การตรวจการได้ยิน
การตรวจการได้ยิน, การตรวจระดับการได้ยิน หรือการตรวจวัดสมรรถภาพการได้ยิน (Audiometry หรือ Audiometric test) คือ การตรวจการทำงานของหูและระบบโสตประสาทเพื่อหาระดับการได้ยินของหูทั้ง 2 ข้าง ด้วยเครื่องวัดสมรรถภาพการได้ยิน (Audiometer) ที่ปล่อยสัญญาณเสียงบริสุทธิ์ โดยให้ผู้เข้ารับการตรวจฟังเสียงผ่านหูฟังแบบครอบเพื่อหาระดับเสียงต่ำสุดที่เริ่มได้ยิน (Hearing threshold level) ในแต่ละความถี่ต่าง ๆ ได้แก่ 500, 1000, 2000, 3000, 4000, 6000 และ 8000 เฮิร์ตซ์ (Hz) ของหูแต่ละข้าง
การตรวจได้ยินแบบคัดกรองทั่วไป (Screening audiometry) จะเป็นการตรวจเฉพาะการนำเสียงทางอากาศ (Air conduction) ที่ตรวจโดยการครอบหูฟัง ซึ่งเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายและใช้เวลาไม่นาน แต่เมื่อพบผลตรวจที่ผิดปกติจากการตรวจแบบคัดกรอง ก็จะต้องมีการตรวจการได้ยินแบบยืนยัน (Confirmatory audiometry) กับนักโสตสัมผัสวิทยา (Audiologist) และตรวจร่างกายหาสาเหตุโรค รวมถึงทำการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก ที่โรงพยาบาลอีกต่อหนึ่ง ซึ่งการตรวจแบบยืนยันนี้จะใช้เวลาตรวจมากกว่าการตรวจแบบคัดกรองเพราะจะเป็นการตรวจในห้องเก็บเสียงที่เงียบสนิท การตรวจจะทำทั้งการนำเสียงผ่านทางอากาศ (Air conduction) และการนำเสียงผ่านทางกระดูก (Bone conduction) ที่จะทำการตรวจโดยการวางตัวปล่อยเสียงที่กระดูกกกหู นอกจากนี้ในบางครั้งเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่สงสัยเพิ่มขึ้น แพทย์อาจมีการส่งตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น การทดสอบรินเน (Rinne test), การทดสอบเวเบอร์ (Weber test), การทดสอบการทำงานของหูชั้นกลาง (Tympanometry)
วัตถุประสงค์ของการตรวจการได้ยิน
- เพื่อประเมินสมรรถภาพการได้ยินและดูความพร้อมในการทำงานของผู้สมัครงานในบางตำแหน่งที่จำเป็นต้องใช้ความสามารถในการรับฟังเสียงที่ดีเพียงพอ จึงจะสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย เช่น พนักงานขับรถ ขับเรือ ผู้ที่ต้องทำงานในที่สูง ช่างเครื่องยนต์ นักดนตรี
- เพื่อที่บริษัทผู้จ้างงานจะได้มีข้อมูลพื้นฐานเก็บไว้ว่าผู้สมัครงานรายนั้นก่อนที่จะเข้าทำงานในบริษัทของตนมีสมรรถภาพการได้ยินพื้นฐานเป็นอย่างไร เมื่อทำงานไปนาน ๆ แล้วการได้ยินยังคงดีเท่าเดิมหรือลดลงหรือไม่ โดยเฉพาะในสถานที่ทำงานที่มีสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง
- เพื่อค้นหาปัญหาของการสูญเสียการได้ยินหรือตรวจติดตามตามระยะ เช่น ปีละครั้ง จากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจในกลุ่มพนักงานที่มีความเสี่ยงต่อโรคประสาทหูเสื่อมเนื่องจากทำงานอยู่ในที่ที่มีเสียงดัง หากผลตรวจพบว่าสมรรถภาพการได้ยินลดลงกว่าปีก่อน แพทย์จะได้ทำการหาสาเหตุและตรวจรักษาได้
- เพื่อติดตามผลระบบควบคุมป้องกันด้านสิ่งแวดล้อม
ข้อห้ามสำหรับการตรวจการได้ยิน
- มีอาการปวดหัวหรือรู้สึกไม่สบายหู เช่น กำลังติดเชื้อ หรือเกิดการอักเสบที่ใบหูหรือรูหูอย่างรุนแรง เช่น ติดเชื้องูสวัดที่ผิวหนังบริเวณใบหูหรือรูหู
- มีน้ำหรือหนองไหลจากหูในขณะที่เข้ารับการตรวจการได้ยิน
- เพิ่งได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหรือตกแต่งกระดูกโกลนของหูชั้นกลาง รวมทั้งการผ่าตัดของหูชั้นกลางอื่น ๆ ภายในระยะเวลา 3 เดือนก่อนเข้ารับการตรวจการได้ยิน (สามารถได้รับการพิจารณาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก เป็นกรณี ๆ ไปได้)
ขั้นตอนการตรวจการได้ยิน
ก่อนเข้ารับการตรวจควรมีการพักหูอย่างน้อย 12 ชั่วโมง เมื่อมาถึงผู้เข้ารับการตรวจจะถูกซักประวัติ (ประวัติส่วนตัว ประวัติการทำงาน ประวัติการเจ็บป่วย และประวัติการการสัมผัสเสียง) และตรวจช่องหูเบื้องต้นด้วยเครื่องตรวจหูชั้นนอก (Otoscope) ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติก็จะเริ่มการตรวจการได้ยินด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า “Audiometer” ซึ่งจะมีขั้นตอนการตรวจดังนี้
- ก่อนการตรวจเจ้าหน้าที่หรือนักโสตสัมผัสวิทยาจะทำการอธิบายรายละเอียดของขั้นตอนการตรวจ และจะทำการตรวจในห้องเงียบที่มีเสียงรบกวนต่ำ (ถ้าให้ดีที่สุดควรจะเป็นห้องเก็บเสียงหรือตู้ตรวจการได้ยินที่เก็บเสียงได้)
- จากนั้นเจ้าหน้าที่จะครอบหูฟังให้ผู้เข้ารับการตรวจ (หูฟังด้านสีแดงครอบหูข้างขวา ส่วนหูฟังด้านสีฟ้าครอบหูด้านซ้าย) และทำการปล่อยเสียงความถี่เดียวที่ระดับความดังต่าง ๆ แล้วลดระดับลงเรื่อย ๆ จนถึงระดับความดังที่ต่ำที่สุดที่ผู้เข้ารับการตรวจได้ยิน และทำการบันทึกผลลงในแบบฟอร์มตามความถี่แต่ละความถี่อย่างชัดเจน
- การตรวจจะเริ่มจากการตรวจหูข้างขวา (หรือหูที่ไม่มีประวัติการได้ยินผิดปกติ) แล้วจะเริ่มการตรวจที่ความถี่ 1000 Hz ที่ความดัง 40 dB จากนั้นจะตรวจที่ความถี่ 2000, 3000, 4000, 6000, 8000 Hz และกลับมาตรวจที่ 500 Hz จากนั้นจึงตรวจที่ความถี่ 1000 Hz ใหม่อีกครั้งเพื่อทดสอบความแปรปรวน (การตรวจที่ 1000 Hz ทั้งสองครั้งนี้จะต้องต่างกันไม่เกิน 5 dB ถ้าต่างกันเกิน 5 dB เจ้าหน้าที่จะทำการขยับที่ครอบหูให้ใหม่ อธิบายขั้นตอนการตรวจอีกครั้ง และตรวจที่ 1000 Hz ใหม่ แต่การตรวจหูอีกข้างจะไม่ต้องทำการตรวจสอบความแปรปรวนนี้อีก)
- ในการหาระดับเสียงต่ำสุดที่ได้ยินในแต่ละความถี่นั้น เจ้าหน้าที่จะทำการลดระดับความดังของสัญญาณเสียงลงทีละ 10 dB จนถึงระดับที่ผู้เข้ารับการตรวจไม่ได้ยิน และเพิ่มระดับความดังขึ้นทีละ 5 dB จนได้ยินซ้ำ 2-4 ครั้ง (ถ้าผู้เข้ารับการตรวจตอบสนองถูกต้องได้เกิน 50% คือ 2 ครั้งขึ้นไปจะถือว่าระดับความดังนั้นเป็นระดับเสียงต่ำสุดที่ได้ยินของความถี่นั้น แล้วเจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกผลที่ได้ลงในแบบฟอร์ม)
- ต่อจากนั้นจะเป็นการตรวจในความถี่ถัดไป โดยเริ่มที่ระดับความดังที่มากกว่าระดับเสียงต่ำสุดที่ได้ยินของความถี่ของก่อนหน้า 30 dB (เช่น ถ้าความถี่ก่อนหน้ามีระดับต่ำสุดที่ได้ยินเท่ากับ 20 dB ก็ให้เริ่มการตรวจในความถี่ถัดไปที่ระดับความดัง 50 dB) แล้วใช้วิธีการลดระดับความดังลงทีละ 10 dB และเพิ่มระดับความดังขึ้นทีละ 5 dB เพื่อหาระดับเสียงต่ำสุดที่ได้ยินไปเรื่อย ๆ จนครบทุกความถี่
- เมื่อเสร็จแล้วจะเป็นการตรวจในหูอีกข้างด้วยเทคนิคแบบเดียวกันไปจนครบทุกความถี่
ผลการตรวจการได้ยิน
ผลการตรวจการได้ยินอาจแสดงเป็นกราฟหรือเป็นค่าตัวเลขแยกตามความถี่ก็ได้ ซึ่งหน่วยของเสียงในแต่ละความถี่จะบันทึกผลเป็นเดซิเบล (dB) โดยหากผลการตรวจแสดงเป็นกราฟ แนวด้านบนจะเป็นตัวเลขของระดับความถี่เสียง (hZ) ส่วนตัวเลขด้านข้างจะเป็นระดับของเสียง (dB) ที่แตกต่างกันไป
- ความถี่ของเสียงจะมีหน่วยเป็นรอบต่อวินาทีหรือเฮิร์ตซ์ (Hz) ยิ่งความถี่สูงมากเท่าไหร่ ระดับของเสียงก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น เช่น เสียงน้ำหยดมีความถี่เพียง 250 เฮิร์ตซ์ ในขณะที่เสียงเตือนแหลมสูงของโทรศัพท์จะอยู่ที่ 8,000 เฮิร์ตซ์
- ความดังของเสียงจะมีหน่วยเป็นเดซิเบล (dB) โดยที่ค่า 0 เดซิเบล (dB) ไม่ได้แปลว่า “ไม่มีเสียง” เพียงแต่เสียงนั้นจะเบามากเท่านั้นเอง โดยระดับเสียงการสนทนาทั่วไปจะอยู่ที่ 65 เดซิเบล ส่วนเสียงที่ระดับ 120 เดซิเบลนั้นจะถือว่าดังมาก ๆ ซึ่งดังพอ ๆ กับเสียงเครื่องบินที่อยู่ห่างออกไปเพียง 25 เมตร ! (สังเกตได้จากตัวเลขด้านข้างของกราฟที่แสดงระดับการได้ยิน)
ส่วนผลการตรวจของหูข้างขวาจะแสดงด้วยเครื่องหมายวงกลมสีแดง ในขณะที่ผลการตรวจหูข้างซ้ายจะแสดงด้วยเครื่องหมายกากบาทสีน้ำเงิน ซึ่งผลการตรวจที่ปกติในเบื้องต้นในทุกความถี่ที่ตรวจควรจะได้ยินในความดังไม่เกิน 25 dB ดังรูป
แต่ในกรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจมีการได้ยินที่ผิดปกติเนื่องจากภาวะประสาทหูเสื่อม กราฟก็จะมีลักษณะเฉพาะที่พบได้ในช่วงแรกของการเกิดโรค คือจะมีการลดลงของเสียงในช่วงความถี่สูงก่อน โดยรูปกราฟมักจะลดลงเป็นรอยบากที่ตำแหน่งความถี่ 4000 Hz และการลดลงของการได้ยินหูทั้งสองข้างมักจะใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตามกราฟการได้ยินของภาวะประสาทหูเสื่อมจากเสียงดังอาจพบเป็นลักษณะอย่างอื่นก็ได้ หรือภาวะการได้ยินผิดปกติจากสาเหตุอื่นๆ ก็อาจทำให้เกิดมีลักษณะกราฟที่คล้ายคลึงกับลักษณะดังกล่าวนี้ก็เป็นไปได้เช่นกัน
สรุปก็คือ ผลการตรวจการได้ยินนั้นเป็นเพียงข้อมูลที่ทำให้ทราบว่าการได้ยินของหูแต่ละข้างเป็นอย่างไร ปกติหรือผิดปกติ ถ้าผิดปกติมีรูปแบบการผิดปกติอย่างไร แต่จะไม่สามารถใช้วินิจฉัยหรือชี้ชัดได้แน่นอนว่าการได้ยินผิดปกตินั้นเกิดจากสาเหตุใดและต้องวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
ความผิดปกติของระดับการได้ยิน
โดยปกติแล้วระดับการได้ยินของคนปกติจะอยู่ที่ระหว่าง -10 จนถึง 25 เดซิเบล ซึ่งผู้ที่มีระดับการได้ยินสูงกว่านี้จะถือว่ามีความผิดปกติของระดับการได้ยิน โดยแบ่งเป็นระดับต่าง ๆ ดังนี้
-10 ถึง 25|การได้ยินอยู่ในระดับปกติ
26 ถึง 40|หูตึงเล็กน้อย
41 ถึง 55|หูตึงปานกลาง
56 ถึง 70|หูตึงมาก
70 ถึง 90|หูตึงอย่างรุนแรง
มากกว่า 90|หูหนวก
ประเภทของการสูญเสียการได้ยิน
ประเภทของการสูญเสียการได้ยินแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้
- การสูญเสียการได้ยินเฉพาะการนำเสียงผ่านอากาศ (Conductive hearing loss) เป็นการสูญเสียความสามารถในการนำเสียงของหูชั้นนอกหรือหูชั้นกลาง (หูชั้นในและระบบประสาทการได้ยินยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ) โดยจะพบว่าระดับการได้ยินของการนำเสียงผ่านกระดูกอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนระดับการได้ยินของการนำเสียงผ่านอากาศสูงกว่า 25 เดซิเบล
- การสูญเสียการได้ยินที่โสตประสาท (Sensorineural hearing loss) เป็นการสูญเสียความสามารถในการนำเสียงของหูชั้นในหรือระบบประสาทการได้ยิน โดยจะพบว่าระดับการได้ยินของการนำเสียงผ่านกระดูกและการนำเสียงผ่านอากาศสูงกว่า 25 เดซิเบล โดยที่ทั้งสองเส้นของระดับการได้ยินจะห่างกันไม่เกิน 15 เดซิเบล
- การสูญเสียการได้ยินแบบผสม (Mixed hearing loss) เป็นการสูญเสียความสามารถในการนำเสียงของหูชั้นนอกหรือชั้นกลาง ร่วมกับมีการสูญเสียความสามารถของหูชั้นในและระบบประสาทการได้ยินด้วย โดยจะพบว่าระดับการได้ยินของการนำเสียงผ่านกระดูกและการนำเสียงผ่านอากาศสูงกว่า 25 เดซิเบล แต่ทั้งสองเส้นของระดับการได้ยินห่างกันมากกว่า 15 เดซิเบล (แสดงว่าการนำเสียงผ่านอากาศแย่กว่าการนำเสียงผ่านกระดูก)
ผู้ที่ผลการตรวจการได้ยินผิดปกติ ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก เพื่อหาสาเหตุ ซึ่งการรักษาอาจเป็นการใช้ยาหรือรักษาด้วยการผ่าตัด นอกจากนี้อาจจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ เช่น การใช้เครื่องช่วยฟัง รวมทั้งได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวด้วย
เอกสารอ้างอิง
- ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “การตรวจระดับการได้ยิน”. (รศ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [25 ก.ย. 2018].
- สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม. “หลักการตรวจคัดกรองสมรรถภาพการได้ยิน”. (ดร.อรพันธ์ อันติมานนท์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : envocc.ddc.moph.go.th. [26 ก.ย. 2018].
- มูลนิธิสัมมาอาชีวะ. “จะทำอย่างไรเมื่อผลตรวจสมรรถภาพการได้ยินออกมาผิดปกติ”. (นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์, นพ.สุดเขต นรัฐกิจ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.summacheeva.org. [27 ก.ย. 2018].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)