กะหล่ำปลี สรรพคุณและประโยชน์ของกะหล่ำปลี 25 ข้อ !

กะหล่ำปลี

กะหล่ำปลี หรือ กะหล่ำใบ หรือ กะหล่ำปลีเขียว ชื่อสามัญ Cabbage

กะหล่ำปลี ชื่อวิทยาศาสตร์ Brassica oleracea var. capitata L. จัดอยู่ในวงศ์ผักกาด (BRASSICACEAE หรือ CRUCIFERAE)

ส่วนใหญ่ที่เราเห็น ๆ กันจะเป็นกะหล่ำปลีสีเขียว แต่สีอื่น ๆ ก็มีเช่นกัน เช่น ขาว ม่วง และแดง

ต้นกะหล่ำปลี เดิมแล้วมีถิ่นกำเนิดอยู่แถบเมดิเตอเรเนียน และภายหลังได้แพร่กระจายทั่วไป โดยกะหล่ำปลีจะแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ กะหล่ำปลีธรรมดา (พันธุ์โกลเดนเอเคอร์, พันธุ์โคเปนเฮเกนมาร์เก็ต), กะหล่ำปลีแดง (ใบเป็นสีแดงทับทิม ขึ้นดีในที่อากาศหนาวเย็น), กะหล่ำปลีใบย่น (ขึ้นได้ในที่ที่มีอากาศหนาวเย็นเป็นพิเศษ)

กะหล่ำปลีดิบ มีวิตามินซีสูง การนำไปปรุงอาหารควรใช้วิธีการนึ่ง จะช่วยคงคุณค่าของสารอาหารไว้ได้ดีที่สุด หรือจะรับประทานเป็นผักสลัดก็ได้ ทั้งนี้ไม่ควรนำไปนึ่ง ต้ม ผัดนานจนเกินไป

ผักกะหล่ำปลี นั้นมีสารพิษที่เรียกว่า กอยโตรเจน (Goitrogen) ซึ่งเป็นตัวขัดขวางการดูดซึมของไอโอดีน ผลที่ตามมาก็คืออาจทำให้เป็นคอหอยพอกได้ แต่สารพิษที่ว่านี้จะถูกทำลายด้วยวิธีการนำไปต้ม ดังนั้นจึงควรรับประทานกะหล่ำปลีที่ผ่านการปรุงสุกแล้วจะดีกว่า แม้ว่าวิตามินจะหายไปบ้างก็ตาม แต่ก็มีคำแนะนำว่าการเกิดปัญหาจากสารพิษชนิดนี้ไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เพราะถ้าจะรับประทานกะหล่ำปลีจนถึงขนาดได้รับสารกอยโตรเจน ต้องเป็นการรับประทานอย่างต่อเนื่องเป็นประจำและในปริมาณมาก ดังนั้นจึงไม่ต้องตกใจและกังวล เล็ก ๆน้อย ๆ นาน ๆ รับประทานที ไม่มีอันตรายแน่นอนครับ !

กะหล่ำปลีดิบควรรับประทานแต่พอเหมาะ เนื่องจากการรับประทานมากเกินไปอาจจะทำให้มีปัญหาเรื่องต่อมไทรอยด์ได้ และที่สำคัญควรระมัดระวังเรื่องยาฆ่าแมลงให้มาก เพราะกะหล่ำปลีนั้นติดอับดับ 1 ใน 5 ผักที่มีสารปนเปื้อนมากที่สุด การบริโภคเข้าไปในปริมาณมากอาจจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มึนงง หายใจลำบาก คลื่นไส้อาเจียน มีอาการชักหรือหมดสติได้

ก่อนการนำมารับประทานก็ควรล้างให้สะอาดก่อน ด้วยวิธีการลอกหรือปอกเปลือกออกแล้วแช่น้ำสะอาดประมาณ 10 นาที หลังจากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งจะช่วยลดสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 25-72 ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด และสำหรับวิธีอื่น ๆ ก็เช่น แช่น้ำปูนใส, การใช้ความร้อน, แช่น้ำด่างทับทิม, ล้างด้วยน้ำไหลจากก๊อก, แช่น้ำซาวข้าว, แช่น้ำส้มสายชูหรือเกลือป่น, แช่น้ำยาล้างผัก เป็นต้น

