างผนังลำไส้ (Diverticulitis), มีอาการของโรคริดสีดวงทวารกำเริบขึ้น (Hemorrhoid flare-up), มีอาการเจ็บคออย่างรุนแรง (Severe throat irritation) หรือมีอาการของโรคแผลเปื่อย (Ulcer) นั่นแปลว่าหากคุณมีอาการทั้งหลายเหล่านี้ แพทย์อาจจะห้ามไม่ให้ตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ

หมายเหตุ :

  • ผลบวกปลอม (False positive) หมายถึง ไม่มีสารนั้นอยู่จริง แต่ให้ผลบวกจากปฏิกิริยาอื่น จึงรายงานผลเป็น Positive
  • ผลลบปลอม (False negative) หมายถึง มีสารนั้นอยู่จริง แต่ตรวจว่าไม่มีสารนั้น จึงรายงานผลเป็น Negative

วิธีการเก็บตัวอย่างอุจจาระ

การเก็บตัวอย่างอุจจาระเพื่อรับการตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาะ มีข้อมูลที่ควรทราบดังนี้

  • ตัวอย่างอุจจาระที่ได้มาจากการถ่ายนั้นอาจเก็บตัวอย่างได้ทั้งจากที่บ้านและที่สถานพยาบาล
  • โปรดทราบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer) นั้นจะก่อให้เกิดอาการเลือดออกจากผนังลำไส้เป็นช่วง ๆ มิได้ออกตลอดเวลา ดังนั้น ในการตรวจอย่างละเอียดจึงจำเป็นต้องตรวจจากการเก็บตัวอย่างอุจจาระ 3 วัน หรือแบ่งเป็น 3 ครั้ง แบบต่อเนื่องติดต่อกัน
  • ถุงหรือภาชนะที่ใช้เก็บตัวอย่างอุจจาระนั้นจะบอกคำแนะนำและวิธีการใช้ไว้ทุกยี่ห้ออยู่แล้ว แต่มีคำแนะนำเพิ่มเติมว่า แผ่นพลาสติกที่ใช้วางเกาะติดกับแผ่นรองนั่งของโถส้วมเพื่อรองรับอุจจาระนั้น ควรตรวจสอบให้ดีว่าติดแน่นพอสมควรแล้วก่อนจะเริ่มนั่งถ่ายอุจจาระ และหากเกิดความผิดพลาดใด ๆ ก็ขออย่าได้นำอุจจาระที่หล่นลงสู่น้ำในโถส้วมแล้วเอาขึ้นมาใส่ถุงเพื่อเอาไปรับการตรวจเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ผลการตรวจเกิดการผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้มาก

การทดสอบผล

การทดสอบทางห้องปฏิบัติการจะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ

  1. Traditional Chemical Test คือ การใช้ชุดตรวจหาภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหารแบบปฏิกิริยาเคมี (COLOSCREEN Occult Blood Screening Test) มีขั้นตอนการทดสอบโดยใช้ไม้ป้ายอุจจาระโดยเลือดตำแหน่งแบบสุ่มหลาย ๆ จุด แล้วนำไปป้ายบนแถบสำหรับทดสอบ หยดน้ำยาลงไป 2 หยด แล้วรอสังเกตสีที่เกิดขึ้นบนพื้นกระดาษทดสอบสีขาว ถ้าไม่ปรากฏสี = ผลลบ (Negative) แต่ถ้าปรากฏเป็นสีฟ้า = ผลบวก (Positve)
ตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ
IMAGE SOURCE : laboratoryinfo.com
ขั้นตอนการตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ
IMAGE SOURCE : www.youtube.com (by Gerly Enriquez)
  1. Single Immunoassay Test คือ การใช้ชุดตรวจหาภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหารแบบปฏิกิริยาอิมมูโน มีขั้นตอนการทดสอบโดยป้ายอุจจาระมาใส่ในหลอดทดสอบ ปิดฝาให้สนิทแล้วทำการเขย่าเพื่อละลายเอาส่วน Hemoglobin ออกมา แล้วตั้งทิ้งไว้ จากนั้นจะหลอดน้ำยาในตอนแรกมาหยดน้ำยาลงในช่องตัวอย่างของตลับบทดสอบ จำนวน 3-5 หยด แล้วรออ่านผลประมาณ 5-10 นาที ถ้าขึ้นสีแดง 1 แถบที่บริเวณ C = ผลลบ (Negative) แต่ถ้าขึ้น 2 แถบที่บริเวณ C และ T = ผลบวก (Positve)
การตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ
IMAGE SOURCE : laboratoryinfo.com
ขั้นตอนการตรวจเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ
IMAGE SOURCE : www.youtube.com (by NCLE MNDZA)

การแปลผลตรวจ

ผลการตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระจะสำแดงค่าเพียง 2 แบบ คือ

www.goodlifeforyou.com_
www.goodlifeforyou.com_

  1. ผลลบ (Negative) คือ ไม่พบเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ (ค่าปกติ)
  2. ผลบวก (Positve) คือ พบเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ (ค่าผิดปกติ)

ส่วนสาเหตุที่พบเม็ดเลือดแดงไปปรากฏอยู่ในอุจจาระ (Positive) ได้นั้น อาจเกิดจากภาวะความผิดปกติหรือเกิดจากโรคอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อนี้

  • อาจเกิดแผลจากเนื้องอกที่มิใช่มะเร็ง หรือเนื้องอกชนิดที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer) หรือมะเร็ง ณ จุดใด ๆ ในช่องทางเดินอหาาร (Other gastrointestinal tumors)
  • ผนังภายในลำไส้ใหญ่อาจเกิดติ่งเนื้อ (Colon polyps) ขึ้น และหลอดเลือดบริเวณติ่งเนื้ออาจปริซึม
  • หลอดเลือดแดงที่บริเวณช่องทางเดินอาหารจนถึงลำไส้อาจเกิดอาการบวมและปริแตก (Angiodysplasia of the GI tract)
  • หลอดเลือดใกล้ช่องทางเดินอาหารจากลำคอไปจนถึงกระเพาะอาหารอาจโป่งพอง (Esophageal varices) หรือหลอดเลือดหล่อเลี้ยงกระเพาะอาหารเพิ่มความดันสูงขึ้นจนปริแตก (Portal hypertensive gastropathy)
  • ช่องทางเดินอาหารจากลำคอไปจนถึงกระเพาะอาหารอาจเกิดการอักเสบจนเป็นแผล (Esophagitis) จากการติดเชื้อจากจุลชีพก่อโรค
  • ช่องทางเดินอาหารตั้งแต่ปากจนถึงทวารหนัก อาจมีจุดใดจุดหนั่งเกิดการติดเชื้ออักเสบ (GI infections) จนเกิดแผล
  • อาจเกิดจากโรคลำไส้อักเสบ (Inframmatory bowel disease) และมีแผลในบางจุด
  • อาจเกิดจากโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล (Ulcerative colitis)
  • อาจเกิดจากโรคโครน (Crohn’s disease) ซึ่งเป็นโรคที่ระบบภูมิต้านทานทำลายผนังด้านในของลำไส้ตนเอง
  • อาจเกิดจากอาการของโรคแผลเปื่อยในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น (Peptic ulcer)
  • อาจเกิดจากโรคริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids) ที่บวมขึ้นตรงปากทวารจนแตก จึงทำให้มีเลือดปนออกมากับอุจจาระ
  • อาจเกิดจากอาการแผลปริที่ขอบของทวารหนัก (Anal fissures)

อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบผลบวก (Positve) หรือหมายถึงพบเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นโรคดังกล่าวเสมอไป เพราะอาจเป็นผลบวกปลอมก็ได้ คือ ไม่ได้เป็นโรคหรือมีความผิดปกติอะไร แต่ผลตรวจขึ้นเป็นบวกจากสาเหตุต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปในหัวข้อ “คำแนะนำก่อนการตรวจ” เช่น จากการรับประทานเนื้อสัตว์หรือผักผลไม้บางชนิด หรือการใช้ยาบางอย่างก่อนตรวจ

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือฉลาดตรวจสุขภาพ ฉบับรู้ทันโรคถอย เล่ม 2. “การตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ (Stool Occult Blood)”. (พอ.ประสาร เปรมะสกุล). หน้า 81-85.
  2. คู่มือการเก็บและนําส่งสิ่งส่งตรวจ (Lab Guidebook). “Stool Occult Blood”. (ศูนย์บริการเทคนิคการแพทย์ คลินิก คณะเทคนิคการแพทย์ มช.).
  3. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “การตรวจหา Occult blood ในอุจจาระ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.med.cmu.ac.th.  [26 มี.ค. 2018].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด