การตรวจสมรรถภาพการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (ABI)

การตรวจสมรรถภาพการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (ABI)

การตรวจ ABI

การตรวจสมรรถภาพการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย หรือการตรวจวัดความแข็งตัวของหลอดเลือด (Ankle Brachial Index : ABI) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “การตรวจ ABI” คือ การตรวจหาร่องรอยการตีบตันของหลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ขา เพื่อเช็คดูว่าเป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (Peripheral Arterial Disease : PAD) หรือไม่ เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบและโรคหลอดเลือดหัวใจได้ด้วย

การตรวจ ABI นี้เป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก ให้ความแม่นยำสูง และไม่มีความเสี่ยงหรือได้รับความเจ็บปวดในขณะตรวจ (ลักษณะเหมือนการตรวจวัดความดันโลหิตทั่วไป) โดยจะอาศัยหลักการเปรียบเทียบความดันโลหิตระหว่างหลอดเลือดแดงที่แขน (Brachial artery) และหลอดเลือดแดงที่ขาบริเวณข้อเท้า (Ankle)

หมายเหตุ : โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ขาตีบตันส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการมีตะกรัน (Atherosclerotic plaque) ไปเกาะที่หลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบและเลือดไม่สามารถไหลผ่านไปเลี้ยงขาได้อย่างเพียงพอ มีผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเท้า ขา ต้นขา หรือก้น ในขณะที่เดินหรือออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดภาวะเท้า/ขาเกิดเนื้อเน่าตาย (ถ้าลุกลามมากอาจต้องตัดเท้า/ขาทิ้ง) โรคหลอดเลือดสมองตีบ (เป็นสาเหตุให้เกิดอัมพาต) และโรคหลอดเลือดหัวใจ (ส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตฉับพลัน) ได้ด้วย

โดย 50% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ตรวจพบด้วยการตรวจ ABI จะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ต่อมาเมื่อเส้นเลือดตีบมากขึ้นและเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนนั้นไม่พอก็จะเกิดอาการปวดตามมา ดังนั้นการตรวจเช็คและดูแลรักษาหลอดเลือดแดงให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรง สมบูรณ์ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

ประโยชน์ของการตรวจ ABI

  • เป็นการตรวจดูการอุดตันของหลอดเลือดแดงและความยืดหยุ่นของหลอดเลือด
  • ใช้ในการช่วยวินิจฉัยหรือค้นหาโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ขาตีบตันในระยะแรก ๆ ที่มักพบบ่อยร่วมกับการอุดตันในหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจและสมอง (โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน สูบบุหรี่ หรือผู้ที่มีอาการปวดขา)
  • การตรวจนี้สามารถนำไปสู่การค้นหาโรคสำคัญอื่น ๆ ได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งสามามารถทำให้เกิดอัมพาตและเสียชีวิตได้
  • ช่วยทำนายความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจในอนาคต โดยมีการศึกษาที่บ่งชี้ว่า ผู้ที่มีอายุเฉลี่ย 66 ปี ที่มีค่า ABI ผิดปกติ จะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดและหัวใจได้มากกว่าผู้ที่ค่า ABI ปกติ ถึง 6.3 เท่า และมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ 4.8 เท่า
  • ใช้ประเมินระดับความรุนแรงของการตีบของหลอดเลือด
  • ใช้ตรวจเพื่อประเมินผลภายหลังการรักษา

ผู้ที่สมควรตรวจ ABI

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการตีบตันของหลอดเลือดที่ขาที่ควรได้รับการตรวจ ABI ได้แก่

  • ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบและโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง หรือโรคอ้วน (ค่า BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 25)
  • ผู้ที่ป่วยจากภาวะใด ๆ ก็ตามจนไม่สามารถเดินไปมาได้และต้องใช้ชีวิตอยู่บนเตียงตลอด
  • ผู้ที่มีระดับของสารบางอย่างในเลือดสูง เช่น โฮโมซีสทีน (Homocysteine), ไลโพโปรตีน (Lipoprotein)
  • ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือสูบบุหรี่มากกว่า 10 ปี (รวมถึงผู้สูบบุหรี่มือสองด้วย)
  • ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี (ในคนอายุน้อยกว่า 60 ปี จะพบโรคโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบได้น้อยกว่า 3% แต่ในคนที่อายุมากกว่า 70 ปี จะพบโรคนี้ได้มากกว่า 20% ทั้งเพศหญิงและชายในอัตราส่วนที่ไม่แตกต่างกัน)
  • ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองตีบก่อนวัยอันควร

ขั้นตอนการตรวจ ABI

  • ผู้เข้ารับการตรวจ ABI ไม่ต้องมีการเตรียมตัวใด ๆ เป็นพิเศษ และสามารถเข้ารับการตรวจได้เลย (ลักษณะการตรวจจะเหมือนการตรวจวัดความดันโลหิตทั่วไป)
  • หากมีอาการปวดเท้า ขา ต้นขา หรือก้น โดยเฉพาะเวลาเดินหรือออกกำลังกาย ที่เมื่อหยุดเดินอาการปวดจะดีขึ้นหรือหายไป ควรแจ้งให้แพทย์ทราบอย่างละเอียด หากแพทย์สงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย แพทย์จะทำการซักประวัติอาการอย่างละเอียด ซักประวัติทางการแพทย์ต่าง ๆ (เช่น โรคประจำตัว ประวัติโรคในครอบครัว ประวัติการใช้ยา) ทำการตรวจร่างกาย ตรวจสัญญาณชีพ ตรวจคลำชีพจรที่จุดต่าง ๆ ของร่างกาย (เช่น ที่แขน ขา) ตรวจเลือดต่าง ๆ เพื่อหาสาเหตุของโรค (เช่น การตรวจระดับไขมันเลือด ตรวจน้ำตาลในเลือด ตรวจหาค่าโฮโมซีสทีน) และตรวจวัดความดันโลหิตที่แขนเปรียบเทียบกับความดันโลหิตที่ขา (ABI) นอกจากนั้นอาจมีการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติมตามดุลยพินิจของแพทย์ หากการตรวจเบื้องต้นด้วย ABI พบว่าหลอดเลือดแดงของท่านตีบมากและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เช่น การตรวจภาพและการทำงานของหลอดเลือดแดงด้วยอัลตราซาวด์ การตรวจภาพหลอดเลือดแดงทางรังสีวินิจฉัยที่ใช้ในการสวนหลอดเลือดและการฉีดสี (Angiography) เพื่อดูการไหลเวียนของเลือดและตำแหน่งของการตีบตัน
  • ในระหว่างที่ตรวจ ABI ผู้เข้ารับการตรวจจะได้นอนลงบนเตียงที่จัดเตรียมไว้ให้ และเริ่มต้นวัดความดันที่แขนทั้ง 2 ข้างและเหนือข้อเท้าทั้ง 2 ข้าง (เครื่องมือที่ใช้ตรวจจะประกอบไปด้วยเครื่องวัดความดันโลหิตแบบบีบ และอุปกรณ์คลื่นเสียงความถี่สูง โดยเครื่องจะวัดความดันโลหิตที่หลอดเลือดแขนทั้งสองข้างก่อน จากนั้นจะวัดความดันโลหิตของข้อเท้าทั้ง 2 ข้าง)
    การตรวจ ABI
    IMAGE SOURCE : stanfordmedicine25.stanford.edu
    การตรวจ Ankle Brachial Index
    IMAGE SOURCE : stanfordmedicine25.stanford.edu
  • หลังจากนั้นเครื่องตรวจจะนำค่าความดันที่วัดได้มาคำนวณ Ankle-brachial index ให้โดยอัตโนมัติ (คำนวณมาจากอัตรา ค่าความดันโลหิตช่วงบนที่วัดได้บริเวณเหนือข้อเท้าในแต่ละข้าง หารด้วย ค่าความดันโลหิตช่วงบนสูงสุดที่วัดได้จากแขนทั้ง 2 ข้าง)
    คำนวณค่า ABI
    IMAGE SOURCE : stanfordmedicine25.stanford.edu

การแปลผลตรวจ ABI

การตรวจ ABI เป็นการตรวจที่ให้ความแม่นยำสูงในการวินิจฉัยโรคของหลอดเลือดแดงที่ขาตีบ โดยมีไวในการตรวจ (Sensitivity) อยู่ที่ประมาณ 90% และความจำเพาะในการตรวจ (Specificity) อยู่ที่ประมาณ 98%

โดยค่าที่ได้จากการตรวจวัด ABI ในแต่ละข้างจะถูกนำมาใช้ในการแปลผลดังข้อมูลด้านล่าง ซึ่งค่าที่ผิดปกติคือเท่ากับหรือน้อยกว่า 0.9 ซึ่งจะบ่งชี้ว่ามีการอุดตันในหลอดเลือดแดงที่ขา ณ ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง (ค่ายิ่งน้อยจะยิ่งบ่งบอกว่ามีการอุดตันในหลอดเลือดสูงมากขึ้นเท่านั้น)

  • ABI > 1.5 : ภาวะที่ไม่สามารถบีบกดเส้นเลือดได้ (Non-compressible vessels) ซึ่งพบได้ในผู้ที่มีภาวะเส้นเลือดแข็งตัว
  • ABI = 1.0 – 1.4 : ค่าที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ABI = 0.91 – 1.0 : ค่าที่ยอมรับได้
  • ABI = หรือ < 0.9 : มีการตีบของหลอดเลือดที่ขา (แพทย์จะได้รับคำแนะนำให้ไปพบแพทย์เฉพาะทางโรคหลอดเลือดเพื่อทำการรักษาต่อไป เพราะผู้ที่มีค่า ABI น้อยกว่า 0.9 จะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3.1 เท่า และมีความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบเพิ่มขึ้น 3.7 เท่าในระยะเวลา 4 ปี, มีความเสี่ยงต่อการเกิดสมองขาดเลือดไปเลี้ยงชั่วคราวเพิ่มขึ้น 13% และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัมพฤกษ์เพิ่มขึ้น 5%)
  • ABI < 0.6 : มีการตีบของหลอดเลือดที่ขาร่วมกับมีอาการขาดเลือดที่ขา
  • ABI < 0.5 : มีการตีบของหลอดเลือดที่ขาในหลายระดับ (ต้องได้รับการตรวจหลอดเลือดที่ขาเพิ่มเติมด้วยการฉีดสีเพื่อดูว่าหลอดเลือดมีการอุดตัน ณ ตำแหน่งใดเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป)
  • ABI < 0.3 : มีการตีบของหลอดเลือดที่ขาขั้นรุนแรง และอาจมีความจำเป็นต้องทำการรักษาด้วยการทำหัตถการอย่างฉุกเฉิน
  • ABI < 0.26 : มีอาการปวดขาจากการขาดเลือดในขณะพัก
  • ABI < 0.2 : มีการตายของเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบริเวณขาที่ขาดเลือดไปเลี้ยง

ป.ล. การตรวจ ABI อาจเกิดผลลบปลอมได้ในกลุ่มที่มีค่า ABI > 1.4 เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีอาการตีบของหลอดเลือดโดยที่ค่า ABI ไม่ลดต่ำลงจนเข้าเกณฑ์ว่ามีการตีบของหลอดเลือดที่ขา (ABI < 0.9) ซึ่งภาวะนี้อาจพบได้ในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดแดงแข็งตัว เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง หรือมีป่วยที่มีภาวะที่หินปูนแคลเซียมเกาะตัวที่ผนังหลอดเลือด ซึ่งในกรณีนี้ถ้าผู้ป่วยมีอาการที่แพทย์สงสัยว่ามีภาวะหลอดเลือดแดงที่ขาตีบ แต่มีค่า ABI มากกว่า 1.4 แพทย์อาจต้องมีการส่งตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมตามความเหมาะสม เช่น Toe brachial index (TBI), Segmental arterial pressure, Computed tomography (CT) angiography, Magnetic resonance angiography (MRA)

เอกสารอ้างอิง
  1. Stanford Medicine.  “Ankle Brachial Index”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : stanfordmedicine25.stanford.edu.  [01 ก.ย. 2018].
  2. โรงพยาบาลกรุงเทพ.  “Ankle-Brachial Index (ABI)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhospital.com.  [02 ก.ย. 2018].
  3. โรงพยาบาลสุขุมวิท.  “โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (Peripheral Arterial Disease)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.sukumvithospital.com.  [03 ก.ย. 2018].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด