กะเรกะร่อน
กะเรกะร่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Cymbidium aloifolium (L.) Sw.[1] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cymbidium simulans Rolfe[5], Epidendrum aloifolium L.[5]) จัดอยู่ในวงศ์กล้วยไม้ (ORCHIDACEAE)[1]
สมุนไพรกะเรกะร่อน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เอื้องปากเป็ด (เชียงใหม่), เอื้องด้ามข้าว (ลำปาง), กล้วยหางไหล (ชุมพร), กาเรการ่อน (ภาคกลาง) เป็นต้น[1]
หมายเหตุ : พืชชนิดนี้เป็นพืชคนละชนิดกับ “กะเรกะร่อนปากเป็ด” (Cymbidium finlaysonianum Lindl.)
ลักษณะของกะเรกะร่อน
- ต้นกะเรกะร่อน มีเขตการกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[4] จัดเป็นกล้วยไม้อิงอาศัยเกาะอยู่ตามต้นไม้อื่น ๆ ลำต้นมีขนาดสั้น เกาะรวมกันเป็นกระจุกแน่น (ลำต้นเป็นหัวรูปรี มีหลายข้อ และขึ้นชิดกันเป็นกอ ๆ) ต้นมีรากออกเป็นเส้นแข็งชี้ขึ้นไปในอากาศ สามารถพบได้ตามป่าผลัดใบและป่าไม่ผลัดใบ (บ้างว่าพบได้ตามป่าเต็งรัง[4]) ตามที่โล่งแจ้งมีแสงแดดจัด ในระดับหลายความสูง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ[1],[2]
- ใบกะเรกะร่อน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมนเว้าเล็กน้อย โคนใบสอบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะหนาแข็ง หลังใบและท้องใบเรียบ[1]
- ดอกกะเรกะร่อน ออกดอกเป็นช่อสายห้อยลง โดยจะออกที่โคนต้น มีช่อดอกประมาณ 1-2 ช่อ ช่อดอกมีความยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ในช่อดอกมีดอกย่อยจำนวนมาก (ประมาณ 17-26 ดอก) ดอกมีขนาดประมาณ 2.5 เซนติเมตร (บ้างว่าเส้นผ่านศูนย์กลางดอกกว้างประมาณ 3.5 เซนติเมตร) กลีบดอกสั้นสีเหลืองมีลักษณะเป็นรูปแถบ มีแถบสีม่วงหรือสีน้ำตาลอมแดงขอบขาว ส่วนกลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ มีลักษณะเป็นรูปแถบ โดยกลีบดอกจะแคบและสั้นกว่ากลีบเลี้ยง ดอกมีเกสรเพศผู้มีสีเหลือง โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน (บ้างว่าจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคม)[1],[2],[4],[5]
- ผลกะเรกะร่อน ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก เป็นพู 5 พู ผิวผลเรียบ (บ้างว่า ผลมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานสีน้ำตาล ยาวประมาณ 6-7 เซนติเมตร[4]) ผลเป็นสีเขียวอมสีเหลือง เมื่อผลแห้งจะแตกได้ ในผลมีเมล็ดเป็นผงละเอียดจำนวนมาก[1]
สรรพคุณของกะเรกะร่อน
- ใบสดเมื่อนำไปลนไฟให้นุ่มแล้วบีบเอาน้ำมาหยอดหู แก้หูเป็นน้ำหนวก (ใบสด)[1]
- เมล็ดนำมาใช้โรยใส่แผลเพื่อซับเลือดหรือใส่แผลเน่า (ชาวเมี่ยน) (ใบสด)[3]
ประโยชน์ของกะเรกะร่อน
- นอกจากจะใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว ยังสามารถนำปลูกเป็นไม้ประดับได้อีกด้วย[4]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “กะเรกะร่อน (Kare Karon)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 45.
- โครงการรวบรวมข้อมูลพันธุ์กล้วยไม้พื้นเมืองในจังหวัดอุบลราชธานี, คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “กะเรกะร่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.agri.ubu.ac.th. [03 ก.พ. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “กะเรกะร่อน”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [03 ก.พ. 2014].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ, สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “กะเรกะร่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th. [03 ก.พ. 2014].
- ความหลากชนิดของกล้วยไม้ป่าจากตลาดชายแดนไทย-พม่า ทางภาคตะวันตกของประเทศไทย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “กะเรกะร่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pirun.kps.ku.ac.th/~b4816185/. [03 ก.พ. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Kew on Flickr, Guojun Hua, douneika, cbcastro, naturgucker.de, Tölgyesi Kata, pskdzym)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)