คลอดก่อนกำหนด
การคลอดก่อนกำหนด หรือ การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด (Preterm labor, Premature labor) ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก หมายถึง ทารกที่คลอดเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ หรือ 259 วัน โดยเริ่มนับจากวันแรกของวันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย[2],[3] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าการคลอดก่อนกำหนด หมายถึง สตรีที่มีระยะการตั้งครรภ์ไม่ถึง 38 สัปดาห์เต็ม หรือ 266 วัน (หรือก่อนวันกำหนดวันคลอดมากกว่า 2 สัปดาห์) โดยเริ่มนับจากวันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย[1]
โดยปกติแล้วเมื่อไปฝากครรภ์แพทย์ผู้ดูแลจะคาดคะเนวันคลอดหรือวันกำหนดคลอดให้ ซึ่งอายุครรภ์ที่ครบกำหนดของคนทั่วไปจะอยู่ที่ 40 สัปดาห์ หรือ 280 วัน คือ เริ่มนับจากวันแรกที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายแล้วบวกไปอีก 280 วัน และในทางการแพทย์จะถือว่าการคลอดก่อนหรือหลังกำหนดวันคลอด 2 สัปดาห์ คือ ในระหว่าง 38-42 สัปดาห์ ยังถือว่าอยู่ในระยะการคลอดตามกำหนด
การคลอดก่อนกำหนดเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ทางสูติแพทย์และกุมารแพทย์ยังพบได้อยู่ในปัจจุบันนี้ ในปี พ.ศ.2548 องค์การอนามัยโลกได้ประมาณว่ามีทารกคลอดก่อนกำหนดประมาณ 12.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 9.6% ของการคลอดทั้งหมด ส่วนในประเทศไทยมีรายงานจากโรงพยาบาลศิริราชว่า อัตราการคลอดก่อนกำหนดมีสูงถึง 12.9%[2] และยังพบว่ามีทารกที่คลอดก่อนกำหนดประมาณ 6-7 ใน 100 คน จะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม[1] ซึ่งส่วนใหญ่ทารกจะตัวเล็ก อวัยวะต่าง ๆ ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ เช่น ปอดไม่เติบโตพอที่จะหายใจได้ตามปกติ ตับยังทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้ตัวเหลือง หรือทารกดูดนมไม่ค่อยเก่ง เป็นต้น
หมายเหตุ : หากทารกคลอดในช่วงระหว่างอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ ถึงก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์[2] (ส่วนองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่อายุครรภ์ตั้งแต่ 22 สัปดาห์ขึ้นไป[1]) จะเรียกว่า “การคลอดก่อนกําหนด” หรือ “ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด” (Preterm labor, Premature labor) และจะเรียกทารกที่เกิดแล้วว่า “ทารกคลอดก่อนกำหนด” (Preterm infant, Premature infant, Preemie, Premie) ถ้าทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม จะเรียกว่า “ทารกน้ำหนักน้อย” แต่ถ้ามีน้ำหนักเฉลี่ยน้อยกว่า 1,500 กรัม จะเรียกว่า “ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยมาก” ส่วนทารกที่คลอดก่อนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ซึ่งมักเสียชีวิต จะเรียกว่า “การแท้ง” (Abortion)[2] (บางข้อมูลใช้เกณฑ์การคลอดที่อายุครรภ์ต่ำกว่า 20 สัปดาห์ถือเป็นการแท้ง)
อันตรายจากการคลอดก่อนกำหนด
ทารกที่คลอดก่อนกำหนดน้อย ๆ เช่น 1-2 สัปดาห์ หรือคลอดสัปดาห์ที่ 35-36 ส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหาอะไร แต่ทารกที่มีปัญหามาก ๆ จะเป็นทารกที่คลอดก่อนกว่ากำหนดมาก ทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยมาก (น้อยกว่า 1,500 กรัม) ซึ่งทารกในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นทารกที่คลอดเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ 32-33 สัปดาห์ และยิ่งถ้าคลอดก่อนกำหนดมากขึ้นเท่าไรปัญหาก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น
“เนื่องจากอวัยวะต่าง ๆ ของทารกที่คลอดก่อนกำหนดยังเจริญเติบโตได้ไม่สมบูรณ์ จึงทำให้อัตราการตายของทารกมีสูงมากกว่าทารกที่คลอดครบกำหนดถึง 3 เท่า และยังพบว่าทารกแรกคลอดจำนวน 2 ใน 3 ที่เสียชีวิตในเดือนแรกเป็นทารกที่คลอดก่อนกำหนด[1]“
การคลอดก่อนกำหนดเป็นความผิดปกติทางสูติกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ทารกเสียชีวิตและมีความพิการสูง ซึ่งปัญหาของทารกที่คลอดก่อนกำหนดก็มีมากมาย เช่น มีน้ำหนักตัวน้อย การขยายตัวของปอดไม่สมบูรณ์ทำให้มีปัญหาในการหายใจ มีปัญหาเลือดออกในสมอง เกิดการติดเชื้อ มีพัฒนาการทางด้านร่างกายไม่ดี และสมองอาจมีความพิการได้ง่าย ส่วนทารกกลุ่มที่มีน้ำหนักตัวน้อย นอกจากจะต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลานานและทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการดูแลสูงแล้ว ยังพบว่ามีผลหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบการทำงานต่าง ๆ ในร่างกายของทารกในระยะยาวอีกด้วย เช่น ทารกมีปัญหาด้านสติปัญญา สายตา และมักมีสุขภาพไม่แข็งแรง แม้ว่าจะผ่านช่วงที่มีปัญหาระยะเฉียบพลันหรือระยะแรกคลอดไปได้ก็ตาม (ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ที่เด็กเกิด)[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าแม้ทารกแรกเกิดจะมีสุขภาพปกติดีก็ตาม แต่พัฒนาการก็จะไม่เท่ากับทารกที่คลอดครบกำหนด คือ เด็กมักจะอ่อนแอ ดูแลได้ยาก กินอาหารแล้วย่อยได้ยาก และมีการเจริญเติบโตช้ากว่าเด็กปกติ[1] อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรงพยาบาลจะสามารถเลี้ยงเด็กทารกน้ำหนักน้อยให้รอดมาได้และส่วนใหญ่ก็ปกติและแข็งแรงดี แต่ก็มีเด็กส่วนหนึ่งที่มีความพิการ ปัญญาอ่อน สมองเสื่อม หูหนวก ตาบอด ซึ่งเหล่านี้จะเป็นภาระอันใหญ่หลวงตามมาต่อครอบครัวและสังคม
สำหรับการคลอดก่อนกำหนดนั้นจะส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายทารก ดังนี้
- ภาวะปอดไม่สมบูรณ์ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นทันทีหลังคลอด ยิ่งอายุครรภ์น้อยยิ่งเกิดได้มาก อย่างที่ทราบกันว่าทารกคลอดก่อนกำหนดปอดมักจะไม่ค่อยสมบูรณ์ เนื่องจากการขาดสารเคมีบางชนิดในปอด ซึ่งถ้าสร้างไม่พอในช่วงตอนเกิด (ปกติสารนี้จะสร้างได้ครบเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ 35 สัปดาห์) สารตัวนี้จะเป็นสารลดความตึงผิวของถุงลม ทำหน้าที่ให้ถุงลงโป่งง่าย ทำให้หายใจโดยที่ใช้แรงน้อยลง ซึ่งในผู้ใหญ่เราจะมีครบ 100% แต่ในทารกแรกเกิดแม้จะครบกำหนดก็จะขาดไปนิดหน่อย คือมีประมาณ 80%
- ภาวะเลือดออกในสมองอย่างเฉียบพลัน เป็นอีกหนึ่งภาวะที่เกิดขึ้นทันทีหลังคลอด เนื่องจากสมองของทารกคลอดก่อนกำหนดจะค่อนข้างนิ่มมาก ยิ่งคลอดก่อนกำหนดเท่าไรก็จะยิ่งนิ่มมากขึ้นเท่านั้น บวกกับในขณะคลอดที่ต้องผ่านอะไรหลายอย่าง คือ มีการเขย่า เจอแสงสว่าง ความตกใจ ความร้อนเย็นที่ต่างกัน ก็ทำให้ความดันเลือดค่อนข้างผันผวน จึงอาจทำให้เส้นเลือดในสมองบางเส้นแตกได้ ซึ่งพบว่าเกิดขึ้นได้ประมาณ 30% ของทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,500 กรัม ในปัจจุบันยังไม่มีทางป้องกัน ทารกคนไหนมีเลือดออกในสมองมากก็จะเสียชีวิต แต่ถ้ามีเลือดออกน้อย 90% จะไม่ออกอาการอะไรเลยและสามารถเติบโตได้อย่างไม่มีปัญหา
- การติดเชื้อ ทารกคลอดก่อนกำหนดบางส่วนจะคลอดเพราะคุณแม่มีการติดเชื้อในช่องคลอดหรือน้ำเดิน ถุงน้ำแตก ทำให้ทารกได้รับเชื้อเข้าไป เมื่อคลอดออกมาทารกจึงอาจมีภาวะติดเชื้อมาตั้งแต่กำเนิดและทำให้เสียชีวิตได้ แต่ในกรณีนี้จะเกิดได้ไม่บ่อยเท่าไรครับ คุณแม่อย่าเพิ่งกังวลใจไป นอกจากนี้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายในช่วงขวบปีแรกด้วย เพราะกลไกการป้องกันการติดเชื้อยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งภูมิคุ้มกันในการต่อต้านเชื้อจากแม่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าทารกที่คลอดตามกำหนด คุณแม่จึงต้องระมัดระวังในเรื่องความสะอาดให้มากเป็นพิเศษ
- น้ำหนักตัวน้อย เด็กที่คลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ แพทย์จึงต้องดูแลทารกเป็นพิเศษและให้อาหารทางสายยาง รวมถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะนมแม่มีสารอาหารสำคัญที่ช่วยเสริมพัฒนาการของทารกได้
- พัฒนาการช้า โดยทารกจะมีพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าเด็กที่คลอดก่อนกำหนด แต่จะเป็นแค่ช่วงแรกเท่านั้น หลังจากนั้นพัฒนาการจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนกับทารกทั่วไป แต่ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะเดินได้ช้ากว่าเด็กทั่วไปประมาณ 2 เดือน และ 80% ของทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีพัฒนาการเป็นปกติเมื่อมีอายุครบ 2 ปี คุณแม่จึงควรดูแลในเรื่องของสารอาหารให้ครบถ้วน เพราะทารกจะต้องการปริมาณพลังงานที่มากกว่าปกติเพื่อช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต (ทารกกลุ่มนี้พบได้ประมาณ 10% และทารกครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้สามารถเป็นปกติได้หากได้รับการดูแลที่ดีพอ)
- การมองเห็น เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของเส้นเลือดจอประสาทตา ทำให้มีความเปราะบางและแตกง่าย ทำให้มีเลือดออกและเกิดแผลเป็นในจอประสาทตา เกิดการดึงรั้งหรือจอประสาทตาหลุด ส่งผลให้เกิดความบกพร่องในการมองเห็น ทารกที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 35-36 สัปดาห์ หรือมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,000 กรัมทุกคนจึงต้องได้รับการตรวจตาก่อนออกจากโรงพยาบาลและจะตรวจซ้ำอีกครั้งในสัปดาห์ที่ 7-9 หลังคลอด
- การได้ยิน ทารกคลอดก่อนกำหนดจะมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินสูงกว่าปกติ ทารกจึงต้องได้รับการตรวจสอบการได้ยินจากแพทย์ก่อนออกจากโรงพยาบาลและควรได้รับการตรวจซ้ำเมื่อมีอายุ 3-6 เดือน
- โลหิตจาง เพราะมีธาตุเหล็กสะสมไว้น้อยและถูกนำออกมาทดแทนระดับฮีโมโกลบินที่ลดลงจากการเจริญเติบโต ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางโดยธรรมชาติที่รุนแรงและยาวนานกว่าทารกที่คลอดตามกำหนด
- การหยุดหายใจในทารกแรกเกิด ในขณะทารกอยู่ในครรภ์ จึงไม่จำเป็นต้องหายใจเองหรือหายใจเองบ้าง แต่พอคลอดออกมาใหม่ ๆ บางทีเขาก็เฉยหรือนอนเงียบไปเลย เมื่อก่อนเราจะใช้วิธีผูกขากระตุกเพื่อป้องกัน เพราะตอนหลับทารกจะหยุดหายใจ แต่ตอนตื่นจะกระดุกกระดิกไม่ค่อยหยุดหายใจ ซึ่งกลุ่มนี้บางทีนอนหลับไปเฉย ๆ เขียวตายไปเลยก็มี แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อทารกคลอดก่อนกำหนด เช่น คลอดเมื่ออายุครรภ์ 32 สัปดาห์ พอเลี้ยงไปสัก 5 สัปดาห์เป็น 37 สัปดาห์ อาการหยุดหายใจก็จะหายไปเอง
- ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก เพราะระบบทางเดินหายใจและปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ทารกหายใจเสียงดัง โดยเฉพาะในขณะที่นอนหลับ มีการหายใจไม่สม่ำเสมอ และอัตราการหายใจมีการเปลี่ยนแปลงมากในขณะตื่นและนอนหลับ
- ภาวะโรคปอดเรื้อรัง ทารกที่ใส่เครื่องช่วยหายใจเมื่อโรคปอดในระยะแรกหายแล้ว แต่ยังหายใจเองไม่ได้ ไอเองไม่เป็นหรือไอไม่ค่อยแรง เสมหะก็ออกจากปอดไม่ได้ ทำให้ทารกต้องพึ่งเครื่องช่วยหายใจไปจนถึงจุดที่ทารกอ้วนพอที่จะมีแรงไอได้ บางทีก็ทำให้ปอดทารกมีปัญหา คือ โดนออกซิเจนหรือแก๊สอะไรไม่ได้เลย เพราะจะทำให้ไอเรื้อรัง แต่โรคปอดนี้หลังจากเอาเครื่องช่วยหายใจออกจะหายไปเองภายใน 1-2 ปี คนที่มีปัญหามาก พอเด็กอายุประมาณ 9-10 ปีก็อาจจะเป็นโรคหอบได้ แต่ส่วนใหญ่ที่รอดจากระยะแรกก็จะเป็นปกติภายใน 1-2 ปี และอาจจะมีบางคนที่เป็นหวัดแล้วปอดบวม เพราะเด็กกลุ่มนี้ในระยะแรกปอดจะยังไม่ค่อยดีเท่าไร
- ภาวะลำไส้เน่าตายอย่างเฉียบพลัน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ประมาณ 10% ของทารกทั้งหมดที่เกิดมาตัวเล็ก ยิ่งตัวเล็กมากเท่าไรก็ยิ่งมีโอกาสเกิดเยอะมากขึ้น ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุและวิธีป้องกัน ซึ่งใน 10% นี้ ครึ่งหนึ่งหรือ 50% จะมีอาการเพียงเล็กน้อย คือ ลำไส้ขาดเลือดเพียงชั่วคราว ท้องอืด กินนมแม่ไม่ได้ประมาณ 7-10 วัน อีก 25% มีลำไส้ตายแต่ไม่ทะลุ ซึ่งไม่ต้องทำอะไร เพียงแค่รอเฉย ๆ แต่ต้องงดนมร่วมด้วยประมาณ 1-2 อาทิตย์ เพราะลำไส้จะรักษาตัวได้เอง ส่วนใหญ่ก็จะหายไปเองโดยไม่มีปัญหา และอีก 25% ที่เหลือจะลำไส้ทะลุแล้วทารกจะเสียชีวิต
- เสี่ยงต่อการเสียชีวิต เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของอวัยวะต่าง ๆ และเกิดอาการแทรกซ้อนตามมา เช่น ทารกหายใจลำบาก เกิดภาวะอุณหภูมิต่ำหรือตัวเย็น หัวใจวายจากเส้นเลือดบริเวณหัวใจปิดไม่สนิท เกิดอาการชักหรือเกร็ง เกิดภาวะตัวเหลืองและซีด และภาวะอื่น ๆ ตามที่กล่าวมา
สำหรับผลกระทบต่อคุณแม่หลังคลอด โดยทั่วไปมักไม่มีผลต่อร่างกายมากนัก เนื่องจากทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีน้ำหนักตัวน้อย จึงทำให้คลอดได้ง่าย ความช้ำในช่องคลอดมีน้อย แผลหายไว เพียงแต่จะมีปัญหาในเรื่องของจิตใจเสียมากกว่า (แต่บางกรณีก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อและเสียเลือดมากได้) ซึ่งจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อสุขภาพโดยรวมของคุณแม่ได้ เช่น คุณแม่มีความเครียดสูง กลัวเลี้ยงลูกไม่รอด กลัวลูกไม่แข็งแรงสมบูรณ์ กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา ซึ่งหากเครียดมากก็อาจทำให้คุณแม่เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รับประทานอาหารได้น้อยลง ไม่ดูแลตัวเอง นอกจากนี้การที่ทารกมีอายุครรภ์อ่อนมาก ๆ คุณแม่ก็ไม่สามารถให้นมบุตรได้เอง จึงส่งผลให้การสร้างน้ำนมลดลง เป็นต้น ส่วนผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป คือ คุณแม่จะมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้สูงขึ้นกว่าคนทั่วไปอย่างมาก ดังนั้นจึงควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
ด้วยเหตุนี้ แพทย์จึงจำเป็นต้องหาวิธีต่าง ๆ ที่จะช่วยลดการคลอดก่อนกำหนดให้ได้มากที่สุด และถ้าจำเป็นต้องให้คลอดก่อนกำหนด ก็จะต้องหาวิธีทำให้ทารกสมบูรณ์พอที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการเลี้ยงดู (หรือถ้าจะเกิดก็ขอให้น้อยที่สุด) โดยมีหลักการสังเกตง่าย ๆ ว่าถ้าสามารถให้ทารกเจริญเติบโตในครรภ์ได้อีกสักระยะ โอกาสที่ทารกจะเกิดมาแล้วไม่แข็งแรงหรือเสียชีวิตก็มีน้อยลง เพราะโดยปกติแล้วทารกในครรภ์จะใช้เวลาในช่วง 2 เดือนสุดท้ายเพื่อปรับตัวให้พร้อมที่จะออกมาสู่โลกภายนอก ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าทารกจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (100-200 กรัมต่อสัปดาห์) ควบคุมการหายใจได้ดี ร่างกายจะดูดซึมเอาแคลเซียมจากเลือดของแม่มาสร้างกระดูก มีไขมันจับตามใต้ผิวหนังเพื่อควบคุมอุณหภูมิของร่างกายไม่ให้ร้อนหรือหนาวจนเกินไป จึงทำให้ทารกที่เกิดมามีชีวิตรอดได้ ดังนั้น ถ้าสามารถประคับประคองให้ทารกอยู่ในครรภ์ได้จนกว่าจะใกล้วันคลอดได้นานเท่าไร ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อทารกมากขึ้นเท่านั้น
อายุครรภ์กับโอกาสรอดของทารก
ในอดีต หากทารกคลอดออกมาที่อายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ จะถือว่าเป็นการแท้งบุตร เพราะมีโอกาสเลี้ยงทารกให้รอดชีวิตได้น้อยมาก แต่ในปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ในการดูแลทารกก่อนกำหนดมีความก้าวหน้าไปมาก จึงสามารถเลี้ยงทารกที่มีอายุครรภ์น้อย ๆ ได้ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้กำหนดว่า การคลอดตั้งแต่อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ขึ้นไป (หรือทารกมีน้ำหนักตัวมากกว่าหรือเท่ากับ 500 กรัม ก็สามารถเลี้ยงทารกให้รอดได้) ไปจนถึงอายุครรภ์ก่อนครบ 37 สัปดาห์ จะถือว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนด แต่สำหรับโรงพยาบาลในประเทศไทย (ที่มีขีดความสามารถ) สามารถดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดตั้งแต่อายุ 24 สัปดาห์ หรือมีน้ำหนักตัว 600 กรัมขึ้นไปให้รอดได้[2] และยังมีโรงพยาบาลอีกหลายแห่งที่สามารถเลี้ยงทารกที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 1,000 กรัม ให้รอดได้มากขึ้นเรื่อย ๆ[1] แต่อย่างไรก็ตามยิ่งอายุครรภ์น้อยมากเท่าไร โอกาสการรอดชีวิตก็น้อยมากขึ้นไปด้วย ดังนี้
- อายุครรภ์ 22-23 สัปดาห์ มีโอกาสเลี้ยงทารกให้รอดชีวิตได้ประมาณ 17%
- อายุครรภ์ 24-25 สัปดาห์ มีโอกาสเลี้ยงทารกให้รอดชีวิตได้ประมาณ 40-50%
- อายุครรภ์ 26-28 สัปดาห์ มีโอกาสเลี้ยงทารกให้รอดชีวิตได้ประมาณ 80-90%
- อายุครรภ์ 29-31 สัปดาห์ มีโอกาสเลี้ยงทารกให้รอดชีวิตได้ประมาณ 90-95%
- อายุครรภ์ 32-33 สัปดาห์ มีโอกาสเลี้ยงทารกให้รอดชีวิตได้ประมาณ 95%
- อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ขึ้นไป จะมีโอกาสเลี้ยงทารกให้รอดชีวิตได้เหมือนทารกที่คลอดตามกำหนดทั่วไป คือ ประมาณ 95-98%
สาเหตุการคลอดก่อนกำหนด
ภาวะเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด คือ โรค อาการ หรือสภาวะของคุณแม่ที่แสดงให้เห็นว่าอาจจะมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดหรือคลอดลูกน้ำหนักน้อยกว่าผู้ที่ไม่มีโรค อาการ หรือสภาพดังกล่าว ได้แก่ ภาวะต่าง ๆ ที่มีอยู่ก่อนการตั้งครรภ์ อาการหรือโรคแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ และการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสมในขณะตั้งครรภ์ของคุณแม่[1] ส่วนสาเหตุของการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดและการเกิดการคลอดก่อนกำหนด ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ประมาณ 50% ยังหาสาเหตุการเกิดไม่ได้[2] แต่พบว่ามีปัจจัยบางอย่างที่มีความสัมพันธ์กับการชักนำให้กล้ามเนื้อมดลูกของคุณแม่มีการหดรัดตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้เกิดอาการเจ็บครรภ์คลอดและคลอดทารกก่อนเวลาอันควร ได้แก่
- อายุ ในกรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือมีอายุมากว่า 34 ปีขึ้น จะมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดมากกว่าผู้ที่มีอายุ 18-34 ปี
- น้ำหนักตัว คุณแม่ที่ผอมมาก ๆ จะมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดและลูกตัวเล็กมากกว่าคุณแม่ที่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์
- ประวัติทางสูตินรีเวชกรรม ในกรณีที่คุณแม่เคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนดมาก่อน พบว่าปัจจัยนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด เมื่อครรภ์แรกคลอดก่อนกำหนด ครรภ์ต่อมาของคุณแม่ก็มักจะมีการคลอดก่อนกำหนดเช่นกัน, เคยมีประวัติแท้งบุตรบ่อย ๆ คุณแม่ที่เคยแท้ง 2 ครั้งขึ้นไป โดยเฉพาะที่ทำแท้งบ่อย ๆ เมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นก็อาจคลอดก่อนกำหนดได้, มีประวัติการมีบุตรยาก, มีประวัติการผ่าตัดมดลูก, มีประวัติรกฝังตัวผิดปกติ, มีประวัติการมีเลือดออกในขณะตั้งครรภ์
- สภาพเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว ครอบครัวที่มีฐานะยากจนหรือมีรายได้น้อย ทำงานหนัก การศึกษาน้อย คุณแม่มักจะคลอดลูกก่อนกำหนดและลูกมีน้ำหนักตัวน้อย
- ความเครียด โดยเฉพาะความเครียดในชีวิตประจำวัน อย่างเรื่องความบาดหมางในครอบครัว เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวน้อย มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีในร่างกาย เช่น กระตุ้นการหลั่งแคทีโคลามีน ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกหดรัดตัว คุณแม่จึงควรหาทางผ่อนคลายความเครียดให้ดีเท่าที่จะทำได้
- การดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าดื่มเพียงเล็กน้อยเพื่อเข้าสังคมนาน ๆ ครั้งก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ในกรณีที่ดื่มบ่อยหรือดื่มมากก็ย่อมมีอันตราย เพราะทารกจะเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์และอาจคลอดก่อนกำหนดได้ จึงขอแนะนำให้งดการดื่มสุรา เหล้า เบียร์ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกในครรภ์มีน้ำหนักตัวน้อย และมักทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด แม้ว่าคุณแม่จะไม่ได้เป็นผู้สูบบุหรี่เองก็ตาม แต่ถ้าทำงานในห้องที่มีผู้สูบบุหรี่ หรือคนใกล้ชิดภายในบ้านโดยเฉพาะคุณพ่อสูบบุหรี่ทั้งในบ้านและในรถยนต์ คุณแม่เองก็จะได้รับควันบุหรี่เข้าไปโดยทางอ้อม ก็ควรจะหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่ให้มากที่สุด แต่สำหรับคุณแม่ที่สูบบุหรี่อยู่ก่อนก็ควรจะงดสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาดครับ
- การใช้สารเสพติด เช่น มอร์ฟีน เฮโรอีน หากคุณแม่ได้รับยาเสพติดเกินขนาดนอกจากจะทำให้เกิดอาการซึม หายใจไม่พอ และอาจเสียชีวิตได้แล้ว ยังทำให้ทารกเกิดการขาดออกซิเจนและเสียชีวิตในครรภ์ด้วย แต่สำหรับคนท้องที่เกิดอาการขาดยาส่วนใหญ่จะไม่ถึงกับเสียชีวิต แต่ทารกในครรภ์อาจเกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
- การรับประทานยาบางชนิดที่มีผลต่อการหดรัดตัวของมดลูก รวมถึงการได้รับสารพิษหรือสารเคมีบางอย่าง
- สภาพการทำงาน ในกรณีที่คุณแม่ต้องทำงานหนักหรือต้องแบกหามตลอดทั้งวัน ทำงานชนิดที่ต้องยืนนาน ๆ ตลอด 7-8 ชั่วโมง ทำงานบ้านตลอดทั้งวัน เกิดความรุนแรงจากการออกกำลังกายหนัก ๆ หรือจากมีเพศสัมพันธ์ ฯลฯ จะทำให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกได้น้อย ส่งผลให้ลูกขาดออกซิเจนและอาหาร ทำให้ตัวเล็ก และมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ที่เคยคลอดก่อนกำหนดมาแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นสาเหตุทำให้คลอดก่อนกำหนดได้อีกครั้ง และอาจคลอดเร็วกว่าครั้งก่อนก็ได้ ถ้าคุณแม่สามารถเปลี่ยนหน้าที่หรือหยุดพักระหว่างการทำงานได้บ้างก็คงจะช่วยได้มาก
- เกิดอุบัติเหตุในขณะตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์ถูกกระทบกระแทกอย่างแรง รวมถึงการทำกิจกรรมหนัก ๆ จนครรภ์ได้รับการกระทบกระเทือนแบบสะสม
- การมีเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์ อาจเป็นสาเหตุทำให้มดลูกบีบตัวได้
- การไม่ไปฝากครรภ์ อาจทำให้คุณแม่ไม่ได้รับการตรวจสุขภาพและได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องและเหมาะสม
- คุณแม่มีโรคอื่น ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ, โรคตับ, โรคไต, โรคเลือด, โรคภูมิแพ้, โรคติดเชื้อที่มีไข้สูงมากระหว่างการตั้งครรภ์, ครรภ์เป็นพิษ ฯลฯ ซึ่งโรคเหล่านี้จะทำให้ทารกในครรภ์ตัวเล็กและเกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
- เลือดออกในขณะตั้งครรภ์ เป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนให้รู้ว่าอาจจะเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์และต่อคุณแม่ได้ เช่น อาจเกิดการแท้งบุตร รกเกาะขวางทางคลอด หรือรกลอกตัวก่อนกำหนด แต่ถ้ามีเลือดออกเพียงเล็กน้อย การนอนพักก็อาจจะช่วยให้อาการหายไปได้ ในขณะเดียวกันคุณแม่ก็ควรไปพบแพทย์ที่ฝากครรภ์ไว้เพื่อขอคำแนะนำในการปฏิบัติตนหรือเพื่อตรวจดูให้แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุใด จะได้แก้ไขได้ทัน
- การติดเชื้อ คุณแม่มีการติดเชื้ออย่างรุนแรงในร่างกาย เช่น การติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์, การติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะหรือของไต, การติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Group B streptococcus
- การอักเสบ การอักเสบของคุณแม่มีหลายชนิดที่อาจทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนดได้ โดยเฉพาะการอักเสบที่คุณแม่มีไข้สูงหรือมีพิษเข้าสู่ร่างกาย การอักเสบรุนแรงในช่องคลอด การอักเสบในโพรงมดลูก การอักเสบของทางเดินปัสสาวะ การอักเสบของเหงือก ฟันผุ รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งการแก้ไขหรือป้องกันไม่ให้มีการคลอดก่อนกำหนดนั้นอาจกระทำได้โดยการให้การรักษาอย่างรวดเร็วและเหมาะสม
- มดลูกผิดปกติ เช่น เกิดการขยายตัวของมดลูกมากเกินไป เช่น การตั้งครรภ์แฝด (คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดมากถึงครึ่งหนึ่งจะคลอดลูกก่อนกำหนด) มีภาวะน้ำคร่ำมากกว่าปกติ หรือมีเนื้องอกมดลูกร่วมด้วย, ปากมดลูกไม่แข็งตัว การที่ปากมดลูกขยายตัวก่อนครบกำหนดจะทำให้ทารกคลอดออกมาได้ ซึ่งปากมดลูกที่ไม่แข็งแรงนั้นอาจเกิดจากการฉีกขาดในขณะที่ไปทำแท้งหลาย ๆ ครั้ง หรืออาจเกิดจากการฉีกขาดของปากมดลูกจากการคลอดครั้งก่อน ๆ ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ทราบว่ามีสาเหตุมาจากอะไร ถ้าวินิจฉัยได้ว่าปากมดลูกไม่แข็ง การแก้ไขอาจทำได้ด้วยการเย็บปากมดลูกไว้ก่อนจนกว่าจะถึงกำหนดคลอดแล้วจึงค่อยตัดไหมออก, มดลูกมีความผิดปกติแต่กำเนิดหรือมีรูปร่างผิดปกติ เช่น รูปทรงของมดลูกผิดปกติเป็นทรงคล้ายหัวใจ (Bicornuate uterus), โพรงมดลูกมีเนื้อเยื่อผิดปกติกั้นให้เกิดมีโพรงมดลูก 2 โพรง (Uterine septate), เกิดเนื้องอกในมดลูก, มดลูกพิการแต่กำเนิดหรือมีเนื้องอกของมดลูก อาจมีผนังกั้นกลางโพรงมดลูกหรือมดลูกเจริญเติบโตอยู่ข้างเดียว หรืออาจมีเนื้องอกของมดลูกไปเบียดและบังโพรงมดลูก ทำให้โพรงมดลูกมีขนาดแคบกว่าปกติ ส่งผลให้คุณแม่คลอดก่อนกำหนด (ในกรณีนี้แพทย์สามารถผ่าตัดทำการรักษาได้ แต่การผ่าตัดนั้นจะต้องทำก่อนการตั้งครรภ์
สาเหตุอื่น ๆ เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังจากตั้งครรภ์ไปแล้ว 16 สัปดาห์, รกลอกตัวก่อนกำหนด, รกฝังตัวผิดปกติ, มีน้ำคร่ำปริมาณมากหรือน้อยเกินไป, ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจน, มีห่วงคุมกำเนิดอยู่ในมดลูก, ทารกเจริญเติบโตช้าหรือเสียชีวิตในครรภ์, คุณแม่มีภาวะขาดโภชนาการก่อนและขณะที่ตั้งครรภ์, ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอดจริง ๆ (พบได้ประมาณร้อยละ 35[3]), ได้รับการผ่าตัดบริเวณช่องท้องในขณะการตั้งครรภ์ เช่น การผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ - แพทย์ทำการยุติการตั้งครรภ์โดยมีข้อบ่งชี้ ซึ่งพบได้ราวร้อยละ 20-30 เช่น ความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์[3]
- ไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด[3]
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือภาวะเสี่ยงที่อาจทำให้มีการคลอดก่อนกำหนดได้ ซึ่งแต่ละภาวะไม่ได้เป็นสาเหตุให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดโดยตรง เพียงแต่จากสถิติแล้วพบว่า คุณแม่จะมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดมากกว่าผู้ที่ไม่มีโรคหรือไม่ได้อยู่ในภาวะเช่นนี้ ส่วนจะมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดมากน้อยเพียงใดนั้นก็ยังไม่มีใครสามารถบอกได้อย่างแน่ชัด เพราะยังมีคุณแม่อีกจำนวนหนึ่งที่ร่างกายปกติดีทุกอย่าง ทำงานสบาย ไม่เครียด ตั้งครรภ์ครั้งแรกไม่เคยแท้ง ไปตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ น้ำหนักขึ้นดี และไม่มีโรคร้ายแรงต่าง ๆ ตามที่กล่าวมา แต่ก็ยังคลอดก่อนกำหนดได้ ในกรณีเช่นนี้จึงไม่มีทางที่จะป้องกันมิให้เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้ แต่ถ้าคุณแม่รู้แต่เนิ่น ๆ ว่าเริ่มมีอาการเจ็บครรภ์ก็ให้รีบไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะให้ยาเพื่อช่วยหยุดยั้งการเจ็บครรภ์ได้ครับ
อาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
โดยปกติแล้วในระยะที่คุณแม่ตั้งครรภ์เกิน 6 เดือนขึ้นไป คุณแม่จะรู้สึกว่ามดลูกหดรัดตัวเบา ๆ เป็นระยะ ๆ ไม่สม่ำเสมอ ไม่รู้สึกเจ็บปวด วันละ 2-3 ครั้ง ซึ่งเป็นการฝึกหัดตามธรรมชาติของมดลูกที่จะบีบตัวเมื่อถึงกำหนดคลอด การหดรัดตัวของมดลูกแบบนี้จึงถือเป็นเรื่องปกติและไม่เป็นอันตราย เพราะไม่เหนี่ยวนำให้เกิดการคลอดตามมา แต่ในกรณีที่มีการหดตัวบ่อย ๆ ถี่เกินไป ท้องตึงแข็งเป็นเวลานาน และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ก็แสดงว่าคุณแม่อาจมีการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
ในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ที่มีการคลอดเดือนละ 500-600 ราย จะพบว่ามีทารกคลอดก่อนกำหนดประมาณ 30-40 คน แต่จะมีเพียง 3-4 คนเท่านั้นที่จะได้ใช้ยาระงับการหดตัวของมดลูก[1] เนื่องจากส่วนใหญ่จะมาถึงโรงพยาบาลเมื่อปากมดลูกเปิดมากแล้ว ซึ่งก็หมายความว่าจะคลอดในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า หรือเมื่อถุงน้ำทูนหัวแตกแล้วก็คงให้ยาระงับการหดรัดตัวของมดลูกไม่ได้ แต่ถ้าถามว่ามีทางใดบ้างที่ทราบได้ว่ามีการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำเนิด เพื่อที่จะได้มีเวลาไปถึงโรงพยาบาลได้ทันก่อนที่ปากมดลูกจะขยายมาก คำตอบก็คือยังไม่มีเครื่องมืออะไรที่สามารถบอกได้ว่าคนนี้กำลังเจ็บครรภ์คลอด แต่สิ่งที่คุณแม่สามารถทำได้ในเวลานี้ก็คือการประเมินภาวะเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด (ในหัวข้อ : สาเหตุของการคลอดก่อนกำหนด) และสังเกตอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ได้แก่
- กล้ามเนื้อมดลูกหดรัดตัวอย่างสม่ำเสมอ โดยหดรัดตัวแรงและถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ทุก 10 นาที (6 ครั้ง ใน 1 ชั่วโมง)
- คุณแม่มีอาการปวดท้องเป็นพัก ๆ พร้อมกับเวลาที่มดลูกหดตัว นอนพักแล้วไม่หายปวด ซึ่งอาการปวดท้องนี้จะคล้าย ๆ กับเวลาที่คุณแม่ปวดประจำเดือน ทั้งที่ขณะนั้นคุณแม่ไม่ได้มีอาการท้องเสียหรืออาหารไม่ย่อยแต่อย่างใด
- มีอาการปวดหลังชนิดที่ร้าวลงไปถึงด้านล่างบริเวณก้นกบร่วมกับการปวดท้อง
- ปวดถ่วงหรือปวดหน่วง ๆ ในอุ้งเชิงกราน และอาจจะร้าวไปที่ต้นขา โดยที่รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) แล้วอาการไม่ดีขึ้น
- มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด
- มีน้ำไหลออกมาจากช่องคลอด (ลักษณะไหลโชกออกมาทางช่องคลอดคล้ายกับปัสสาวะราดและกลั้นไม่อยู่) หรือมีระดูขาวออกมา บางทีอาจมีมูกปนเลือดออกมาด้วย
หากคุณแม่มีอาการเหล่านี้ก็ควรรีบไปพบแพทย์ในทันที ซึ่งแพทย์จะรับตัวคุณแม่ไว้ในโรงพยาบาลและให้ยายับยั้งการหดตัวของมดลูกดังที่กล่าวไปแล้ว ซึ่งถ้าปากมดลูกยังขยายไม่มากก็จะได้ผลดีและคุณแม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้อีกจนกระทั่งใกล้ถึงกำหนดวันคลอดมากที่สุด นอกจากนี้แพทย์จะให้ยาสเตียรอยด์พวกเบตาเมทาโซน (Betamethasone) หรือเดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) โดยฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อด้วย เพื่อกระตุ้นให้ปอดของทารกทำงานได้ดีขึ้น ช่วยให้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีโอกาสรอดมากขึ้น ซึ่งยานี้จะได้ผลดีหากฉีดเข้าไปแล้วอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง และยาจะมีฤทธิ์อยู่ 7 วัน หลังจากนั้นอาจจะต้องให้ซ้ำ (ในกรณีที่คุณแม่มีน้ำเดินหรือถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด หรือสงสัยว่าจะมีการอักเสบในร่างกายของคุณแม่ จะไม่สามารถใช้ยาชนิดนี้ได้)
หมายเหตุ : มีคำแนะนำว่า หากคุณแม่มีอาการที่สงสัยว่าจะมีการคลอดก่อนกำหนด คุณแม่ควรปฏิบัติตัวด้วยการนอนตะแคงซ้าย ไม่ควรนอนหงายเพราะจะทำให้มดลูกบีบตัวมากขึ้น, ให้ปัสสาวะและดื่มน้ำให้มาก เพราะการขาดน้ำอาจทำให้มดลูกบีบตัวได้, ติดตามอาการบีบตัวของมดลูกตามที่กล่าวมา หากบีบตัวถี่และแรงขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ หรือหากเฝ้าดูอาการประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วยังไม่ดีขึ้นก็ควรรีบไปพบแพทย์เช่นกัน[4]
การวินิจฉัยการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
ก่อนเกิดการคลอดก่อนกำหนด ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นเพื่อเป็นการเตือนล่วงหน้า ได้แก่
- เจ็บครรภ์คลอด เมื่อมีการคลอดเกิดขึ้นจะต้องมีการเจ็บครรภ์คลอดก่อนเสมอ อาการเจ็บครรภ์คลอดจะเกิดจากมีการหดรัดตัวของมดลูกเป็นระยะ ๆ และสม่ำเสมอ คือ 1-2 ครั้ง (ครั้งละมากกว่า 30 วินาที) ในช่วงเวลา 10 นาที ยิ่งใกล้คลอดเท่าใด การหดรัดตัวของมดลูกจะถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คุณแม่เกิดอาการเจ็บครรภ์ถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งคุณแม่อาจสังเกตเห็นเลือดปนมูกออกมาทางช่องคลอด หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที
- แพทย์ตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูก เมื่อมดลูกมีการหดรัดตัวจะทำให้เกิดแรงดันภายในโพรงมดลูกไปดันปากมดลูกและทำให้ปากมดลูกขยายตัว (ตรวจภายในปากมดลูกจะบางตัว มีการเปิดขยายตัวจาก 0 ไปเป็น 10 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าปากมดลูกขยายหมด) และตรวจพบถุงน้ำคร่ำแตก เพราะถุงน้ำคร่ำจะแตกตอนใกล้คลอด หากอายุครรภ์ยังไม่ถึงกำหนดคลอด แต่เกิดมีน้ำใส ๆ ไหลโชกออกมาทางช่องคลอดและกลั้นไม่อยู่ ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าน่าจะมีการคลอดตามมาในไม่ช้า คุณแม่ต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน
- การตรวจอัลตราซาวนด์ สามารถช่วยทำนายโอกาสเกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ โดยเฉพาะการตรวจผ่านทางช่องคลอดเพื่อวัดความยาวและดูรูปร่างของปากมดลูก หากความยาวของปากมดลูกมีขนาดสั้นกว่าหรือเท่ากับ 2.5 เซนติเมตร ที่อายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ และ/หรือปากมดลูกเป็นกรวย ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าคุณแม่มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด
- การตรวจสารคัดหลั่ง จะเป็นการตรวจเพื่อหาสาร Fetal fibronectin ซึ่งเป็นสารที่สร้างจากเซลล์ของลูก (ตามปกติจะตรวจไม่พบ) พบอยู่ระหว่างถุงการตั้งครรภ์ (ถุงน้ำที่เป็นที่อยู่ของทารกในครรภ์) กับเยื่อบุโพรงมดลูก เมื่อเกิดการหดรัดตัวของมดลูกจะทำให้มีสารชนิดนี้ออกมาอยู่ในช่องคลอด ถ้าตรวจพบเป็นผลบวกก็แสดงว่าคุณแม่มีแนวโน้มที่จะคลอดในระยะเวลาอันสั้น แต่ถ้าตรวจพบเป็นผลลบก็แสดงว่ามีโอกาสจะคลอดก่อนกำหนดลดลงครับ
การรักษาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันนี้ สูติแพทย์จะมียาหลายชนิดที่ช่วยหยุดยั้งการหดรัดตัวของมดลูกและทำให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปจนครบกำหนดหรือใกล้ครบกำหนดมากที่สุด ซึ่งก็มีทั้งยากิน ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ยาฉีดเข้าเส้นหรือผสมกับน้ำเกลือหยดเข้าเส้นเลือด ซึ่งการที่จะให้ยาวิธีไหนนั้นจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการหดรัดตัวของมดลูกและความเหมาะสมของคุณแม่แต่ละราย แต่การใช้ยาระงับการเจ็บครรภ์คลอดจะได้ผลดีเมื่อคุณแม่เพิ่งเริ่มมีอาการเจ็บครรภ์เท่านั้น ถ้ามีการเจ็บครรภ์มานานหรือเจ็บมากจนกระทั่งปากมดลูกขยายมากแล้ว การใช้ยาก็ไม่ได้ผล และถ้าถุงน้ำทูนหัวแตกมีน้ำคร่ำไหลออกมาจากช่องคลอดแล้ว ก็ไม่สามารถใช้ยานี้ได้เลย ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ โดยให้คุณแม่นอนพัก ซึ่งอาจจะเจ็บครรภ์และคลอดออกมาเลย หรือทารกอาจอยู่ในครรภ์แม่ได้อีกหลายวันก็ได้ถ้าไม่มีการอักเสบ แต่ถ้ามีการอักเสบติดเชื้อในโพรงมดลูก ก็จำเป็นต้องให้ทารกคลอดออกมาไม่ว่าทารกจะตัวเล็กแค่ไหนก็ตาม เพราะถ้าปล่อยไว้ต่อไป การอักเสบจะรุนแรงมากจนเป็นอันตรายต่อแม่และลูก[1] โดยแนวทางในการรักษาส่วนใหญ่ มีดังนี้
- หากคุณแม่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 24 สัปดาห์ แพทย์จะไม่ยับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดและไม่ให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์
- หากคุณแม่มีอายุครรภ์ระหว่าง 24-34 สัปดาห์ แพทย์จะรับไว้ในโรงพยาบาล ให้คุณแม่นอนพัก และให้สารน้ำอย่างเพียงพอ พร้อมกับตรวจหาสาเหตุ ตรวจนับเม็ดเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อค้นหาความพิการของทารกและน้ำหนักตัวโดยประมาณ จากนั้นแพทย์จะทำการยับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดหรือการหดรัดตัวของมดลูก โดยให้ยา Nifedipine หรือ Indomethacin และลำดับรองลงมาคือ Terbutaline ในกรณีเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดที่มีความสัมพันธ์กับปริมาณน้ำคร่ำมากจะยับยั้งด้วย Indomethaci พร้อมกับตรวจติดตาม ductus arteriosus เป็นระยะ ๆ ถ้ายับยั้งด้วยยาตัวแรกไม่ได้ผล แพทย์อาจเลือกใช้ยาตัวต่อไป (จะไม่ใช้ร่วมกัน) ต่อมาแพทย์จะฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เข้ากล้ามเนื้อเพื่อเร่งการเจริญของปอดทารก (ให้ Dexamethasone 6 มิลลิกรัม จำนวน 4 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง) หากยับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดได้สำเร็จ แพทย์อาจให้ยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 0.25 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง อีก 3 วัน แล้วเปลี่ยนเป็นแบบรับประทานวันละ 15-20 มก. จนกระทั่งคุณแม่ถึงอายุครรภ์ที่ 36 สัปดาห์ แต่ในกรณีที่คุณแม่ต้องคลอดก่อนกำหนด แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะในระยะคลอดเพื่อป้องกัน GBS ในทารกแรกคลอด ได้แก่ Penicillin G ในระยะคลอด 5 ล้านยูนิต IV ตามด้วย 2.5 ล้านยูนิตทุก 4 ชม. หรือให้ Ampicillin 2 กรัม ทางหลอดเลือด ตามด้วย 1 กรัมทุก 4 ชั่วโมงจนคลอด
- หากคุณแม่มีอายุครรภ์มากกว่า 34 สัปดาห์ แพทย์จะไม่ยับยั้งการเจ็บครรภ์คลอดหรืออาจยับยั้งการเจ็บครรภ์คลอด และไม่ให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์[3]
ตามหลักแล้วการรักษาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดมีวัตถุประสงค์เพื่อพยายามยืดเวลาในการตั้งครรภ์ออกไปให้ถึง 37 สัปดาห์ให้ได้มากที่สุด เพราะช่วงนี้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทารกจะสมบูรณ์เพียงพอที่จะออกมาสู่โลกภายนอก แต่เนื่องจากการคลอดก่อนกำหนดยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ในปัจจุบันจึงยังไม่มียาที่ดีที่สุดในการใช้รักษาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด เพียงแต่การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาแบบประคับประคองเพื่อยื้อเวลาอย่างน้อย 48-72 ชั่วโมง เพื่อที่จะรอเวลาเมื่อฉีดยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Cortico steroid) ไปกระตุ้นการเจริญเติบโตของปอดทารกที่อยู่ในครรภ์ โดยเฉพาะในกลุ่มคุณแม่ที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์ หรือเพื่อยื้อเวลาในช่วงที่ส่งต่อคุณแม่และทารกที่อยู่ในครรภ์ไปยังสถานที่ดูแลรักษาทารกคลอดก่อนกำหนดได้ ซึ่งยาที่นำมาใช้ลดการหดตัวของมดลูกในปัจจุบันจะมีอยู่ 5 กลุ่มใหญ่ ๆ[2] ดังนี้
- ยากลุ่ม ß-adrenergic- receptor agonist (Ritodrine, Terbutaline, Salbutamol) เป็นยาที่นำมาใช้รักษาภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดและใช้กันมานานแล้ว มีทั้งแบบรับประทาน ฉีดเข้าที่ชั้นผิวหนัง ฉีดเข้าหลอดเลือด ปกติจะใช้ยานี้เป็นยารักษาโรคหอบหืด ทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมขยายตัว แต่จะมีผลทำให้กล้ามเนื้อมดลูกคลายตัวด้วย ผลแทรกซ้อนที่พบบ่อยจากการใช้ยาในกลุ่มนี้คือ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และมีอาการแทรกซ้อนคือทำให้เกิดบวมน้ำ (Pulmonary edema) ซึ่งอาจทำให้คุณแม่เสียชีวิตได้
- ยา Magnesium sulfate เป็นยาที่นำมาใช้รักษาการคลอดก่อนกำหนด เชื่อว่ามีกลไกการออกฤทธิ์ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อมดลูกไม่หดรัดตัว จึงทำให้มดลูกคลายตัว แต่ยานี้จะค่อนข้างมีอันตราย เนื่องจากระดับยาที่ใช้ลดการหดรัดตัวของมดลูกจะเป็นระดับสูงและเป็นอันตรายต่อคุณแม่ได้
- ยาในกลุ่ม Prostaglandin synthesis inhibitor ปกติเป็นยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ที่ช่วยลดอาการปวดได้ แต่การที่ยามีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสาร Prostaglandins ซึ่งเป็นสารกระตุ้นที่ทำให้มดลูกหดรัดตัว จึงทำให้มดลูกไม่มีการหดรัดตัว ยาที่มีการนำมาใช้คือยา Indomethacin แต่จะมีผลข้างเคียงต่อทารกมาก
- ยาในกลุ่ม Oxytocin receptor antagonist เป็นยาที่ช่วยยับยั้งการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกคลายตัว ยาที่นิยมนำมาใช้คือยา Atosiban เพราะมีผลข้างเคียงต่อคุณแม่ค่อนข้างน้อย แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา รวมถึงบ้านเราก็ยังไม่มีการนำยานี้เข้ามาใช้ครับ
- ยากลุ่ม Calcium channel blocker ปกติแพทย์จะใช้ยานี้เป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ตัวยามีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดขยายตัว ความดันโลหิตลดลง และมีผลช่วยลดการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกด้วย ยาในกลุ่มนี้ที่นิยมนำมาใช้รักษาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด มี Nifedipine และ Nicardipine ข้อดีของยาชนิดนี้เมื่อเทียบกับยายับยั้งการหดรัดตัวของมดลูกลุ่มอื่น ๆ คือ บริหารยาได้ง่าย สามารถรับประทานได้ ยามีราคาถูก ผลข้างเคียงน้อยกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งในปัจจุบันก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีงานวิจัยออกมายืนยันมากมายว่าได้ผลในการรักษาที่ดีและมีผลข้างเคียงจากยาน้อย
หากยับยั้งการคลอดก่อนกำหนดสำเร็จ คุณแม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ แต่การให้รับประทานยาต่อเนื่องเพื่อป้องกันการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกต่อไปจนกระทั่งถึงกำหนดคลอด ยังมีข้อมูลที่สนับสนุนไม่เพียงพอว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่นตามมาหรือไม่ แต่หากยับยั้งการคลอดก่อนกำหนดไม่สำเร็จ เนื่องจากมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงหรือให้ยาในขนาดสูงแล้วแต่มดลูกยังมีการหดรัดตัวถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ก็ต้องหยุดให้ยาเพื่อรักษาชีวิตคุณแม่ไว้ และต้องยอมปล่อยให้มีการคลอดก่อนกำหนดและดูแลทารกที่คลอดก่อนกำหนดต่อไป
ตามหลักฐานข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า สิ่งที่มีประสิทธิภาพหรือเป็นประโยชน์ต่อการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดมี 3 อย่าง คือ การฉีดยา Corticosteroid เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของปอดทารก, การใช้ยาปฏิชีวนะป้องการการติดเชื้อแบคทีเรีย Group B streptococcus และการส่งต่อคุณแม่และทารกที่อยู่ในครรภ์ไปยังโรงพยาบาลที่มีความสามารถในการดูแลทารกที่มีอายุครรภ์อ่อน ๆ ได้
หมายเหตุ : แพทย์จะไม่ให้ยาเพื่อยับยั้งการคลอดก่อนกำหนดในกรณีที่คุณแม่มีความดันโลหิตสูงในระดับรุนแรง, มีเลือดออกมากทางช่องคลอด, มีการติดเชื้อในมดลูก, ทารกมีความผิดปกติหรือเสียชีวิตแล้ว หรือเกิดสภาวะอื่น ๆ ที่การตั้งครรภ์ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้[3] นอกจากนี้ การใช้ยาต่าง ๆ ตามที่กล่าวจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลและสั่งยาโดยแพทย์เท่านั้น คุณแม่ห้ามซื้อยามารับประทานเองโดยเด็ดขาด เพราะยาเหล่านี้จัดเป็นยาอันตรายที่อาจส่งผลข้างเคียงรุนแรงทั้งต่อคุณแม่และต่อทารกในครรภ์ได้
การป้องกันการคลอดก่อนกำหนด
การคลอดก่อนกำหนดเป็นหาสำคัญทางด้านอนามัยของแม่และเด็ก แม้ว่าความเจริญทางการแพทย์จะสามารถช่วยให้เด็กที่คลอดออกมาก่อนกำหนดมีชีวิตอยู่รอดได้มากขึ้นกว่าในอดีต แต่ก็ยังพบว่ามีทารกอีกจำนวนมากที่มีความพิการหรือเสียชีวิต จึงมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันไว้ก่อน ดังนี้
- ส่งเสริมสุขภาพของคุณแม่ให้ดีก่อนการตั้งครรภ์ เช่น ตั้งครรภ์ในอายุที่เหมาะสม (18-34 ปี), ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ, ดูแลตัวเองให้แข็งแรงเพื่อป้องกันโรคที่มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
- เมื่อตั้งครรภ์แล้วควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อฝากครรภ์และปฏิบัติตนตามที่ได้รับคำแนะนำ รวมถึงไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งอย่างสม่ำเสมอ
- ในขณะตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ, งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์, หลีกเลี่ยงความเครียด, ลดการทำงานหนักหรือออกกำลังกายเป็นเวลานาน ๆ หรือยกของหนัก, ไม่เดินทางไกลหากไม่จำเป็น รวมถึงปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลกระทบของงานที่ทำอยู่ว่ามีผลต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือไม่
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างสมดุล เป็นอีกวิธีที่ส่งผลดีต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ แถมยังช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้ด้วย เพราะจากการศึกษาที่พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์น้อยหรือมีภาวะขาดสารอาหาร และมีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวน้อยตลอดการตั้งครรภ์ จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการคลอดก่อนกำหนด และยังพบว่าลักษณะนิสัยในการบริโภคอาหารและการได้รับอาหารเสริมในระหว่างการตั้งครรภ์ก็มีความสัมพันธ์กับการคลอดก่อนกำหนดด้วยเช่นกัน
- ทานบ่อย ๆ นักวิจัยชี้ว่าสำหรับคุณแม่นั้นการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ยังไม่เพียงพอ แต่คุณแม่ควรรับประทานอาหารให้บ่อยครั้งมากขึ้น เป็นวันละ 5 ครั้ง โดยทานอาหารหลัก 3 มื้อ และอาหารว่างอีก 2 มื้อ หรือไม่ก็แบ่งอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ 5 มื้อ หากทำได้อย่างนี้ก็จะช่วยลดโอกาสเกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
- เสริมอาหารที่มีแคลเซียม นอกจากแคลเซียมจะมีส่วนช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูงและอาการแทรกซ้อนจากภาวะครรภ์เป็นพิษได้แล้ว การได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอในแต่ละวันยังช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดในผู้หญิงที่มีประวัติหรือมีความเสี่ยงสูงในเรื่องของโรคความดันโลหิตได้ด้วย คุณแม่จึงควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมให้เพียงพอในแต่ละวัน (โดยปกติแล้วคุณแม่ตั้งครรภ์ ร่างกายจะสูญเสียแคลเซียมวันละ 250 มิลลิกรัมไปในช่วงที่มีอายุครรภ์ 6-7 เดือน)
- ดื่มน้ำเยอะ ๆ คุณแม่ควรดื่มน้ำได้วันละ 8 แก้ว หากอากาศร้อนหรือออกกำลังกายก็ควรจะดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อรักษาความชุ่มชื่นของร่างกายและเพิ่มโอกาสให้คุณแม่อุ้มท้องจนถึงกำหนดคลอด เพราะการขาดน้ำจะทำให้เกิดการเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดได้เหมือนกัน
- ทานวิตามินสำหรับการตั้งครรภ์ นอกจากจะช่วยให้คุณแม่และลูกน้อยในครรภ์แข็งแรงแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้คุณแม่อุ้มท้องจนครบกำหนดได้เช่นกัน แม้การกินวิตามินจะไม่สามารถทดแทนวิตามินจากการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ได้ แต่ก็ช่วยสร้างความสบายใจได้ว่าในแต่ละวันนั้นคุณแม่ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนแล้ว
- รักษาการติดเชื้อและการอักเสบต่าง ๆ เช่น เหงือกอักเสบ ฟันผุ ช่องคลอดอักเสบ การติดเชื้อในช่องคลอด ติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบหรือมีตกขาวผิดปกติ มีอาการไอ เจ็บคอ ท้องเสีย ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนดอย่างรวดเร็วและเหมาะสม
- ป้องกันการติดเชื้อของร่างกาย ด้วยการดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ไม่อั้นปัสสาวะ ควรถ่ายปัสสาวะทุก ๆ 2-4 ชั่วโมง เพราะการอั้นปัสสาวะบ่อย ๆ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะได้ อาการที่สังเกตเห็นได้อาจเป็นการสร้างความระคายเคืองต่อมดลูกและทำให้มดลูกบีบตัว นอกจากนี้ยังอาจทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ด้วย ควรดูแลรักษาสุขภาพช่องปากและฟัน เนื่องจากการอักเสบภายในช่องปาก เช่น โรคเหงือกอักเสบเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด คุณแม่จึงควรแปรงฟันให้สะอาดและใช้ไหมขัดฟันอยู่เสมอ
- ระวังเรื่องน้ำหนักตัว น้ำหนักตัวของคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ที่เพิ่มมากเกินไปหรือน้อยเกินไป อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงให้คุณแม่คลอดลูกก่อนกำหนดและลูกที่มีน้ำหนักตัวน้อยได้ คุณแม่จึงควรมีการเพิ่มน้ำหนักขึ้นในระดับที่เหมาะสม (โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 11.3-15.8 กิโลกรัม) แล้วคุณแม่จะมีแนวโน้มคลอดลูกได้ตามกำหนดคลอดและมีน้ำหนักตัวปกติ
- พยายามหลีกเลี่ยงหรืองดมีเพศสัมพันธ์ เฉพาะในกรณีที่คุณแม่เคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนดมาก่อน โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนก่อนคลอด หลีกเลี่ยงการกระตุ้นหัวนม (เพราะทำให้เกิดความรู้สึกสุดยอด) เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์อาจเป็นสาเหตุทำให้มดลูกบีบตัว (เมื่อถึงจุดสุดยอดมักจะมีการเกร็งกล้ามเนื้อและมดลูกอาจหดรัดตัว) และยังอาจเป็นการนำเชื้อโรคเข้าสู่ปากมดลูกจนทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด หากมีเพศสัมพันธ์ควรใช้ถุงยางอนามัย เพราะน้ำอสุจิจะทำให้เกิดการหลั่งของสารเคมี “พรอสตราแกลนดิน” (Prostaglandins) ที่สามารถทำให้ปากมดลูกนุ่มขึ้นและกระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัว อย่างไรก็ตาม สารที่สร้างขึ้นมานี้ก็ไม่ได้มีมากพอจนทำให้คุณแม่เจ็บครรภ์คลอดได้ (ยกเว้นคนที่ใกล้จะคลอดอยู่แล้ว) คือไม่ได้ห้ามเสียทีเดียวครับ เพียงแต่คุณแม่ที่เคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อนควรจะระวังหรือป้องกันเอาไว้ครับ
- การใช้ยาลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อมดลูกตามที่สูติแพทย์แนะนำ เช่น Proluton depot ทุกสัปดาห์ ในช่วงการตั้งครรภ์ได้ 20-34 สัปดาห์กับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีเนื้องอกมดลูกหรือเคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนดมาก่อน
- ทางเลือกอื่น เช่น การตรวจคัดกรองเพื่อดูว่าคุณแม่มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดหรือไม่, การใช้ฮอร์โมนเข้าช่วย เพราะมีงานวิจัยที่ระบุว่าฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดในผู้หญิงที่เคยคลอดก่อนกำหนดได้ หากคุณแม่เคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อน ควรลองปรึกษาแพทย์ดูครับว่าควรฉีดฮอร์โมนชนิดนี้หรือไม่
- หากมีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที หรือถ้าป้องกันแล้วยังเกิดการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดขึ้นอีก ก็ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อให้ยาระงับการเจ็บครรภ์และให้การดูแลรักษาตามความเหมาะสมต่อไป
การดูแลตนเองหลังการคลอดก่อนกำหนด
การดูแลตนเองของคุณแม่ที่คลอดลูกก่อนกำหนด มีดังนี้
- เอาใจใส่ดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจให้ดี คุณแม่หลังคลอดควรทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใส หลีกเลี่ยงความเครียด เพราะจะทำให้คุณแม่มีความสุขและมีกำลังใจในการเลี้ยงลูกต่อไป
- พยายามนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ทุกวันให้ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ เพื่อให้สุขภาพของคุณแม่แข็งแรง และสามารถสร้างน้ำนมไว้เลี้ยงทารกได้ เพราะทารกที่อายุใกล้ 37 สัปดาห์ ก็เกือบเหมือนทารกที่คลอดตามกำหนดปกติ หากทารกไม่สามารถดูดนมได้ด้วยตัวเอง คุณแม่ก็สามารถบีบหรือปั๊มน้ำนมเก็บเอาไว้ในตู้เย็นเพื่อให้ลูกดื่มได้
- หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า สูบบุหรี่
- ไม่ควรละเลยในเรื่องการคุมกำเนิด เพราะการคลอดที่อายุครรภ์ยิ่งน้อยเท่าไรและไม่ให้นมบุตร โอกาสตกไข่จะกลับมาเร็วกว่าปกติ จึงทำให้คุณแม่มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ง่าย
- ควรเว้นระยะการตั้งครรภ์ออกไปประมาณ 2-3 ปี เหมือนการตั้งครรภ์ทั่วไป เพื่อให้คุณแม่ได้มีสุขภาพแข็งแรงและมีโอกาสเลี้ยงดูบุตรได้อย่างเต็มที่ และเมื่อมีการตั้งครรภ์ครั้งถัดไปก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ เพราะในครรภ์ต่อไปยังมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ก่อนกำหนดซ้ำได้อีก
การดูแลทารกหลังคลอดก่อนกำหนด
ในขณะที่อยู่โรงพยาบาลแพทย์จะดูแลทารกอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งทารกมีน้ำหนักตัวมากกว่า 1.8-2 กิโลกรัม หรือจนกว่าจะสามารถลดการใช้ตู้อบ มีการดูดกลืนได้ดี และไม่มีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ แพทย์จึงจะอนุญาตให้กลับบ้านได้ และยังคงนัดมาตรวจสุขภาพทารกอีกครั้งเมื่ออายุประมาณ 1-2 สัปดาห์ เมื่อกลับมาอยู่ที่บ้าน คุณพ่อคุณแม่ควรมีการดูแลลูกน้อยดังนี้
- การดูแลรักษาความสะอาด เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องระวังให้มาก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ภายในบ้าน อุปกรณ์เครื่องใช้ (เช่น ขวดนม ควรนึ่งหรือต้มทุกครั้งหลังใช้) และอาหารการกินของลูก ทุกครั้งที่ให้นมหรือชงนมให้ลูก คุณแม่จะต้องล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง เพราะทารกที่คลอดก่อนกำหนดมักมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าเด็กทั่วไป
- จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม บรรยากาศภายในบ้านควรมีอากาศถ่ายเท ไม่อับชื้น เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายของลูกไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป แต่บ้านเราเป็นเมืองร้อนคงไม่ต้องกังวลกับภาวะตัวเย็นมากเท่าไร แต่ในกรณีที่ลูกมีอาการตัวร้อนขึ้นก็ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
- การให้ลูกกินนมแม่ แพทย์จะแนะนำให้กินนมแม่เป็นหลัก (นมแม่ย่อยง่ายและมีสารอาหารที่จำเป็น ลูกจะได้รับภูมิคุ้มกันใกล้เคียงปกติเหมือนช่วงที่อยู่ในครรภ์) และอาจจะเสริมด้วยนมสูตรสูตรพิเศษสำหรับเด็กคลอดก่อนกำหนดควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยให้ทารกมีน้ำหนักตัวมากขึ้นตามเกณฑ์ (นมสูตรนี้จะให้พลังงานและมีการเพิ่มสารอาหารโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุมากกว่านมสูตรปกติ) และเมื่อเด็กอายุเกิน 2 สัปดาห์แล้วควรให้กินวิตามินรวมเพิ่มด้วย โดยเฉพาะธาตุเหล็ก แคลเซียม เพราะเด็กที่คลอดก่อนกำหนดมักจะขาดแร่ธาตุเหล่านี้
- การอาบน้ำ ให้คุณแม่อาบน้ำให้ลูกวันละครั้งก็พอและถ้าวันไหนที่อากาศเย็นก็ไม่ต้องอาบ (ไม่ควรอาบน้ำบ่อย ๆ เพื่อเป็นการรักษาพลังงานที่มีอยู่น้อยในตัวเด็กเอาไว้) จนกระทั่งลูกดูดนมได้ครั้งละเกินกว่า 100 ซี.ซี. และมีน้ำหนักตัวเกิน 3 กิโลกรัมขึ้น จึงจะอาบน้ำให้เหมือนเด็กทั่วไปได้ตามปกติ
- ใส่ใจกับการชงนม เวลาชงนม คุณแม่ไม่ควรชงนมให้ข้นมากจนเกินไป แต่ต้องพยายามให้ลูกกินนมให้มากขึ้น โดยชงตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งโดยเฉลี่ยเด็กจะกินนมวันละ 150-180 ซี.ซี. ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
- ส่งเสริมพัฒนาการ ระบบสมองของทารกจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 6-7 สัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดอาจมีพัฒนาการล่าช้าไปบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์จะคอยตรวจสอบพัฒนาการต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ เช่น การได้ยิน การมองเห็น คุณพ่อคุณแม่อาจกระตุ้นลูกน้อยได้ด้วยเสียงดนตรีเบา ๆ พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ รวมถึงการใช้สีและแสงอย่างเหมาะสม
- ระบบหายใจ เป็นอีกเรื่องที่ต้องระวังอย่างต่อเนื่อง เพราะการหายใจของทารกอาจมีปัญหาได้ เช่น มีน้ำมูก เสมหะอุดตัน ที่อาจทำให้ทารกหายใจได้ไม่สะดวก หรือหายใจอกบุ๋ม หายใจเสียงดังครืดคราด คุณแม่ก็ต้องพากลับมาตรวจใหม่ โดยเฉพาะเวลาที่ลูกดูดนมแม่จะเห็นได้ชัด เวลาอุ้มให้นมลูกจึงควรอุ้มลูกให้สูงขึ้นเพื่อระวังการสำลักนม
- สังเกตอาการที่บ่งบอกว่าไม่สบาย เช่น หากลูกเกิดมีไข้ตัวร้อนหรือมีอุณหภูมิสูงผิดปกติ (ควรรีบไปพบแพทย์และคอยเช็ดตัวให้ลูกอยู่เสมอ), ติดเชื้อน้ำมูกเขียวข้น, เด็กหายใจเร็วเหมือนหอบ (โดยเฉพาะถ้าเด็กไอหรือมีน้ำลายฟูมปาก), เด็กหน้าซีดขาวและมีเสียงร้องเบาผิดปกติ, เด็กท้องอืดแข็งกะทันหัน, เด็กชัก, ดูดนมได้น้อยลง, น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น, ตาเหลืองหรือตัวเหลือง หากมีอาการเหล่านี้คุณแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์ก่อนถึงเวลานัดทันที เพราะถือเป็นกรณีเร่งด่วนที่ต้องรีบไปให้ทันเวลา
พัฒนาการเด็กคลอดก่อนกำหนด
พัฒนาการของทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะดีหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับว่าทารกคลอดออกมาตอนอยู่ในอายุครรภ์เท่าใด ถ้าอายุครรภ์ไม่ต่ำกว่า 37 สัปดาห์ หรือ 7-8 เดือน ก็ถือว่าทารกนั้นค่อนข้างมีความสมบูรณ์แล้ว เพียงแต่จะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์เท่านั้น ส่วนพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของทารกจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ถ้าสาเหตุที่คลอดก่อนกำหนดนั้นเกิดจากตัวทารกมีความพิการตั้งแต่อยู่ในครรภ์ พัฒนาการก็จะแตกต่างจากเด็กทั่วไป แต่ถ้าคลอดออกมาเพราะเหตุรกเกาะต่ำหรือรกเสื่อมสภาพก่อนกำหนดก็ไม่เป็นปัญหาต่อพัฒนาการ เพราะเด็กที่คลอดก่อนกำหนดโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในความดูแลของแพทย์หรือเข้าตู้อบสักระยะแล้วแต่อาการของเด็ก ซึ่งในช่วงที่อยู่ตู้อบแพทย์อาจให้คุณแม่ให้นมลูกได้ ในระหว่างให้นมคุณแม่ก็ควรสร้างสัมพันธภาพระหว่างแม่กับลูก ด้วยการพูดคุยกับเขา ให้เขาได้ยินเสียงคุณแม่ หรือถ้าไม่ได้ให้นมลูก คุณแม่ก็สามารถไปสัมผัสด้วยการโอบกอดลูกน้อยและพูดคุยกับเขาบ่อย ๆ เพราะลูกน้อยจะสามารถรับรู้และสัมผัสได้ถึงความรักที่คุณแม่มีต่อเขา
สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่คลอดลูกก่อนกำหนด ให้นับพัฒนาการลูกน้อยที่คลอดก่อนกำหนดตามอายุจริง เช่น คลอดครบกำหนด คือ อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ หากคุณแม่คลอดลูกในช่วงอายุ 32 สัปดาห์ (คลอดก่อนกำหนด 8 สัปดาห์) ก็ให้คุณแม่เริ่มนับพัฒนาการของลูกน้อยหลังจากคลอด 8 สัปดาห์ เป็นเดือนที่ 1 เนื่องจากพัฒนาการของทารกที่คลอดก่อนกำหนดยังไม่เริ่มขึ้น คือ ยังมองไม่เห็น พูดคุยหรือยิ้มไม่ได้ แต่เมื่อทารกครบอายุตามกำหนดคลอดก็จะเริ่มมองเห็นและมีพัฒนาการเป็นไปตามอายุจริง
ส่วนในเรื่องของพัฒนาการ พบว่าเด็กที่คลอดก่อนกำหนดจะมีพัฒนาการที่ใกล้เคียงกับเด็กที่คลอดครบกำหนดมาก แต่จะมีเพียง 20-30% เท่านั้นที่มีปัญหาพัฒนาการช้าและมีปัญหาทางด้านอารมณ์หรือพฤติกรรม ซึ่งนั่นเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องช่วยกันส่งเสริมพัฒนาการของลูกให้เหมาะสม ด้วยการให้ทั้งอาหารกายและอาหารใจกับลูกน้อย คุณแม่อาจใช้วิธีการสัมผัสโอบกอดเบา ๆ ลูบและสัมผัสด้วยความรัก มองตาลูกบ่อย ๆ อาจนวดกระตุ้นเบา ๆ บริเวณแขนและขา ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ลูกน้อยเจริญเติบโตได้ดี นอกจากนี้คุณแม่ยังควรสังเกตพัฒนาการของลูกอยู่ตลอดเวลา หากมีปัญหาก็ควรรีบไปแพทย์ หากทำตามนี้แล้วโอกาสที่ลูกจะเติบโตอย่างแข็งแรงเหมือนเด็กทั่วไปก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด. “การป้องกันการคลอดก่อนกำหนด”. (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ). หน้า 290-299.
- หาหมอดอทคอม. “คลอดก่อนกำหนด (Preterm labor)”. (รองศาสตราจารย์ พญ.ประนอม บุพศิริ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [06 ธ.ค. 2015].
- ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “CPG Preterm labor”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.med.cmu.ac.th. [07 ธ.ค. 2015].
- Siamhealth. “การคลอดก่อนกำหนด Preterm Labor”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.siamhealth.net. [07 ธ.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.healthtap.com, www.arlafoodsingredients.com, ualbertaslp.files.wordpress.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)