การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ (CEA : Carcinoembryonic Antigen)

การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ (CEA : Carcinoembryonic Antigen)

การตรวจ CEA

CEA หรือ Carcinoembryonic Antigen (คาร์ซิโนเอ็มบรายโยนิค แอนติเจน)* คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่พบได้ในร่างกายของคนเรา สามารถตรวจได้จากการตรวจเลือด (ค่าปกติคือไม่เกิน 5.0 ng/mL) เป็นสารที่ไม่เฉพาะเจาะจงสำหรับโรคใดโรคหนึ่ง คนทั่วไปอาจตรวจพบสารนี้ได้สูงขึ้น เช่น ในคนที่สูบบุหรี่ หรือคนที่มีการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ (เช่น ลำไส้ กระเพาะอาหาร ตับ ตับอ่อน ถุงน้ำดี) และสารนี้ก็สร้างได้จากเซลล์มะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่พบได้มากและบ่อยกว่ามะเร็งชนิดอื่น ๆ

หมายเหตุ : Carcinoembryonic Antigen มาจากคำว่า Carcino = Cancer (มะเร็ง), Embryo = Fetus (ตัวอ่อน หรือทากขณะอยู่ในครรภ์), Antigen (สารก่อภูมิต้านทาน หรือสารที่เกิดจากการปล่อยจากตัวเชื้อโรค) โดยรวมแล้วจึงแปลตรงตัวได้ว่า “สารที่คล้ายมาจากตัวอ่อน แต่แสดงตัวบ่งชี้ว่าเป็นโรคมะเร็ง

โดยตัวอ่อน (Embryo) ที่เกิดขึ้นภายหลังการปฏิสนธิจะพยายามฝังตัวอาศัยเกาะอยู่ภายในโพรงมดลูก แล้วรอรับการส่งผ่านโปรตีนพิเศษจากมารดาเพื่อการเจริญเติบโต ซึ่งในเวลาต่อมานักวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ค้นพบว่า เซลล์มะเร็งในหลาย ๆ อวัยวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “มะเร็งลำไส้ใหญ่” จะแย่งยื้อโปรตีนพิเศษชนิดเดียวกันนี้จากร่างกายเพื่อนำไปสร้างความเติบโตให้พวกมันเอง โดยขณะที่มะเร็งกำลังก่อร่างสร้างตัวให้เป็นปึกแผ่นนั้น มันจะปล่อยสารแปลกปลอม (Antigen) ซึ่งเป็นโปรตีนพิเศษชนิดนี้ออกมาสู่เลือดด้วย นักวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ตั้งชื่อสารแปลกปลอมพิเศษจากมะเร็งจำพวกนี้ว่า “Carcinoembryonic Antigen

เกี่ยวกับการตรวจ CEA

  • แม้ CEA จะได้รับการยอมรับว่าเป็นสัญญาณของมะเร็งหรือสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker) ตลอดมา โดยเฉพาะกับ “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ที่จะตรวจพบค่า CEA สูงได้มากและบ่อยกว่ามะเร็งชนิดอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ก็เป็นที่รับรู้กันในวงการแพทย์ว่า “ค่า CEA มิอาจใช้บ่งชี้แหล่งการเกิดของมะเร็งได้ หรือไม่สามารถเจาะจงได้ว่าเป็นมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ หรือที่อวัยวะใด” แต่อย่างน้อย ๆ ค่า CEA ที่สูงขึ้นผิดปกติก็มีส่วนดีตรงที่สามารถช่วยเตือนได้ว่า “ภายในร่างกายกำลังเกิดโรคมะเร็ง หรือกำลังเกิดโรคร้ายแรงอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นแล้ว
  • ในกรณีที่ตรวจเลือดแล้วพบว่า CEA สำแดงค่าสูงผิดปกติ อาจบ่งชี้ได้ว่า
    • เกิดโรคมะเร็งขึ้นในหลากหลายแหล่งอวัยวะสำคัญ โดยชนิดมะเร็งที่มักพบบ่อยก็คือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colonic cancer), มะเร็งตับอ่อน (Pancreatic cancer), มะเร็งช่องทางเดินอาหาร (Gastic cancer), มะเร็งปอด (Lung cancer), มะเร็งเต้านม (Breast cancer), มะเร็งรังไข่ (Ovary cancer) หรือแม้อวัยวะดังกล่าวมิได้เกิดเซลล์มะเร็ง แต่อาจเกิดเพียงติ่งเนื้องอกขึ้น หรือเกิดอาการบวมนูนขึ้น (Benign conditions) ก็อาจมีผลทำให้ค่า CEA สูงขึ้นผิดปกติได้เช่นกัน
    • เกิดโรคร้ายแรงในอวัยวะสำคัญที่มิใช่โรคมะเร็ง ก็อาจมีผลทำให้ค่า CEA สูงขึ้นผิดปกติได้ (แต่ระดับมักไม่สูงมากนัก) เช่น โรคตับแข็ง, ตับอักเสบ, ตับอ่อนอักเสบ, ถุงน้ำดีอักเสบ, ไตเสื่อม, ลำไส้อักเสบ, ลำไส้แปรปรวน, โรคกระเพาะ, แผลในกระเพาะอาหาร, โรคปอดเรื้อรัง, ถุงลมโป่งพอง, โรคหลอดลมเข้าสู่ปอดถูกขัดขวางอย่างเรื้อรัง (Chronic obstructibe pulmonary disease), โรคช่องทางเดินอาหารอักเสบชนิดโครน (Crohn’s disease) ฯลฯ
    • แม้ในที่ร่างกายปกติดีและไม่มีโรคร้ายแรงใด ๆ แอบแฝงอยู่ แต่ค่า CEA ก็อาจกระเพื่อมสูงขึ้นได้ (แต่ระดับมักไม่สูงมากนัก) เช่น ผู้ติดบุหรี่ที่อาจพบค่า CEA สูงผิดปกติประมาณ 19%, ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 6 ดือน, ผู้มีสุขภาพปกติบางรายอาจพบค่า CEA สูงผิดปกติได้ประมาณ 3%
  • หากมีโรคร้ายแรงเกิดขึ้นที่อวัยวะใดก็อาจมีผลทำให้ค่า CEA สูงขึ้นผิดปกติได้ โดยโรคร้ายแรงที่ว่านี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นโรคมะเร็งเสมอไป แปลว่า เมื่อตรวจเลือดแล้วพบค่า CEA สูงขึ้นผิดปกติ ให้ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนสำคัญที่บ่งชี้ว่า “ภายในร่างกายกำลังมีบางอวัยวะที่เกิดโรคมะเร็ง หรือเกิดโรคสำคัญชนิดอื่นที่ร้ายแรงอยู่
  • ค่า CEA ที่ได้จากการตรวจเลือด หากพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็มิอาจใช้ยืนยันได้ว่าจะไม่มีโรคร้ายแรงเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นของมะเร็งในระยะเริ่มต้น (แปลว่า ในทุกกรณีที่ตรวจเลือดแล้วค่า CEA ปกติก็อย่าเพิ่งดีใจหรือนิ่งนอนใจ แต่แนะนำให้ตรวจด้วยเครื่องมืออื่นหรือสารบ่งชี้มะเร็งตัวอื่น เช่น CA 19-9, CA 27-29, CA 125, CA 15-3, AFP เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมต่อไป) และก็มิได้หมายความว่าจะปลอดภัยจากโรคมะเร็งในทุกอวัยวะหรือแม้แต่ที่ลำไส้ใหญ่ เนื่องจาก เป็นลักษณะเฉพาะของ CEA ที่จะแสดงค่าสูงผิดปกติก็ต่อเมื่อมะเร็งได้ก่อตัวขึ้นใหญ่โตจนแทบจะรักษาไม่ได้แล้ว
  • ค่า CEA ที่สูงขึ้นอีกครั้งภายหลังรับการรักษาไปแล้ว อาจใช้เป็นตัวช่วยบ่งชี้ได้ว่ามีการกลับมาของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Recurrent colon cancer) หรือแปลว่า “โรคมะเร็งลำไส้มิได้หายขาด แต่มันได้ฟื้นตัวกลับมาเป็นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง” และในทางกลับกัน หากตรวจแล้วพบว่าค่า CEA ได้ลดลงมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงเกณฑ์ปกติภายหลังได้รับการรักษามาแล้วประมาณ 4-6 สัปดาห์ ก็อาจถือได้ว่า การรักษาเฉพาะครั้งนั้นประสบผลสำเร็จ
  • ค่า CEA นอกจากจะวิเคราะห์ได้จากเลือดแล้ว ยังอาจวิเคราะห์ได้จากของเหลวจากแหล่งของของเหลวภายในร่างกายด้วย เช่น ของเหลวภายในช่องท้อง (Peritoneal fluid), ของเหลวภายในช่องกระดูกสันหลัง (Cerebrospinal fluid) ฯลฯ ทั้งนี้ ระดับที่ CEA จะแสดงค่าสูงผิดปกติใด ๆ ก็ย่อมอาจบ่งชี้ได้ว่าอวัยวะที่หลั่งของเหลวนั้นออกมากำลังเกิดโรคมะเร็ง
  • สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ ค่า CEA นี้มีความไว (Sensitivity) เพียงประมาณ 68.7% เท่านั้น ซึ่งหมายความว่า ถ้าเอาคนที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่จำนวน 100 คนมาตรวจค่า CEA จะพบว่าตรวจได้ผลบวกเพียงประมาณ 69 คน ส่วนอีกประมาณ 31 คนจะตรวจได้ผลปกติ ทั้ง ๆ ที่เป็นมะเร็ง และอีกด้านหนึ่ง ค่า CEA นี้ก็มีความจำเพาะ (Specificity) อยู่ที่ประมาณ 76.9% นั่นหมายความว่า ถ้าเอาคนที่รู้แน่ชัดแล้วว่าไม่ได้เป็นมะเร็งมาตรวจสัก 100 คน จะตรวจพบผลลบประมาณ 77 คน ส่วนอีก 33 คนตรวจได้ผลบวก ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นมะเร็ง
  • อุบัติการณ์การเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ของคนไทยมีอัตราส่วนเพียงแค่ 8.8 : 100,000 เท่านั้น (ทุก 1 แสนคนจะมีคนเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ประมาณ 9 คน) นั่นหมายความว่า คนที่ตรวจ CEA ได้ผลบวกจะมีโอกาสเป็นมะเร็งจริง ๆ เพียง 0.027% เท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ สิ่งที่ควรทำไม่ใช่การไปตรวจ CEA แต่คือการดูแลตัวเองให้ดีต่างหาก โดยเฉพาะเรื่องการปรับโภชนาการ ไม่อ้วน ไม่สูบบุหรี่ สังเกตการขับถ่าย (ถ้าท้องผูก ท้องเสียบ่อย ๆ ก็ควรไปพบแพทย์) สังเกตอุจจาระ (ถ้าสีคล้ำหรือมีเลือดปนต้องไปพบหมอ) ฯลฯ และถ้าอายุเกิน 50 ปี ก็แนะนำให้ไปส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ทุก 10 ปี เพราะมะเร็งชนิดนี้จะใช้เวลานานเป็นสิบปีกว่าจะกลายเป็นมะเร็ง
  • การวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ด้วย CEA มีความแม่นยำไม่มากนัก (เพราะมีความไวและความจำเพาะของการตรวจต่ำ) ดังนั้นจึงต้องอาศัยหลักฐานอย่างอื่นในการวินิจฉัยร่วมด้วย เช่น ผลจากชิ้นเนื้อ

ความมุ่งหมายในการตรวจ CEA

  • ใช้ตรวจค้นหามะเร็งบางชนิด โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ และการเจาะเลือดตรวจจะเจาะในที่รายที่มีอาการเท่านั้น (แต่ไม่ใช่การเจาะเพื่อตรวจสุขภาพทั่วไป) เช่น มีอาการท้องผูก ไม่สามารถถ่ายอุจจาระได้ทุกวัน และอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย (การตรวจ CEA ในระยะต้นของมะเร็งมักไม่ได้ผล เพราะ CEA มักไม่แสดงค่าที่ผิดปกติหรือค่าไม่สูงขึ้น จึงไม่อาจใช้วินิจฉัยได้ตั้งแต่มะเร็งเริ่มก่อตัว โดย CEA จะแสดงค่าสูงผิดปกติขึ้นก็ต่อเมื่อ มะเร็งได้มีการแพร่กระจายไปกว้างขวางแล้ว จนทำให้ลำไส้เกือบตีบตัน จึงเกิดอาการท้องผูกและปวดท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง CEA ที่สูง จึงอาจจะบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนถึงการเกิดขึ้นของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่)
  • ใช้ตรวจติดตามผลการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer) โดยการเปรียบเทียบค่าของ CEA ทั้งก่อนและภายหลังการผ่าตัด เพื่อประเมินผลสำเร็จของการผ่าตัด
  • ใช้ค่า CEA เพื่อติดตามผลการรักษาในกรณีเลือกการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด (Chemootherapy) ทั้งนี้ ค่าของ CEA ที่ได้จากการตรวจเลือดแต่ละครั้งย่อมแสดงแนวโน้มที่อาจใช้เป็นข้อมูลประเมินผลสำเร็จหรือความล้มเหลวจากการรักษาด้วยยาเคมีตัวนั้น ๆ
  • ใช้ประเมินว่าโรคกลับมาเป็นซ้ำหรือไม่ (ปกติค่า CEA จะลงมาอยู่ในระดับปกติหลังจากรักษาหายขาดได้ประมาณ 4-6 สัปดาห์)

ผลการตรวจ CEA
IMAGE SOURCE : pantip.com (by nnn^o^)

ผลการตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่
IMAGE SOURCE : pantip.com (by สมาชิกหมายเลข 1555647)

ค่าปกติของ CEA

ค่าปกติของ CEA ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ

  • ค่าปกติของ CEA ในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ คือ 2.5 – 5.0 ng/mL
  • ค่าปกติของ CEA ในผู้สูบบุหรี่ คือ ใกล้เคียง 5.0 ng/mL

หมายเหตุ : ng = nanogram (1 ใน พันล้านของกรัม), mL = milliliter (1 ใน พันของลิตร)

ค่า CEA ในทางต่ำ

หากตรวจพบค่า CEA ในเลือดในทางต่ำ อาจแสดงผลในด้านสุขภาพได้ว่า

  • ไม่ควรไว้วางใจว่าจะปลอดภัยจากโรคมะเร็งหรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ และแม้ว่าค่า CEA จะอยู่ในเกณฑ์ปกติก็ไม่ควรไว้วางใจเช่นกัน

ค่า CEA ที่สูงกว่าปกติ

หากตรวจพบค่า CEA ในเลือดสูงกว่าปกติ อาจแสดงผลในด้านสุขภาพได้ว่า

  • อาจกำลังเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือโรคมะเร็งอื่น ๆ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้มนม มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งช่องทางเดินอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งผิวหนัง หรือมะเร็งต่อมไทรอยด์
  • หากตรวจเลือดแล้วค่า CEA ยังสูงผิดปกติภายหลังรับการรักษาโรคมะเร็ง ก็แสดงว่าวิธีการรักษาหรือยารักษานั้น ๆ ไม่ได้ช่วยให้มีการตอบสนองในทางที่ดีขึ้น
  • หากตรวจเลือดแล้วพบแนวโน้มของค่า CEA ค่อย ๆ สูงมากขึ้นตามลำดับภายหลังจากรับการรักษา ก็ย่อมแสดงว่าวิธีการรักษาหรือยารักษานั้น ๆ ไม่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งได้ ในกรณีนี้ แพทย์อาจวินิจฉัยได้ต่อไปอีกว่าเซลล์มะเร็งอาจแพร่กระจายลุกลามไปสู่อวัยวะอื่น ๆ บ้างแล้วก็ได้
  • มะเร็งกลับมาเป็นซ้ำภายหลังการรักษา (มิได้หายขาด)
  • แม้ตรวจสอบแน่ชัดแล้วว่าค่า CEA ที่สูงผิดปกติมิได้เกิดจากโรคมะเร็ง แต่ก็อาจเกิดจากโรคร้ายแรงชนิดอื่นได้ เช่น โรคตับแข็ง, โรคลำไส้อักเสบ, โรคปอดเรื้อรัง, โรคตับอ่อนอักเสบ, โรคหลอดลมเข้าสู่ปอดถูกขัดขวางอย่างเรื้อรัง, โรคช่องทางเดินอาหารอักเสบชนิดโครน ฯลฯ

เมื่อตรวจพบค่า CEA สูงผิดปกติก็อย่าเพิ่งตกใจ เพราะสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ถ้าเกิดจากโรคมะเร็งค่า CEA นี้จะต้องสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าเป็นการอักเสบทั่วไป ค่า CEA จะขึ้น ๆ ลง ๆ หรือคงที่ และสำหรับคนทั่วไป แนะนำว่า ไม่สมควรตรวจเลือดดูค่า CEA เอง แต่ควรปรึกษาและให้แพทย์เป็นผู้สั่งตรวจเองเสมอ เพื่อการแปลผลตรวจจะได้ถูกต้อง ไม่ตกใจ กังวลใจ และไม่เสียค่าตรวจโดยไม่จำเป็น

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือฉลาดตรวจสุขภาพ ฉบับรู้ทันโรคถอย เล่ม 2. “การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ (CEA)”. (พอ.ประสาร เปรมะสกุล). หน้า 65-70.
  2. Siamhealth.  “การตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ Carcinoembrionic Antigen (CEA)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [24 พ.ค. 2018].
  3. DrSant บทความสุขภาพ.  “CEA และสารชี้บ่งมะเร็ง (tumor marker) อื่นๆ”.  (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : visitdrsant.blogspot.com.  [25 พ.ค. 2018].
  4. ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “สารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) ที่ควรรู้จัก”.  (ผศ.พญ.ศันสนีย์  เสนะวงษ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [25 พ.ค. 2018].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด