กานพลู
กานพลู ชื่อสามัญ Clove
กานพลู ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium aromaticum (L.) Merr. & L.M.Perry (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Eugenia caryophyllus (Spreng.) Bullock & S.G.Harrison, Eugenia caryophyllata Thunb.) จัดอยู่ในวงศ์ชมพู่ (MYRTACEAE)
ต้นกานพลู เป็นไม้ยืนต้นและเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่น่าใจ มีสรรพคุณทางยาหลากหลาย มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เป็นสมุนไพรไทยที่มีรสเผ็ด โดยมีการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวมากที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกา เป็นต้น
เรานิยมนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นดอกตูม ผล ต้น เปลือก ใบ รวมไปถึงน้ำมันหอมระเหย ในบัญชียาสมุนไพร ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) มีการใช้กานพลูเป็นยารักษาอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) โดยปรากฏอยู่ในตำรับยาหลายชนิด ได้แก่ ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐ ซึ่งจะมีส่วนประกอบของกานพลูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อยู่ด้วย มีสรรพคุณช่วยแก้ลม วิงเวียน อาการหน้ามืดตาลาย ใจสั่น คลื่นไส้อาเจียน และยังมีการใช้กานพลูเป็นยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร ซึ่งประกอบไปด้วย ยาธาตุบรรจบ ยาประสะกานพลู ซึ่งจะช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียด อาหารไม่ย่อยเป็นต้น
กานพลูซื้อที่ไหน ? ถ้าซื้อน้อยก็ตามร้านยาแผนไทยทั่วไป ตลาดสด ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งก็มีขาย ร้านขายเครื่องแกงเครื่องเทศทั่วไป
ประโยชน์ของกานพลู
- กานพลูมีสารประกอบอย่างฟีโนลิกในปริมาณมาก ซึ่งมีสรรพคุณช่วยเรื่องการต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย
- ใบกานพลูมีส่วนช่วยเผาผลาญแคลอรี ช่วยลดความอยากน้ำตาล และช่วยลดและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- กานพลูแก้ปวดฟัน ด้วยการใช้น้ำมันที่กลั่นมาจากดอกตูมของดอกกานพลูประมาณ 5 หยด แล้วใช้สำลีพันปลายไม้จุ่มน้ำมันนำมาอุดในรูที่ปวดฟันจะช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้ หรือจะนำดอกมาเคี้ยวแล้วอมไว้ตรงบริเวณที่มีอาการปวดฟันก็ได้ หรือจะนำดอกกานพลูมาตำให้แหลก ผสมกับเหล้าขาวเล็กน้อยพอให้แฉะ แล้วนำมาอุดฟันบริเวณที่ปวด (น้ำมันสกัด) หรือจะใช้ดอกตูมที่แห้งแล้วนำมาแช่เหล้าเอาสำลีชุบอุดรูฟันก็ได้เช่นกัน
- ช่วยรักษาโรครำมะนาด (โรคปริทันต์) หรือโรคที่มีการอักเสบของอวัยวะรอบ ๆ ฟันนั่นเอง ด้วยการนำดอกมาเคี้ยวแล้วอมไว้ตรงบริเวณที่มีอาการของโรค (ดอกตูม)
- ช่วยระงับกลิ่นปาก ดับกลิ่นเหล้าได้เป็นอย่างดี ด้วยการใช้ดอกตูมของกานพลูประมาณ 3 ดอก อมไว้ในปากจะช่วยลดกลิ่นปากลงไปได้บ้าง และยังเป็นส่วนผสมในน้ำยาบ้วนปากหลายชนิด (ดอกตูม)
- ช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน หน้ามืดตาลาย (ดอก)
- ช่วยแก้อาการสะอึก แก้ซางต่าง ๆ (ดอก)
- ดอกตูมของกานพลูใช้รับประทานเพื่อขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (ดอกตูม)
- ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ (ดอกตูม)
- กานพลูมีสรรพคุณช่วยลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง ที่เกิดจากการย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ (ดอกตูม)
- ช่วยกระตุ้นการหลั่งเมือกและช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร (ดอกตูม)
- ช่วยแก้อาการท้องเสียในเด็ก (ดอกตูม)
- ช่วยแก้อาการเหน็บชา (ดอกตูม)
- ช่วยรักษาโรคหืดหอบ (ดอกตูม)
- ช่วยแก้อาการไอ ด้วยการอมดอกกานพลู ระหว่างอมอาจจะรู้สึกชาปากบ้างเล็กน้อย (ดอกตูม)
- ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ดอกตูม)
- ช่วยขับเสมหะ แก้เสมหะเหนียวข้น (ดอกตูม)
- ช่วยขับน้ำดี (ดอกตูม)
- มีส่วนช่วยในการดูดซึมของธาตุเหล็กให้ดียิ่งขึ้น
- ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย แก้เลือดเสีย (ดอกตูม)
- ช่วยขับน้ำคาวปลา (ดอกตูม)
- ช่วยแก้ลม แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุ (ดอกตูม)
- ช่วยขับผายลม จับลมในลำไส้ (ดอกตูม)
- เปลือกของต้นการพลู ช่วยแก้อาการปวดท้อง แก้ลม และช่วยคุมธาตุ
- ผลของกานพลูนำมาใช้เป็นเครื่องเทศ ซึ่งเป็นตัวช่วยให้มีกลิ่นหอม
- น้ำมันหอมระเหยของกานพลู (Essential oil) ช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ (น้ำมันหอมระเหย)
- น้ำมันหอมระเหยของกานพลู ช่วยทำให้ประสาทสงบ
- ใช้เป็นยาระงับอาการชักกระตุก ด้วยน้ำมันหอมระเหยจากกานพลู (น้ำมันหอมระเหย)
- ช่วยทำให้ผิวหนังชา ด้วยการใช้น้ำมันหอมระเหยจากดอกกานพลู เพราะมีสาร Eugenol ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ (น้ำมันหอมระเหย)
- ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อบิดชนิดไม่มีตัว เชื้อหนอง เชื้อโรคไทฟอยด์ เป็นต้น (ดอกตูม)
- น้ำมันหอมระเหยจากกานพลูมีส่วนช่วยฆ่าเชื้อจากบาดแผล แมลงสัตว์กัดต่อยได้
- งานวิจัยพบว่าน้ำมันกานพลูสามารถช่วยละลายลิ่มเลือดและช่วยลดการจับตัวเป็นก้อนได้
- กานพลูเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่นำมาใช้ในการย้อมสีผม ซึ่งจะให้สีผมที่ใกล้เคียงกับสีดำ
- น้ำมันกานพลู (Clove oil) นำมาใช้ในการแต่งกลิ่นอาหาร แต่งกลิ่นสบู่ และยาสีฟัน
- น้ำมันกานพลูมีฤทธิ์ในการช่วยไล่ยุงได้
- ใช้เป็นส่วนผสมของสมุนไพรในตำรับยาต่าง ๆ หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น พิกัดตรีพิษจักร พิกัดตรีคันธวาต ยาหอมเทพจิต ยาหอมนวโกฐ ยาธาตุบรรจบ ยาประสะกานพลู เป็นต้น
- กานพลูเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่แนะนำให้รับประทานของหญิงให้นมบุตรเพราะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต และทำให้มีน้ำนมเพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับหญิงที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันหอมระเหยกานพลู เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
- ผู้ผลิตบางรายได้นำกานพลูมาทำเป็นบุหรี่ หรือที่เรียกกันว่าบุหรี่กานพลู โดยมีการพัฒนาสูตรใหม่ ๆเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรสชาติ ที่มีทั้งรสช็อกโกแลต รสบ๊วย รสวานิลลา รสผลไม้ และอื่น ๆ มากมาย แต่เหล่านี้ก็ยังถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพอยู่ดี จึงไม่ขอแนะนำ และบุหรี่กานพลูก็มีพิษเทียบเท่ากับบุหรี่ทั่วไปอีกด้วย
- น้ำมันสกัดจากการพลูสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของ Lactococcus garvieae ในอาหารเลี้ยงเชื้อได้ เมื่อนำอาหารปลาที่ผสมกับน้ำมันกานพลูมาเลี้ยงปลานิล จะทำให้ปริมาณการตายเนื่องจากการติดเชื้อ L. garvieae ของปลานิลลดลง
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)