การตรวจเกลือแร่ในเลือด (Electrolytes : Na+, K+, Cl-, CO2/HCO3-)

การตรวจเกลือแร่ในเลือด

การตรวจเกลือแร่ในเลือด, การเจาะเลือดหาเกลือแร่ของเลือด, การตรวจแร่ธาตุและสารละลายการตรวจอิเล็กโทรไลต์ในเลือดการตรวจหาระดับสารสื่อนำไฟฟ้าในเลือด (Electrolytes blood test) คือ การตรวจเพื่อให้ทราบว่าสารละลายสื่อนำไฟฟ้า (Electrolytes) ชนิดต่าง ๆ ในเลือดว่ามีค่าอยู่ในระดับสมดุลหรือไม่ หรือเพื่อให้ทราบว่าค่าแร่ธาตุใดมีปริมาณสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์ปกติมากน้อยเพียงใด เนื่องจากความผิดปกติของแร่ธาตุตัวใด ๆ อาจบ่งชี้ถึงความไม่ปกติภายในร่างกายของผู้เข้ารับการตรวจได้ ซึ่งเราสามารถทำการตรวจหาได้จากการตรวจเลือด (และบางครั้งจากการตรวจปัสสาวะ)

อิเล็กโทรไลต์ (Electrolytes) หรือสารละลายของธาตุระดับโมเลกุลที่มีประจุไฟฟ้า คือ แร่ธาตุที่เป็นสารเคมีที่แตกตัวออกจนเป็นส่วนย่อยเล็กที่สุด (ระดับไอออน) ละลายอยู่ในเลือดภายในร่างกายด้วยจำนวนอันน้อยนิด แต่เพียงพอที่จะทำให้เกิดสภาวะสมดุลระหว่างแร่ธาตุที่ละลายอยู่ด้วยกันได้ โดยแร่ธาตุซึ่งเป็น Electrolytes ภายในร่างกายนั้นก็มีอยู่มากมายหลายชนิด แต่เฉพาะตัวที่สำคัญและมีบทบาทต่อร่างกายมากที่สุดจะมีอยู่ด้วยกัน 4 ตัว คือ โซเดียม (Na), โพแทสเซียม (K), คลอไรด์ (Cl) และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หรือไบคาร์บอเนต (HCO3) ซึ่งแร่ธาตุต่าง ๆ ใน Electrolytes นั้นจะมีหน้าที่โดยทั่วไปในการช่วยร่างกายให้ดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติ ซึ่งในภาพรวมขอสรุปเฉพาะบทบาทที่สำคัญ ดังนี้

  • ช่วยสร้างศักย์ไฟฟ้าเพียงพอที่จะทำให้ธาตุแต่ละตัวแสดงค่าประจุไฟฟ้าเป็นบวกหรือลบ เช่น โพแทสเซียมมีค่าประจุไฟฟ้าเป็นบวก (+)
  • ช่วยควบคุมการยืดและหดตัวของกล้ามเนื้อ
  • ช่วยอำนวยให้เกิดการเคลื่อนไหวของน้ำและของเหลวในร่างกายเพื่อสร้างสภาวะที่สมดุล
  • ช่วยส่งเสริมปฏิกิริยาชีวเคมีทั้งหลายให้ดำเนินไปด้วยความราบรื่น

โซเดียม (Na)

โซเดียม (Sodium) มีสูตรทางเคมีคือ “Na” เป็นธาตุที่นับว่าอยู่ในสารละลายซึ่งแสดงค่าประจุไฟฟ้าเป็นบวก (+) โดยมีปริมาณส่วนใหญ่อยู่ภายนอกเซลล์ขนาดความเข้มข้นประมาณ 140 mEq/L ด้วยขนาดความเข้มข้นดังกล่าว โซเดียมจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษาความดันออสโมติกสำหรับของเหลวหรือน้ำเลือดภายนอกเซลล์เม็ดเลือดแดง ขณะเดียวกันก็สร้างแรงดันภายในหลอดเลือดจนทำให้สามารถวัดความดันโลหิตได้ด้วย

โซเดียมจะมีบทบาทช่วยแจกจ่ายน้ำหรือรักษาควบคุมปริมาณน้ำในร่างกายให้มีไว้ ถ้าหากร่างกายมีโซเดียมมากเกินไปก็จะเกิดสภาวะบวมน้ำ (เช่น ในกรณีที่กินเกลือหรืออาหารเค็มมากเกินไป หรือในกรณีที่เกิดสภาวะไตเสื่อมจนไม่อาจขับโซเดียมทิ้งออกทางน้ำปัสสาวะได้) ซึ่งโดยปกติแล้ว โซเดียมในร่างกายจะมีความเข้มข้นพอดี ๆ อย่างสมดุล ด้วยกระบวนการที่ไตขับทิ้งออกทางน้ำปัสสาวะ (โซเดียมนอกจากจะขับออกทางปัสสาวะแล้ว ยังขับออกทางเหงื่อและทางอุจจาระด้วย แต่ในปริมาณไม่มากและไม่ใช่กลไกหลักในการควบคุมโซเดียม) ในกรณีที่กินอาหารจืดเกินไปจนโซเดียมในเลือดไม่เพียงพอหรือต่ำกว่าปกติ ร่างกายก็จะมีการปรับตัวโดยการหลั่งฮอร์โมนแอดรีโนคอร์ติโคทรอพิก (ACTH) และฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Aldosterone) ทำให้เราเสียโซเดียมทางเหงื่อลดลงและมีการดูดซึมโซเดียมที่ไตเพิ่มมากขึ้น เพื่อรักษาระดับโซเดียมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดเวลา หรือหากเรากินอาหารที่เค็มหรือมีเกลือมากเกินไป ร่างกายก็จะเร่งการขับโซเดียมออกทางปัสสาวะและทางเหงื่อเพิ่มมากขึ้น

ในคนที่ไตขับทิ้งโซเดียมไม่ทันจนทำให้โซเดียมในเลือดมีระดับสูงมาก ๆ จะเรียกว่า “สภาวะโซเดียมในเลือดสูง” (Hypernatremia) ซึ่งจะทำให้เกิดอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างนี้พร้อมกัน เช่น คอแห้ง กระหายน้ำ กระสับกระส่าย ฉุนเฉียว ชอบก่อกวน ความดันโลหิตสูง ไม่อยู่นิ่ง ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อหดเกร็ง และเกิดอาการกระตุก ส่วนในคนที่มีระดับโซเดียมในเลือดต่ำเกินไปก็จะถูกเรียกว่า “สภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ” (Hyponatremia) ซึ่งจะทำให้เกิดอาการรู้สึกอ่อนเปรี้ยผิดปกติ ความคิดสับสน เฉื่อยชา มีอาการคล้ายคนสลบ และหมดสติ

  • วัตถุประสงค์ของการตรวจ Na คือ
    • เป็นการตรวจเพื่อให้ทราบว่าโซเดียมที่ละลายอยู่ในน้ำเลือดในฐานะ Electrolyte มีปริมาณอยู่ในระดับเท่าใด สูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์ปกติมากน้อยเพียงใด เพราะค่าใด ๆ ที่ผิดปกติไม่ว่าจะสูงมากเกินไปหรือต่ำมากเกินไปก็ล้วนอาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้
  • ค่าปกติของ Na ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ผู้ใหญ่/ผู้สูงอายุ คือ Na : 136 – 145 mEq/L
    • ค่าวิกฤติ คือ Na < 120 หรือ > 160 mEq/L
  • ค่า Na ที่ต่ำกว่าปกติ (Hyponatremia) อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจเกิดจากการกินโซเดียมหรืออาหารเค็มน้อยเกินไป (พบเกิดได้น้อยมาก)
    • อาจเกิดจากอาการอาเจียนหรือท้องร่วงติดต่อกันเป็นเวลานาน จึงทำให้ Na สูญเสียไปกับของเหลวเหล่านั้น
    • อาจเกิดจากการกินยาขับปัสสาวะเพื่อลดความดันโลหิตสูง
    • อาจมีโรคของไต ที่ทำให้ดูดกลับโซเดียมไม่ได้อย่างที่ควรกระทำ
    • อาจเกิดจากโรคแอดดิสัน (Addison’s disease) ซึ่งมีต้นเหตุจากต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Aldosterone) และฮอร์โมนคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ไม่เพียงพอ จึงมีผลต่อเนื่องทำให้ไตดูดกลับโซเดียมไม่ได้เต็มที่ จนทำให้โซเดียมสูญเสียไปกับน้ำปัสสาวะ ค่าโซเดียมในเลือดจึงต่ำกว่าปกติ
    • อื่น ๆ เช่น ในผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยหัวใจวาย
  • ค่า Na ที่สูงกว่าปกติ (Hypernatremia) อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจเกิดจากการกินโซเดียมหรือกินอาหารเค็มมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารไทย เช่น ปลาเค็ม ปลาร้า ไข่เค็ม หมูยอ แหนม น้ำพริกกะปิ ฯลฯ รวมถึงการปรุงอาหารด้วยผงชูรส
    • อาจเกิดจากการสูญเสียเหงื่อมากเกินไป และไม่ได้ดื่มน้ำให้เพียงพอ จึงทำให้โซเดียมในเลือดมีความเข้มข้นมากขึ้น
    • อาจเกิดจากการเสียน้ำผ่านช่องทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ท้องร่วง และไม่ได้ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ โซเดียมในเลือดจึงเข้มข้นขึ้น
    • อาจเกิดจากโรคคุชชิง (Cushing’s syndrome) ที่สร้างสภาวะที่เรียกว่า “Aldosterone-like effect” ซึ่งจะทำให้ไตดูดกลับโซเดียมคืนให้ร่างกายมากเกินไป

โพแทสเซียม (K)

โพสแทสเซียม (Potassium) มีสูตรทางเคมีคือ “K” แสดงค่าประจุไฟฟ้าเป็นบวก (+) เป็นธาตุที่จำเป็นต้องมีอยู่ในน้ำเลือดโดยเป็นสารละลายเช่นเดียวกับโซเดียม แต่ระดับความเข้มข้นของโพแทสเซียมจะกลับกันกับโซเดียม (Na) ถ้าในน้ำเลือดมีความเข้มข้นของโซเดียมสูง โพแทสเซียมก็จะมีความเข้มข้นอยู่ในระดับต่ำ หรือหากโซเดียมต่ำ โพแทสเซียมก็จะสูง

แหล่งโพแทสเซียมที่มีความเข้มข้นสูงสุดจะอยู่ภายในเซลล์ทุกเซลล์ (ประมาณ 150 mEq/L) ส่วนภายนอกเซลล์นั้นจะมีโพแทสเซียมเพียงประมาณ 4 mEq/L (ตรวจหาได้จากการตรวจเลือด) โดยอัตราส่วนความเข้มข้นของโพแทสเซียมภายในและภายนอกเซลล์อาจเป็นตัวบ่งชี้ถึงบทบาทในการทำหน้าที่ของผนังเซลล์ซึ่งได้แก่ การส่งผ่านสารอาหารเข้าสู่ภายในเซลล์, การชักนำเอาของเสียออกทิ้งภายนอกเซลล์ และการส่งผ่านสัญญาณไฟฟ้าของเซลล์ประสาทตามเส้นใยประสาทเริ่มต้นจากตา หู จมูก ลิ้น หรือผิวหนัง (จากการสัมผัส) ไปสู่สมองซึ่งเป็นศูนย์กลางและส่งกลับมายังหัวใจ (ให้เต้นเร็วขึ้นหรือแรงขึ้น) หรือส่งกลับไปยังกล้ามเนื้อเพื่อเป็นปฏิกิริยาใด ๆ ในการตอบสนอง เช่น ขณะเล่นกีฬา ขณะประสบอุบัติเหตุ (เช่น เหยียบของร้อน) ซึ่งอัตราส่วนดังกล่าวนี้หากผิดไปจากเกณฑ์ปกติก็ย่อมอาจมีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจจนถึงขั้นทำให้หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ หรืออาจทำให้การบังคับกล้ามเนื้อส่วนอื่นของร่างกายลดประสิทธิภาพลงได้ ดังนั้น โพแทสเซียมจึงเป็นธาตุที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อตลอดทั่วทั้งร่างกาย

ค่าระดับของโพแทสเซียมภายนอกเซลล์ที่มีปริมาณน้อยมากอยู่แล้ว หากมีสาเหตุใด ๆ มากระทบต่อความเข้มข้นของโพแทสเซียมให้ต่ำลงไปอีกก็ย่อมมีผลร้ายแรงต่อสุขภาพ (ความดันโลหิตอาจสูงขึ้นจนอาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดในสมองแตก) และถ้ายิ่งกินเค็ม (โซเดียม) ด้วยมากเท่าใดก็จะยิ่งทำให้โพแทสเซียมในเลือดต่ำลงมากเท่านั้น ความดันโลหิตก็จะยิ่งสูงขึ้นและสูงขึ้น ดังนั้นเพื่อรักษาระดับโพแทสเซียมมิให้ต่ำลงก็ควรเลือกกินอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง แต่มีโซเดียมต่ำ เพียงวันละเล็กวันละน้อย (ถ้ามากเกินไป ไตก็จะขับทิ้งไป) เช่น กล้วยหอม ถั่วเหลืองต้ม แป้งถั่วเหลือง น้ำมะเขือเทศต้ม ลูกเกด จมูกข้าวสาลี มันฝรั่งอบทั้งเปลือก ฯลฯ

โพแทสเซียมเป็นธาตุที่อาจถูกขับทิ้งออกจากร่างกายโดยการกรองของไต จากเลือดส่งผ่านทางน้ำปัสสาวะ (คล้าย ๆ กับโซเดียม แต่ไตจะขับทิ้งโพสแทสเซียมแบบไม่มีการดูดกลับคืนมาเหมือนโซเดียม) ทั้งนี้ หากไม่มีโพแทสเซียมจากสารอาหารอย่างเพียงพอก็จะทำให้เกิดสภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia) ได้ ซึ่งจะมีอาการคล้ายคลึงกับสถาวะโซเดียมสูง หรือหากระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงมากกว่าเกณฑ์ปกติมาก ๆ ก็จะเกิดสภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง (Hyperkalemia) ทำให้มีอาการคลื่นเหียน อาเจียน ท้องร่วง หัวใจเต้นผิดจังหวะ จนถึงขั้นหัวใจพิบัติ (Heart attack) ด้วยเหตุนี้หมอจึงมีไม่แนะนำให้ไปซื้อเกลือโพแทสเซียมมากินเอง

  • วัตถุประสงค์ของการตรวจ K คือ
    • เป็นการตรวจเพื่อให้ทราบว่าโพแทสเซียมที่ละลายอยู่ในน้ำเลือดในฐานะ Electrolyte นั้น มีปริมาณสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์ปกติมากน้อยเพียงใด ซึ่งโพแทสเซียมนี้จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมการทำหน้าที่ของหัวใจ ผู้ที่ต้องกินยาขับปัสสาวะเพื่อลดความดันโลหิต (Diuretics) หรือกำลังบำบัดรักษาโรคหัวใจใด ๆ ก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหมั่นติดตามตรวจหาระดับค่าโพแทสเซียมในเลือดอยู่เสมอ
  • ค่าปกติของ K ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ผู้ใหญ่/ผู้สูงอายุ คือ K : 3.5 – 5.0 mEq/L
    • ค่าวิกฤติ คือ K : < 2.5 หรือ > 6.5 mEq/L
  • ค่า K ที่ต่ำกว่าปกติ (Hypokalemia) อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจเกิดจากการกินอาหารที่มีโพแทสเซียมน้อยเกินไป
    • อาจเกิดจากการกินยาบางประเภทที่มีผลต่อการขับทิ้งโพแทสเซียมออกไปนอกร่างกาย เช่น กลุ่มยาขับปัสสาวะที่ใช้ลดความดันโลหิตสูง (Diuretics), กลุ่มยาระบายที่ใช้แก้อาการท้องผูก (Laxatives), กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้แก้อาการอักเสบต่าง ๆ (Steroids)
    • ในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการฉีดอินซูลิน ผลจากการใช้อินซูลินให้พากลูโคสเข้าสู่ภายในเซลล์ มันจะพาโพแทสเซียมเข้าสู่ภายในเซลล์พร้อมกันไปด้วย ด้วยเหตุนี้ โพแทสเซียมในเลือดที่อยู่นอกเซลล์จึงมีโอกาสที่จะต่ำกว่าระดับปกติได้
    • ในผู้ที่มีสุขภาพไม่ดีอาจเกิดจากสภาวะฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Aldosterone) ทำงานเกิน (Hyperaldosteronism) ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้ตามปกติจะมีหน้าที่ไปบังคับให้ไตดูดกลับโซเดียมก่อนที่จะปล่อยทิ้งไปกับปัสสาวะ เมื่อมันทำงานมากเกินปกติ มันจะไปบังคับให้ไตดูดกลับโซเดียมคืนมาให้ร่างกายมากเกินไปจนทำห้โซเดียมในเลือดสูงเกินเกณฑ์ปกติ จึงส่งผลต่อเนื่องทำให้โพแทสเซียมต่ำลง
      ในผู้ป่วยที่มีอาการท้องมาน (Ascites) ซึ่งจะทำให้ของเหลวในช่องท้องไปกดทับหลอดเลือดแดงจนอาจทำให้เลือดไหลไปสู่ไตไม่สะดวก หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหลอดเลือดไตตีบเอง (Renal artery stenosis) ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ย่อมทำให้ฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Aldosterone) ออกมาทำหน้าที่บังคับไตให้ดูดกลับโซเดียมมากกว่าปกติ และเมื่อโซเดียมสูงขึ้น โพแทสเซียมก็จะต่ำลง
  • ค่า K ที่สูงกว่าปกติ (Hyperkalemia) อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจเกิดจากการกินอาหารที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียมมากเกินไป (ซึ่งเป็นไปได้ยาก)
    • อาจเกิดจากการบาดเจ็บหรือฟกช้ำต่อเนื้อเยื่อ ซึ่งมีผลกระทบต่อเซลล์ จนอาจทำให้โพแทสเซียมที่มีอยู่อย่างเข้มข้นภายในเซลล์หลุดออกมาสู่กระแสเลือด จึงทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้น
    • อาจเกิดจากสภาวะโลหิตจางเพราะเหตุเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolysis) จึงทำให้โพแทสเซียมหลุดลอดออกมาสู่กระแสเลือด ค่าโพแทสเซียมในเลือดจึงสูงขึ้น
    • อาจมีโรคเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสภาวะฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Aldosterone) ทำงานต่ำเกินไป (Hypoaldosteronism) ทำให้ร่างกายมีฮอร์โมนตัวนี้น้อยและส่งผลให้ไตดูดกลับโซเดียมได้ไม่เต็มที่ ทำให้โซเดียมถูกปล่อยทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะอย่างไร้การควบคุม เป็นเหตุทำให้โซเดียมในเลือดมีระดับลดลง เมื่อโซเดียมลดลงมากเท่าใด โพแทสเซียมก็จะสูงขึ้นมากเท่านั้น
    • อาจเกิดจากสภาวะไตวายอย่างเฉียบพลันเรื้อรัง จึงทำให้ลดหรือหมดความสามารถในการขับทิ้งโพแทสเซียม
    • อาจเกิดจากการกินยาบางชนิด แล้วยานั้นกลับมีพิษหรือมีผลข้างเคียงที่ทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้น เช่น กลุ่มยาปฏิชีวนะ (Antibiotics), กลุ่มยารักษาโรคความดันโลหิตสูง (Captopril), กลุ่มยายั้งการแข็งตัวของเลือด (Aminocaproic acid), กลุ่มยารักษาโรคมะเร็ง (Antineoplastic drugs), กลุ่มยาที่ช่วยให้เลือดมีความใส (Heparin) ฯลฯ

คลอไรด์ (Cl)

คลอไรด์ (Chloride) มีสูตรทางเคมีคือ “Cl” เป็นสารที่เกิดจากการรวมตัวของธาตุคลอรีน (Chlorine) 2 ตัว โดยคลอไรด์นี้นับเป็นสารที่มีค่าประจุไฟฟ้าลบ () ซึ่งอยู่ในองค์ประกอบของสารละลายที่เรียกว่า “เลือด” รวมทั้งเป็นประจุไฟฟ้าลบของของเหลวที่อยู่ภายนอกเซลล์ตลอดทั่วร่างกาย และส่วนใหญ่เราจะได้รับคลอไรด์มาจากอาหารเค็มหรือเกลือ (NaCl) ด้วยเหตุนี้ ระดับคลอไรด์ในเลือดจึงมีความสัมพันธ์ที่จะขึ้นลงหรือสูงต่ำในทิศทางเดียวกับโซเดียม (Na) เสมอ

เมื่อใดที่คลอไรด์ในเลือดสูงกว่าระดับปกติ ร่างกายก็จะขับทิ้งออกโดยไตผ่านทางน้ำปัสสาวะ (ด้วยเหตุนี้การวัดระดับคลอไรด์จากน้ำปัสสาวะในรอบ 24 ชั่วโมง ก็ทำให้อาจทราบผลแม่นยำได้ไม่แพ้จากการตรวจคลอไรด์ในเลือด เพียงแต่จะมีความยุ่งยากและใช้เวลานานกว่า)

การตรวจเลือดหาระดับคลอไรด์ (Cl) มักจะทำพร้อมกันกับธาตุอื่นในสารละลายเสมอ แต่เฉพาะค่าคลอไรด์นั้น มักจะเจาะจงเพื่อวินิจฉัยให้ทราบว่าความสมดุลของสารละลายยังเป็นปกติดีหรือไม่ (หากคลอไรด์ในเลือดสูงเกินไป (Hyperchloremia) ก็อาจก่อให้เกิดอาการหายใจลึกและหอบเหนื่อยอ่อน ความคิดสับสน และอาจหมดสติได้ หรือหากคลอไรด์ในเลือดต่ำเกินไป (Hypochloremia) ก็อาจทำให้ร่างกายเกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกหรือหดเกร็ง หายใจถี่และตื้น), เพื่อให้ทราบว่าไตและต่อมหมวกไตกำลังมีปัญหาหรือไม่ ? (พิจารณาร่วมกับข้อมูลการตรวจอย่างอื่น), เพื่อให้ทราบว่าในกรณีที่ร่างกายมีสภาวะความเป็นกรดน้อยลง (ค่า pH ในเลือดสูง) นั้นเกิดจากสาเหตุอะไร (เช่น เกิดจากอาเจียนหรือท้องเดินมาเนิ่นนาน) หรือตรวจเพื่อติดตามกรรักษาในกรณีที่มีโณคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต หรือตรวจในกรณีที่ได้รับยาที่มีผลต่อกรดและเกลือแร่

  • วัตถุประสงค์ของการตรวจ Cl คือ
    • เพื่อให้ทราบว่าค่าคลอไรด์ (Cl) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่มีอยู่ในสารละลายของน้ำเลือดมีปริมาณสูงหรือต่ำมากน้อยเพียงใด ซึ่งคลอไรด์นี้จะมีบทบาทในการรักษาความสมดุลระหว่างของเหลวภายในและภายนอกเซลล์ รักษาความดันเลือดให้อยู่ในระดับปกติ รักษาปริมาตรของน้ำเลือดทั้งระบบให้มีขนาดพอดี และรักษาความเป็นกรดของของเหลวทั่วร่างกายมิให้สูงหรือต่ำเกินไป
  • ค่าปกติของ Cl ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ผู้ใหญ่/ผู้สูงอายุ คือ Cl : 90 – 106 mEq/L
    • ค่าวิกฤติ คือ Cl : < 80 หรือ > 115 mEq/L
  • ค่า Cl ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจเกิดจากการดื่มน้ำมากเกินไป
    • อาจเกิดจากการอาเจียน หรือมีการรักษาพยาบาลด้วยการดูดเอาของเหลวออกจากกระเพาะนานเกินไป
    • อาจเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนขับน้ำออกจากร่างกาย (SIADH) จึงทำให้คลอไรด์ในเลือดเจือจางลง
    • อาจเกิดจากไตอักเสบ ทำให้สูญเสียเกลือ (Salt-losing nephritis) เมื่อไตไม่ดูดกลับโซเดียม ก็ย่อมทำให้โซเดียมในเลือดลดลง และมีผลทำให้คลอไรด์ลดระดับความเข้มข้นลงไปด้วย
    • อาจเกิดจากโรคแอดดิสัน (Addison’s disease) ซึ่งเป็นโรคที่มีต้นเหตุมาจากต่อมหมวกไตลดการทำงานลง ทำให้มีผลต่อเนื่องจนผลิตฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Aldosterone) ได้ลดน้อยลง เมื่อฮอร์โมนแอลโดสเตอโรนลดร้อยก็จะไปบังคับไตให้ดูดกลับโซเดียมไม่ได้เต็มที่ จึงทำให้โซเดียมในเลือดลดต่ำลง รวมถึงคลอไรด์ด้วย
    • อาจเกิดจากภาวะเลือดเป็นด่าง (Metabolic alkalosis)
  • ค่า Cl ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจเกิดจากการที่ร่างกายขาดน้ำ เช่น จากการดื่มน้ำน้อย อาเจียน หรือจากอาการท้องเสีย ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องทำให้คลอไรด์ในเลือดมีความเข้มข้นมากขึ้น
    • อาจเกิดจากการได้รับน้ำเกลือในกรณีที่รับการรักษาพยาบาล จึงทำให้ได้รับคลอไรด์จากน้ำเกลือมากกว่าที่ปล่อยทิ้งทางปัสสาวะ
    • อาจเกิดจากสภาวะครรภ์เป็นพิษ (Eclampsia)
    • อาจเกิดจากสภาวะที่ไตทำงานไม่เป็นปกติ (Kidney dysfunction) ซึ่งทำให้มีการดูดกลับโซเดียมเองมากผิดปกติ จึงมีผลทำให้คลอไรด์สูงขึ้นด้วย
    • อาจเกิดจากโรคคุชชิง (Cushing’s syndrome) ซึ่งเป็นสภาวะที่ต่อมหมวกไตทำงานหนัก จึงปล่อยฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Aldosterone) ออกมาบังคับให้ไตดูดกลับโซเดียมคืนสู่ร่างกายมากผิดปกติ โซเดียมในเลือดจึงมีเข้มข้นขึ้นและส่งผลให้คลอไรด์เพิ่มค่าขึ้นจนมีระดับสูงผิดปกติ
    • อื่น ๆ เช่น จากโรคพาราไทรอยด์ทำงานมากไป (Hyperparathyroidism), ภาวะเลือดเป็นกรด (Metabolic acidosis), ยารักษาต้อหิน

คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) / ไบคาร์บอเนต (HCO3)

คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbondioxide) ซึ่งมีสูตรทางเคมีว่า “CO2” ที่มีอยู่ในเลือดเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นในทำนองของเสียเหลือใช้จากการเผาผลาญกลูโคสในระดับเซลล์ และจำเป็นต้องอาศัยฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดง (ที่เข้าไปส่งออกซิเจนถึงทุกเซลล์ในขณะที่เราหายใจเข้า) มาช่วยรับคาร์บอนไดออกไซด์กลับออกมาผ่านทางหลอดเลือดดำ เพื่อขนส่งกลับคืนส่งมาให้ปอดปล่อยออกทิ้งไปนอกร่างกายโดยการหายใจออก

โดยในขณะที่คาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในหลอดเลือดดำนั้น จะปรากฏว่ามันอยู่ในเลือดแดงประมาณ 90% และอีกประมาณ 10% ที่เหลือจะตกหล่นเรี่ยราดอยู่ในน้ำเลือด (Plasma) ซึ่งคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในน้ำเลือดนี้เอง ที่ส่วนหนึ่งจะรวมตัวกับน้ำในน้ำเลือดกลายเป็น “ไบคาร์บอเนต” (Bicarbonate) ที่มีสูตรทางเคมีว่า “HCO3” ซึ่งมีสถาะเป็นด่าง เป็นสารที่มีค่าประจุไฟฟ้าลบ () และมีบทบาทในการสร้างความเป็นกลางหรือทำให้เกิดความสมดุลของประจุไฟฟ้าระหว่างในและภายนอกเซลล์ จึงช่วยควบคุมร่างกายมิให้เกิดความเป็นกรด (รักษาสมดุลระหว่างกรดและด่าง)

ระดับของค่าไบคาร์บอเนต (HCO3) นี้จะถูกปรับแต่งให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมโดยไต การเพิ่มค่าขึ้นของไบคาร์บอเนตอย่างผิดปกติย่อมแสดงว่าร่างกายกำลังเกิดสภาวะความเป็นพิษจากด่าง (Alkalosis) ส่วนการลดลงอย่างผิดปกติก็ย่อมแสดงว่าร่างกายกำลังเกิดความเป็นพิษจากกรด (Acidosis)

  • วัตถุประสงค์ของการตรวจ CO2 คือ
    • เป็นการตรวจเพื่อให้ทราบปริมาณความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในเลือดว่าอยู่ในระดับใด ซึ่งระดับ CO2 ที่สูงหรือต่ำจะมีส่วนก่อให้เกิดผลต่อความเป็นกรด (pH) ของเลือดมากน้อยแตกต่างกัน
    • การตรวจหาค่าคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีจุดมุ่งหมายเพื่อหาค่าไบคาร์บอเนต (HCO3) ในทางอ้อม
    • โดยปกติการตรวจนี้จะไม่ตรวจในการตรวจร่างกายประจำปี เพราะแพทย์จะสั่งให้ตรวจในกรณีที่มีอาการบวม มีการเต้นของหัวใจผิดปกติ กินยาที่มีผลต่อเกลือแร่ (เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิต) หรือตรวจเพื่อตามผลการรักษา
  • ค่าปกติของ CO2 ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ผู้ใหญ่/ผู้สูงอายุ คือ CO2 : 23 – 30 mEq/L
    • ค่าวิกฤติ คือ CO2 : < 6 mEq/L
  • ค่า CO2 ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจมีอาการท้องเสียเรื้อรัง
    • อาจกำลังมีสภาวะของโรคไตวายระยะเริ่มต้น จึงควบคุมไบคาร์บอเนตไม่ได้
    • อาจอยู่ในสภาวะอดอาหาร เพราะจะมีผลทำให้กลูโคสในเลือดมีระดับลดลง การเผาผลาญของเซลล์จึงทำงานน้อยลง และเป็นผลต่อเนื่องทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นของเสียจากการเผาผลาญมีน้อยลงไปด้วย
    • อาจมีการสวนใส่ท่อปัสสาวะตลอดเวลาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานเกินไป จึงทำให้ไบคาร์บอเนตสูญเสียไปกับน้ำปัสสาวะมากผิดปกติ และมีผลต่อเนื่องทำให้คาร์บอนไดออกไซด์มีระดับลดลง
    • อาจเกิดจากสภาวะความเป็นกรดจากโรคเบาหวาน (Diabetic ketoacidosis) ซึ่งทำให้ร่างกายต้องใช้ไบคาร์บอเนตไปอย่างสิ้นเปลืองเพื่อรักษาสมดุล (โดยทำให้ความเป็นกรดลดลง) คาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสารประกอบตั้งต้นของไบคาร์บอเนตจึงพลอยลดระดับลงตามไปด้วย
    • อื่น ๆ เช่น การกินยาแอสไพรินหรือดื่มสุราเกินขนาด, โรคตับ, โรคหัวใจ, โรคแอดดิสัน, ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ, ภาวะเลือดเป็นกรดแล็กติก (Lactic acidosis), ภาวะกรดจากเมตาบอลิซึม (Metabolic acidosis) ฯลฯ
  • ค่า CO2 ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจเกิดจากการอาเจียนอย่างรุนแรง ทำให้เสียน้ำในร่างกายไปมากผิดปกติ จึงมีผลทำให้ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดมีมากขึ้น
    • อาจเกิดจากการดูดน้ำออกจากกระเพาะอาหารทิ้งออกนอกร่างกายด้วยเหตุใดก็ตามอย่างต่อเนื่องยาวนานและมากเกินไป จึงทำให้ร่างกายขาดน้ำมากผิดปกติ
    • อาจเกิดจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ซึ่งทำให้ร่างกายหายใจไม่ได้เต็มที่ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสภาวะความเป็นกรดจากการหายใจ (Respiratory acidosis) ด้วยเหตุนี้ร่างกายจึงพยายามสะสมไบคาร์บอเนตเพื่อชดเชยในการสร้างความเป็นกลางของสภาวะความเป็นกรดด่างในร่างกาย
    • อาจเกิดจากการใช้ยาที่มีไบคาร์โบเนต เช่น ยารักษากระเพาะอาหาร
      อื่น ๆ เช่น โรคหรือภาวะเบื่ออาหาร, โรคหัวใจ, น้ำท่วมปอด, โรคคุชชิง ฯลฯ
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือคู่มือแปลผลตรวจเลือด เล่มแรก. “การตรวจแร่ธาตุและสารละลาย”. (พอ.ประสาร เปรมะสกุล). หน้า 305-327.
  2. หาหมอดอทคอม.  “เกลือแร่ในเลือด (Blood electrolyte)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [05 พ.ย. 2018].
  3. Siamhealth.  “การเจาะเลือดหาเกลือแร่ของเลือด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [05 พ.ย. 2018].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด