การตรวจ Direct bilirubin (บิลิรูบินชนิดละลายน้ำ) คืออะไร ?

Direct bilirubin

Direct bilirubin หรือ Conjugated bilirubin คือ ค่าบิลิรูบินชนิดที่ละลายน้ำได้ ซึ่งเกิดจากการที่ตับนำเอา Bilirubin ที่ลอยอยู่ในกระแสเลือดมาผสมเข้ากับกรดชนิดหนึ่งจนมันมีคุณสมบัติสามารถละลายน้ำได้และเป็นสารของเหลวสีเหลืองที่พร้อมที่จะถูกทิ้งออกนอกร่างกายโดยอวัยวะตับและไต

โดยตับจะจับ Direct bilirubin ไปผสมกับน้ำดีแล้วระบายออกทางท่อน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ปนกับกากอาหารออกพ้นจากร่างกายไปกับอุจจาระ (หากท่อน้ำดีเกิดอักเสบจนปิดกั้นการไหลหรือเกิดมีนิ่วในถุงน้ำดีก็ย่อมปิดกั้นการไหลและมีผลทำให้ Direct bilirubin ท่วมท้นจากตับเข้าสู่กระแสเลือด) ส่วนไตจะจับ Direct bilirubin ที่ละลายปนท่วมท้นมากับเลือดกรองออกทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะ (หากไตเสื่อมก็ย่อมกรอง Direct bilirubin ออกทิ้งไม่ได้ จึงทำให้ค่า Direct bilirubin ในเลือดสูงขึ้น)

ในผู้ที่มีสุขภาพทั่วไปเป็นปกติดี รวมทั้งดูแลเรื่องอาหารการกินมาตลอด ไม่กินยาหรือสมุนไพรอย่างผิด ๆ และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ตับก็ยังมีสุขภาพดีอยู่ จึงย่อมพบค่า Direct bilirubin ได้น้อย เพราะตับของคนกลุ่มนี้จะสามารถแปรสภาพ Indirect bilirubin ให้กลายเป็น Direct bilirubin ได้อย่างสมบูรณ์ โดยไม่เหลือคั่งค้าง รวมทั้งยังสามารถจัดการส่ง Direct bilirubin ทั้งหมดที่เกิดขึ้นไปผลิตกรดน้ำดีเก็บสะสมไว้ในถุงน้ำดี รอเวลาเพื่อนำไปใช้ย่อยอาหารไขมันได้อย่างหมดจด

วัตถุประสงค์การตรวจ Direct bilirubin

วัตถุประสงค์ของการตรวจ Direct bilirubin คือ การตรวจเพื่อให้ทราบค่าบิลิรูบินชนิดที่ละลายน้ำได้ (Direct bilirubin) จากตับว่ามีจำนวนไหลล้นสู่กระแสเลือดจนสามารถวัดค่าได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ ซึ่งจะช่วยบอกได้ว่า

  • ตับมีสุขภาพเป็นปกดีหรือไม่เพียงใด
  • ท่อทางเดินที่ผ่านออกจากถุงน้ำดีมีอุปสรรคมากน้อยเพียงใดหรือไม่

ค่าปกติของ Direct bilirubin

ค่าปกติของ Direct bilirubin ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ

  • ค่าปกติของ Direct bilirubin คือ 0.1 – 0.3 mg/dL

ค่า Direct bilirubin ที่ต่ำกว่าปกติ

ค่า Direct bilirubin ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า มีการขับทิ้ง Direct bilirubin โดยตับและไตได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในความเป็นจริงแล้วยากที่จะเป็นเช่นนั้นได้ ดังนั้นตัวเลขที่มีค่าน้อยกว่าปกติหรือค่อนข้างใกล้มาทาง 0 mg/dL จึงไม่มีนัยสำคัญแต่อย่างใด

ค่า Direct bilirubin ที่สูงกว่าปกติ

ค่า Direct bilirubin ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า

  • อาจเกิดจากท่อน้ำดีภายนอกตับถูกปิดกั้นการไหลผ่านของน้ำดี เช่น อาจเกิดจากนิ่วในท่อน้ำดี นิ่วในถุงน้ำดีที่ไปปิดช่องทางท่อถุงน้ำดี เนื้องอกที่ตับอ่อน จึงเป็นผลทำให้ Direct bilirubin ไหลผ่านออกไปเป็นน้ำดีไม่ได้และคับคั่งท่วมท้นจากตับเข้าสู่กระแสเลือด
  • อาจเกิดการอุดตันของท่อน้ำดีภายในตับเอง น้ำดีจึงไม่สามารถไหลผ่านออกจากตับมาสู่ถุงน้ำดีได้ เป็นผลทำให้ Direct bilirubin ไม่ถูกนำไปใช้ผลิตเป็นกรดน้ำดี จึงทำให้ล้นออกสู่กระแสเลือดอย่างมาผิดปกติ โดยการอุดตันของท่อน้ำดีภายในตับนั้นอาจเกิดจากโรคตับ (อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์), ตับกำลังเสียหายจากแบคทีเรียบางชนิด, ตับแข็งระยะเริ่มต้นจากบริเวณท่อน้ำดี, ตับอักเสบจากเชื้อไวรัส, เกิดอาการบวมอักเสบหรือมีการติดเชื้อเกิดขึ้นที่ท่อน้ำดีในชั้นต้น, เกิดจากโลหิตในร่างกายได้เกิดการติดเชื้อ, ร่างกายได้รับสารอาหารด้วยวิธีการให้ผ่านสายน้ำเกลือมานานเกินไป, การตั้งครรภ์ เป็นต้น
  • อาจเกิดโรคสำคัญขึ้นภายในตับเอง เช่น โรคตับอักเสบ โรคตับแข็ง โรคมะเร็งตับ อาการฟกช้ำ หรือได้รับการผ่าตัด ฯลฯ จึงทำให้ตับหมดสมรรถภาพที่จะนำ Direct bilirubin ไปผลิตเป็นกรดน้ำดีได้ จึงส่งผลต่อเนื่องทำให้ Direct bilirubin ล้นออกจากตับเข้าสู่กระแสเลือดมากผิดปกติ
  • อาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า “Dubin-Jhonson syndrome” ที่ทำให้ตับปล่อย Direct bilirubin ออกมาทางท่อน้ำดีได้น้อยกว่าปกติ จึงทำให้ตรวจ Direct bilirubin ในเลือดสูงผิดปกติ (โรคนี้พบเกิดได้น้อยและมักพบความผิดปกติเมื่อพ้นจากวัยรุ่นขึ้นมาแล้ว) หรืออาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรมอีกโรค คือ “Rotor syndrome
  • อาจเกิดจากยาบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการตัวเหลืองตาเหลือง เช่น ยาอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic steroids), คลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin), ไอโซไนอาซิด (Isoniazid)
  • สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น โรคเอดส์, โรควิลสัน (Wilson’s disease), โลหิตเป็นพิษ (Sepsis), ความดันโลหิตต่ำ (Shock), ภาวะเหล็กเกาะที่ตับ (Hemochromatosis), การติดเชื้อต่าง ๆ (เช่น เชื้อพยาธิ เชื้อ CMV ท่อน้ำดีอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ) ฯลฯ

ข้อควรรู้และคำแนะนำก่อนตรวจ Direct bilirubin

  • ต้องงดน้ำและอาหารก่อนเจาะเลือดเป็นเวลา 8 ชั่วโมง (ในเด็กไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหารก่อนการตรวจ)
  • กรุณาแจ้งให้แพทย์ทราบหากตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์ หรือแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาใด ๆ หรือการใช้ยาใด ๆ อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาปฏิชีวนะ ยาคุมกำเนิด ไดอะซีแพม (Diazepam), ฟลูราซีแพม (Flurazepam), อินโดเมธาซิน (Indomethacin), ฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital), ทีโอฟิลลีน (Theophylline), ยาละลายลิ่มเลือด (Aspirin หรือ Clopidogrel) หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Warfarin) รวมถึงสมุนไพรหรือวิตามินใด ๆ (เช่น วิตามินซี) เพราะยาเหล่านี้อาจส่งผลต่อการแปลผลทางห้องปฏิบัติการได้
  • โดยปกติแล้วจะทำการตรวจระดับบิลิรูบินในเลือดเท่านั้น แต่บางกรณีอาจทำการตรวจระดับบิลิรูบินในปัสสาวะด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
  • การออกกำลังกายอย่างหนักอาจมีผลเพิ่มระดับบิลิรูบินในเลือดได้
  • เพศชายจะมีระดับบิลิรูบินในเลือดสูงกว่าผู้หญิง
  • เชื้อชาติมีผลต่อระดับบิลิรูบิน โดยผู้ที่มีเชื้อชาติแอฟริกาจะมีระดับบิลิรูบินในเลือดต่ำกว่าชาติอื่น ๆ

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด