การตรวจตั้งครรภ์
เมื่อเริ่มสงสัยว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ คุณแม่อาจทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง ซึ่งจะมีชุดทดสอบการตั้งครรภ์ที่น่าเชื่อถือจำหน่ายอยู่ทั่วไป แต่ถึงแม้จะทดสอบแล้วก็ตาม คุณแม่ก็ควรจะไปพบหมอด้วยเพื่อตรวจดูให้แน่ใจว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ และเพื่อติดตามการดูแลครรภ์ให้คุณแม่
ตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง
ชุดตรวจครรภ์ หรือ ที่ตรวจครรภ์ : การตรวจครรภ์ด้วยตัวเองนี้จะเป็นการทดสอบหาฮอร์โมน HCG (Human chorionic gonadotropin) ในปัสสาวะของคุณแม่ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งมาจากรกและจะเริ่มผลิตหลังจากเกิดการปฏิสนธิไปแล้วประมาณ 6 วัน และจะขึ้นสูงสุดในช่วง 8-12 สัปดาห์ ซึ่งจะมีความแม่นยำมากถึงร้อยละ 90 และสามารถตรวจได้อย่างแม่นยำในรายที่มีการขาดประจำเดือนตั้งแต่วันที่ 10-14 ขึ้นไป โดยปกติแล้วในชุดทดสอบจะมีอุปกรณ์ตรวจมาให้พร้อมอย่างเสร็จสรรพ แต่จะมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ
- แบบแถบจุ่ม ( Test Strip) จะประกอบไปด้วย แผ่นทดสอบการตั้งครรภ์ (แผ่นตรวจครรภ์) และถ้วยตวงปัสสาวะ (อาจจะมีถ้วยตวงปัสสาวะมาให้หรือไม่มีก็ได้) ในส่วนของวิธีการใช้นั้น ให้เก็บน้ำปัสสาวะลงในถ้วยตวง แล้วนำแผ่นทดสอบการตั้งครรภ์ด้านที่มีลูกศรชี้ลง จุ่มลงไปในน้ำปัสสาวะเพียง 3 วินาที โดยระวังอย่าให้น้ำปัสสาวะเลยขีดที่กำหนดหรือสูงเกินขีดลูกศรในแผ่นทดสอบ แล้วนำแผ่นทดสอบออกจากน้ำปัสสาวะ และถือหรือวางไว้ในแนวนอน (ควรวางบนพื้นผิวที่แห้งสนิทเท่านั้น) แล้วรออ่านผลการตั้งครรภ์ได้ภายใน 1-5 นาที ทางที่ดีให้รอจนกว่าจะครบ 5 นาที เพื่อให้แน่ใจว่าชุดทดสอบแสดงผลได้อย่างถูกต้อง ข้อดีของแถบตรวจแบบนี้คือมีราคาถูก แต่การใช้ต้องระวังอย่าให้น้ำปัสสาวะสูงเกินกว่าขีดที่กำหนด เพราะจะทำให้แผ่นทดสอบเสื่อมสภาพ (ราคาประมาณ 100-140 บาท)
- แบบตลับหรือแบบหยด (Pregnancy Test Cassette) จะประกอบไปด้วย ตลับทดสอบการตั้งครรภ์ ถ้วยตวงปัสสาวะ และหลอดหยดสำหรับดูดน้ำปัสสาวะ ในขั้นตอนการใช้ให้เก็บน้ำปัสสาวะลงในถ้วยตวง แล้วนำหลอดหยดดูดน้ำปัสสาวะเข้าไปในปริมาณพอเหมาะ แล้วจึงหยดน้ำปัสสาวะลงบนตลับทดสอบที่วางบนพื้นราบประมาณ 3-4 หยด (อย่าหยดมากกว่านี้) แล้ววางชุดทดสอบทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที แล้วจึงอ่านผลการทดสอบ ข้อดีของแถบตรวจแบบนี้คือ สามารถช่วยลดโอกาสแผ่นทดสอบเสื่อมสภาพจากวิธีการดูดซับน้ำปัสสาวะของชุดทดสอบได้ (ราคาประมาณ 140-180 บาท)
- แบบปัสสาวะผ่าน (Pregnancy Midstream Tests) ที่ตรวจครรภ์จะมีแค่แท่งทดสอบการตั้งครรภ์ วิธีก็ใช้ก็คือ ให้ถอดฝาครอบออกพร้อมกับถือแท่งทดสอบโดยให้หัวลูกศรชี้ลง แล้วปัสสาวะให้น้ำปัสสาวะผ่านบริเวณที่ดูดซับน้ำปัสสาวะซึ่งจะอยู่บริเวณต่ำกว่าลูกศรให้ชุ่มประมาณ 5 วินาที แล้วให้ถือหรือวางแท่งทดสอบการตั้งครรภ์ไว้ในแนวราบ และรออ่านผลได้ตั้งแต่ประมาณ 30 วินาทีเป็นต้นไป (เพื่อความชัวร์ควรรออ่านผลภายใน 3-5 นาที) มีข้อดีคือสามารถใช้งานได้สะดวกมากกว่าชนิดอื่น เพราะไม่ต้องเก็บน้ำปัสสาวะในถ้วย จึงช่วยลดขั้นตอนในการทดสอบได้ แต่จะมีข้อเสียกว่าสองแบบแรกคือจะมีราคาสูงกว่า (ราคาประมาณ 180-200 บาท)
การอ่านผลที่ตรวจครรภ์
ส่วนมากแล้วในกล่องของชุดทดสอบการตั้งครรภ์ที่ซื้อมาจะบอกวิธีการใช้และวิธีการอ่านค่าไว้แล้วพร้อมรูปตัวอย่างด้วย แต่โดยส่วนมากการอ่านผลที่ถูกต้องจะต้องอ่านภายใน 5 นาที ถ้าทิ้งไว้นานกว่านี้อาจทำให้มีอีกขีดโผล่ขึ้นมาได้ ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่การตั้งครรภ์หรือเป็นค่าที่เชื่อถือไม่ได้แล้ว โดยขีด C คือ Control Line ส่วนขีด T คือ Test Line
- ตรวจแล้วขึ้น 1 ขีด (ขึ้นที่ขีด C อย่างเดียว) คือ ได้ผลลบ แปลว่า “น่าจะไม่ตั้งครรภ์” (หมายความว่า ไม่ตั้งครรภ์ หรือ อาจจะตั้งครรภ์แล้วแต่ยังตรวจไม่พบ)
- ตรวจแล้วขึ้น 2 ขีด หรือ ขึ้น 2 ขีด จาง ๆ (ขึ้นที่ขีด C และ T) คือ ได้ผลบวก แปลว่า “น่าจะมีการตั้งครรภ์” (ถ้าขีด T ขึ้นจาง ๆ แนะนำว่าให้รออีก 2-3 วันแล้วค่อยตรวจใหม่ ถ้าใช้ชุดตรวจยี่ห้อใหม่ได้ก็จะดีครับ)
- ตรวจแล้วไม่ขึ้นแถบสีหรือไม่ขึ้นสักขีด หรือ ขึ้น 1 ขีดบนตัว T คือ อ่านค่าไม่ได้ แปลว่า “ชุดทดสอบการตั้งครรภ์เสีย” (อาจเกิดจากการผลิต การเก็บไม่ถูกวิธี การใช้ปัสสาวะเก่า หรือชุดทดสอบหมดอายุ ถ้าตรวจแล้วไม่ขึ้นสักขีดจะเท่ากับว่าการตรวจครั้งนั้นใช้ไม่ได้ คุณจะต้องทำการตรวจใหม่อีกครั้ง)
หมายเหตุ : ผลที่ได้จากการทดสอบจะบอกได้แค่ว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่เท่านั้น ไม่ได้บอกว่ามีการตั้งครรภ์ในมดลูกหรือนอกมดลูก
ตรวจตั้งครรภ์ได้เมื่อไหร่
โดยปกติแล้วควรรอให้เลยวันที่รอบเดือนควรจะมาเสียก่อนอย่างน้อยประมาณ 7 วัน เพราะบางครั้งความเครียด ความวิตกกังวลด้วยกลัวว่าจะมีลูกก็อาจทำให้ประจำเดือนมาช้ากว่าปกติได้ ถ้ารอจนครบ 7 วัน เมื่อตรวจแล้วพบว่าให้ผลบวก ก็แปลว่าคุณกำลังตั้งครรภ์ แต่ถ้าให้ผลลบก็ยังไม่แน่ใจว่าจะไม่ตั้งครรภ์หรือไม่ หากประจำเดือนยังไม่มาอีกภายใน 7 วันหลังจากตรวจครั้งแรก ก็ให้คุณตรวจซ้ำอีกครั้ง ถ้ายังให้ผลลบอยู่คุณก็น่าจะไม่ตั้งครรภ์ แต่ก็ยังไม่แน่นอนอยู่ดีครับหากประจำเดือนของคุณยังไม่มา หลังจากตรวจรอบ 2 ถ้าเลย 7 วันไปแล้วและกังวลเรื่องการตั้งครรภ์ก็ให้พบแพทย์ครับ
ตรวจครรภ์ขึ้นขีดจาง
ผลการตรวจปัสสาวะยังไม่ชัดเจนว่าตั้งครรภ์แล้วหรือไม่ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าน่าจะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น เพราะชุดทดสอบในปัจจุบันจะมีความไวสูงมาก ปริมาณฮอร์โมน HCG เพียง 10 mIU/ml ก็สามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้แล้ว ในกรณีนี้ให้คุณตรวจซ้ำใหม่อีกครั้งในอีก 7 วันถัดไป แต่ถ้ารู้สึกไม่สบายใจจริง ๆ คุณอาจจะไปตรวจการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลก็ได้ครับ
แต่ในกรณีที่ซื้อชุดตรวจการตั้งครรภ์หลาย ๆ ยี่ห้อมาตรวจใหม่แล้วได้ผลตรงกันหมด คือ ทุก ๆ ยี่ห้อขึ้น 2 ขีดจางหมด พร้อมกับมีหรือไม่มีอาการของคนตั้งครรภ์ระยะแรก ก็ค่อนข้างเป็นที่แน่ใจแล้วว่าคุณ “กำลังตั้งครรภ์” ให้คุณรีบพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ จะได้ตรวจเลือดและตรวจร่างกาย และให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจทำให้เกิดอันตรายกับลูกในทันที เช่น ยารักษาสิว ถ้าไม่มั่นใจก็ให้ปรึกษาแพทย์เรื่องยาที่รับประทานอยู่ก็ได้ครับ
ตรวจขึ้น 2 ขีด แต่ไม่ท้อง
ถ้าทดสอบการตั้งครรภ์แล้วขึ้น 2 ขีด คุณอาจจะไม่ท้องก็ได้ นั่นคือ เป็น “ผลบวกลวง” ซึ่งอาจพบได้ในกรณีที่ น้ำปัสสาวะมีการอักเสบ มีเลือด หรือมีไข่ขาวปน, แผ่นทดสอบเสื่อมประสิทธิภาพ, ในผู้ที่ทานยาบางชนิด, ในผู้ที่มีฮอร์โมนผิดปกติ เช่น อ้วนมาก หรือเป็นโรคไทรอยด์ นอกจากนั้น แม้ตั้งครรภ์ ก็อาจเป็นการตั้งครรภ์สารเคมี (Chemical pregnancy) ก็ได้ คือ มีไข่กับอสุจิผสมกันจริง แต่ไม่มีการฝังตัวของทารกในโพรงมดลูก หรืออาจเป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติอื่น ๆ เช่น ตั้งครรภ์นอกมดลูก ตั้งครรภ์ไข่ลม ฯลฯ แต่กรณีนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก ๆ ครับ ในทางกลับกันเมื่อทดสอบปัสสาวะแล้วขึ้นขีดเดียว ก็อาจจะท้องก็ได้ครับ หรือที่เรียกว่า “ผลลบลวง” เช่น เป็นการตรวจในช่วงน้ำปัสสาวะเจือจาง ตรวจตอนท้องเกินกว่า 4 เดือน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ถ้าขึ้น 2 ขีดแล้ว จะจางหรือไม่จางก็ตาม ผมก็แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจดูอีกครั้งจะดีที่สุดครับ (ข้อมูลจาก : พญ.ชัญวลี ศรีสุโข)
หาซื้อที่ตรวจครรภ์ได้ที่ไหน
คุณสามารถหาซื้อชุดตรวจครรภ์ได้ที่ร้านขายยาทั่วไป รวมถึงร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ใกล้บ้าน
ราคาที่ตรวจครรภ์
ชุดตรวจก็มีอยู่ด้วยกันหลายแบบตามที่กล่าวมาครับ โดยจะมีราคาตั้งแต่ 50 บาทไปจนถึง 200 บาท
ที่ตรวจครรภ์ยี่ห้อไหนดี
ไม่ว่าจะถูกหรือแพงความแม่นยำในการตรวจก็ใกล้เคียงกันครับ ถ้าจะซื้อยี่ห้อแพง ๆ ผมแนะนำให้ซื้อตัวที่มีราคากลาง ๆ (ไม่ถูกมากจนเกินไป) มาสัก 2 ชุด เพื่อใช้ตรวจซ้ำอีกรอบจะดีกว่าครับ จะต่างยี่ห้อกันก็ได้ครับเพื่อความชัวร์
คำแนะนำในการทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง
- อ่านคำแนะนำและทำความเข้าใจในการใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์อย่างละเอียด และปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น ๆ อย่างเคร่งครัด
- การตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองเป็นการตรวจหาการตั้งครรภ์เบื้องต้นเท่านั้น คุณควรตรวจยืนยันผลการตั้งครรภ์โดยแพทย์ ด้วยการวินิจฉัยทางคลินิกและห้องปฏิบัติการทางการแพทย์
- การตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองเพียงครั้งเดียวยังไม่เพียงพอต่อการยืนยันผลเบื้องต้นได้ เนื่องจากระดับฮอร์โมน HCG ในหญิงตั้งครรภ์จะมีระดับที่แตกต่างกันในช่วงกว้าง ซึ่งการตรวจครั้งที่ 2 ในอีก 2-3 วันถัดมาจะให้ผลที่น่าเชื่อถือและแน่นอนกว่า เพราะบางครั้งในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับความไวของชุดทดสอบการตั้งครรภ์ (ต่ำกว่า 20 mIU/ml.) จึงทำให้การตรวจในครั้งแรกยังไม่พบว่ามีการตั้งครรภ์ เป็นต้น
- การตรวจปัสสาวะ ควรใช้ปัสสาวะหลังจากตื่นนอนตอนเช้าซึ่งจะให้ผลดีที่สุด แต่เวลาอื่นก็ได้ผลเหมือนกัน แต่สำคัญว่าต้องใช้ปัสสาวะสด ๆ หรือเป็นปัสสาวะใหม่ ๆ เท่านั้น
- ชุดทดสอบเมื่อซื้อมาแล้วสามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องตามปกติได้ (ไม่เกิน 30 องศา) หลีกเลี่ยงแสงแดด และความชื้น
- เมื่อฉีกซองออกแล้ว ต้องตรวจทันทีจึงจะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ แต่ถ้าฉีกแล้วยังไม่ตรวจก็สามารถเก็บไว้ได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง เพราะหากโดนความชื้น จะทำให้ประสิทธิภาพลดลงและอาจทำให้ผลตรวจเกิดความผิดพลาดได้
- ในการทดสอบซ้ำ ให้เว้นระยะห่างจากการทดสอบครั้งแรกอย่างน้อย 2-3 วัน
การตรวจการตั้งครรภ์
สำหรับผู้หญิงบางคนที่คิดว่าตัวเองกำลังมีลูกตัวน้อย ๆ อยู่ในท้อง โดยอาจรู้มาจากการได้ยินจากผู้ที่มีประสบการณ์ จากการอ่านหนังสือ จากการอ่านบทความเรื่อง “25 อาการคนท้อง & ลักษณะคนท้อง (อาการของคนตั้งครรภ์) !!” หรือจากการที่เคยมีประสบการณ์มาก่อนแล้ว แต่ยังไม่มั่นใจนักจนกว่าจะไปให้หมอตรวจ คุณแม่บางรายอาจสงสัยว่าหมอจะตรวจหรือซักถามอะไรบ้างที่จะมั่นใจได้ว่าตั้งครรภ์อย่างแน่นอน ไปดูกันเลยครับว่าคุณหมอจะมีวิธีการตรวจการตั้งครรภ์ได้อย่างไรบ้าง
การซักประวัติ
ในขั้นแรกหมอจะทำการซักประวัติของคุณก่อน โดยจะถามว่าประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ก็ให้คุณแม่ตอบ “วันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย” ที่มาตามปกติ (ไม่ใช่วันที่สุดท้ายของการมีประจำเดือนหรือวันที่ประจำเดือนควรจะมาแต่ก็ไม่มา เพราะจะทำให้หมอไขว้เขวได้ครับ) เช่น คุณแม่มีรอบประจำเดือนทุก ๆ 28 วัน ประจำเดือนของคุณแม่มาครั้งล่าสุดวันที่ 1-5 มกราคม 2559 และประจำเดือนควรจะมาอีกครั้งในวันที่ 28-29 มกราคม 2558 ดังนั้นประจำเดือนครั้งสุดท้ายที่มาคือวันที่ 1 มกราคม ไม่ใช่วันที่ 5 หรือ 28-29 มกราคม นอกจากนี้หมอจะถามด้วยว่ารอบเดือนของคุณแม่มาสม่ำเสมอหรือไม่ โดยจะถามว่า “ประจำเดือนครั้งก่อนครั้งสุดท้ายมาวันที่เท่าไร ?” เพื่อเป็นการเช็กว่าประจำเดือนของคุณแม่มาสม่ำเสมอหรือไม่ หรือถามว่าเคยมีประจำเดือนขาดไปโดยไม่ตั้งครรภ์หรือไม่ พร้อมกับถามถึงอาการอื่น ๆ ที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่ากำลังตั้งครรภ์ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ เต้านมคัด ปัสสาวะบ่อย เป็นต้น หรือถ้าประจำเดือนครั้งสุดท้ายออกมาน้อยกว่าปกติหรือเปื้อนผ้าอนามัยเพียงนิดเดียว และออกมาเพียงครึ่งวันก็ควรแจ้งให้หมอทราบด้วยนะครับ เพราะคุณอาจเริ่มมีการตั้งครรภ์ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วก็ได้ เนื่องจากเลือดที่ออกมานั้นเกิดขึ้นในขณะที่รกและตัวเด็กฝังเข้าไปในเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้คุณแม่บางคนอาจมีเลือดออก แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นอาการที่ผิดปกติแต่อย่างใดครับ
การตรวจภายใน
การตรวจภายในเป็นอีกวิธีที่จะช่วยทำให้แน่ใจได้ว่าการขาดประจำเดือนนั้นมีสาเหตุมาจากการตั้งครรภ์ ไม่ใช่มาจากสาเหตุอื่น โดยการตรวจภายในนั้นเป็นวิธีการตรวจที่ทำได้ง่าย ไม่เจ็บปวดและเป็นอันตรายแต่อย่างใด ถ้าถามว่าจำเป็นต้องตรวจภายในหญิงทุกคนที่มีครรภ์หรือไม่ ? คำตอบก็คือ “ก็ไม่เสมอไปหรอกครับ แต่เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง เพื่อประโยชน์ของคุณแม่เอง” ถ้าหมอซักประวัติและตรวจร่างกายทั่วไปแล้วเห็นว่าปกติ คลำหน้าท้องก็ได้ขนาดของมดลูกใกล้เคียงกับระยะที่ขาดประจำเดือน ก็ไม่ต้องตรวจภายในก็ได้ครับ แต่ถ้าคุณมีอาการผิดปกติหรือตรวจดูแล้วพบว่ามีความสงสัยว่าจะผิดปกติ ส่วนนี้ก็คงต้องยอมให้หมอตรวจภายในครับ
โดยการตรวจภายในนั้น ผู้ช่วยแพทย์หรือพยาบาลจะให้คุณเปลี่ยนเสื้อผ้า ถอดกางเกงใน แล้วพาขึ้นบนเตียงตรวจ ให้คุณนอนให้สบาย หายใจเข้าออกช้า ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อของร่างกายหย่อน แล้วหมอจะทำการตรวจดูอวัยวะภายนอกและปากช่องคลอดว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น ดูว่ามีรอยเกา ระดูขาวไหลเปื้อน หรือมีก้อนผิดปกติหรือไม่ ถ้าปกติดีหมอจะทำการสอดเครื่องมือเล็ก ๆ เข้าไปในช่องคลอด “ซึ่งผู้ที่ตั้งครรภ์นั้นจะมองเห็นช่องคลอดและปากมดลูกมีสีคล้ำกว่าปกติ” พร้อมกันนี้หมอจะตรวจดูด้วยว่าบริเวณช่องคลอดและปากมดลูกมีความผิดปกติหรือไม่ เช่น มีการอักเสบหรือมีแผลที่ปากมดลูก (บางคนหมอจะเก็บเอาระดูขาวไปตรวจหาเชื้อโรคและตรวจหาเซลล์มะเร็งด้วย ซึ่งจะรู้ผลได้ในวันต่อมา) เมื่อตรวจเสร็จหมอจะดึงเครื่องมือออก แล้วสอดนิ้ว 2 นิ้วที่สวมถุงมือฆ่าเชื้อโรคแล้วเข้าไปในช่องคลอด ส่วนอีกมือหนึ่งจะกดเบา ๆ บริเวณหน้าท้องเพื่อตรวจหาขนาดรูปร่างของมดลูกว่าโตหรือไม่ ซึ่งการตรวจภายในนั้นจะคลำพบมดลูกโตขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงตั้งแต่สัปดาห์ที่ 6-8 ขึ้นไปนับจากวันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย
ในกรณีที่ประจำเดือนขาดไปแล้วประมาณ 2-3 เดือน แต่หมอตรวจดูแล้วไม่พบว่ามดลูกโตขึ้นเลย ก็แสดงว่าคุณไม่ตั้งครรภ์ แต่ถ้าตรวจแล้วพบว่ามดลูกมีขนาดโตมากกว่าระยะการขาดประจำเดือน ก็อาจเป็นไปได้ว่าคุณกำลังตั้งครรภ์แฝด หรือตั้งครรภ์มาก่อนหน้านี้แล้ว หรืออาจเป็นเนื้องอกในมดลูกร่วมกับการตั้งครรภ์ก็ได้ จึงทำให้มดลูกโตมากกว่าปกติ ในส่วนนี้หมอจะต้องตรวจหาสาเหตุต่อไปและวินิจฉัยว่าเป็นอะไรกันแน่
นอกจากนี้ หมอจะคลำดูขนาดของรังไข่และปีกมดลูกทั้งสองข้างด้วยว่าคลำพบหรือไม่ เพราะโดยปกติแล้วจะคลำไม่พบ แต่ถ้าพบก็แสดงว่าโตกว่าปกติ หรืออาจมีก้อนอะไรสักอย่าง ถ้ามีอาการปวดเสียวท้องน้อยหรือบริเวณใกล้เคียงก็ควรจะแจ้งให้หมอทราบด้วย เพื่อจะได้ตรวจดูให้ละเอียดว่ามีความผิดปกติหรือไม่ นอกจากนั้นการตรวจภายในอาจจะมีการคลำบริเวณหน้าท้องดูด้วยว่ามีก้อนอื่น ๆ ที่มีขนาดโตผิดปกติหรือไม่ เช่น ตับโต ม้ามโต เป็นต้น
การตรวจปัสสาวะ
ปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้วิธีการทดสอบการตั้งครรภ์เป็นไปได้ง่าย รวดเร็ว และให้ผลแม่นยำ หากคุณสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ หมอจะเอาปัสสาวะเพียงไม่กี่หยดของคุณไปตรวจด้วยน้ำยาทดสอบ เนื่องจากในปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์จะมีฮอร์โมนชนิดหนึ่ง (HCG) ที่บ่งบอกให้รู้ได้ว่ากำลังตั้งครรภ์ครับ หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า ทำ “Pregnancy test”, “Preg test” หรือ “PT” ถ้าคุณเก็บปัสสาวะหลังตื่นนอนตอนเช้าไปให้หมอตรวจได้ก็จะได้ผลที่แน่นอนยิ่งขึ้น แต่มีข้อแม้ว่าประจำเดือนของคุณจะต้องขาดไปแล้วประมาณ 35-40 วัน นับจากครั้งสุดท้ายที่ประจำเดือนมา หรืออีกอย่างก็คือให้ประจำเดือนเลยกำหนดที่จะมาไปก่อนประมาณ 7-10 วันขึ้นไป การตรวจปัสสาวะจึงจะเชื่อถือได้และแม่นยำเกือบ 100%
แต่ในกรณีที่คุณไม่ได้เก็บปัสสาวะตอนเช้าไว้ให้หมอตรวจ แล้วไปตรวจที่โรงพยาบาลในตอนกลางวันหรือไปตรวจที่คลินิกในช่วงตอนเย็นพร้อมกับถ่ายปัสสาวะแล้วตรวจเลย ถ้าตรวจแล้วได้ ผลบวก (Positive) ก็แสดงว่าคุณตั้งครรภ์อย่างแน่นอนแล้ว แต่ถ้าตรวจออกมาแล้วได้ ผลลบ (Negative) บวกกับประจำเดือนของคุณเพิ่งขาดไปได้ไม่กี่วัน ก็แสดงว่าคุณอาจจะไม่ได้ตั้งครรภ์ หรืออาจจะตั้งครรภ์ก็ได้ เนื่องจากระดับฮอร์โมนที่ออกมาในปัสสาวะยังน้อยเกินกว่าที่จะตรวจพบได้ ในกรณีนี้ให้คุณรอไปอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วค่อยเก็บปัสสาวะตอนเช้าไปให้หมอตรวจอีกครั้ง ผลที่ได้ก็จะแน่นอนและบอกได้เลยว่าตั้งครรภ์หรือไม่
การตรวจเลือด
เป็นการตรวจเพื่อหาระดับฮอร์โมน HCG สามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์หลังจากมีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ให้ผลที่แน่นอน 100% แต่เนื่องจากวิธีนี้มีค่าใช้จ่ายสูงและทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เท่านั้น จึงยังไม่เป็นที่นิยมกันมากนัก แต่วิธีนี้จะนิยมใช้ในกรณีที่คุณแม่กำลังรักษาภาวะการมีบุตรยาก หรือในรายที่คุณแม่มีประวัติการแท้งบ่อย ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาให้ฮอร์โมนเสริมเพื่อป้องกันการแท้งบุตรครับ
การตรวจอัลตราซาวนด์
การตรวจอัลตราซาวนด์ (Ultrasound หรือ Ultrasound scanning หรือ Ultrasonography) เป็นการตรวจโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง” เป็นเครื่องมือที่อาศัยการส่งคลื่นเสียงที่มีความถี่สูงออกไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ซึ่งมีความสามารถในการดูดซับคลื่นเสียงและสะท้อนกลับไม่เท่ากัน แล้วมีเครื่องรับคลื่นที่สะท้อนกลับมาแล้วเปลี่ยนเป็นภาพบนจอทีวี ทำให้สามารถมองเห็นเป็นภาพได้ ซึ่งการตรวจตั้งครรภ์ด้วยวิธีนี้จะสามารถตรวจได้ตั้งแต่เริ่มมีการตั้งครรภ์กันเลยทีเดียว และไม่ทำให้คุณแม่เจ็บปวดอะไรเลย คล้าย ๆ กับการตรวจเอกซเรย์ครับ แต่จะมีอันตรายน้อยกว่ามาก โดยหมอจะใช้หัวตรวจวางบนผนังหน้าท้องบริเวณท้องน้อยก็ตรวจได้แล้ว หรือในบางกรณีที่ต้องการความชัดเจนมากขึ้น หมอจะใช้หัวตรวจชนิดเล็กสอดเข้าไปในช่องคลอด ก็จะช่วยทำให้เห็นลูกน้อยในครรภ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะไม่เจ็บ มีความสะอาด และไม่ทำให้ติดโรคติดต่อแต่อย่างใด
นอกจากจะช่วยตรวจดูว่ามีการตั้งครรภ์แล้วหรือไม่ เครื่องมือชนิดนี้ยังใช้ตรวจเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ไปจนถึงวันคลอดได้ สามารถบอกได้ว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์ประมาณกี่สัปดาห์แล้ว นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์ในการตรวจหาความผิดปกติของลูกน้อย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับโครงสร้างของร่างกายลูกน้อยในครรภ์ จึงช่วยวินิจฉัยความผิดปกติเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ได้ เช่น ลูกไม่เจริญเติบโต ตั้งครรภ์นอกมดลูก แท้งลูก หรือลูกมีความพิการบางอย่าง ครรภ์แฝด น้ำคร่ำมากหรือน้อยเกินไป มีรกเกาะต่ำหรือไม่ และหลังจาก 4 เดือนไปแล้วก็จะสามารถตรวจเพศของลูกได้ว่าเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย เป็นต้น และหมอหลาย ๆ ท่านก็แนะนำให้ตรวจอัลตราซาวนด์ในช่วงอายุครรภ์ 4-5 เดือน หรือสัปดาห์ที่ 18-20 เนื่องจากช่วงนี้จะเริ่มเห็นอวัยวะต่าง ๆ ได้ครบทุกอย่าง ซึ่งก็เป็นการตรวจไปในตัวว่าทารกสมบูรณ์หรือมีความผิดปกติหรือไม่
ในอดีตอัลตราซาวนด์จะเป็นแบบ 2 มิติ คือเป็นภาพเงาขาว-ดำ เห็นได้ไม่ชัดเจน แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเป็น 3 มิติ ที่สามารถมองเห็นกระแสไหลเวียนของเลือดได้ มีความลึกคล้ายกับการถ่ายรูป ทำให้สามารถเห็นขนาดของลูกน้อยในครรภ์ชัดมากขึ้น ถ้ามีความผิดปกติบางอย่าง เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ ก็จะสามารถตรวจเห็นได้เลย และภายหลังได้มีการเพิ่มมิติของเวลาเข้าไปรวมเป็น 4 มิติ ทำให้เราสามารถเห็นภาพการเคลื่อนไหว เห็นอิริยาบถต่าง ๆ ของลูกน้อยในครรภ์ได้อย่างชัดเจน และสามารถตรวจดูมดลูกและรังไข่ได้ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ได้อีกด้วย ดังนั้น “หากตรวจปัสสาวะแล้วได้ผลบวก การตรวจอัลตราซาวนด์จะช่วยรับรองผลได้เป็นอย่างดี“
การตรวจการเต้นของหัวใจทารก
เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ใช้ตรวจภายหลังมีการตรวจยืนยันแล้วว่ามีการตั้งครรภ์จริง ๆ โดยคุณหมอจะใช้หูฟัง (Stethoscope) ตรวจฟังเสียงการเต้นของหัวใจทารกได้เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 17-19 สัปดาห์
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด. “การตรวจว่าตั้งครรภ์หรือไม่”. (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ). หน้า 29-33.
- หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ. “ทดสอบให้แน่ใจว่าตั้งครรภ์จริง”. (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์). หน้า 19.
- ข้อมูลอื่น ๆ จากอินเทอร์เน็ต
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)