Albumin
Albumin (อัลบูมิน) คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่ลอยได้ในกระแสเลือดที่ถูกผลิตขึ้นจากตับและมีปริมาณมากกว่าโปรตีนชนิดอื่น (ชาวบ้านมักเรียกว่า “ไข่ขาว” ในกรณีปนออกมากับน้ำปัสสาวะ) โดยนับเป็นสัดส่วนได้ประมาณ 60% ของ Total protein
อัลบูมินมีหน้าที่ในการลำเลียง Bilirubin (สารของเสียสีเหลืองที่เกิดจากการตายของเม็ดเลือดแดง ซึ่งลำเลียงตั้งต้นจากม้ามไปส่งยังตับและไต), Calcium (ธาตุสำคัญในการเสริมสร้างกระดูก ซึ่งลำเลียงจากตับไปส่งยังกระดูกทุกท่อน), Progesterone (ฮอร์โมนเพศ ซึ่งลำเลียงจากต่อมผลิตฮอร์โมนเพศไปส่งยังตัวรับของกลไกในด้านเพศของแต่ละเพศ), Medications (ยารักษาโรค) ไปส่งยังเซลล์เป้าหมาย และมีหน้าสร้างความเข้มข้นขึ้นในหลอดเลือดจะได้เกิดความดันออสโมติค (Osmotic pressure) ป้องกันสารอาหารมิให้รั่วซึมออกมาภายนอกหลอดเลือด
ด้วยเหตุที่อัลบูมินผลิตขึ้นมาจากตับเพียงแหล่งเดียวเท่านั้น หากตรวจพบ Albumin ในเลือดมีค่าต่ำลงมากผิดปกติก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าตับน่าจะเกิดโรคหรือมีเหตุสำคัญร้ายแรงเกิดขึ้น จึงทำให้ผลิตอัลบูมินออกมาในปริมาณปกติไม่ได้อย่างที่เคยกระทำ แต่หากพบว่า Albumin มีค่าต่ำ (ค่าผลเลือดตัวอื่นได้ร่วมบ่งชี้ว่าตับเป็นปกติดี) ก็ควรสันนิษฐานต่อไปว่าไตน่าจะเกิดโรคหรือมีเหตุสำคัญ จึงอาจปล่อยอัลบูมินทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะ ถ้าตรวจปัสสาวะแล้วพบไข่ขาวหรืออัลบูมินในปัสสาวะมีค่าสูงผิดปกติ ก็เท่ากับเป็นการร่วมยืนยันว่ากำลังเกิดโรคไต (ถ้าตรวจไตด้วยวิธีใดก็ตามและสามารถยืนยันได้ว่าไตก็มีสุขภาพดีไม่เกิดโรค รวมทั้งตรวจแล้วไม่พบค่า Albumin ในปัสสาวะสูงผิดปกติ ก็อาจเกิดจากการกินอาหารที่มีโปรตีนต่ำมาก ๆ หรือร่างกายอาจมีกลไกการดูดซึมอาหารผิดปกติ)
วัตถุประสงค์การตรวจ Albumin
วัตถุประสงค์ของการตรวจ Albumin คือ การตรวจเพื่อให้ทราบค่าโปรตีนในกระแสเลือดชนิดอัลบูมินว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ ซึ่งจะมีผลชี้วัดไปถึงสภาวะการทำงานของตับและไต กล่าวคือ
- ช่วยบ่งชี้ว่าในร่างกายมีโรคตับหรือโรคไตใด ๆ อยู่บ้างหรือไม่
- ตรวจสอบว่าร่างกายได้รับโปรตีนจากอาหารในแต่ละวันที่บริโภคเพียงพอหรือไม่ หรือมีกลไกการดูดซึมอาหารผิดปกติอย่างไรบ้างหรือไม่
ค่าปกติของ Albumin
ค่าปกติของ Albumin ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
- ค่าปกติของ Albumin คือ 3.5 – 5 gm/dL
ค่า Albumin ที่ต่ำกว่าปกติ
ค่า Albumin ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
- อาจเกิดจากการดื่มน้ำมากเกินไป (Overhydration) จึงทำให้อัลบูมินในเลือดเจือจางลง
- อาจเกิดจากการขาดสารอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารจำพวกโปรตีน หรืออาจเกิดจากการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนต่ำมาช้านาน จึงทำให้ร่างกายผลิต Albumin ไม่ได้
- อาจเกิดโรคเกี่ยวกับตับ (Hepatic disease) ซึ่งทำให้ผลิตอัลบูมินได้น้อย เช่น โรคตับอักเสบ, โรคตับแข็ง, โรคเซลล์ตับตายเฉพาะส่วน (เช่น จากการกินสารเคมีที่เป็นพิษ), โรคมะเร็งตับระยะแพร่กระจาย รวมถึงการได้รับสารเคมีที่เป็นพิษต่อตับ จึงทำให้ตับทำหน้าที่สังเคราะห์สารบางอย่างไม่ได้ จึงมีผลทำให้ Albumin มีค่าต่ำผิดปกติ
- อาจเกิดจากโรคไต เช่น โรคไตรั่ว (Nephrotic syndrome) จึงทำให้ปล่อยทิ้งโปรตีนไปกับกับปัสสาวะโดยไร้การควบคุม ไม่สามารถกรองโปรตีนกลับคืนมาสู่ระบบของร่างกาย (ทำให้สังเกตเห็นว่าปัสสาวะมีไข่ขาว)
- อาจเกิดจากโรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการควบคุมหรือควบคุมไม่ดี จึงทำให้ร่างกายต้องหันมาใช้โปรตีนเพื่อดัดแปลงเป็นเชื้อเพลิงแทนกลูโคส (ทั้ง ๆ ที่กลูโคสก็มีท่วมท้นอยู่ในหลอดเลือด)
- อาจเกิดจากร่างกายมีภาวะของโรคหัวใจวาย (Heart failure) ซึ่งทำให้หัวใจปั๊มเลือดออกมาต่ำกว่าปริมาณที่ควรส่ง จึงทำให้ตับได้รับเลือดใช้ไม่เพียงพอและมีผลต่อเนื่องทำให้ตับผลิต Albumin ได้น้อยลงกว่าปกติ
- อาจเกิดจากโรคดูดซึมอาหารจากช่องทางเดินอาหารไม่ได้ (Gastrointestinal malabsorption syndrome)
- อาจเกิดจากโรคต่อมไทรอยด์ทำงานหนักเกิน (Hyperthyroidism) เนื่องจากไปก่อให้เกิดการเผาผลาญสารอาหารมากเกินไป จึงทำให้เหลือ Albumin น้อยลง
- อาจเกิดจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอจกินส์ (Hodgkin’s lymphoma)
- อาจเกิดจากการรั่วซึมที่ผนังเส้นเลือดแดงฝอย (Increased capillar permeability)
- อาจเกิดจากแผลไฟลวกที่รุนแรง
ค่า Albumin ที่สูงกว่าปกติ
ค่า Albumin ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
- เกิดมีความเข้มข้นในเลือดสูงกว่าปกติ เช่น ในกรณีที่ร่างกายขาดน้ำ (Dehydration) จึงทำให้ Albumin ที่นับกันด้วยจำนวนกรัมต่อเลือด 1 เดซิลิตร พลอยสูงขึ้นผิดปกติตามไปด้วย
- อาจเกิดโรคมะเร็งไขกระดูก (Multiple myeloma)
- อาจเกิดจากการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนมาก
- อาจเกิดจากการรัดแขนบริเวณที่เจาะเลือดนานเกินไป
คำแนะนำก่อนการตรวจ Albumin
- ต้องงดอาหารก่อนเจาะเลือดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
- การตรวจ Albumin ในเลือดอาจมีความเบี่ยงเบนมีค่าสูงขึ้นหรือต่ำลงผิดปกติไปจากที่ควรจะเป็นได้ ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กำลังตั้งครรภ์, การได้รับฮอร์โมน (ฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนเร่งการเติบโต ฮอร์โมนอินซูลิน ฯลฯ), ร่างกายนอนพักบนเตียงนานเกินไปในบางกรณี (เช่น อัมพาต หรือมีโรคร้ายแรงที่ต้องพักผ่อน), อาจบริโภคอาหารตามปกติไม่ได้ในช่วงนั้น, ร่างกายอยู่ระหว่างการติดเชื้อหรือมีอาการบาดเจ็บรุนแรง
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)