กล้วยนวล
กล้วยนวล ชื่อสามัญ Elephant banana[4], Ensets[5]
กล้วยนวล ชื่อวิทยาศาสตร์ Ensete glaucum (Roxb.) Cheesman[2],[5] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Musa glauca Roxb.)[1],[3] จัดอยู่ในวงศ์กล้วย (MUSACEAE)[1],[2]
สมุนไพรกล้วยนวล มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กล้วยศาสนา (เชียงใหม่), กล้วยโทน (น่าน), กล้วยหัวโต (กรุงเทพฯ), กล้วยญวน, แอพแพละ, นอมจื่อต๋าง (เมี่ยน) เป็นต้น[1],[2],[5],[6]
ลักษณะของกล้วยนวล
- ต้นกล้วยนวล มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่ประเทศอินเดีย เนปาล พม่า จีนตอนใต้ และในภูมิภาคมาเลเซีย รวมไปถึงนิวกินีและฟิลิปปินส์ด้วย ส่วนในประเทศไทยจะพบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และทางภาคใต้ เป็นกล้วยลำต้นเดี่ยว ไม่มีไหล น้ำยางเป็นสีเหลืองอมส้ม จัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีกาบใบกลายเป็นลำต้นเทียม ลำต้นเทียมมีจุดสีดำม่วงกระจาย ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก มีความสูงของต้นประมาณ 5-6 เมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของต้นประมาณ 30-50 เซนติเมตร โคนต้นกว้างอวบใหญ่ ส่วนกาบลำต้นเป็นสีเขียวและมีนวลหนาสีขาว ไม่มีหน่อที่โคนต้น[1],[2],[5] ต้นกล้วยนวลสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ เป็นไม้ล้มลุกที่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนระบายน้ำได้ดี และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด[3]
- ใบกล้วยนวล ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปรียาวขอบขนาน ปลายใบยาวคล้ายหาง ส่วนโคนใบมีลักษณะเป็นรูปลิ่ม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 50-60 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.4-1.8 เมตร แผ่นใบเกลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบมีนวลหนา ก้านใบยาวเป็นสีเขียวนวล และมีร่องเปิดที่เส้นกลางใบ ส่วนก้านใบสั้น[1],[3]
- ดอกกล้วยนวล ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่คล้ายระฆังห้อยดิ่งลง โดยปลีมีใบประดับขนาดใหญ่สีเขียวเรียงสลับ และชิดติดกันตั้งแต่โคนจนถึงปลาย[1] ช่อดอกหรือปลีมีลักษณะเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ 2.5 เมตร มีใบประดับเรียงซ้อนเหลื่อมกัน มีนวลติดทนอยู่ด้านใน แต่ละใบมีประมาณ 10-20 ดอก โดยดอกเพศผู้จะอยู่ช่วงปลาย ส่วนดอกเพศเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศจะออกบริเวณช่วงโคน กลีบรวมที่เชื่อมติดกันยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ที่ปลายมี 3 หยัก กลีบรวมที่แยกเป็นรูปหัวใจสั้นกว่ากลีบรวมที่เชื่อมติดกัน ที่ปลายเป็นติ่ง[4]
- ผลกล้วยนวล ผลอยู่รวมกันเป็นหวีภายในปลี ผลเป็นผลเดี่ยว ลักษณะของผลเป็นรูปรีสั้น ๆ และมีสันตามยาว ผลมีขนาดกว้างประมาณ 3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6 เซนติเมตร ภายในผลมีเนื้อเยื่อบาง ๆ และมีเมล็ดสีดำขนาดใหญ่ ผิวเรียบและแข็งมาก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร[1],[2],[4]
สรรพคุณของกล้วยนวล
- รากเหง้าใช้เป็นยาแก้ถ่ายท้องได้เป็นอย่างดี (รากเหง้า)[1]
- น้ำใส ๆ ที่อยู่ภายในโพรงหัว ใช้รักษาผมร่วง (น้ำใสที่อยู่ในโพรงหัว)[1]
ประโยชน์ของกล้วยนวล
- ผลอ่อนนำมาใช้ทำส้มตำกล้วย[3] หรือใช้รับประทานสด หรือจะใช้ผลดิบเป็นเครื่องเคียงก็ได้[5]
- ยอดอ่อนนำมาใช้ทำแกงหยวกกล้วยใส่ไก่ มีรสหวานเล็กน้อย[3]
- ปลีกล้วยสามารถนำมารับประทานได้ด้วยการนำไปแกง (เมี่ยน)[2]
- บ้างว่ากล้วยชนิดนี้รับประทานไม่ได้ แต่สามารถนำมาใช้เลี้ยงสุกรได้[4] โดยกาบกล้วยใช้เป็นอาหารสุกร (เมี่ยน)[2]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในสวน[5]
- ใบนำมาใช้รองผักหญ้า รองข้าวเหนียวตอนอุ่นในลังถึง หรือใช้กาบใบนำมาทำเชือกสำหรับรัดสิ่งของ หรือใช้สับทำปุ๋ยใส่โคนต้นไม้อื่น[6]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “กล้วยนวล”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, รศ.ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 65.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “กล้วยหัวโต, กล้วยนวล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [02 ก.พ. 2014].
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “กล้วยนวล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [02 ก.พ. 2014].
- สำนักงานหอพรรณไม้, สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. (29 พฤศจิกายน 2547). “กล้วยนวล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/botany/. [02 ก.พ. 2014].
- ห้องสมุดความรู้การเกษตร, กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. “กล้วยนวล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doae.go.th/library/html/index_netscape.html. [02 ก.พ. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by ), www.magnoliathailand.com (by AJAX, zvoltage), www.oknation.net (by สายลมลอย), www.biogang.net (by kornwika), www.kasetporpeangclub.com (by นายฮ้อย), bansuanporpeang.com (by นาย)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)