การตรวจความหนาแน่นของกระดูก (Bone mineral density (BMD) test)

การตรวจความหนาแน่นของกระดูก (Bone mineral density (BMD) test)
การตรวจความหนาแน่นของกระดูก (Bone mineral density (BMD) test)

การตรวจความหนาแน่นกระดูก

การตรวจความหนาแน่นของกระดูก (Bone densitometry) กับการตรวจความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูก (Bone mineral density test) คือการตรวจชนิดเดียวกัน และตรวจด้วยเครื่องหรืออุปกรณ์ชนิดเดียวกัน เพียงแต่มองกันคนละแง่มุม จึงเรียกชื่อต่างกัน แต่การตรวจทั้งคู่ต้องการทราบผล คือ ความหนาแน่นของกระดูกเหมือนกัน เพื่อจะได้ทราบว่าสุขภาพของกระดูกอยู่ในระดับปกติดีมากน้อยเพียงใด หรือเป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่

หมายเหตุ : ชื่ออื่นของการตรวจความหนาแน่นของกระดูก

  • Bone mineral density test (การตรวจความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูก)
  • BMD test
  • Bone density test
  • DEXA scan
  • DXA scan
  • Dual-energy X-ray absorptionmetry
  • Bone density scan

ความมุ่งหมายในการตรวจ

  • ใช้เป็นข้อมูลบ่งชี้ว่า สุขภาพของกระดูกอยู่ในระดับปกติดีมากหรือน้อยเพียงใด
  • ใช้คัดกรองบุคคลทั่วไปว่า มีความหนาแน่นของกระดูกต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานจนอาจอยู่ในระดับเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติการณ์กระดูกหักโดยมีสาเหตุต่อเนื่องมาจากโรคกระดูกพรุนหรือไม่ ?
  • ใช้ข้อมูลจากผลตรวจที่ได้เป็นข้อมูลที่ช่วยให้แพทย์อาจเลือกใช้ยาชนิดใดและขนาดเท่าใดเพื่อรักษาโรคกระดูกพรุน สำหรับผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างเหมาะสมกับระดับความรุนแรงของโรค
  • ใช้เป็นข้อบ่งชี้สำหรับผู้ป่วยกระดูกหักและต้องเข้าเฝือกว่าอาจจะต้องอยู่ในเฝือกนานมากน้อยเพียงใด โดยในกรณีของผู้ป่วยกระดูกหักที่มีสภาวะของโรคกระดูกพรุนด้วยนั้นย่อม ก็ย่อมต้องอยู่ในเฝือกนานกว่าผู้ที่มีสุขภาพของกระดูกปกติ

ผู้ที่ควรได้รับการตรวจ

เนื่องจากอาการของผู้ที่มีสุขภาพกระดูกเสื่อมโทรมจากโรคมวลกระดูกน้อยหรือโรคกระดูกพรุนล้วนไม่มีอาการแสดง จึงทำให้เจ้าของร่างกายอาจไม่รู้ตัวมาก่อนเลยแม้แต่น้อย จนกว่าเมื่อใดก็ตามที่ได้เกิดอุบัติเหตุหกล้มหรือกระดูกหัก ด้วยเหตุนี้การตรวจความหนาแน่นของกระดูกหรือการทำ BMD scan (DEXA scan) เพื่อป้องกันและแก้ไขโรคกระดูกพรุนตามระยะเวลาจึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะบางท่านที่เคยรู้จัก หรือไม่เคยตรวจกระดูก หรือรู้จักแล้วแต่ลืมหรือละเลย

  • ผู้ที่มีค่าดัชนีน้อยกว่า -4 โดยคำนวณจากสูตร 0.2 x (น้ำหนัก – อายุ) เพราะจัดเป็นผู้ที่มีอัตราเสี่ยงสูงต่อกระดูกหักหรือต่อโรคกระดูกพรุน
  • ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป และผู้ชายที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป
  • ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีค่าดัชนีน้อยกว่า -4 ซึ่งคำนวณได้จากสูตร 0.2 x (น้ำหนัก – อายุ) หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) น้อยกว่า 19
  • ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนหรืออาจมีสุขภาพกระดูกเสื่อมโทรม เช่น
    • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคกระดุกพรุนหรือกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน
    • มีประวัติเคยมีกระดูกสะโพกหัก กระดูกสันหลังหัก หรือกระดูกหักที่ตำแหน่งอื่น ๆ จากอันตรายหรืออุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง
    • ผู้หญิงวัยหมดหมดประจำเดือนที่มีความสูงของร่างกายลดลงมากกว่า 3 เซนติเมตร (จากความสูงเดิม) หรือเป็นโรคเป็นมะเร็งเต้านม
    • ผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปีที่มีความสูงของร่างกายลดลงมากกว่า 3 เซนติเมตร หรือมีอาการของภาวะขาดฮอร์โมนเพศชาย หรือเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
    • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคตับเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคการดูดซึมของระบบทางเดินอาหารผิดปกติ หรือโรคข้ออักเสบเรื้อรัง
    • ผู้ที่เป็นโรคต่อมไทรอยด์และโรคต่อมพาราไทรอยด์
    • ผู้ที่มีอาการหลังค่อมหรือหลังโค้งงอผิดปกติ
    • ผู้ที่สูบบุหรี่จัดหรือดื่มแอลกอฮอล์จัดเป็นประจำ
    • ผู้ที่รับยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยารักษาโรคลมชัก ยารักษาโรคไทรอยด์ ยารักษามะเร็ง

มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งชาติ (National Osteoporosis Foundation) ของสหรัฐอเมริการะบุว่า สตรีชาวอเมริกันเกิดโรคกระดูกพรุนประมาณ 80% ส่วนบุรุษนั้นจะเกิดโรคนี้เพียง 20% ซึ่งสถิตินี้ อาจเทีนบเคียงได้ในระดับเดียวกันกับชาติอื่นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย

การตรวจ BMD scan

อุปกรณ์การตรวจความหนาแน่นของกระดูกมาจากคำว่า “Bone densitometry” หรือจะเรียกว่า “Bone mineral density scan” ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วแพทย์มักจะเรียกกันสั้น ๆ ว่า “การทำ BMD scan” โดย BMD scan นี้ จะใช้หลักการทำงานของรังสี X-ray ที่ดัดแปลงให้รังสีนั้นสามารถซึมผ่านทะลุถึงเนื้อเยื่อภายในกระดูก โดยเรียกหลักการทำงานหรือเครื่องนี้ว่า “Dual-energy X-ray absorptionmetry” (DEXA หรือ DXA) ด้วยเหตุนี้ BMD scan จึงอาจถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “DEXA scan” หรือ “DXA scan

การตรวจความหนาแน่นของกระดูกโดยใช้อุปกรณ์ BMD scan หรือ DEXA scan เป็นการตรวจที่มีความถูกต้องแม่นยำสูง ผู้รับการตรวจได้รับปริมาณรังสีน้อย (ประมาณ 0.8-4.6 mSv ซึ่งน้อยกว่ารังสีที่ได้รับจากการเอกซเรย์ปอดประมาณ 10-25 เท่า) นอกจากนี้ยังสามารถใช้ตรวจกระดูกได้หลายส่วนรวมทั้งมวลกระดูกทั้งร่างกาย แต่การตรวจด้วยเครื่องมือชนิดนี้ก็มีข้อจำกัดในกรณีที่ผู้รับการตรวจมีภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม (พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ) เพราะค่าที่ตรวจได้นั้นจะมีความคลาดเคลื่อนสูง

เครื่องตรวจความหนาแน่นของกระดูก
IMAGE SOURCE : www.nhs.uk

นอกจากการตรวจด้วยเครื่อง DEXA (Dual-energy X-ray absorptionmetry) ดังที่กล่าวไปแล้ว ยังมีการตรวจด้วยเครื่อง QCT (Quantitative computed tomography) ซึ่งให้ความถูกต้องและแม่นยำสูงสุดด้วย โดยสามารถแยกกระดูกส่วนนอกและกระดูกส่วนในได้อย่างชัดเจน แต่ผู้รับการตรวจจะได้รับรังสีสูงประมาณ 25-360 mSv และการตรวจด้วยเครื่อง QUS (Quantitative ultrasound) ที่เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงผ่านเนื้อกระดูก (ผู้รับการตรวจจึงไม่ได้รับสีเลย) แต่สามารถตรวจได้เฉพาะกระดูกส้นเท้า (ซึ่งไม่ใช่จุดที่เสี่ยงต่อการหัก) และให้ความถูกต้องแม่นยำที่ไม่สูงมากนัก อีกทั้งผลตรวจที่ปกติก็ไม่สามารถใช้เป็นตัวแทนของความหนาแน่นของกระดูกส่วนอื่น ๆ ได้ สรุปแล้วเมื่อดูจากข้อดีข้อเสียดังกล่าวก็ทำให้การตรวจด้วยเครื่อง DEXA นั้นเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในการตรวจความหนาแน่นของกระดูก

  1. ก่อนการตรวจผู้เข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวใด ๆ เป็นพิเศษทั้งสิ้น สามารถตรวจได้เลย (ในวันตรวจสามารถรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ตามปกติ) เมื่อตรวจเสร็จแล้วก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยไม่มีรังสีใด ๆ หลงเหลืออยู่ในตัว
    • ในสตรีตั้งครรภ์หรือสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ที่ไม่ควรตรวจ เนื่องจากทารกในครรภ์จะได้รับรังสีโดยไม่จำเป็นและอาจเป็นสาเหตุทำให้ทารกพิการหรือแท้งได้
    • ผู้ที่ได้รับการกลืนแร่หรือได้รับสารทึบแสงเพื่อทำ CT scan มาก่อน อาจจะต้องเลื่อนการตรวจออกไปประมาณ 2 สัปดาห์
  2. โดยทั่วไปแพทย์จะตรวจกระดูกที่มีโอกาสหักได้ง่ายจากโรคกระดูกพรุนใน 3 ตำแหน่ง ได้แก่ กระดูกสะโพก (Hip), กระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar spine) และกระดูกแขนส่วนปลาย (Forearm) โดยเฉพาะกระดูกสะโพกและกระดูกสันหลังส่วนเอวที่นิยมตรวจกันมากที่สุด
  3. ภายในห้องตรวจ BMD scan จะพบว่ามีอุปกรณ์ย่อย 2 ส่วน โดยส่วนแรกคือเตียงนอนสำหรับผู้รับการตรวจ (มีอุปกรณ์ฉาย X-ray อยู่ด้านบน ที่จะสามารถเลื่อนกวาดไปมาให้ตรงกับกระดูกส่วนใดของร่างกายก็ได้) และส่วนที่สองจะเป็นอุปกรณ์ระบบคอมพิวเตอร์พร้อมด้วยจอเฝ้าตรวจ
  4. ผู้เข้ารับการตรวจเปลี่ยนเสื้อผ้าในชุดที่สบาย และถอดเครื่องประดับทุกชิ้นและทุกชนิดออกจากร่างกาย ส่วนในกรณีที่มีโลหะฝังอยู่ในร่างกาย เช่น ใส่เหล็กดามกระดูก ใส่ข้อสะโพกเทียม ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ หรือฝังเหล็กไหลอยู่ร่างกาย ฯลฯ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเสมอ (เพราะในกรณีที่ผู้รับการตรวจใส่ข้อสะโพกเทียมจะได้รับการตรวจในข้อสะโพกฝั่งตรงข้ามแทน หรือใส่เหล็กดามกระดูกสันหลังก็จะได้รับการตรวจในกระดูกสันหลังส่วนเอวที่ไม่มีเหล็กอยู่ เป็นต้น)
  5. จากนั้นผู้รับการตรวจจะนอนบนเตียงตรวจ เจ้าหน้าที่จะจัดตำแหน่งร่างกายให้เหมาะสม แล้วเริ่มเดินเครื่องฉาย X-ray พลังงานต่ำไปยังตำแหน่งที่ต้องการตรวจ ซึ่งกระดูกในแต่ละส่วนจะถูกอุปกรณ์ X-ray ค่อย ๆ เลื่อนกวาดฉายรังสีไปทีละน้อย ๆ และอาจใช้เวลาประมาณ 4-8 นาทีสำหรับการตรวจกระดูกในแต่ละท่อน (รวม ๆ แล้วอาจใช้เวลาบนเตียงตรวจสนาน 10-15 นาที)
  6. ในขณะที่เครื่องกำลังกวาดกระดูกท่อนที่ต้องการตรวจอยู่ ผู้เข้ารับการตรวจก็ต้องพยายามนอนให้นิ่งมากที่สุด เพื่อให้ผลออกมาชัดเจน สมบูรณ์แบบ ไม่ผิดเพี้ยน และโดยไม่ต้องฉาย X-ray ซ้ำอีก
  7. เมื่อตรวจเสร็จ ผลการตรวจจากกระดูกในแต่ละส่วนจะถูกพิมพ์ออกมาเป็นกระดาษจากระบบคอมพิวเตอร์ แยกเป็นกระดาษแสดงผลของกระดูกแต่ละชนิด ชนิดละ 1 ใบ
  8. ภายหลังการตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่มีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเป็นพิเศษแต่อย่างใด

การแปลผลการตรวจ

ในทางการแพทย์จะมีหน่วยวัดความหนาแน่นของกระดูก 2 แบบ คือ T-Score และ Z-Score

  1. T-Score เป็นหน่วยวัดความหนาแน่นของกระดูกในเชิงเปรียบเทียบกับกระดูกของผู้อื่นที่อยู่ในวัย 30 ปี ที่ถือว่าเป็นวัยที่กระดูกกำลังมีความหนาแน่นสูงที่สุดเป็นมาตรฐาน ฉะนั้น กระดูกท่านใดที่มีความหนาแน่นต่ำกว่ามาตรฐาน จะมีศัพท์เรียกว่า “ค่ามวลกระดูกที่เบี่ยงเบนจากมาตรฐาน” (SD) ซึ่งในการนี้ องค์การอนามัยโลกได้เป็นผู้ตั้งค่า Bone mineral density (BMD) ว่าเป็นกี่เท่าในความเบี่ยงเบนจากค่ามาตรฐาน (SD) กล่าวคือ
    • 0 SD = BMD สูงที่สุดของคนวัยหนุ่มสาว
    • 1 ถึง -1 SD = ค่า BMD ในผู้ที่มีสุขภาพกระดูกเป็นปกติดีที่สุด
    • 1 ถึง -2.5 SD = ค่า BMD ในผู้ที่มีมวลกระดูกน้อย (โรคมวลกระดูกน้อย)
    • 2.5 SD หรือต่ำกว่า = ค่า BMD ในผู้ที่มีมวลกระดูกต่ำกว่าบุคคลวัยหนุ่มสาวที่อายุ 30 ปี ประมาณ 2.5 เท่า หรือต่ำมากกว่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นโรคกระดูกพรุน
  2. Z-Score เป็นหน่วยวัดระดับความหนาแน่นของกระดูกในเชิงเปรียบเทียบกับกระดูกของผู้อื่นที่อยู่ในกลุ่มเชื้อชาติเดียวกัน เพศเดียวกัน และในวัยเดียวกัน ค่าที่ได้อาจต่ำกว่าหรือสูงกว่าผู้ที่อยู่ในวัยเดียวกันก็ได้ ด้วยเหตุนี้ Z-Score เพียงค่าเดียว จึงไม่อาจบ่งชี้ได้ว่าในระหว่าง 2 คนนั้น ผู้ใดเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วหรือไม่อย่างไร จึงแตกต่างจากค่า T-Score ที่อาจใช้บ่งชี้ได้ชัดเจน (แม้ค่า T-Score จะดูมีประโยชน์มากกว่า แต่ค่า Z-Score ก็ยังนับว่ามีประโยชน์ในแง่ของการเฝ้าระวังโรคกระดูก หรือช่วยบ่งชี้สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคกระดูกบางโรคที่มีมวลลดน้อยลงไปได้)

สรุปแล้วเราสามารถประเมินสภาวะโรคกระดูกพรุนสามารถวัดได้จากค่า T-Score ดังนี้

  • ค่า T-Score มากกว่า -1 ขึ้นไป = กระดูกหนาแน่นปกติ (Normal bone)
  • ค่า T-Score อยู่ระหว่าง -1 ถึง -2.5 = โรคมวลกระดูกน้อยหรือกระดูกบาง (Osteopenia)
  • ค่า T-Score ต่ำกว่า -2.5 = โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)

การแปลผลตรวจความหนาแน่นของกระดูก
IMAGE SOURCE : wep.webmo.ru

ข้อควรสังเกตจากการแปลผลตรวจ

  • ค่าจากผลการให้ตรวจให้ยึดถือตามค่าที่แสดงไว้ในใบรายงานผลการตรวจนั้น ๆ เป็นหลัก (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดถือตามค่าทั่วไปที่องค์การอนามัยโลกกำหนด (ค่า T-Score ด้านบน)
  • ผลการตรวจจากกระดูกแต่ละตำแหน่งแม้ว่าจะมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้ และในหลายกรณีที่ค่าเหล่านี้ก็มีความแตกต่างกันมาก ดังนั้นในการวินิจฉัยเพื่อให้ได้ผลที่แน่นอนจึงจำเป็นต้องตรวจกระดูกอย่างน้อยทั้ง 3 ตำแหน่งดังที่กล่าวไป
  • ในกรณีที่ได้รับผลการตรวจจากกระดูกหลายส่วน แต่กลับพบว่ากระดูกแต่ละส่วนนั้นแสดงผลเป็นค่า SD ไม่เท่ากัน เช่น ที่แขน -1 SD, ที่กระดูกสันหลัง -1.5 SD และที่สะโพก -2.8 SD ในกรณีอย่างนี้แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว แม้จะมีกระดูกสะโพกเพียงส่วนเดียวที่มีค่าต่ำกว่า -2.5 SD ก็ตาม (สรุปคือให้ยึดค่าที่ต่ำสุดเป็นเกณฑ์)
  • ค่า T-Score ยิ่งต่ำมากเท่าใดก็ยิ่งแสดงว่ากระดูกอยู่ในสภาวะทรุดโทรมลงมากเท่านั้น
  • ทุก ๆ ความเปลี่ยนแปลงเพิ่มหรือลดลงของค่าที่ตรวจได้ = 1 SD จะมีผลต่อการประเมินค่าความหนาแน่นของกระดูกเท่ากับเป็น 2 เท่าของค่าเดิม ตัวอย่างเช่น
  • ในกรณีที่ต้องมีการตรวจซ้ำเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นมวลกระดูก ไม่ว่าจะได้รับการรักษาหรือไม่ ผู้รับการตรวจต้องได้รับการตรวจด้วยเครื่องตรวจเดิมเสมอ เนื่องจากเครื่องตรวจแต่ละเครื่องจะมีความแปรผันในตัวเองที่ต่างกัน จึงทำให้ผลตรวจแตกต่างกันได้
  • การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน แพทย์จะใช้การวินิจฉัยด้วยรังสีเป็นหลัก ส่วนผู้ที่ให้การวินิจฉัยนั้นจะเป็นรังสีแพทย์หรือแพทย์เวชศาสตร์นิวเครียร์

การดูแลกระดูกให้มีสุขภาพดี

  • รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ฯลฯ โดยเฉพาะแคลเซียม (ตัวอย่างอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ผงกะหรี่ ปลาร้าผง กุ้งแห้งตัวเล็ก ใบมะกรูด กะปิ กุ้งฝอย ใบชะพลู ผักปวยเล้ง ปลาเล็กปลาน้อย เห็ดหอม ผักกระเฉด ไข่นกกระทา นมวัว นมถั่วเหลือง ฯลฯ)
  • รับประทานอาหารที่มีวิตามินดี ซึ่งมีอยู่มากในปลาทะเล เช่น ปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล

    อาหารบำรุงกระดูก
    IMAGE SOURCE : pcdblog.com

  • ออกกำลังกายชนิดที่ให้กระดูกต้องรับแรง เช่น การยกลูกเหล็ก การยึดพื้น การเดิน การวิ่งเหยาะ การเต้นรำ การเต้นแอโรบิก ฯลฯ
  • หยุดปัจจัยที่มีผลทำลายกระดูก ได้แก่
    • หยุดสูบบุหรี่ เพราะควันบุหรี่จะสร้างสภาวะที่เป็นกรดในร่างกาย จึงทำให้ร่างกายเร่งดึงเอาแคลเซียมออกจากกระดูกเพื่อมาช่วยลดความเป็นกรด (แปลว่า กระดูกในร่างกายจะต้องสูญเสียแคลเซียมไปโดยไม่สมควรกับบุหรี่ทุกมวนที่สูบ)
    • ลดเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม เพราะมีผลสร้างความเป็นกรดให้ร่างกาย (แต่ก็ถือว่าน้อยกว่าบุหรี่มาก)
    • ลดดื่มชาและกาแฟ เนื่องจากคาเฟอีนที่มีอยู่ในเครื่องดื่มเหล่านี้จะชักจูงแคลเซียมในเลือดให้ถูกขับทิ้งไปทางปัสสาวะ
    • ลดดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะไปออกฤทธิ์ขัดขวางเซลล์ผนังลำไส้มิให้ดูดซึมแคลเซียมจากอาหารได้อย่างสะดวก เมื่อร่างกานมีแคลเซียมไม่พอใช้ก็จะไปดึงเอาแคลเซียมออกมาจากกระดูก (แปลว่า ถ้าดื่มแอลกอฮอล์ทุกวัน แคลเซียทในกระดูกก็จะร่อยหรอลงไปทุกวัน) นอกจากนี้การดื่มจนไม่สามารถควบคุมสติได้ก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือหกล้มจนอาจกระดูกร้าว กระดูกบิ่น หรือกระดูกหักได้ด้วย
    • ลดอาหารเค็ม เพราะอาหารเค็มจากเกลือจะนำไปสู่การสร้างสภาวะความเป็นกรดในร่างกายโดยตรง ในการนี้ก็ย่อมทำให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียมไปคล้าย ๆ กับการสูบบุหรี่
    • ไม่บริโภคอาหารโปรตีนมากเกินไป เพราะอาหารจำพวกโปรตีน (เนื้อสัตว์ นม เนย รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากนม) ล้วนสร้างสภาวะความเป็นกรดให้เกิดขึ้นภายในร่างกายได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เรากินอย่างไม่ยับยั้ง โดยยิ่งมากเท่าใดร่างกายก็ย่อมสูญเสียแคลเซียมจากกระดูกออกมาเพื่อลดกรดมากเท่านั้น และสำหรับนมและผลิตภัณฑ์จากนมควรบริโภคแต่พอดี เพราะมีหลักฐานชี้ชัดว่าประชากรในกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกาเหนือซึ่งบริโภคนมมากกว่าภูมิภาคอื่นหลายเท่าตัว (เช่น เอเชียและอเมริกาใต้) แต่กลับมีอุบัติการณ์ของโรคกระดูกพรุนและกระดูกสะโพกหักมากกว่าหลายเท่าตัวเช่นกัน (ชาวอเมริกันบริโภคนมเฉลี่ย 254 กก./คน/ปี ในขณะที่คนจีนบริโภคนมเพียง 8 กก./คน/ปี แต่จากสถิติกลับพบว่าชาวอเมกันต้องประสบอุบัติเหตุจากกรณีกระดูกสะโพกหักมากกว่าชาวจีนถึง 6 เท่าตัว)

ช่วงชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงวัย 30 ปี คือ ช่วงเวลาที่สำคัญมากที่สุดของการเร่งเสริมสร้างกระดูกให้เกิดความแข็งแกร่ง เพราะจะมีผลสำเร็จสูงสุดและมีผลต่อเนื่องไปจนถึงบั้นปลายชีวิต

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือฉลาดตรวจสุขภาพ ฉบับรู้ทันโรคถอย เล่ม 2. “การตรวจความหนาแน่นของกระดูก (Bone densitometry)”. (พอ.ประสาร เปรมะสกุล). หน้า 169-182.
  2. หาหมอดอทคอม.  “ความหนาแน่นมวลกระดูก (BONE MINERAL DENSITY)”.  (นพ.สามารถ ราชดารา).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [18 เม.ย. 2018].
  3. โรงพยาบาลกรุงเทพ.  “เครื่องตรวจความหนาแน่นกระดูก (DXA Scan)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhospital.com.  [19 เม.ย. 2018].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด