การตรวจอุจจาระ
การตรวจอุจจาระ (ภาษาอังกฤษ : Stool exam, Stool test, Stool examination, Fecal examination, Stool analysis หรือ Fecal analysis) คือ การตรวจสุขภาพพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยความผิดปกติหรือโรคพื้นฐานในระบบทางเดินอาหารได้มากมาย เช่น โรคพยาธิต่าง ๆ ของระบบทางดินอาหาร การมีแผลในระบบทางเดินอาหาร ฯลฯ โดยการตรวจอุจจาระนั้นจะแบ่งเป็นการตรวจดูลักษณะของอุจจาระด้วยตาเปล่า การส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
การตรวจอุจจาระเป็นการตรวจที่ง่าย มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ไม่ทำให้เจ็บตัว และมีค่าใช้จ่ายไม่แพง เพราะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการตรวจ การตรวจนี้จึงสามารถตรวจได้ตั้งแต่ในคลินิกหรือสถานพยาบาลขนาดเล็กไปจนถึงโรงพยาบาลทุกระดับ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจได้ในคนทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ดังนั้น การตรวจอุจจาระจึงเป็นการตรวจสุขภาพพื้นฐานประจำปีของคนทุกคน
ประโยชน์ของการตรวจอุจจาระ
- ตรวจสุขภาพของระบบทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้
- ตรวจระบบการย่อยและดูดซึมอาหารของกระเพาะอาหารและลำไส้
- ตรวจการมีแผลเรื้อรังในระบบทางเดินอาหาร เช่น แผลในกระเพาะอาหาร โรคแผลเพปติก (Peptic ulcer) หรือแผลจากโรคมะเร็งทางเดินอาหาร (เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่)
- ตรวจหาไข่พยาธิ ตัวอ่อนพยาธิ ปล้องพยาธิ รวมทั้งหาโปรโตซัว
- ตรวจเพาะเชื้อว่าโรคทางเดินอาหารนั้น ๆ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา หรือเชื้อปรสิต เช่น ในกรณีท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษ
การตรวจอุจจาระเป็นวิธีการที่ทำได้ง่าย ๆ แต่มีความสำคัญในทางการแพทย์อย่างมาก เพราะเป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ได้มากมาย
ข้อบ่งชี้ของการตรวจอุจจาระ
- เป็นการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อดูสุขภาพทั่วไปของระบบทางเดินอาหาร (เช่น อาจมีไข่พยาธิ เพราะหลายคนมีพยาธิโดยไม่รู้ตัวเนื่องจากไม่มีอาการ) และตรวจความผิดปกตอื่น ๆ (เช่น อุจจาระมีไขมันปนมาก ซึ่งจะเป็นตัวบ่งบอกถึงภาวะการย่อยและการดูดซึมอาหารซึ่งเป็นสาเหตุของอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอทด ท้องเฟ้อ เรอ เป็นต้น)
- ตรวจเมื่อมีอาการผิดปกติในการอุจจาระ เช่น อุจจาระเป็นเลือดหรือมีมูกเลือด อุจจาระเป็นน้ำ อุจจาระเป็นก้อน ทั้งนี้เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้ เช่น โรคบิด โรคอาหารเป็นพิษ อหิวาตกโรค หรือโรคที่เกี่ยวกับระบบการย่อยอาหาร
- ตรวจหาความผิดปกติของการย่อยอาหารเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคที่เกี่ยวข้องกับการย่อยและการดูดซึมอาหาร เช่น ภาวะพร่องเอนไซม์แลคเตส (Lactase deficiency), ภาวะแพ้นมวัว (Cow milk allergy), อาการท้องเสียเรื้อรัง
- ตรวจหาภาวะมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร เช่น ในกรณีของผู้ป่วยที่มีภาวะซีดโดยหาสาเหตุไม่ได้
- ตรวจคัดกรองหาแผลหรือโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ตรวจในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีพยาธิหรือไข่พยาธิในระบบทางเดินอาหาร เช่น พยาธิเส้นด้าย พยาธิปากขอ พยาธิใบไม้
- ตรวจหาชนิดของเชื้อโรคเมื่อผู้ป่วยมีการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารว่าเป็นเชื้อชนิดใด แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา หรือเชื้อปรสิต
การตรวจอุจจาระมีกี่แบบ
การตรวจอุจจาระแบ่งเป็น 2 แบบ คือ
- การตรวจอุจจาระแบบพื้นฐาน คือ การตรวจอุจจาระเบื้องต้นเพื่อการคัดกรองโรคในระบบทางเดินอาหาร จัดเป็นหนึ่งในรายการตรวจสุขภาพทั่วไป โดยจะเป็นการตรวจด้วยตาเปล่าร่วมกับการส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เป็นหลัก และอาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการบ้าที่เป็นการตรวจด้วยเทคนิคง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก ผู้ตรวจจึงสามารถตรวจได้โดยไม่ต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า เพียงแต่เก็บอุจจาระที่ถ่ายตามปกติใส่ภาชนะและนำส่งห้องตรวจหรือห้องปฏิบัติการเท่านั้น ดังรายละเอียดด้านล่าง
- การตรวจดูลักษณะภายนอกของอุจจาระ หรือการตรวจทางกายภาพ (Physical examination) เป็นการตรวจเพื่อดูลักษณะของอุจจาระ, สีของอุจจาระ, มูก และเลือด
- ลักษณะของอุจจาระ (Consistency) ปกติอุจจาระจะมีลักษณะอ่อนนุ่มและคงรูปร่าง มีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลว มีปริมาณน้ำไม่เกิน 150 มิลลิลิตร แต่ในภาวะท้องผูก อุจจาระจะมีก้อนเล็กและแข็ง หรือในภาวะที่มีการอุดตันของทางเดินน้ำดี อุจจาระจะมีสีขาวซีด มีปริมาณมาก มีฟอง และมีกลิ่นเหม็น รูปร่างลักษณะคล้ายทรงกระบอก ลักษณะคล้ายแถบริบบิ้น โดยลักษณะของอุจจาระนั้นสามารถแบ่งได้เป็น
- อุจจาระอ่อนนุ่ม (Soft) คือ อุจจาระที่ปกติที่เมื่ออยู่ในภาชนะ ฐานจะแผ่ออกแต่ส่วนบนยังเป็นก้อนอยู่
- อุจจาระปกติ (Formed) คือ อุจจาระที่มีรูปร่างเป็นทรงกระบอก ใช้ไม้จิ้มอุจจาระตัดได้
- อุจจาระก้อนแข็งมาก (Hard) เป็นอุจจาระที่มีน้ำหนักน้อยมาก ใช้ไม้ตัดไม่ได้ ส่วนใหญ่มักพบในผู้กินผักน้อย กินเนื้อมาก หรือมีภาวะท้องผูก (Constipation)
- อุจจาระเหลว (Loose) คือ อุจจาระที่เมื่อนำไปใส่ภาชนะแล้วเปลี่ยนแปลงรูปทรงได้ตามภาชนะที่บรรจุ แต่ยังมีเนื้ออุจจาระอยู่
- อุจจาระเป็นมูก (Mucus)
- อุจจาระเป็นมูกและมีเลือดปน (Mucus and Bloody) ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากโรคไทฟอยด์ อหิวาต์ บิดมีตัว และมะเร็งลำไส้ใหญ่
- อุจจาระเหลวเป็นน้ำ (Watery)
- สีของอุจจาระ (Color) สีปกติคือสีน้ำตาล (Brown) แต่สีอาจแตกต่างกันไปได้อันเนื่องมาจากอาหารที่กินเข้าไป สีของอาหาร ชนิดของอาหารบางอย่าง ชนิดของยาที่กิน เลือดที่ปนออกมากับอุจจาระ รวมถึงภาวะของโรคบางก็อาจทำให้สีของอุจจาระเปลี่ยนไปได้ เช่น
- อุจจาระสีแดง (Red) มีสาเหตุมาจากการมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารส่วนปลาย หรือเกิดจากการกินอาหารจำพวกเนื้อวัวในปริมาณมาก
- อุจจาระสีดำ (Black) มีสาเหตุมาจากการมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารส่วนต้น หรือเกิดเนื่องจากการกินอาหารบางอย่าง เช่น ธาตุเหล็ก ชาร์โคล
- อุจจาระสีเขียว (Green) มีสาเหตุมาจากการกินผักที่มีสีเขียวหรือมีคลอโรฟิลล์สูงหรือเกิดจากอาการท้องเสียอย่างรุนแรง
- อุจจาระสีขาว (White) มีสาเหตุมาจากกินแบเรียมหรือกินยาลดกรด
- อุจจาระสีเหลือง (Yellow) ถึงเหลืองอมเขียว (Yellow-Green) มีสาเหตุมาจากเด็กทารกที่ขาดแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้หรือการกินยาปฏิชีวนะที่ทำให้เชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้ตายหมด
- มูกหรือเยื่อเมือก (Mucus) ปกติจะไม่พบหรือพบได้น้อยมากในระบบทางเดินอาหาร (มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า) แต่หากมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ก็จะบ่งบอกถึงสิ่งผิดปกติ (ถ้าตรวจอุจจาระด้วยตาเปล่าพบมูกจะรายงานผลเป็น Mucus : Positive แต่ถ้าไม่พบจะรายงานเป็น Mucus : Negative)
- เลือด (Blood) ปกติจะไม่พบ ถ้ามีเลือดออกมาปนกับอุจจาระเกินกว่า 3 มิลลิลิตร ภายใน 24 ชั่วโมงแล้ว ก็แสดงว่ามีโรคในระบบทางเดินอาหาร โดยเลือดที่ออกมาจากระบบทางเดินอาหารส่วนบนตั้งแต่ปากถึงกระเพาะอาหาร เม็ดเลือดแดงจะถูกย่อยในกระเพาะอาหารเปลี่ยนเป็นฮีโมโกลบิน เป็นฮีม และโกลบิน ส่วนเลือดที่ออกในระบบทางเดินอาหารส่วนล่างตั้งแต่ลำไส้เล็กส่วนต้นไปจนถึงรูทวารหนักมักจะพบเม็ดเลือดออกมาด้วย (ถ้าพบเลือดที่เห็นด้วยตาเปล่าในอุจจาระจะรายงานลักษณะที่เห็น คือ Blood gross : Positive แต่ถ้าไม่พบเลือดจะรายงานผลเป็น Blood gross : Negative)
- ลักษณะของอุจจาระ (Consistency) ปกติอุจจาระจะมีลักษณะอ่อนนุ่มและคงรูปร่าง มีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลว มีปริมาณน้ำไม่เกิน 150 มิลลิลิตร แต่ในภาวะท้องผูก อุจจาระจะมีก้อนเล็กและแข็ง หรือในภาวะที่มีการอุดตันของทางเดินน้ำดี อุจจาระจะมีสีขาวซีด มีปริมาณมาก มีฟอง และมีกลิ่นเหม็น รูปร่างลักษณะคล้ายทรงกระบอก ลักษณะคล้ายแถบริบบิ้น โดยลักษณะของอุจจาระนั้นสามารถแบ่งได้เป็น
- การส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Microscopic examination) เป็นการตรวจหาไข่พยาธิ ตัวอ่อนพยาธิ ปล้องพยาธิ รวมทั้งหาโปรโตซัว เม็ดเลือดขาว และเม็ดเลือดแดง
- ในบางโรงพยาบาลอาจให้บริการพิเศษโดยการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจดูภาวะมีเลือดปนในอุจจาระขั้นพื้นฐาน (Stool for blood), การตรวจค่าความเป็นกรดหรือด่างของอุจจาระ (ค่า pH)
- การตรวจดูลักษณะภายนอกของอุจจาระ หรือการตรวจทางกายภาพ (Physical examination) เป็นการตรวจเพื่อดูลักษณะของอุจจาระ, สีของอุจจาระ, มูก และเลือด
- การตรวจอุจจาระแบบเฉพาะเจาะจง (Comprehensive digestive stool analysis : CDSA) คือ การตรวจที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น บางการตรวจจะมีการตรวจเตรียมตัวก่อนตรวจที่แตกต่างกันไป (ปกติแพทย์และพยาบาลจะเป็นผู้อธิบายการเตรียมตัวนั้น ๆ ให้ผู้ป่วยทราบ) เช่น การหยุดกินยาบางชนิด การหยุดกินเนื้อสัตว์ การหยุดกินพืชผักที่มีธาตุเหล็กสูง (มีสีเขียวเข้มหรือสีออกแดง แสด หรือเหลือง) ประมาณ 3 ก่อนการตรวจหาเลือดในอุจจาระขั้นละเอียด (Stool guaiac test) โดยการตรวจอุจจาระแบบเฉพาะเจาะจงนั้นมีดังนี้
- การตรวจเลือดในอุจจาระขั้นละเอียด (Stool guaiac test) เป็นการตรวจเพื่อช่วยคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- การเพาะเชื้อเพื่อให้ทราบว่าการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารนั้นเกิดจากชนิดใด เช่น เชื้อโรคบิด เชื้อโรคไทฟอยด์
- การตรวจหาปริมาณของไขมันทั้งหมดในอุจจาระเพื่อช่วยวินิจฉัยภาวะความผิดปกติในการดุดซึมอาหาร (Malabsorption syndrome)
- การตรวจหาน้ำย่อยหรือเอนไซม์ในการย่อยอาหารต่าง ๆ เพื่อดูว่าการย่อยอาหารที่ผิดปกตินั้นเกิดจากเอนไซม์ตัวใด เช่น เอนไซม์ไคโมทริปซิน (Chymotrypsin) ของตับอ่อนที่จะช่วยวินิจฉัยโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังได้
ขั้นตอนและการเตรียมตัวก่อนตรวจอุจจาระ
การตรวจอุจจาระแบบพื้นฐาน โดยทั่วไปไม่ต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า (ไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร กินอาหารได้ตามปกติ แต่ไม่เน้นอาหารที่มีกากใยสูง และควรดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อให้อุจจาระอ่อนนิ่มไม่แข็ง) เพียงแต่เก็บอุจจาระที่ถ่ายตามปกติใส่ภาชนะและนำส่งห้องตรวจ ห้องปฏิบัติการ หรือแผนกตรวจสุขภาพเท่านั้น ส่วนการตรวจแบบเฉพาะเจาะจงอาจมีการเตรียมตัวบ้างในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกินยาหรืออาหารบางชนิดที่อาจทำให้ผลตรวจผิดพลาดได้ ซึ่งแพทย์และพยาบาลจะเป็นผู้อธิบายการเตรียมตัวสำหรับการตรวจนั้น ๆ ให้ผู้ป่วยทราบ โดยการตรวจอุจจระจะมีขั้นตอนดังนี้
- ปรึกษาหรือพบกับแพทย์ก่อนการตรวจอุจจาระ แพทย์หรือพยาบาลจะให้ภาชนะและอุปกรณ์สำหรับเก็บอุจจาระ ถ้าต้องมีการงดอาหารและ/หรือยาบางชนิดก็ให้ปฏิบัติตามที่แพทย์พยาบาลแนะนำ นอกจากนั้นก็จะเป็นการเก็บอุจจาระที่ถ่ายตามปกติของเราใส่ในภาชนะที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ แล้วจึงนำไปส่งห้องตรวจหรือห้องปฏิบัติการ ดังรายละเอียดในข้อถัดไป
- ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการกินยาที่จะส่งผลต่อตัวอย่างอุจจาระหรือทำอุจจาระอ่อนตัว (เพราะตัวอย่างอุจจาระควรจะเป็นก้อนแข็ง) เช่น ยาลดกรด(Antacid), ยาลดกรดมาล็อกซ์ (Maalox), ยาแก้ท้องเสียบิสมัทซับซาลิไซเลต (Bismuth subsalicylate), ยาแก้ท้องเสียเคาเพกเทต (Kaopectate) ฯลฯ
- ถ้าต้องกลืนแป้งแบเรียมเพื่อการตรวจพิเศษทางรังสีของหลอดอาหาร (Barium swallow) ผู้ตรวจควรเลือดการเก็บตัวอย่างอุจจาระออกไปก่อน
- ก่อนการเก็บตัวอย่างอุจจาระ ควรปัสสาวะทิ้งไปก่อนให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของปัสสาวะที่อาจส่งผลให้การตรวจอุจจาระนั้นผิดพลาดได้
- ล้างมือให้สะอาดก่อนเก็บเนื่องจากอุจจาระอาจเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ และใส่ถุงมือยางเพื่อป้องกันอุจจาระเปื้อนมือ (ไม่จำเป็นต้องเป็นถุงยางปลอดเชื้อก็ได้)
- เตรียมที่ป้ายอุจจาระ (ควรจะเป็นไม้แผ่นเล็ก ๆ ลักษณะคล้ายไม้พาย ไม้ไอศกรีม หรือช้อนพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง) และภาชนะที่เก็บอุจจาระที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ (หากไม่มีหรือไม่ใช้ภาชนะที่โรงพยาบาลเตรียมให้ ควรเลือกภาชนะที่แห้ง สะอาด ปากกว้าง ล้างให้สะอาดและแห้ง)
- ถ่ายอุจจาระลงในถุงพลาสติกปากกว้างที่แห้งและสะอาด หรืออาจใช้พลาสติกสำหรับห่อหุ้มวางพาดโถส้วมเพื่อไม่ให้อุจจาระตกลงน้ำ
- จากนั้นให้ใช้ไม้หรือช้อนพลาสติกป้ายอุจจาระเก็บใส่ภาชนะให้ได้ประมาณขนาดนิ้วหัวแม่มือ โดยให้กระจายเก็บให้ทั่วก้อนอุจจาระและเลือกเก็บอุจจาระในบริเวณที่มีสีแตกต่างกันหรือเลือกจุดที่มีความผิดปกติ เพื่อเพิ่มความแม่นของผลการตรวจ
- ไม่เก็บอุจจาระจากโถส้วม เพราะอุจจาระจะปนกับน้ำและส่งผลให้ผลตรวจผิดพลาดได้
- ไม่ควรเลือกเก็บอุจจาระเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง แต่ควรกระจายเก็บให้ทั่วก้อน
- ไม่ควรเลือกเก็บตัวอย่างอุจจาระในบริเวณที่แข็ง หรือใช้ไม้กดไม่ลง แต่ควรบริเวณที่มีความอ่อนนุ่ม
- ถ้าอุจจาระเป็นน้ำหรือเป็นมูกเลือดให้เก็บส่วนที่ผิดปกตินั้นมาด้วย
- ถ้าอุจจาระเหลวให้ถ่ายลงในภาชนะโดยตรง
- ในขณะป้ายเก็บอุจจาระควรระวังไม่ให้มือไปสัมผัสกับอุจจาระ
- อย่าให้อุจจาระปนเปื้อนกับน้ำ สบู่ หรือปัสสาวะ
- ห้ามเก็บตัวอย่างอุจจาระด้วยทิชชู่
- ถ้าเป็นการตรวจอุจจาระแบบเฉพาะเจาะจงให้เก็บอุจจาระในปริมาณที่แพทย์หรือพยาบาลแนะนำ
- ปิดฝาที่เก็บอุจจาระให้สนิท เช็ดภาชนะที่บรรจุอุจจาระให้สะอาด
- ถอดถุงมือ และทิ้งถุงมือรวมทั้งที่ป้ายอุจจาระลงในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น และนำไปทิ้งในถังขยะสำหรับสิ่งติดเชื้อ แล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำกับสบู่
- เขียนชื่อนามสกุล วันที่ เวลาในการเก็บ เลขประจำตัวผู้ป่วย (HN) และวันเดือนปีเกิด (ถ้ามี) ให้ถูกต้องชัดเจนบนภาชนะเก็บอุจจาระ (ถ้าไม่มีอาจเขียนใส่สติกเกอร์และแปะไว้ข้างภาชนะเก็บ หรือเขียนลงบนกระดาษเพื่อแนบส่งกับตัวอย่างอุจจาระ)
- เก็บภาชนะที่ใส่อุจจาระในถุงพลาสติก 2 ชั้น ปิดปากถุงทีละชั้นให้แน่นเรียบร้อย แล้วจึงนำส่งเจ้าที่ห้องตรวจ ห้องปฏิบัติการ หรือแผนกตรวจสุขภาพทันที แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ก็ควรนำตัวอย่างอุจจาระไปเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาที่ไม่ใช่ช่องเก็บน้ำดื่มและอาหาร (ไม่ควรเก็บนานเกิน 24 ชั่วโมง เพราะแบคทีเรียในอุจจาระจะเติบและเปลี่ยนแปลง และปกติแล้วแพทย์พยาบาลจะแนะนำให้ส่งตัวอย่างคืนภายใน 2 ชั่วโมง หรือไม่ควรเกิน 4 ชั่วโมง เพื่อความแม่นยำของผลตรวจ)
- เมื่อห้องปฏิบัติการได้ตรวจอุจจาระเสร็จแล้วจะทำการส่งผลตรวจให้ผู้ป่วย (ผู้ป่วยสามารถทราบผลได้เองว่าการตรวจอุจจาระนั้นปกติหรือผิดปกติจากใบรายงานผลการตรวจ ซึ่งจะมีค่าตรวจปกติกำกับไว้เสมอ) หรือส่งให้แพทย์หรือพยาบาล แล้วแพทย์พยาบาลที่ดูแลจะเป็นผู้แปลผลให้ผู้ป่วยทราบ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบบของแต่ละโรงพยาบาล)
- ในการแปลผลตรวจนั้นจะดูจากลักษณะภายนอกของอุจจาระว่าเป็นก้อนแข็งปกติ มีมูกเลือด หรือมีสีปกติหรือไม่, ดูจากการมีเม็ดเลือดที่จะช่วยบอกถึงการติดเชื้อ, ดูจากเม็ดเลือดแดงและการตรวจเลือดปนในอุจจาระที่จะช่วยบอกภาวะมีเลือดออกในอวัยวะระบบทางเดินอาหาร, ดูจากพยาธิและไข่พยาธิที่บ่งบอกถึงการมีพยาธินั้น ๆ, ดูจากค่าความเป็นกรดหรือด่างของอุจจาระ (ถ้าเป็นกรดจะบ่งบอกถึงการมีระบบย่อยอาหารที่ผิดปกติ), หรือดูจากการเพาะเชื้อที่ช่วยบอกถึงชนิดของการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร
- ระยะเวลาตั้งแต่รับสิ่งส่งตรวจจนถึงรายงานผลปกติจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง (แต่ส่วนใหญ่จะทราบผลหลังจากนั้นภายใน 24 ชั่วโมง) หรือภายใน 2-3 วันถ้าเป็นโรงพยาบาลที่มีจำนวนผู้ป่วยต่อเจ้าหน้าที่ห้องตรวจที่น้อย
- หลังการตรวจอุจจาระผู้เข้ารับการตรวจสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติทั้งก่อนและหลังการตรวจ ไม่มีข้อต้องระวังหรือข้อกำจัดใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะดังที่กล่าวไปแล้วว่าการตรวจอุจจาระนั้นเป็นการเก็บอุจจาระที่ถ่ายตามปกติ เพียงแต่ต้องถ่ายอุจจาระใส่ในภาชนะที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้และนำส่งห้องตรวจหรือห้องปฏิบัติการเท่านั้น
เอกสารอ้างอิง
- WebMD. “What Is a Stool Culture?”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.webmd.com. [06 เม.ย. 2018].
- NHS Choices. “How should I collect and store a stool (faeces) sample?”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.nhs.uk. [06 เม.ย. 2018].
- หาหมอดอทคอม. “การตรวจอุจจาระ Stool analysis, Stool examination, Stool test”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [06 เม.ย. 2018].
- วารสารนิติเวชศาสตร์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2557. “การตรวจอุจจาระ (Fecal examination)”. (แสงชัย นทีวรนารถ, ไชยวัฒน์ ไชยสมบูรณ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.forensicchula.net. [06 เม.ย. 2018].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)