กันเกรา สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกันเกรา 25 ข้อ !

กันเกรา สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกันเกรา 25 ข้อ !

กันเกรา

กันเกรา ชื่อสามัญ Anan, Tembusu

กันเกรา ชื่อวิทยาศาสตร์ Fagraea fragrans Roxb. วงศ์ดอกหรีดเขา (GENTIANACEAE)

สมุนไพรกันเกรา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มันปลา (ภาคเหนือ ภาคอีสาน), ตำแสง ตำเสา ทำเสา (ภาคใต้), ตาเตรา (เขมร-ภาคตะวันออก), ตำมูซู ตะมะซู (มลายู-ภาคใต้) เป็นต้น

ข้อควรรู้ : ต้นกันเกราจัดเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสุรินทร์ และยังเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยนครพนม และมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดอีกด้วย

ลักษณะของกันเกรา

  • ต้นกันเกรา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10-15 เมตร (อาจสูงได้ถึง 25 เมตร) เปลือกต้นเรียบมีสีน้ำตาล เมื่อต้นแก่จะแตกเป็นร่องลึกตามยาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ มีถิ่นกำเนิดตามป่าเบญจพรรณและตามที่ใกล้กับแหล่งน้ำ ในประเทศไทย พม่า มาเลเซีย เวียดนาม และอินเดีย สำหรับในบ้านเราต้นกันเกราขึ้นได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย แต่จะพบได้มากทางภาคใต้

ต้นกันเกรา

  • ใบกันเกรา ลักษณะของใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ใบหนาแน่นที่ปลายกิ่ง เป็นรูปรี สีเขียวเข้มเป็นมัน ปลายใบและโคนใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างเหนียว ใบกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร
  • ผลกันเกรา ลักษณะผลเป็นผลเดี่ยวทรงกลม มีรสขม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ผิวเรียบเป็นมัน มีติ่งแหลม ๆสั้น ๆ อยู่ตรงปลายสุด ผลอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีแดงเลือดนก จะติดผลในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน และในผลมีเมล็ดเล็ก ๆ จำนวนมาก สีน้ำตาลไหม้ มีรูปทรงไม่แน่นอน ฝังอยู่ในเนื้อนุ่ม ๆ สีแดง

ใบกันเกราผลกันเกรา
  • ดอกกันเกรา ลักษณะออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ เมื่อเริ่มบานจะเป็นสีขาว เมื่อบานเต็มที่จะเป็นสีเหลืองอมแสด ที่กลีบโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก ปลายแฉกแหลม มีเกสรตัวผู้ยาวติดกับกลีบดอก และมีเกสรตัวเมียยาวอีก 1 อัน ออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน

ดอกกันเกรา

รูปดอกกันเกรา

สรรพคุณของกันเกรา

  1. แก่นกันเกรา มีรสเฝื่อน ฝาด และขม สรรพคุณช่วยบำรุงไขมันในร่างกาย (แก่น)
  2. แก่นช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (แก่น)
  3. สรรพคุณกันเกรา เปลือกต้นช่วยบำรุงโลหิต (เปลือกต้น)
  4. ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (แก่น)
  5. ช่วยแก้เลือดพิการ (แก่น)
  1. แก่นกันเกรา มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิปารัมในหลอดทดลองได้ (แก่น)
  2. ช่วยแก้ไข้จับสั่น (แก่น)
  3. ช่วยแก้อาการหืดไอ (แก่น)
  4. ช่วยแก้อาการแน่นหน้าอก (แก่น)
  5. ช่วยแก้อาการท้องมานลงท้อง (แก่น)
  6. ช่วยขับลมในกระเพาะ (แก่น)
  7. ช่วยแก้มูกเลือด (แก่น)
  8. ช่วยรักษาริดสีดวง (แก่น)
  9. สรรพคุณต้นกันเกรา แก่นช่วยบำรุงม้าม (แก่น)
  10. ช่วยแก้อาการปวดแสบปวดร้อนตามผิวหนังและร่างกายได้ (แก่น)
  11. ช่วยรักษาผิวหนังพุพอง ปวดแสบปวดร้อน (เปลือกต้น)
  12. แก่นและใบเมื่อนำมาผสมกันจะใช้แก้โรคเส้นติดขัดได้ (แก่น, ใบ)
  13. ใบและผลมีสารคาลอยด์ที่ชื่อว่า Gentianine ซึ่งมีฤทธิ์ในการแก้ปวด แต่ไม่มีฤทธิ์ในการต้านแบคทีเรีย (ใบ, ผล)

ประโยชน์ของกันเกรา

  1. ใช้ปลูกไว้เป็นไม้ประดับได้ เพราะมีความสวยงามและดอกมีกลิ่นหอมสดชื่น กลิ่นไม่ฉุนไม่เหมือนใคร ปลูกง่ายแข็งแรงทนทาน สามารถปลูกไว้ในบริเวณบ้านหรือในที่สาธารณะได้ ทั้งยังเป็นไม้มงคล 1 ใน 9 ชนิดอีกด้วย เช่นเดียวกับ ราชพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ ทรงบาดาล ต้นสัก พะยูง ทองหลาง ไผ่สีสุก และต้นขนุน ที่คนนิยมนำมาใช้ในพิธีกรรมในตอนก่อสร้างบ้านเรือนเพื่อความเป็นสิริมงคล
  2. ไม้กันเกรา เป็นไม้มงคลที่ใช้ในการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์
  3. ใบอ่อนกันเกราสัตว์ป่าชอบกินเป็นอาหาร
  4. ผลกันเกราใช้เป็นอาหารของนกและค้างคาวได้
  5. เนื้อไม้ของต้นกันเกรามีสีเหลืองอ่อน มีเสี้ยนตรง เนื้อมีความละเอียด ตกแต่งได้ง่าย ขัดเงาก็งดงาม ทนปลวกได้ดี ที่สำคัญยังเหนียวทนทานแข็งแรงอีกด้วย เหมาะแก่การนำมาใช้ก่อสร้าง เช่น การทำเสาเรือน เสารั้ว เสาสะพาน กระดานปูพื้น ผนัง ประตู หน้าต่าง ทำรอด ตง อกไก่ เชิงชาย วงกบประตู ห้าต่าง เครื่องไม้เครื่องมือทางการเกษตร มีด จอบ พร้า ขวาน เครื่องเรือน โต๊ะ ตู้ เตียง เก้าอี้ เครื่องกลึง เครื่องใช้ต่าง ๆ กระดูกงู โครงเรือ เสากระโดงเรือ เฟอร์นิเจอร์ไม้กันเกรา ทำโลงศพของชาวจีน (หีบจำปา) หมอนรางรถไฟ หรือนำไปใช้ในงานแกะสลักต่าง ๆ เป็นต้น เพราะลักษณะของลำต้นนั้นลวดลายของเปลือกและเนื้อไม้มีความสวยงามเป็นพิเศษ
  6. ดอกกันเกรานำมาใช้ในพิธีกรรมหนึ่งของการเข้านาค
  7. กันเกราไม้มงคล ต้นกันเกราเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง เพราะมีชื่อที่เป็นมงคล เพราะกันเกรา หมายถึง กันสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายไม่ให้มาทำอันตรายใด ๆ ส่วนชื่อตำเสาก็เป็นมงคลแก่เสาบ้านไม่ให้ปลวก หรือมอด รวมไปถึงแมลงต่าง ๆ มาเจาะกิน (ส่วนชื่อมันปลา มาจากลักษณะของดอกที่คล้ายกับไขมันปลาที่ลอยในถ้วยน้ำแกง)

แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์หมอชาวบ้าน (เดชา ศิริภัทร), เว็บไซต์ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, เว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม), สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), เว็บไซต์ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ภาพประกอบ : www.phargarden.com (Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด