กล้วยหมูสัง
กล้วยหมูสัง ชื่อวิทยาศาสตร์ Uvaria grandiflora Roxb. ex Hornem. จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[1],[2]
สมุนไพรกล้วยหมูสัง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กล้วยมูซัง (สงขลา), กล้วยมดสัง กล้วยมุดสัง ย่านนมควาย (ตรัง), กล้วยหมูสัง (ภาคใต้) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของกล้วยหมูสัง
- ต้นกล้วยหมูสัง จัดเป็นพรรณไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ แยกจากโคนต้นได้หลายเถา สามารถเลื้อยพาดตามพุ่มไม้ไปได้ไกลถึง 30 เมตร เนื้อไม้เหนียวแข็ง ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมเหลืองขึ้นหนาแน่น จัดเป็นพืชหายากชนิดหนึ่ง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ปักชำกิ่ง และวิธีการตอนกิ่ง ชอบดินร่วน ต้องการน้ำปานกลาง และในที่ที่มีแสงแดดทั้งวัน มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์ทางภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงใต้ โดยมักขึ้นตามชายป่าดิบชื้น ป่าละเมาะที่ชุ่มชื้น ป่าโปร่งที่ชุ่มชื้น บริเวณที่โล่งริมลำธาร ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 700 เมตร[1],[2],[3]
- ใบกล้วยหมูสัง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมรูปไข่กลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-25 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนทั้งสองด้าน โดยแผ่นใบด้านบนจะเป็นสีเขียวเข้มเป็นมันและมีขนขึ้นประปรายตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ ส่วนด้านล่างใบจะเป็นสีเขียวนวลมีขนสั้นนุ่มทั่วไป ก้านใบยาวประมาณ 3-8 มิลลิเมตร[1],[2]
- ดอกกล้วยหมูสัง ออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกที่ปลายกิ่งและตามกิ่ง ออกตรงข้ามหรือเยื้องกับใบเล็กน้อย ดอกเป็นสีแดงสด จะส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ในช่วงพลบค่ำและกลางคืน มีน้ำหวานจำนวนมากรอบฐานดอก กลีบดอกมี 6 กลีบ เรียงสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกเป็นสีแดงสดหรือสีแดงเลือดนก โคนกลีบดอกเป็นสีเหลืองอ่อน ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ปลายมน ยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร กลีบดอกจะค่อนข้างหนา ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 3 กลีบ สีเขียวอมเหลือง ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงค่อนข้างบอบบาง ผิวด้านในเกลี้ยง ส่วนผิวด้านนอกมีขนสั้นขึ้นประปราย ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก อยู่ชิดกันแน่นเป็นพุ่มกลม รังไข่ยาวได้ประมาณ 7 มิลลิเมตร มีขนสั้น ยอดเกสรเพศเมียแผ่ออกคล้ายรูปแตร มีเมือกเหนียวสีเหลืองแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้น เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-11 เซนติเมตร[1],[2]
- ผลกล้วยหมูสัง ออกผลเป็นกลุ่ม ๆ แต่ละกลุ่มมีผลย่อยจำนวนมาก ประมาณ 6-15 ผล อยู่บนแกนตุ้มกลม ก้านช่อผลยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ลักษณะของผลย่อยเป็นรูปทรงกระบอกสั้น ๆ ยาวได้ประมาณ 3-6 เซนติเมตร ปลายผลมน บางตอนของผลคอดเว้าเล็กน้อย ตามผิวมีตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นกระจายและมีขนขึ้นประปราย ผลอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนผลสุกเป็นสีเหลืองอมส้ม มีรสหวานเปรี้ยวใช้รับประทานได้ ภายในผลมีเมล็ดมาก ส่วนก้านผลย่อยยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร[1],[2] ออกดอกและผลในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน และพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม[3]
สรรพคุณของกล้วยหมูสัง
- ใบและราก นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาบำบัดอาการปวดท้อง (ใบและราก)[1],[2]
- ชาวมลายูจะใช้ใบกล้วยหมูสัง นำมาต้มกับข้าวกินเป็นยาบรรเทาอาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อ (ใบ)[1],[2]
ประโยชน์ของกล้วยหมูสัง
- ผลสุกเป็นสีเหลืองอมส้ม มีกลิ่นหอมและมีรสหวานเปรี้ยว ใช้รับประทานได้[1],[2]
- เถานำมาใช้ประโยชน์แทนหวาย[2]
- กล้วยหมูสังเป็นพรรณไม้ที่ให้ดอกสีสวยงดงาม ดอกเป็นสีแดงสดและมีกลิ่นหอม มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นไม้เลื้อยประดับ โดยจะส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ในช่วงพลบค่ำและกลางคืน[4]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “กล้วยหมูสัง”. หน้า 90.
- ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ย่านนมควาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [23 มิ.ย. 2015].
- พืชถิ่นเดียวและพืชหายากของประเทศไทย, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ย่านนมควาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th. [23 มิ.ย. 2015].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “กล้วยหมูสัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [23 มิ.ย. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Cerlin Ng, Siyang Teo)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)