การตรวจ CA 15-3
CA 15-3 (Cancer antigen 15-3 หรือ Carcinoma Antigen 15-3) คือ สารโปรตีน (Glycoprotein) ที่หลั่งจากเซลล์เนื้อเยื่อที่มีความผิดปกติ โดยเฉพาะจากเซลล์มะเร็งของเต้านม อย่างไรก็ตาม ค่า CA 15-3 ก็มีค่าสูงขึ้นได้ในมะเร็งอีกหลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งของระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น และยังอาจเกิดจากภาวะตับแข็ง การมีเนื้องอกที่เต้านม รังไข่ ตับอ่อน ฯลฯ
การตรวจสาร CA 15-3 มักใช้ควบคู่ไปกับสาร CA 27-29 เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและความแม่นยำในการตรวจว่าผู้ป่วยกำลังป่วยด้วยโรคมะเร็งจริง ๆ หรือไม่ และอาจต้องตรวจยืนยันร่วมกับวิธีการตรวจอื่น ๆ ด้วย เช่น การตรวจแมมโมแกรม การตรวจอัลตราซาวด์ หรือการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ข้อบ่งชี้ในการตรวจ CA 15-3
- มักใช้ช่วยในการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมที่มีการแพร่กระจายและการกลับเป็นใหม่ของโรคหลังการรักษา แต่ไม่นิยมใช้ในการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมระยะแรกเริ่ม (เพราะในระยะแรกของมะเร็งเต้านมค่านี้จะยังปกติ แต่เมื่อมะเร็งเริ่มลุกลามแล้วค่านี้จะเพิ่มสูงขึ้น)
- ใช้เพื่อติดตามผลการรักษามะเร็งเต้านม
ค่าปกติของ CA 15-3
ค่าปกติของ CA 15-3 ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือดเป็นหลัก (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไปดังนี้
- ค่าปกติของ CA 15-3 คือ < 22 units/mL
- ค่าปกติของ CA 27-29 (ที่มักตรวจร่วมกับ CA 15-3) คือ < 38 units/mL
ค่า CA 15-3 ที่สูงกว่าปกติ
หากตรวจพบค่า CA 15-3 สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลในด้านสุขภาพได้ว่า
- อาจเกิดจากโรคมะเร็งเต้านมที่อยู่ในระยะลุกลามหรือแพร่กระจาย หรือมะเร็งมีการกลับมาเป็นซ้ำภายหลังจากที่ได้ทำการรักษาจนหายแล้ว หรือมะเร็งได้ลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ แม้ว่าจะได้ทำการผ่าตัดเต้านมทิ้งไปแล้ว (หากพบค่า Ca 15-3 มากกว่า 30 units/mL ประมาณ 37.5% มะเร็งจะแพร่กระจายไปแล้วเมื่อเทียบกับผู้ที่มีค่าน้อยกว่า 30 units/mL ซึ่งพบเพียง 2.5% ที่มีการแพร่กระจาย)
- อาจเกิดจากโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่มะเร็งเต้านม เช่น มะเร็งปอด มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งของระบบทางเดินอาหาร
- อาจเกิดจากการมีเนื้องอกธรรมดาที่เต้านม รังไข่ ตับอ่อน
- อาจเกิดจากภาวะตับแข็ง โรคตับอ่อนอักเสบ
- อาจกำลังอยู่ในระยะที่กำลังให้นมบุตร
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือฉลาดตรวจสุขภาพ ฉบับรู้ทันโรคถอย เล่ม 2. “CA15-3”. (พอ.ประสาร เปรมะสกุล). หน้า 69.
- รู้ก่อนเข้าใจการตรวจรักษามะเร็ง. “CA15-3”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).
- ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “CA 15-3”. (ผศ.พญ.ศันสนีย์ เสนะวงษ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [28 พ.ค. 2018].
- Siamhealth. “Cancer Antigen 15-3”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [28 พ.ค. 2018].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)