กอมก้อห้วย
กอมก้อห้วย ชื่อวิทยาศาสตร์ Anisomeles indica (L.) Kuntze (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Epimeredi indicus (L.) Rothm.) จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)[1],[2]
สมุนไพรกอมก้อห้วย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สาบเสือ (สระบุรี), หญ้าฝรั่ง (ประจวบคีรีขันธ์) เป็นต้น[1]
ลักษณะของกอมก้อห้วย
- ต้นกอมก้อห้วย จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่ม มีอายุหลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้าน ลำต้นและกิ่งก้านมีลักษณะเป็นสันเหลี่ยมและเป็นร่องตื้น ๆ มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลขึ้นปกคลุมหนาแน่น มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีน อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย พม่า และฟิลิปปินส์ ส่วนในประเทศไทยพบตามขอบชายป่า ตามที่รกร้าง ที่โล่งแจ้ง ที่ระดับความสูงจนถึง 2,400 เมตร[1],[2],[3]
- ใบกอมก้อห้วย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปไข่แกมวงรี ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลมสั้น โคนใบตัดถึงเป็นรูปลิ่มกว้าง ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยแกมหยักโค้ง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-9 เซนติเมตร แผ่นใบด้านบนมีขนหยาบ ส่วนด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม ก้านใบยาวประมาณ 1-4.5 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกกอมก้อห้วย ออกดอกเป็นช่อเชิงลด โดยจะออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ ใบที่ออกดอกมีก้านสั้นถึงไม่มี ใบประดับยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก มีขน มีต่อมสีเหลือง มีขนครุย กลีบย่อยนั้นมีขนาดประมาณ 1.3 เซนติเมตร ด้านนอกเกลี้ยง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็นกลีบ ด้านบนเป็นรูปขอบขนาน สีขาว ด้านล่างหยักเป็นพู 3 พู ส่วนตรงกลางแผ่กว้าง มีสีม่วงเข้ม ส่วนข้างเป็นรูปไข่สีขาว ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน เชื่อมติดกันสองกลุ่ม ขนาดยาวไม่เท่ากัน ยื่นพ้นหลอดกลีบดอก รังไข่เกลี้ยง[1],[2]
- ผลกอมก้อห้วย ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวยหรือรูปเกือบกลม สีดำเป็นมัน มีขนาดประมาณ 1.5 มิลลิเมตร[1],[2]
สรรพคุณของกอมก้อห้วย
- ต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ (ต้น)[3]
- ใบใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาบำรุงธาตุ แก้รูมาติซึม (ใบ)[3]
- ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ต้น)[3]
- ใบใช้ชงกับน้ำกินเป็นยาขับเหงื่อ (ใบ)[3]
- ต้นใช้เป็นยาขับลม ขับปัสสาวะ (ต้น)[3]
- ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบกอมก้อห้วย นำมาเคี้ยวพ่นลงบนบริเวณที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย (ใบ)[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “กอมก้อห้วย”. หน้า 103.
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “กอมก้อห้วย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [22 มิ.ย. 2015].
- คุยเฮิร์บ (KUIHERB). “กอมก้อห้วย, สาบเสือ, หญ้าฝรั่ง”. อ้างอิงใน : หนังสือสมุนไพรไทย ตอนที่ 6. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.inf.pharm.su.ac.th/~kuiherb/. [22 มิ.ย. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, judymonkey17, Foggy Forest, János Bognár)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)