กะเจียน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกะเจียน 13 ข้อ !

กะเจียน

กะเจียน ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyalthia cerasoides (Roxb.) Bedd. จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[1]

สมุนไพรกะเจียน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ค่าสามซีก (เชียงใหม่), เหลือง ไม้เหลือง (ลำปาง), จันทน์ดง ทรายเด่น (ขอนแก่น), ไชยเด่น (อุบลราชธานี), แคหาง (ราชบุรี), กะเจียน พญารากดำ (ชลบุรี), โมดดง (ระยอง), สะบันงาป่า (ภาคเหนือ), เสโพลส่า (ไทใหญ่-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของกะเจียน

  • ต้นกะเจียน จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลำต้นเปลาตรง มีความสูงได้ประมาณ 5-15 เมตร เรือนยอดเป็นรูปกรวยคว่ำ กิ่งเกือบตั้งฉากกับลำต้น เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อน ตามกิ่งอ่อนมีขนนุ่ม ส่วนกิ่งแก่ผิวจะเรียบเกลี้ยง ลำต้นและกิ่งแก่มีช่องอากาศสีเหลืองอ่อนทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ในทุกสภาพดิน ขึ้นได้ดีในดินร่วนซุย ชอบแสงแดดจัด พรรณไม้ชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักพบขึ้นตามป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณทั่วไป บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 700 เมตร[1],[2],[3],[5]

ต้นกะเจียน

เปลือกต้นกะเจียน

  • ใบกะเจียน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี ยาวรี หรือรูปหอกแกมรูปขอบขนาน และมักเบี้ยว ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนถึงเว้าเข้า มักเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-16 เซนติเมตร แผ่นใบบาง หลังใบเกลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบมีขนนุ่มเป็นสีจางหรือขาวอมเทา เส้นแขนงใบมีข้างละ 8-15 เส้น เห็นได้ชัดทางด้านล่าง ก้านใบสั้นมากและมีขนสั้น ๆ ยาวได้ประมาณ 0.5 เซนติเมตร ส่วนใบอ่อนมีขนนุ่มทั่วไป และขนจะค่อย ๆ ร่วงไปเมื่อใบแก่ ยกเว้นตามเส้นใบและเส้นแขนงใบ[1],[2],[3]

ใบกะเจียน

  • ดอกกะเจียน ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกไม่เกิน 3 ดอก โดยจะออกตามง่ามใบและเหนือรอยแผลใบตามกิ่ง ก้านดอกเรียวยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร โดยกลีบดอกจะเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวอมเหลือง กลีบดอกมี 2 ชั้น เรียงสลับกัน ชั้นละ 3 กลีบ รวม 6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ เนื้อหนา เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง กลีบดอกชั้นในจะใหญ่และยาวกว่ากลีบดอกชั้นนอกเล็กน้อย ส่วนกลีบเลี้ยงดอกจะบาง มีอยู่ 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วเล็ก ๆ ปลายแหลม มีขนนุ่มทั้งสองด้าน ก้านดอกยาวประมาณ 3 เซนติเมตร มีขนขึ้นประปราย ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมากอยู่ชิดแน่นเป็นพุ่มกลม[1],[2],[3] ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม[5]

รูปดอกกะเจียน

ดอกกะเจียน

  • ผลกะเจียน ผลเกิดเป็นช่อโปร่ง ออกผลเป็นกลุ่มหรือเป็นกระจุกอยู่บนแกนตุ้มกลม มีผลย่อยประมาณ 10-20 ผล ก้านผลย่อยเรียวเล็กยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร แต่ละผลมีลักษณะป้อมหรือเป็นรูปทรงกลมรี ผลมีขนาดโตประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร ปลายผลเป็นติ่ง โคนก้านติดรวมอยู่บนปลายก้านช่อที่โตเป็นตุ้ม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด[1],[2],[3] ออกผลในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน[5]

รูปกะเจียน

ผลกะเจียน

สรรพคุณของกะเจียน

  1. เนื้อไม้มีรสขม ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร (เนื้อไม้)[6]
  2. รากหรือเนื้อไม้ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กษัย (อาการป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบผอม ปวดเมื่อย โลหิตจาง) ไตพิการ (ราก)[1],[2],[6]
  1. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ (ราก)[4],[6]
  2. เนื้อไม้มีรสขม ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้วัณโรคในลำไส้ วัณโรคในปอด (เนื้อไม้)[6]
  3. เนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยาแก้ปัสสาวะพิการ (เนื้อไม้)[1],[6]
  4. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วย วันละ 3 ครั้ง เป็นยาคุมกำเนิดในสตรี (ราก)[1],[4],[6]
  5. ตำรายาพื้นบ้านจะใช้รากกะเจียนนำมาต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วย วันละ 3 ครั้ง เป็นยาบำรุงกำหนัด เพิ่มพลังทางเพศ บำรุงกำลังสำหรับบุรุษ กินแล้วกระชุ่มกระชวย คลายเส้นเอ็น และช่วยปรับสภาพร่างกาย (ราก)[1],[4],[6]
  6. ใบสดมีรสเฝื่อนเย็น ใช้ตำพอกฝี แก้ปวด แก้อักเสบ (ใบ)[6]
  7. เนื้อไม้ใช้ฝนกับน้ำปูนใสทาเกลื่อนหัวฝี (เนื้อไม้)[6]
  8. เนื้อไม้ใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้ปวดหลัง ปวดเอว (เนื้อไม้)[1],[6] หรือจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกายก็ได้เช่นกัน (ราก)[1]
  9. เปลือกใช้เข้ายาพื้นเมืองบางชนิด (เปลือก)[2]

ประโยชน์ของกะเจียน

  • ผลสุกในส่วนของเนื้อหุ้มเมล็ดจะมีรสหวาน สามารถนำมารับประทานได้[5]
  • เนื้อไม้มีสีขาวอมเหลือง นำมาใช้ทำด้ามเครื่องเกษตรกรรมทั่วไปได้[3] บ้างใช้ทำเครื่องจักสานและเครื่องมือใช้สอยต่าง ๆ
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “กะเจียน”.  หน้า 68.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “พญารากดำ”.  หน้า 526-527.
  3. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กะเจียน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.  [21 มิ.ย. 2015].
  4. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “กะเจียน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.  [22 มิ.ย. 2015].
  5. พืชกินได้ในป่าสะแกราช, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.).  “กะเจียน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.tistr.or.th.  [22 มิ.ย. 2015].
  6. กรีนคลินิก.  “กระเจียน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.greenclinic.in.th.  [22 มิ.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Shubhada Nikharge), ssbotany.org

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด