การคลอดฉุกเฉิน
คุณแม่ส่วนใหญ่มักเตรียมตัวและเดินทางไปโรงพยาบาลหลังจากมีอาการเจ็บครรภ์คลอด มีน้ำเดิน มีมูกเลือด หรือลูกดิ้นน้อยลง แต่ในบางครั้งการตัดสินใจเดินทางอาจช้าเกินไป โรงพยาบาลอยู่ห่างไกลจากบ้าน หรือการจราจรติดขัด ก็อาจทำให้คุณแม่คลอดลูกในรถก่อนที่จะมาถึงโรงพยาบาลได้ นับเป็นการคลอดฉุกเฉินซึ่งไม่มีคุณแม่คนใดปรารถนาจะให้เกิดขึ้น การคลอดกะทันหันมักพบในคุณแม่ครรภ์หลัง ๆ เพราะคุณแม่จะมีอาการเจ็บครรภ์ไม่นานเท่าครรภ์แรก จากนั้นคุณแม่ก็เกิดมีลมเบ่งขึ้นมาทันที ห้ามอย่างไรก็ไม่ไหว จะรอให้ไปถึงโรงพยาบาลก่อนก็ไม่ได้ และคุณแม่จำเป็นต้องคลอดเองในเวลาไม่นาน
คลอดฉุกเฉินที่บ้าน
ถ้าคุณแม่มีความจำเป็นต้องคลอดที่บ้านโดยไม่มีทางเลือก คุณพ่อก็คงต้องเป็นคนทำคลอดโดยจำเป็น ประการแรกให้คุณพ่อรีบติดต่อทางโรงพยาบาลโดยด่วนและอย่าทิ้งคุณแม่ไว้เพียงลำพังในขณะเจ็บท้องคลอด คุณพ่อควรปลอบโยนและให้กำลังใจคุณแม่ตลอดเวลาด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลอ่อนโยน เพื่อให้บรรยากาศการคลอดเงียบสงบและมีสมาธิมากที่สุด ทารกส่วนใหญ่ที่คลอดกะทันหันแบบนี้มักไม่มีปัญหาอะไร คุณพ่อควรเตรียมตัวเตรียมใจและตั้งสติเอาไว้ให้มั่น แม้ในใจจะตื่นเต้นเพียงใดก็ตาม
- ช่วงพัก เป็นช่วงที่คุณแม่จะได้ผ่อนคลายระยะหนึ่งเพราะมดลูกหยุดบีบตัว คุณพ่อควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ เตรียมน้ำอุ่น ๆ ไว้สำหรับเช็ดเนื้อเช็ดตัวให้ลูกน้อยและจัดเตรียมผ้าขนหนูเอาไว้หลาย ๆ ผืนให้หยิบใช้ได้สะดวก
- ลูกคลอดแล้ว เมื่อถึงเวลาคลอด คุณแม่จะรู้ตัวดี ลูกจะเคลื่อนตัวมาถึงที่ปากช่องคลอด ทำให้คุณแม่รู้สึกปวดแสบปวดร้อน คุณพ่อต้องคอยเตือนคุณแม่ให้หายใจสั้น ๆ หรือเป่าลมออกช้า ๆ เพื่อช่วยให้ช่องคลอดและอุ้งเชิงกรานค่อย ๆ ยืดขยาย คุณแม่ควรล้างมือให้สะอาด แล้วคลำดูว่าหัวของลูกโผล่ที่ปากช่องคลอดแล้วหรือยัง หัวลูกอาจดันออกมาเมื่อมดลูกบีบรัดตัวในครั้งต่อไปทันที เมื่อหัวคลอดแล้วให้คุณพ่อใช้สำลีชุบน้ำชุ่ม ๆ เช็ดตา และคลำรอบคอลูกดูว่ามีสายสะดือพันอยู่หรือไม่ ถ้าพันก็ให้ดึงหรือรูดออกให้พ้นหัวลูก และอย่าแตะต้องสายสะดืออีกไม่ว่าในกรณีใด ๆ เพราะสายสะดืออาจหดรัดทำให้ลูกขาดออกซิเจนได้ และอย่าดึงหัว ลำตัว หรือสายสะดือของลูกเป็นอันขาด เมื่อลูกคลอดออกมาแล้ว คุณพ่อต้องจับลูกให้แน่น ๆ เพราะตัวลูกจะลื่นมาก ถ้ามีถุงน้ำคร่ำปิดหน้าลูกอยู่ ให้ค่อย ๆ ฉีกออก แล้วลูกจะหายใจได้เอง แต่ถ้าลูกยังไม่ร้องในทันทีหลังคลอด ให้จับตัวลูกพาดไว้บนหน้าท้องหรือต้นขาของคุณแม่ โดยให้หัวลูกอยู่ต่ำกว่าเท้า แล้วลูบหลังลูกเบา ๆ เพื่อขับมูกและกระตุ้นความดันโลหิต ซึ่งจะช่วยให้ลูกหายใจได้เองเป็นครั้งแรก
- ภายหลังการคลอด หลังการคลอดใหม่ ๆ คุณพ่อควรส่งลูกไปให้คุณแม่โอบกอดไว้เพื่อให้ได้ไออุ่นและให้ลูกดูดนมทันที ถ้าลูกยังไม่ยอมดูดก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าลูกดูดก็จะเป็นผลดีกับคุณแม่ เพราะร่างกายจะได้รับการกระตุ้นให้หลั่งฮอร์โมนออกซีโตซินออกมา ทำให้มดลูกหดรัดตัวและบีบดันให้รกคลอดออกมาเร็วขึ้น คุณพ่อควรหาผ้าห่มหรือผ้าเช็ดตัวมาห่มให้คุณแม่กับลูกน้อยเพื่อให้ความอบอุ่นด้วย เพราะการให้ความอบอุ่นกับลูกนั้นมีความสำคัญอย่างมาก ถ้าอุณหภูมิร่างกายลดลงมาก ๆ ลูกจะเป็นอันตรายได้ และระวังอย่าให้ลูกหัวเย็น เพราะเป็นบริเวณที่ทารกแรกเกิดจะสูญเสียความร้อนในร่างกายไปได้ง่ายมากที่สุด ส่วนตัวลูกน้อยที่คลอดใหม่ ๆ นั้นจะมีสีซีดคล้ำ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องตกใจ เพราะสักครู่หนึ่งเมื่อลูกหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปใน 2-3 นาทีแรก ตัวลูกก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพูขึ้นมา ถึงเวลานี้คุณพ่อคุณแม่อย่าได้พยายามชำระล้างไขที่ติดตัวลูกออกและห้ามตัดสายสะดือเองโดยเด็ดขาด (ไขที่ติดอยู่ตามตัวลูกจะช่วยรักษาอุณหภูมิในตัวลูกและทำให้ลูกอบอุ่น) ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณหมอ แล้วรีบเดินทางไปโรงพยาบาลทันที
คลอดฉุกเฉินบนรถ
- คุณแม่ควรทำความเข้าใจและฝึกปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง เมื่อคุณแม่กำลังเดินทางไปโรงพยาบาลและเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจนต้องคลอดกะทันหัน เกิดมีลมเบ่งขึ้นมาอย่างทันทีทันใดในขณะที่ยังไม่ถึงเวลา คุณแม่ควรตั้งสติให้มั่นและใจเย็น ๆ ให้พยายามกลั้นลมเบ่งไว้ด้วยการหายใจเข้าออกสั้น ๆ ทางปากหรือเป่าลมหายใจออก ทำติดต่อกันไปเรื่อย ๆ เพื่อยืดระยะเวลาออกไปให้นานที่สุด แล้วรีบเดินทางไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว เพราะการคลอดแต่ละครั้งอาจเกิดอันตรายกับคุณแม่และลูกน้อยได้เสมอ
- หากคุณแม่คิดว่าจะต้องคลอดเป็นแน่แล้ว ลมเบ่งก็มีมากขึ้นจนกลั้นไม่อยู่ หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วจริง ๆ ควรจะจอดรถและหาสถานที่ที่เหมาะสมในการเตรียมตัวคลอด ซึ่งอาจจะเป็นเบาะหลังหรือพื้นรถก็ได้ และต้องเตรียมผ้าขนหนูสะอาดไว้รองรับลูกน้อยที่คลอดออกมาด้วย คุณแม่อาจคลอดลูกในรถ โดยมีคุณพ่อช่วยเหลืออยู่ใกล้ ๆ ตลอดเวลา
- ตามธรรมชาติแล้วแรงบีบของมดลูกเพียงอย่างเดียวก็สามารถทำให้คลอดลูกออกมาได้โดยไม่ต้องอาศัยลมเบ่งจากคุณแม่ ถ้าคุณแม่มีลมเบ่งในขณะที่ยังไม่ถึงเวลา ให้พยายามกลั้นไว้โดยหายใจสั้น ๆ และทำไปเรื่อย ๆ เพื่อยืดเวลาให้นานที่สุด แต่ถ้ามดลูกหดรัดตัวอย่างสม่ำเสมอและไม่สามารถยับยั้งการคลอดได้ ให้คุณแม่พยายามคลอดอย่างช้า ๆ อย่าออกแรงเบ่งมากจนเกินไปเพราะอาจจะทำให้บริเวณปากช่องคลอดและกล้ามเนื้อภายในอุ้งเชิงกรานฉีกขาดได้ หลังจากหัวลูกคลอดออกมาแล้ว ไม่นานนักตัวลูกก็จะคลอดตามมา (ในระหว่างการคลอดคุณแม่อย่าหนีบขาไว้เป็นอันขาด เพราะจะไปบีบหัวลูกอาจทำให้ขาดออกซิเจนและเกิดอันตรายกับสมองของลูกได้)
- คุณพ่อควรเตรียมตัวรับลูกให้ดีตอนลูกคลอดออกมา ต้องจับลูกให้แน่น ๆ เพราะลำตัวของลูกจะลื่นมาก ถ้ายังมีถุงน้ำคร่ำห่อหุ้มตัวลูกอยู่ คุณพ่อควรฉีกถุงน้ำคร่ำออกเพื่อให้ลูกหายใจได้เอง ถ้าลูกยังไม่ส่งเสียงร้อง คุณพ่อจะต้องจับขาลูกแล้วยกขึ้นสูงเพื่อให้ศีรษะห้อยลงต่ำกว่าเท้า แล้วลูบหลังเบา ๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกร้องและหายใจได้เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นให้ใช้ผ้าสะอาดหรือเสื้อผ้าก็ได้ห่อตัวลูกให้อบอุ่นมิดชิด แล้วอุ้มลูกเอาไว้แนบอก ถ้ารกคลอดออกมาด้วยก็ให้ห่อรกรวมไว้กับลูกด้วย โดยยังไม่ต้องตัดสายสะดือ (ห้ามตัดสายสะดือเด็ดขาด) และรีบนำลูกกับแม่ไปโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน เมื่อถึงโรงพยาบาลคุณหมอและพยาบาลจะช่วยดูแลลูกน้อยและคุณแม่ได้อย่างปลอดภัย
รกคลอดแล้วควรทำอย่างไร
เมื่อคุณหมอยังมาไม่ถึง แต่รกคลอดออกมาแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ห้ามดึงหรือแตะต้องสายสะดือ
- ห้ามตัดสายสะดือโดยเด็ดขาด
- พยายามนวดมดลูกจนแข็ง การนวดนี้สำคัญมากเพราะจะช่วยให้มดลูกหดรัดตัว คุณแม่จะได้ไม่ตกเลือด วิธีการนวดก็คือ ให้กดคลึงเป็นวงกลมลึกลงไปในท้องน้อยประมาณ 5-7 เซนติเมตร
- หลังจากรกคลอดออกมาแล้ว คุณแม่จะมีเลือดออก ไม่ต้องตื่นตกใจเพราะเป็นเรื่องปกติ
- คุณแม่ควรให้ลูกดูดนมทันที เพราะจะช่วยกระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัวดีและลดการสูญเสียเลือดได้
- ถ้าลูกไม่ยอมดูดนม ให้คุณแม่นวดหัวนมเบา ๆ ซึ่งจะเป็นวิธีที่ช่วยกระตุ้นฮอร์โมนออกซีโตซินให้หลั่งออกมาได้เช่นกัน
สายสะดือโผล่ควรทำอย่างไร
หลังจากถุงน้ำคร่ำแตก ถ้าพบว่ามีสายสะดือโผล่ออกมาที่ปากช่องคลอด (ในกรณีที่ยังไม่คลอดออกมา) ถือเป็นสัญญาณอันตราย แต่คุณแม่อย่าเพิ่งด่วนตกใจ ให้ตั้งสติและรีบโทรติดต่อขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลโดยด่วน เพราะหากสายสะดือถูกกดทับมากลูกก็จะขาดออกซิเจนมากขึ้นเช่นกัน ให้คุณแม่ตั้งสติให้ดีแล้วนั่งคุกเข่าลงกับพื้น ก้มตัวลงให้หน้าผากแตะพื้น ยกก้นขึ้นให้สูง พยายามให้เข่าชิดอกเพื่อไม่ให้ศีรษะของลูกกดทับลงบนสายสะดือมากเกินไป ขณะเดินทางไปโรงพยาบาลคุณแม่ต้องอยู่ในท่านอนเข่าชิดยกก้นขึ้นสูงตลอดเวลาเพื่อลดความดันที่กดบนสะดือ ห้ามจับหรือกดสายสะดือโดยเด็ดขาด หากคุณแม่มีภาวะสายสะดือย้อย คุณหมอจะผ่าคลอดฉุกเฉินให้ทันที
สรุป การคลอดกะทันหันเป็นเรื่องที่ทั้งคุณแม่และคุณหมออยากจะเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อลูกและตัวแม่เอง ดังนั้นในระหว่างการฝากครรภ์ จึงควรได้มีการประสานงานที่ดีระหว่างคุณแม่และคุณหมอ เพื่อตัดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการคลอดกะทันหันออกไป เช่น หากคุณแม่พักอาศัยหรือมีที่ทำงานอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลมาก ก็ควรย้ายมาฝากครรภ์หรือเลือกโรงพยาบาลที่เดินทางได้สะดวก แต่ถ้าคุณแม่พอใจที่จะคลอดที่เดิมก็ควรแจ้งให้คุณหมอทราบถึงปัญหาการเดินทาง เพื่อที่คุณหมอจะได้นัดมาเร่งคลอดก่อนที่จะเจ็บท้องเอง ทั้งนี้รวมถึงคุณแม่ครรภ์หลังที่เคยมีประวัติการคลอดง่ายมาก่อน (โดยปกติแล้วท้องต่อไปจะยิ่งคลอดง่ายมากขึ้น) ก็ควรจะเล่าประวัติการคลอดให้คุณหมอได้รับทราบด้วย เพื่อที่จะได้หาทางป้องกันการคลอดฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นกับคุณแม่
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ. “คลอดกะทันหัน”. (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์)”. หน้า 228-229.
ภาพประกอบ : imaginalhealth.com, www.dailynews.co.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)