สรรพคุณของกะหล่ำปลี

  1. กะหล่ำปลีมีกรดทาร์ทาริก (Tartaric acid) ที่ช่วยยับยั้งและขัดขวางไม่ให้น้ำตาลและแป้งกลายเป็นไขมัน จึงมีส่วนในการช่วยลดน้ำหนักและคอเลสเตอรอลได้
  2. ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน เพราะกะหล่ำปลีดิบอุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นผลดีต่อการเสริมสร้างและบำรุงกระดูก
  3. ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้แข็งแรง ป้องกันหวัด เพราะกะหล่ำปลีดิบมีวิตามินสูง
  4. ช่วยบำรุงผิวพรรณทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล และยังช่วยคงความอ่อนเยาว์ได้อีกด้วย
  5. กะหล่ำปลีมีสารเอสเมธิลเมโธโอนินที่สามารถช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหารได้
  6. ช่วยต่อต้านมะเร็ง ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้ โดยการบริโภคกะหล่ำปลีมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ จะช่วยลดโอกาสของการเป็นมะเร็งลำไส้ในผู้ชายได้ถึง 66%
  7. กะหล่ำปลีช่วยต่อต้านมะเร็งในตับและมีส่วนช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากได้อีกด้วย
  8. ช่วยในการย่อยอาหารและล้างสารพิษทำความสะอาดลำไส้ เพราะกะหล่ำปลีดิบมีใยอาหารที่มีปริมาณพอเหมาะ จึงช่วยในการย่อยและกระตุ้นการทำงานของลำไส้ใหญ่ ช่วยทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  9. กะหล่ำปลีดิบช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการอักเสบของแผลในลำไส้ และยังช่วยบำรุงลำไส้
  10. กะหล่ำปลี สรรพคุณช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง
  11. กะหล่ำปลี ประโยชน์ช่วยแก้และบรรเทาอาการท้องผูก
  12. ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน
  13. ช่วยแก้อาการเจ็บคอ
  14. ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย นอนหลับสบาย หลับสนิท เพราะกะหล่ำปลีดิบมีสารซัลเฟอร์ซึ่งมีส่วนช่วยระงับประสาท ทำให้รู้สึกผ่อนคลายความเครียด
  15. มีส่วนช่วยในการขับปัสสาวะ
  16. ช่วยบำรุงไต
  17. ช่วยบำรุงตับ ช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานของตับ ช่วยตับในการล้างสารพิษ
  18. ช่วยเพิ่มการสร้างของกลูตาไธโอนซึ่งจำเป็นต่อตับในการช่วยล้างสารพิษจากควันไอเสียและยาต่าง ๆ
  19. ช่วยรักษาระดับเอสโตรเจนให้คงที่
  20. ช่วยบรรเทาอาการปวดตึงคัดเต้านม โดยใช้กะหล่ำปลีมาประคบเต้านม ลอกกะหล่ำปลีออกเป็นใบแล้วนำมาประคบที่เต้านมข้างละใบ ใช้ผ้าพันทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที โดยไม่ต้องนวดคลึง อาการปวดตึงคัดก็จะหายไป
  21. กะหล่ำปลีมีกรดโฟลิก ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมสร้างสมองของเด็กทารกในครรภ์
  22. ช่วยชะลอการเกิดผมหงอก กระตุ้นโปรตีนเคราติน (Keratin) ช่วยบำรุงรากผมเพราะกะหล่ำปลีมีวิตามินบี 5
  23. สำหรับผู้ที่ชอบรับประทานอาหารปิ้งย่างเป็นประจำ ควรรับประทานผักกะหล่ำปลีด้วย เพราะอุดมไปด้วย Sulforaphane ที่จะช่วยป้องกันการถูกทำลายของ DNA และลดความเสียหายของ DNA ในร่างกาย

ประโยชน์ของกะหล่ำปี

  • ช่วยแก้รสเผ็ดร้อนได้ สังเกตได้จากส้มตำ แม่ค้ามักจะใส่กะหล่ำปลีสด ๆ มาเป็นเครื่องเคียงให้รับประทานนั่นเอง
  • ใช้ประกอบอาหาร โดยเมนูกะหล่ำปลีก็เช่น กะหล่ำปลีทอดน้ำปลา, ผัดกะหล่ำปลีใส่ไข่, กะหล่ำปลีตุ๋นซี่โครงอ่อน, กะหล่ำปลีตุ๋นเอ็นวัว, กะหล่ำปลีต้มยัดไส้หมู, กะหล่ำปลีม้วนใส่หมูบดปรุงรส, ถุงทองกะหล่ำปลี, ต้มกะหล่ำปลีเจ, แกงส้ม, แกงจืด, ห่อหมก, รับประทานร่วมกับน้ำพริก, ทำเป็นสลัด ฯลฯ

คุณค่าทางโภชนาการของกะหล่ำปลีดิบต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 25 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 5.8 กรัม
  • น้ำตาล 3.2 กรัม
  • เส้นใย 2.5 กรัม
  • ไขมัน 0.1 กรัม
  • โปรตีน 1.28 กรัม
  • วิตามินบี 1 0.061 มิลลิกรัม 5%
  • วิตามินบี 2 0.040 มิลลิกรัม 3%
  • วิตามินบี 3 0.234 มิลลิกรัม 2%
  • วิตามินบี 5 0.212 มิลลิกรัม 4%
  • วิตามินบี 6 0.124 มิลลิกรัม 10%
  • วิตามินบี 9 43 ไมโครกรัม 11%
  • กะหล่ำปลีวิตามินซี 36.6 มิลลิกรัม 44%
  • ธาตุแคลเซียม 14 มิลลิกรัม 1%
  • ธาตุเหล็ก 40 มิลลิกรัม 4%
  • ธาตุแมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม 3%
  • ธาตุแมงกานีส 0.16 มิลลิกรัม 8%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 26 มิลลิกรัม 4%
  • ธาตุโพแทสเซียม 170 มิลลิกรัม 4%
  • ธาตุโซเดียม 18 มิลลิกรัม 1%
  • ธาตุสังกะสี 0.18 มิลลิกรัม 2%
  • ฟลูออไรด์ 1 ไมโครกรัม

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด