การตรวจอัลตราซาวด์
การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound หรือ Ultrasound scanning)* คือ การตรวจทางการแพทย์โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงผ่านทะลุเข้าสู่อวัยวะภายในเพื่อจับภาพอวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกาย ซึ่งนอกจากจะใช้ในการตรวจดูทารกในครรภ์ได้แล้ว ยังสามารถใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคหรือเป็นเครื่องมือช่วยให้ศัลยแพทย์เห็นภาพร่างกายในขณะผ่าตัดได้ด้วย
แนวความคิดการนำอัลตราซาวด์มาใช้ทางการแพทย์นั้นมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1940 โดยนักเคมีชาวอเมริกัน จนมาถึงในปี ค.ศ.1949 นายแพทย์จอห์น เจ. ไวลด์ (John J. Wild) ชาวอังกฤษซึ่งใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกาได้เป็นบุคคลแรกที่นำอัลตราซาวด์มาใช้เพื่อการวินิจฉัยโรค โดยครั้งแรกใช้ในการตรวจความหนาของลำไส้ ทำให้นายแพทย์จอห์น เจ. ไวลด์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ (Father of medical ultrasound)
ต่อมาในปี ค.ศ. 1962 นายแพทย์โจเซฟ (Joseph Holmes), นักวิศวกรวิลเลียม (William Wright) และนักดนตรีราล์ฟ (Ralph Meyerdirk) ได้ร่วมกันประดิษฐ์เครื่องตรวจอัลตราซาวด์ทางการค้าได้สำเร็จและสามารถผลิตออกจำหน่ายได้ในปี ค.ศ.1963 ต่อจากนั้นเครื่องตรวจอัลตราซาวด์ก็ได้พัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจนมีประสิทธิภาพสูงอย่างเช่นในปัจจุบัน สามารถตรวจให้ภาพได้ตั้งแต่ 2 มิติ, 3 มิติ ไปจนถึง 4 มิติ (ภาพที่มีการเคลื่อนไหวได้ตามความจริง) และยังจะพัฒนาต่อไปอีกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการวินิจฉัยโรคที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละอวัยวะและเนื้อเยื่อ
หมายเหตุ : ในทางการแพทย์จะเรียกเครื่องสร้างภาพชนิดนี้ว่า Ultrasonography, Ultrasonogram, Sonogram, Sonography, หรือ Medical ultrasonography ซึ่งเป็นศัพท์ที่แสดงถึงความหมายว่า เป็นอุปกรณ์สร้างภาพจากการใช้เครื่องมือปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูง (ในระดับเกินกว่าความสามารถที่หูมนุษย์จะได้ยิน) เพื่อตรวจอวัยวะภายใน (ซึ่งตามปกติจะตรวจไม่เห็นได้ด้วยตา) โดยทำให้สามารถเห็นอวัยวะนั้น ๆ อย่างเจาะจงทั้งรูปร่าง ขนาด และอวัยวะที่กำลังทำงานอยู่ เช่น การตรวจโดยเห็นภาพหัวใจขณะที่กำลังเต้น
การทำงานของอัลตราซาวด์
ด้วยเหตุที่เนื้อเยื่อของอวัยวะภายในร่างกายจะมีองค์ประกอบของสสารที่แตกต่างกัน จึงทำให้คลื่นเสียงความถี่สูงผ่านทะลุและสะท้อนกลับมาไม่เท่ากัน ตื้นบ้าง ลึกบ้าง ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้มีการผลิตเครื่องมือปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงให้ผ่านเข้าสู่อวัยวะภายในและนำการสะท้อนกลับของคลื่นที่ผ่านลงไปและไม่เท่ากันนี้มาประมวลผลขึ้นเป็นภาพบนจอคอมพิวเตอร์ (เป็นหลักการเดียวกับเครื่อง Sonar ที่ปล่อยออกจากเรือดำน้ำ) จึงทำให้สามารถเห็นภาพอวัยวะภายในได้โดยไม่ต้องผ่าเปิดผิวหนังเข้าไปดูจริง ๆ ซึ่งแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนเฉพาะทางจะสามารถอ่านภาพเหล่านั้นเพื่อการวินิจฉัยโรคได้
อย่างไรก็ตาม เนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่ให้การสะท้อนเสียงได้ไม่ดี คือ เนื้อเยื่อที่มีอากาศอยู่มาก เช่น ปอดและลำไส้ที่พองตัว กระดูก และในคนอ้วน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นข้อจำกัดในการตรวจโรคด้วยอัลตราซาวด์
วัตถุประสงค์ของการตรวจอัลตราซาวด์
- ใช้ตรวจการตั้งครรภ์ การตรวจอัลตราซาวด์นั้นมีประโยชน์ต่อการตรวจครรภ์หลายอย่างตั้งแต่การใช้เพื่อตรวจการตั้งครรภ์ คำนวณวันคลอด ดูเพศของลูก ดูว่าเป็นลูกแฝดหรือไม่ ดูขนาดของทารกในครรภ์ ปริมาณน้ำคร่ำ ตำแหน่งของรก ดูว่าเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือไม่ รวมถึงใช้ตรวจปัญหาในขณะตั้งครรภ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ความพิการแต่กำเนิด ความผิดปกติของทารก ทารกไม่กลับหัว ฯลฯ ส่วนภาวะคลอดก่อนกำหนด แพทย์อาจใช้เครื่องมือนี้ช่วยประเมินน้ำหนักตัวของทารกได้ด้วย
- ใช้ตรวจวินิจฉัยโรค การวินิจฉัยภาวะผิดปกติที่กระทบต่ออวัยวะและเนื้อเยื่ออ่อนภายในร่างกายจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นดวงตา ต่อมไทรอยด์ หัวใจ หลอดเลือด ตับ ถุงน้ำดี ม้าม ตับอ่อน ไต กระเพาะปัสสาวะ มดลูก รังไข่ ลูกอัณฑะ และเต้านม สามารถทำได้ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ (แต่จะมีข้อจำกัดต่อการวินิฉัยบริเวณกระดูกที่มีความหนาแน่น หรือส่วนของนร่างกายที่ประกอบไปด้วยอากาศหรือก๊าซ เช่น ปอด ลำไส้ ซึ่งอาจทำได้ไม่ดีนัก)
- ใช้ตรวจหาดูหรือตรวจความผิดปกติทั่ว ๆ ไป เช่น นิ่วในไต, นิ่วในถุงน้ำดี, ก้อนเนื้อในตับ, การอุดตัน โป่ง หรือขอดของเส้นเลือดดำ/เส้นเลือดแดง ฯลฯ รวมถึงใช้ดูจังหวะการเต้น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ และเส้นเลือดแดงส่วนต้น ดูเอ็น ดูกล้ามเนื้อ ดูสมองเด็กแรกเกิดถึง 1 ขวบ เป็นต้น
- ใช้ตรวจอวัยวะที่สงสัยเพื่อการวินิจฉัยโรคและการรักษา การวินิจฉัยภาวะผิดปกติที่กระทบต่ออวัยวะและเนื้อเยื่ออ่อนภายในร่างกายจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นดวงตา ต่อมไทรอยด์ หัวใจ หลอดเลือด ตับ ถุงน้ำดี ม้าม ตับอ่อน ไต กระเพาะปัสสาวะ มดลูก รังไข่ ลูกอัณฑะ และเต้านม สามารถทำได้ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ (แต่จะมีข้อจำกัดต่อการวินิฉัยบริเวณกระดูกที่มีความหนาแน่น หรือส่วนของนร่างกายที่ประกอบไปด้วยอากาศหรือก๊าซ เช่น ปอด ลำไส้ ซึ่งอาจทำได้ไม่ดีนัก)
- ใช้ตรวจเพื่อยืนยันกับการตรวจอื่น ๆ เช่น ยืนยันว่าพบก้อนเนื้อ และก้อนเนื้อที่พบเป็นก้อนเนื้อประเภท เป็นส่วนของอวัยวะใด หรือติดต่อกับอวัยวะใด
- ใช้ตรวจติดตามดูความเปลี่ยนของรอยโรค
- ใช้ในกระบวนการทางการแพทย์ เช่น การตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการที่ต้องใช้ความระมัดระวัง อาจต้องใช้เครื่องอัลตราซาวด์เข้ามาช่วยเพื่อช่วยให้แพทย์ได้เห็นภาพอวัยวะบริเวณนั้น ๆ และดำเนินการตัดเนื้อเยื่อได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
- ใช้บำบัดรักษาโรค บางครั้งเครื่องอัลตราซาวด์อาจนำมาใช้ในหน่วยงานของเวชศาสตร์ฟื้นฟูหรือกายภาพบำบัด หรือใช้ในการตรวจและรักษาเนื้อเยื่ออ่อนนุ่มที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสีย
ข้อดีของการตรวจอัลตราซาวด์
- เป็นการตรวจที่ปลอดภัย เพราะไม่ใช้รังสีเอกซ์ คลื่นแม่เหล็กหรือคลื่นวิทยุ และไม่มีการฉีดสี (เป็นสารที่ใช้ฉีดเข้าหลอดเลือดเพื่อช่วยทำให้ภาพจากการตรวจชัดเจนมากขึ้นในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอ็มอาร์ไอ) ดังนั้น จึงสามารถตรวจในหญิงตั้งครรภ์ เด็กทารก และทำการตรวจซ้ำ ๆ ได้บ่อยกว่าการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และเอ็มอาร์ไอ
- เครื่องตรวจอัลตราซาวด์มีขนาดเล็ก เคลื่อนย้ายได้ง่าย จึงสามารถนำไปใช้ได้ทุกสถานที่ ไม่จำเป็นต้องมีหอ้งหรือเครื่องป้องกันรังสีเอกซ์หรือสนามแม่เหล็กพิเศษ สามารถตรวจข้างเตียงผู้ป่วยได้เลย
- การตรวจไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด ไม่จำเป็นต้องฉีดยา หรือมีการผ่าตัดร่วมด้วย
- สามารถตรวจได้ทุกเนื้อเยื่อหรืออวัยวะเช่นเดียวกับการตรวจเอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และเอ็มอาร์ไอ แม้ความละเอียดชัดเจนของภาพจะด้อยกว่า แต่ก็ไม่ถึงกับด้อยกว่ามากนัก
- เครื่องอัลตราซาวด์สามารถจับภาพเนื้อเยื่ออ่อนได้ชัดเจนกว่าการตรวจเอกซเรย์ จึงใช้ตรวจอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง โดยอวัยวะหรือเนื้อเยื่อที่สามารถภาพได้ด้วยอัลตราซาวด์อย่างมีประสิทธิภาพ คือ ดวงตา ต่อมไทรอยด์ หัวใจ หลอดเลือด ตับ ถุงน้ำดี ม้าม ตับอ่อน ไต กระเพาะปัสสาวะ มดลูก รังไข่ ลูกอัณฑะ และเต้านม
- ด้วยเทคโนโลยีที่ไม่สูงมาก จึงทำให้การตรวจอัลตราซาวด์มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และเอ็มอาร์ไอมาก (องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ในประเทศที่กำลังพัฒนา การตรวจวินิจฉัยโรคจากประวัติอาการของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ร่วมกับการการตรวจเอกซเรย์ธรรมดา และ/หรืออัลตราซาวด์ ก็สามารถชดเชยการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และ/หรือเอ็มอาร์ไอที่มีค่าตรวจแพงกว่ามากได้ถึง 2 ใน ของผู้ป่วย)
ข้อจำกัดของการตรวจอัลตราซาวด์
การตรวจอัลตราซาวด์จะมีข้อจำกัดในด้านของคุณภาพของภาพซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ดังนี้
- การถ่ายภาพในคนอ้วนหรือการถ่ายภาพกระดูกที่มีความหนาแน่นสูงทำได้ยาก เนื่องจากเนื้อเยื่อหรืออวัยวะดังกล่าวจะสะท้อนเสียงได้ไม่ดี ภาพที่เกิดขึ้นจึงอ่านยาก โอกาศแปลผลผิดพลาดจึงสูงขึ้น
- ร่างกายหรือบริเวณอวัยวะในส่วนที่มีอากาศหรือก๊าซมาบดบังก็อาจทำให้มองเห็นได้ไม่ชัดเจน เช่น ปอด และลำไส้
- ความแม่นยำของการตรวจอัลตราซาวด์จะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแพทย์ผู้ทำการตรวจด้วย จึงควรตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการใช้เครื่องอัลตราซาวด์
ผลข้างเคียงของการตรวจอัลตราซาวด์
ตั้งแต่มีการนำอัลตราซาวด์มาใช้ในการตรวจทางการแพทย์จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานถึงโทษหรือผลข้างเคียงต่อร่างกายใด ๆ ที่พิสูจน์ได้ว่าเกิดจากการตรวจอัลตราซาวด์ ซึ่งต่างจากคลื่นแม่เหล็กแรงสูงและคลื่นวิทยุจากการตรวจเอ็มอาร์ไอ และที่สำคัญคือไม่ใช่รังสีเอกซ์จากการตรวจเอกซเรย์แบบธรรมดาและจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ จึงไม่มีผลต่อการกลายพันธุ์ของเซลล์เป็นเซลล์มะเร็งหรือก่อความพิการต่อทารกในครรภ์ อีกทั้งการตรวจอัลตราซาวด์ทั้งภายนอกและภายในก็ไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดแต่อย่างใด ยกเว้นในบางรายที่
- อาจแพ้เจลที่ใช้ทาผิวหนังและก่อให้เกิดผื่นคัน แต่ก็พบได้น้อยและมักจะหายได้เองภายใน 2-3 วัน
- อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวเมื่อเครื่องมือแนบลงบนผิวหนัง หรือถูกสอดเข้าสู่ร่างกายทางช่องคลอดหรือทวารหนัก
- อาจแพ้น้ำยาที่ใช้เคลือบหัวตรวจในกรณีที่ตรวจอัลตราซาวด์ภายใน ซึ่งหากผู้รับการตรวจเคยมีอาการแพ้น้ำยาที่ใช้เคลือบหัวตรวจมาก่อน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนตรวจเพื่อเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ที่ไม่เคลือบด้วยน้ำยาชนิดนั้นได้
- อาจทำให้ไม่สบายเนื้อสบายตัวหรือเกิดผลข้างเคียงชั่วคราวตามมาจาการอัลตราซาวด์แบบส่องกล้อง เช่น อาการเจ็บคอหรือท้องอืด และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างการมีเลือดออกภายในได้ แต่ก็ยังพบเกิดได้น้อยมาก
ส่วนการศึกษาในสัตว์ทดลองนั้นพบว่า การใช้อัลตราซาวด์บ่อย ๆ อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์สมองในหนูทดลองได้ และอาจก่อให้เซลล์เกิดความร้อนมากจนถึงขั้นเกิดเป็นฟองอากาศหรือเกิดช่องว่างขึ้นในเซลล์ หรือก่อให้เซลล์บาดเจ็บได้ ดังนั้นทางการแพทย์จึงยังกังวลในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเมื่อนำมาใช้ตรวจทารกในครรภ์โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ด้วยเหตุนี้ ทางการแพทย์จึงแนะนำและเห็นตรงกันว่า “การตรวจด้วยรังสี คลื่นแสง และคลื่นเสียงต่าง ๆ ให้ใช้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เสมอ”
เปรียบเทียบการตรวจอัลตราซาวด์กับการตรวจอื่น ๆ
- การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) คือ การใช้คลื่นเสียงความถี่สูงผ่านทะลุเข้าสู่อวัยวะภายใน โดยเหตุที่เนื้อเยื่ออยู่ในฐานะเป็นตัวกลางของคลื่นเสียงซึ่งมีคุณสมบัติที่ต่างกัน จึงทำให้คลื่นเสียงที่สะท้อนกลับมาต่างกัน แล้วใช้คลื่นเสียงที่สะท้อนกลับมานั้นเองประมวลขึ้นเป็นภาพ (หลักการเดียวกับเครื่องโซนาร์ที่ปล่อยออกจากเรือดำน้ำ)
- ข้อดี คือ ค่าใช้ในการตรวจถูกมาก เป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ปราศจากความเจ็บปวด ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพใด ๆ เพราะไม่มีรังสี แม้มีโลหะอยู่ในตัวก็สามารถตรวจได้ และให้ผลตรวจรวดเร็วกว่าแบบอื่น จึงทำให้การตรวจนี้เป็นการตรวจที่เหมาะกับโรคที่ไม่ซับซ้อน ตรวจเบื้องต้น ตรวจคัดกรอง และตรวจเพื่อติดตามโรคและติดตามผลจากการรักษา นอกจากนี้ในขณะตรวจยังสามารถทำให้เห็นภาพแม้ในขณะที่อวัยวะกำลังทำงานอยู่ เช่น หัวใจที่กำลังเต้น พร้อมทั้งยังได้ยินเสียงการปั๊มของหัวใจพร้อมกันไปด้วย (ในขณะที่ภาพจากการตรวจเอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอ็มอาร์ไอจะเป็นภาพนิ่ง ดังนั้นในบางสถานการณ์ เช่น ถ้าเป็นการตรวจภาพการเต้นหรือบีบตัวของหัวใจ หรือตรวจการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดต่าง ๆ อัลตราซาวด์จึงมีประโยชน์มากกว่าการตรวจดังกล่าว)
- ข้อเสีย คือ ให้ภาพซึ่งเห็นได้แต่เพียงรูปร่างและขนาดของอวัยวะเป็นสำคัญ โดยไม่อาจเห็นจุดซึ่งเป็นถุงไขมันขนาดเล็กหรือจุดเริ่มต้นมะเร็งจุดเล็ก ๆ ได้ และภาพที่ได้จะไม่ชัดเจนเท่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และเอ็มอาร์ไอ (แต่ก็ไม่ได้ด้อยกว่ากันมากนัก)
- การตรวจเอกซเรย์ (X-ray) คือ การใช้คลื่นแสงความถี่สูงมากให้ผ่านเนื้อเยื่อของร่างกาย ซึ่งมีความหนาแน่น ความหนาหรือความบางต่างกัน ทำให้รังสีซึ่งทะลุผ่านไปตกที่ฟิล์มมีความเข้มของพลังงานแตกต่างกัน จึงเกิดเป็นเงาภาพของอวัยวะนั้น ๆ ขึ้นบนแผ่นฟิล์ม
- ข้อดี คือ ค่าใช้จ่ายในการตรวจไม่สูงนัก เป็นการตรวจที่สามารถเจาะทะลุทะลวงผ่านเนื้อเยื่อของทุกอวัยวะภายในร่างกายได้ ทั้งอากาศ ก๊าซ น้ำ ของเหลว เนื้อเยื่อที่อ่อนนุ่ม (เช่น ปอด) กล้ามเนื้อ หรือแม้แต่กระดูก
- ข้อเสีย คือ รังสีเอกซ์มีผลต่อการทำให้ไขกระดูกทำงานผิดปกติไปจากเดิม ฉะนั้น การถูกฉายรังสีนี้บ่อยครั้งจึงอาจทำให้เกิดโรคโลหิตจางในระยะยาวจนอาจถึงก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (Computed tomography scan : CT scan) คือ การตรวจที่ใช้รังสีเอกซ์ฉายซ้อน ๆ เรียงกันเป็นภาพหน้าตัดทั้งด้านหน้าและด้านข้าง จึงทำให้อาจสร้างเป็นภาพ 3 มิติ และช่วยให้เห็นรูปร่างของอวัยวะภายในที่เจาะจงได้อย่างชัดเจน
- ข้อดี คือ ช่วยให้เห็นภาพอวัยวะภายในได้เกือบทุกจุดอย่างชัดเจนละเอียดละออ
- ข้อเสีย คือ มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เป็นการตรวจที่เปรียบเสมือนการจงใจให้ร่างกายต้องถูกฉายรังสีเอกซ์อย่างมากติดต่อกันเป็นเวลานาน จึงไม่ควรรับการตรวจด้วยวิธีนี้บ่อยครั้งจนเกินไป
- การตรวจเอ็มอาร์ไอ (Magnetic resonance imaging : MRI) เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กกำลังสูงผ่านเข้าสู่อวัยวะภายใน เนื่องจากเนื้อเยื่อในแต่ละอวัยวะจะให้ผลสะท้อนและตอบสนองต่อคลื่นแม่เหล็กไม่เท่ากัน จึงสามารถนำมาประมวลผลเป็นภาพให้เห็นอวัยวะภายในได้
- ข้อดี คือ มีความปลอดภัย ไม่ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อหรือไขกระดูก คลื่นแม่เหล็กมีอำนาจทะลุทะลวงทุกชนิด จึงแสดงภาพของอวัยวะที่ซับซ้อนลึก ๆ ได้ดี
- ข้อเสีย คือ มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงมาก ต้องนอนรับการตรวจในอุโมงค์ การตรวจให้รายละเอียดของภาพขนาดเล็กไม่ชัดเจน (เช่น ในกรณีจุดที่มะเร็งเริ่มก่อตัวขนาดเล็กมาก ๆ อาจไม่ปรากฏให้เห็นในภาพของ MRI แต่หากตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ก็อาจจะปรากฏให้สังเกตได้) และไม่สามารถตรวจได้ในผู้ที่มีชิ้นส่วนโลหะติดอยู่ในร่างกาย (เช่น ผู้ที่มีฟันปลอม ผู้ที่มีเครื่องกระตุ้นหัวใจ ผู้ที่มีแท่งโลหะยึดติดกับกระดูก)
การตรวจอัลตราซาวด์มีกี่แบบ
- การตรวจอัลตราซาวด์ทารกในครรภ์ (Obstetric ultrasound) คือ การตรวจเพื่อดูขนาดและอายุครรภ์ เพศ ความผิดปกติของทารกในครรภ์ ปริมาณน้ำคร่ำ ตำแหน่งของรก ฯลฯ โดยจะมีทั้งการตรวจแบบ 2 มิติ (ในรายที่ท้องอ่อน ๆ อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์) ที่ต้องตรวจในขณะที่ปวดปัสสาวะมากพอสมควรเพื่อจะได้เห็นทารกในครรภ์ชัดเจนขึ้น หรือต้องตรวจผ่านทางช่องคลอด (แต่สามารถตรวจได้เลยโดยไม่ต้องรอให้ปวดปัสสาวะถ้าอายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์) และแบบ 3 มิติ (เพิ่มมิติความลึก) หรือแบบ 4 มิติ (เพิ่มมิติของเวลา จึงทำให้เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหว) ซึ่งจะเหมาะสำหรับกับอายุครรภ์ตั้งแต่ 24-32 สัปดาห์
- การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound upper abdomen) การตรวจดูอวัยวะช่องท้องส่วนบน ได้แก่ ตับ ตับอ่อน ม้าม ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ไต และช่องท้องทั่วไป ตลอดจนเส้นเลือดต่าง ๆ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น ก้อนที่ผิดปกติ ถุงน้ำดี นิ่วที่ไตหรือถุงน้ำดี (ผู้รับการตรวจต้องงดอาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมันทุกชนิดประมาณ 4-6 ชั่วโมง ก่อนตรวจ เพราะอาหารจะทำให้ถุงน้ำดีหดตัว เห็นถุงน้ำดีได้ไม่ชัดเจน
- การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง (Ultrasound lower abdomen) คือ การตรวจดูอวัยวะของช่องท้องส่วนล่าง ได้แก่ มดลูก รังไข่ (หญิง) ต่อมลูกหมาก (ชาย) กระเพาะปัสสาวะ ไส้ติ่ง และบริเวณช่องท้องส่วนล่างอื่น ๆ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ถุงน้ำในรังไข่ ก้อนเนื้อในมดลูก
- การตรวจอัลตราซาวด์ระบบทางเดินปัสสาวะ (KUB ultrasound) คือ การตรวจดูระบบปัสสาวะอันได้แก่ ไต (Kidneys) ท่อไต (Ureters) และกระเพาะปัสสาวะ (Bladder) ในผู้ป่วยที่มีอาการของไตวาย หรือสงสัยว่ามีก้อนที่ไตจากการคลำ หรือจากการตรวจ IVP แล้วแพทย์สงสัยว่ามีนิ่วที่ไตหรือทางเดินปัสสาวะ หรือสงสัยว่ามีการฉีกขาดเนื่องจากได้รับอุบัติเหตุ ความดันโลหิตสูง ซึ่งเกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไต ดูไตที่ได้รับการปลูกถ่าย ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเป็นเลือด กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ซึ่งการตรวจจะต้องตรวจในขณะที่ผู้รับการตรวจปวดปัสสาวะมากพอสมควร (ต้องมีการดื่มน้ำและกลั้นปัสสาวะ) เพื่อแพทย์จะได้เห็นกระเพาะปัสสาวะได้อย่างชัดเจน
- การตรวจอัลตราซาวด์เต้านม (Breast ultrasound) คือ การตรวจดูพยาธิสภาพของเต้านม เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ก้อนที่ตรวจพบใน แมมโมแกรมหรือก้อนที่คลำได้เพื่อแยกแยะว่าเป็นก้อนเนื้อหรือถุงน้ำดี
- การตรวจอัลตราซาวด์ต่อมไทรอยด์ (Thyroid ultrasound) คือ การตรวจเพื่อดูว่าก้อนในต่อมไทรอยด์และในบริเวณใกล้เคียงที่คลำได้นั้นเป็นก้อนเนื้อหรือถุงน้ำดี เป็นการตรวจที่สามารถตรวจได้เลย โดยไม่ต้องมีการเตรียมตัวใด ๆ
- การตรวจอัลตราซาวด์แบบอื่น ๆ นอกจากการตรวจดังกล่าวแล้ว อัลตราซาวด์ยังสามารถใช้ตรวจร่างกายส่วนอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น การตรวจอัลตราซาวด์เส้นเลือด (Doppler ultrasound), การตรวจอัลตราซาวด์ก้อนที่ผิดปกติ, การตรวจอัลตราซาวด์ศีรษะของเด็กแรกเกิดถึง 1 ขวบ ฯลฯ
ขั้นตอนการตรวจอัลตราซาวด์
การเตรียมตัวก่อนตรวจอัลตราซาวด์จะขึ้นอยู่กับว่าเป็นการตรวจอัลตราซาวด์ที่อวัยวะหรือด้วยวิธีใด ซึ่งโดยปกติแล้วแพทย์หรือเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้แนะนำและให้เอกสารในการตรวจตัวก่อนตรวจเพื่อให้ได้ภาพอัลตราซาวด์ที่ชัดเจน เช่น ถ้าเป็นการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง ผู้รับการตรวจจะต้องอดอาหารเป็นเวลา 6-8 ชั่วโมงก่อนการตรวจ เพื่อไม่ให้อาหารที่ยังย่อยไม่หมดไปกีดขวางคลื่นเสียงจนส่งผลต่อความชัดของภาพได้ หรือในกรณีที่เป็นการตรวจถุงน้ำดี ตับ ตับอ่อน หรือม้าม ผู้เข้ารับการตรวจก็ต้องงดอาหารประเภทไขมันในตอนเย็นก่อนวันตรวจและอดอาหารจนถึงการตรวจ (สามารถดื่มน้ำเปล่าและกินยาได้ตามปกติ) ส่วนการตรวจอื่น ๆ เช่น การตรวจครรภ์หรือตรวจเชิงกราน แพทย์อาจแนะนำให้ดื่มน้ำอย่างน้อย 4-6 แก้ว ในช่วง 1-2 ชั่วโมงก่อนตรวจและให้กลั้นปัสสาวะไว้จนกว่าจะตรวจเสร็จ หรือการตรวจบางแห่งของร่างกายอาจจำเป็นต้องถอดเสื้อผ้าแล้วใส่เสื้อคลุมของทางโรงพยาบาลแทน (ดังนั้นในวันตรวจจึงควรสวมใส่เสื้อผ้า รองเท้า ที่ถอดและใส่ได้ง่าย) ส่วนผู้เข้ารับการตรวจที่ต้องใช้ยาระงับความรู้สึกก็จะให้ผ่านทางสายน้ำเกลือที่บริเวณหลังมือหรือแขน รวมทั้งอาจได้รับการฉีดสารทึบรังสีก่อนการตรวจเพื่อให้ภาพอัลตราซาวด์ชัดเจนมากขึ้น (สารนี้ไม่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อร่างกาย)
การตรวจอัลตราซาวด์มักทำโดยแพทย์ นักรังสีเทคนิค หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ (เช่น พยาบาลผดุงครรภ์ นักกายภาพบำบัดที่ได้รับการฝึก) ส่วนใหญ่จะใช้เวลาตรวจประมาณ 15-45 นาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่ต้องการและขึ้นอยู่กับวิธีการตรวจ ดังนี้
- การตรวจอัลตราซาวด์ภายนอก เป็นการตรวจโดยวางและเคลื่อนหัวตรวจไปตามผิวหนัง ใช้บ่อยในการตรวจหัวใจหรือทารกที่อยู่ในครรภ์ ตรวจตับ ไต และอวัยวะอื่น ๆ ในช่องท้องและเชิงกราน รวมถึงอวัยวะหรือเนื้อเยื่อใด ๆ ก็ตามที่สามารถประเมินความผิดปกติผ่านผิวหนังได้ (เช่น กล้ามเนื้อและข้อต่อ) โดยการตรวจจะเริ่มจากการทาเจลหล่อลื่นลงบนผิวหนังเพื่อให้หัวตรวจเคลื่อนตัวได้ดีและช่วยให้หัวตรวจสัมผัสกับพื้นผิวของร่างกายได้อย่างเต็มที่และไม่มีอากาศมาแทรกระหว่างหัวตรวจกับผิวหนัง ในขณะตรวจแพทย์จะกดหัวตรวจบนผิวหนังส่วนที่จะตรวจเบา ๆ แล้วเคลื่อนไปจนทั่วไปเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่ตรวจ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์และผู้เข้ารับการตรวจมองเห็นภาพการตรวจบนจอคอมพิวเตอร์ไปพร้อม ๆ กัน (ผู้เข้ารับการตรวจจะไม่รู้สึกอะไรนอกจากการสัมผัสได้ถึงตัวเซ็นเซอร์ของอุปกรณ์และความเย็นจากเจลที่ทา หรือหากเป็นการตรวจครรภ์หรือตรวจเชิงกรานที่แพทย์จะให้ดื่มน้ำจนเต็มกระเพาะก่อนตรวจก็อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวในขณะตรวจได้บ้าง)
- การตรวจภายในด้วยอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจที่ช่วยให้แพทย์เห็นอวัยวะภายใน เช่น ต่อมลูกหมาก รังไข่ หรือครรภ์ในระยะใกล้ยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำโดยการสอดอุปกรณ์อัลตราซาวด์เข้าไปทางช่องคลอดหรือทวารหนัก ในระหว่างการตรวจแพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจนอนหงายหรือนอนตะแคงเข่าชันเข้าชิดหน้าอกหรือนอนบนขาหยั่ง แล้วแพทย์จะใช้เครื่องอัลตราซาวด์ขนาดเล็กปลอดเชื้อสอดเข้าไปในทงช่องคลอดหรือทวารหนักเบา ๆ เพื่อให้เครื่องมือถ่ายถอดภาพไปยังคอมพิวเตอร์ (การตรวจด้วยวิธีนี้อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว แต่ก็ไม่ได้ทำให้เจ็บปวดหรือใช้เวลานานแต่อย่างใด)
- การส่องกล้องติดอัลตราซาวด์ เป็นการใช้หัวตรวจอัลตราซาวด์ติดไว้กับท่อบาง ๆ ที่มีความยืดหยุ่นส่งเข้าไปในร่างกาย (โดยปกติมักจะใส่ทางปาก) เพื่อดูร่างกายบริเวณต่าง ๆ เช่น ท้อง หรือหลอดอาหาร โดยแพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจนอนตะแคงขณะใส่กล้อง ซึ่งกล้องนี้จะประกอบด้วยแสงไฟและอุปกรณ์อัลตราซาวด์ที่ส่วนปลายเพื่อช่วยในการสร้างภาพ (ก่อนการสอด ผู้เข้ารับการตรวจมักจะได้รับยาระงับความรู้สึกเพื่อให้อยู่ในความสงบและฉีดสเปรย์ยาชาเฉพาะส่วนที่ลำคอ เพราะการตรวจด้วยวิธีนี้อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวหรือเกิดความระคายเคืองในทางเดินอาหาร นอกจากนี้ยังอาจจำเป็นต้องใส่ฟันยางเพื่อให้อ้าปากค้างไว้ได้และป้องกันฟันไม่ให้กัดโดนอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจด้วย)
หลังตรวจอัลตราซาวด์เสร็จแล้ว ผู้เข้ารับการตรวจก็สามารถกลับบ้านหรือกลับไปทำงานได้ทันที และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการขับรถ ดื่มน้ำ รับประทานอาหาร ทำกิจกรรมต่าง ๆ และคลุกคลีกับทุกคนรวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ แต่ในกรณีที่ได้รับการยาระงับความรู้สึกระหว่างการตรวจ แพทย์มักจะแนะนำให้พักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 2-3 ชั่วโมงก่อนจนกว่าฤทธิ์ยาจะบรรเทาลง โดยควรให้ญาติมารับและคอยเฝ้าในระยะ 24 ชั่วโมงหลังจากนั้น รวมถึงไม่ควรขับรถ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรในระหว่างนี้ด้วย
การแปลผลตรวจอัลตราซาวด์
ผลการตรวจอัลตราซาวด์มักใช้เวลาไม่นานหลังจากตรวจเสร็จสิ้น โดยทั่วไปในโรงพยาบาลเอกชน การตรวจอัลตราซาวด์สามารถทราบผลได้ภายในระยะเวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง แต่ในโรงพยาบาลของรัฐที่มีผู้ป่วยหนาแน่น อาจทราบผลในระยะเวลาประมาณ 3 วันขึ้นไป ซึ่งแพทย์จะอธิบายพูดคุยเกี่ยวกับผลตรวจให้ทราบในการนัดหมายครั้งต่อไป
แพทย์ผู้อ่านหรือแปลผลตรวจจะได้รับการฝึกฝนเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะทางถึงวิธีการตรวจวินิจฉัยด้วยอัลตราซาวด์ แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจภาะเนื้อเยื่อหรืออวัยวะด้วยเทคนิคต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการตรวจอัลตราซาวด์ก็อาจให้ผลผิดพลาดได้ประมาณ 10-15% จากข้อจำกัดทางเทคนิค โดยอาจเป็นความผิดพลาดในลักษณะที่อาจมีโรคแต่ตรวจไม่พบ หรืออาจไม่มีโรคแต่ภาพชี้ว่าน่าจะมีโรค ดังนั้น ในการวินิจฉัยโรค แพทย์จึงใช้ข้อมูลจากแหล่งร่วมกันวินิจฉัย เช่น จากอาการของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจภาพของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะนั้นด้วยวิธีอื่น การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจทางพยาธิวิทยา และ/หรือการตรวจทางเซลล์วิทยา
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือฉลาดตรวจสุขภาพ ฉบับรู้ทันโรคถอย เล่ม 2. “การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound Upper Abdomen)”. (พอ.ประสาร เปรมะสกุล). หน้า 133-136.
- หาหมอดอทคอม. “อัลตราซาวด์ (Ultrasonogram)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [08 พ.ค. 2018].
- พบแพทย์. “รู้ไว้ก่อนไปอัลตราซาวด์ (Ultrasound)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pobpad.com. [10 พ.ค. 2018].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)