12 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกอมขม ! (ดีงูต้น)

กอมขม

กอมขม ชื่อวิทยาศาสตร์ Picrasma javanica Blume จัดอยู่ในวงศ์ปลาไหลเผือก (SIMAROUBACEAE)[1]

สมุนไพรกอมขม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตะพานก้น (เชียงใหม่), ดีงูต้น (พิษณุโลก), ก้ามกุ้งต้น (ชุมพร), ดำ (นครศรีธรรมราช), จันเขา (สุราษฎร์ธานี), หงีน้ำ หยีน้ำใบเล็ก (ตรัง), ขางขาว ขางครั้ง ดีงูต้น ตะพ้านก้น มะค้า กอมขม (ภาคเหนือ), กะลำเพาะต้น ไม้หอมตัวผู้ หมาชล (ภาคตะวันออกเฉียงใต้), ดำ หงีน้ำ หยีน้ำใบเล็ก (ภาคใต้), บะกอมขม (คนเมือง), หมักกอม (เงี้ยว-เชียงใหม่), เนียะปะโจ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), มะปอจอ (กะเหรี่ยง-ภาคเหนือ), กรอสะนาสมูล (เขมร-ภาคตะวันออกเฉียงใต้) เป็นต้น[1],[2],[4]

ลักษณะของกอมขม

  • ต้นกอมขม จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงได้ประมาณ 8-15 เมตร และอาจสูงได้ถึง 20 เมตร แตกกิ่งก้านเล็กน้อยแผ่ออก เปลือกต้นเป็นสีเทาหรือสีเทาอมน้ำตาล เรียบหรือแตกเป็นร่องขรุขระเล็กน้อย ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ในภาคตะวันออกของอินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค โดยมักขึ้นตามริมน้ำในป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ 700 เมตร[1],[2],[3]

ต้นกอมขม

  • ใบกอมขม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับ มีใบย่อย 3-7 ใบ แกนกลางใบประกอบยาวประมาณ 4-12 เซนติเมตร ก้านใบประกอบยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปรีแกมขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรี ปลายใบแหลมยาว โคนใบแหลม ส่วนขอบใบย่นเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.2-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-15 เซนติเมตร แผ่นใบบางเรียบเกลี้ยง หลังใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน ส่วนด้านล่างมีสีจางกว่า ก้านใบย่อยยาวได้ประมาณ 0.2-0.7 เซนติเมตร หูใบมีขนาดใหญ่ เป็นแผ่นกลม มีขนาดกว้างประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.7-2.5 เซนติเมตร มีเส้นใบปรากฏชัด ร่วงได้ง่าย[1],[2]

ใบกอมขม

  • ดอกกอมขม ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ แตกแขนงสั้น ๆ ยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร มีดอกจำนวนมาก ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน แต่อยู่ต่างช่อ ดอกเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้ประมาณ 2 เท่า ก้านดอกยาวประมาณ 0.6-1 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ แยกจากกัน ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกมี 4 กลีบ แยกจากกัน เป็นสีเหลือง ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ขอบกลีบดอกงอเข้าหากันเป็นกระพุ้งเล็กน้อย มีเกสรเพศผู้ 4 อัน ขนาดยาวกว่ากลีบดอกเพศผู้ แต่สั้นกว่ากลีบดอกเพศเมีย อับเรณูของดอกเพศเมียนั้นว่างเปล่า รังไข่มีลักษณะกลมรี มีพู 5 พู ยอดเกสรเพศเมียจะแยกเป็นแฉกสั้น ๆ 4 แฉก ดอกเพศผู้จะไม่มีเกสรเพศเมีย จานฐานดอกหนา สูงประมาณ 1 มิลลิเมตร ด้านข้างเว้าเป็นพู 4 พู มีขนขึ้นประปราย[1],[2]

ดอกกอมขม

  • ผลกอมขม ผลมีลักษณะกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.6-0.9 เซนติเมตร ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ ผลอ่อนเป็นสีขาวอมเขียว อุ้มน้ำ ผลห่ามเป็นสีม่วง ส่วนผลแก่เป็นสีดำ ผิวแห้งย่นคล้ายร่างแหไม่เป็นระเบียบ เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ ภายในมีเมล็ดเดี่ยว แข็ง[1],[2]

ผลกอมขม

สรรพคุณของกอมขม

  1. ตำรายาไทยจะใช้เปลือกต้นกอมขมเป็นยาแก้ไข้ ไข้มาลาเรียหรือไข้จับสั่น ไข้ป้าง และไข้ทุกชนิด (เปลือกต้น)[1],[3],[6] ส่วนชาวชวาจะใช้ใบเป็นยาแก้ไข้ (ใบ)[2]
  1. เนื้อไม้มีรสขม มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้จับสั่น ไข้เหลือง (เนื้อไม้)[6],[7]
  2. ผลใช้บดเป็นยากวาดคอเด็ก มีรสขม ช่วยแก้อาการเจ็บคอ (ผล)[3],[6]
  3. ใบและเปลือกต้น ใช้ต้มกับน้ำอาบรักษาอาการคันตามตัวหรือผื่นคัน (ใบและเปลือกต้น)[4]
  4. ใบใช้ต้มล้างแผลที่ถูกบุ้ง เป็นยาแก้พิษบุ้ง (ใบ)[5]
  5. สมุนไพรที่มีรสขมจะมีสรรพคุณเป็นยาแก้พยาธิในเด็ก บำรุงน้ำดี และเป็นยาแก้ไข้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “กอมขม” (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[7]
  6. เปลือกต้นมีสารแควสซิน (quassiin) ให้รสขม ในพม่าและชวาจะใช้แทนควินิน (เปลือกต้น)[2]
  7. นอกจากสรรพคุณที่กล่าวมาแล้ว ยังมีข้อมูลอื่นที่ระบุด้วยว่า ทั้งต้นกอมขมนั้นมีสรรพคุณบำรุงน้ำดี แก้ไข้จับสั่น, เปลือกต้นใช้เป็นยาพอกแผล, ลำต้นใช้เป็นยาบำรุงเลือด แก้ไข้จับสั่น ส่วนใบใช้เป็นยารักษาแผลอักเสบ เป็นหนอง[8]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกอมขม

  • สารอัลคาลอยด์ที่ได้จากเปลือกต้นมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางและลดไข้ในสัตว์ทดลองได้ปานกลาง[3],[6]

ประโยชน์ของกอมขม

  • บางข้อมูลระบุว่า เปลือกต้นนอกจากจะใช้เป็นยารักษาไข้แล้ว ยังมีการนำมาใช้เป็นยาฆ่าแมลงอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “กอมขม”.  หน้า 92.
  2. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กอมขม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.  [22 มิ.ย. 2015].
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “กอมขม”.  อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2, หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [22 มิ.ย. 2015].
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “กอมขม”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [22 มิ.ย. 2015].
  5. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “สมุนไพรที่ใช้แก้อาการแพ้และระคายเคือง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.cmu.ac.th.  [22 มิ.ย. 2015].
  6. กรีนคลินิก.  “กอมขม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.greenclinic.in.th.  [22 มิ.ย. 2015].
  7. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 4 คอลัมน์ : การรักษาพื้นบ้าน.  “ยาสมุนไพร”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [22 ส.ค. 2014].
  8. พืชสมุนไพรโตนงาช้าง.  “กอมขม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/.  [22 มิ.ย. 2015].

ภาพประกอบ : biodiversity.forest.go.th, www.nprcenter.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด