โรคกลาก
กลาก หรือ ขี้กลาก (Tinea, Ring worm*) เป็นโรคติดเชื้อราที่ผิวหนัง ผม และเล็บ สามารถติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัส ซึ่งแตกต่างจากโรคเกลื้อนที่ไม่ใช่โรคติดต่อ และโรคกลากมียารักษาให้หายได้
โรคกลากเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยมากในคนทุกเพศทุกวัย ในบางครั้งอาจพบเป็นพร้อมกันหลายคนในบ้าน ในโรงเรียน หรือในวัด เชื้อราพวกนี้สามารถก่อให้เกิดรอยโรคตามผิวหนังได้แทบทุกส่วนของร่างกาย ส่วนตำแหน่งที่เกิดรอยโรคอาจแตกต่างกันไปในแต่ละเพศแต่ละวัย โดยถ้าเป็นเด็กจะพบโรคกลากที่ศีรษะมากที่สุด แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่จะพบโรคกลากที่เท้ามากที่สุด ส่วนโรคกลากบริเวณขาหนีบและบริเวณเคราโดยมากแล้วจะพบแต่ในเฉพาะผู้ชาย
หมายเหตุ : คำว่า Tinea มาจากภาษาละตินที่แปลว่า “หนอน” เนื่องจากรอยโรคที่ผิวหนังจะเป็นลายหยึกหยักดูคล้ายลายทางเดินของหนอน โรคนี้จึงมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า Ring worm
สาเหตุของโรคกลาก
โรคกลากเกิดจากเชื้อราพวกเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophyte) ซึ่งมีอยู่หลายชนิด เช่น Epidermophyton spp., Microsporum spp., Trichophyton spp. เชื้อราเหล่านี้ชอบเจริญเติบโตอยู่ในบริเวณผิวหนังส่วนที่มีเคราติน (Keratin เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่อยู่ในผิวหนังชั้นนอก เล็บ และเส้นผม) ซึ่งได้แก่ ผิวหนังชั้นนอกสุด เล็บ และเส้นผม แล้วก่อให้เกิดโรคขึ้นมา
โรคนี้สามารถติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคกลากโดยตรง หรือจากการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ถุงเท้า รองเท้า หมวก หวี แปรงผม มีดโกนผม เป็นต้น หรือติดมาจากตามร้านตัดผม ร้านเสริมสวย หรือสัมผัสกับเชื้อราที่อยู่ในดินในทราย รวมทั้งสามารถติดเชื้อมาจากการสัมผัสสัตว์เลี้ยงในบ้านที่ป่วยโรคกลาก เช่น สุนัข แมว
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่อาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้มากขึ้น เช่น ผิวหนังที่เปียกชื้น, มีแผลที่ผิวหนัง, การใช้ห้องน้ำ อ่างอาบน้ำ หรือสระว่ายน้ำสาธารณะ, การเล่นกีฬาบางประเภทที่ผิวหนังมีการเสียดสีกัน (เช่น มวยปล้ำ ยูโด เทควันโด คาราเต้), ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ, เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง, เป็นโรคที่มีฮอร์โมนชนิดสเตียรอยด์ในร่างกายสูง (เช่น โรคคุชชิง), ผู้ที่ทำงานกับสัตว์หรือใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง, ชาวสวนชาวนา เป็นต้น
อาการของโรคกลาก
หลังติดเชื้อราโรคกลากมาแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการของโรคกลาก ซึ่งในแต่ละตำแหน่งของร่างกายจะมีชื่อเรียกและอาการที่แตกต่างกันไป แต่ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งใดก็มักจะมีอาการคันเป็นหลัก
- โรคกลากที่ศีรษะ หรือ เชื้อราที่ศีรษะ (Tinea capitis) พบได้มากในเด็กอายุ 3-7 ปี แต่พบได้น้อยในผู้ใหญ่ และอาจพบได้ในหมู่พระภิกษุ เณร หรือแม่ชีที่ใช้มีดโกนร่วมกัน ผู้ป่วยมักมีอาการผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ลักษณะเป็นวง ๆ สีเทา ๆ หนังศีรษะมักแห้งเป็นขุยขาว ๆ คล้ายรังแค (ในบางรายบริเวณที่ผมร่วงอาจดูปกติ หรืออาจมีสะเก็ดแข็งหนาสีเหลืองเป็นแผ่น ๆ ดูคล้ายรังผึ้งก็ได้) และเชื้อราที่ลุกลามเข้าเส้นผม จะทำให้เส้นผมมีสีซีดลง เปราะ มีปลายเส้นผมที่หักคาเป็นปลายสั้น ๆ หรือเห็นเป็นจุดสีดำ ๆ ที่หนังศีรษะ และผู้ป่วยมักมีอาการคัน
- สำหรับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน จะมีตุ่มหนองเกิดขึ้นรอบ ๆ รูขุมขน และลุกลามเป็นก้อนนูนใหญ่ อักเสบ สีแดง แล้วแตกออก และมีน้ำเหลืองเกรอะกรัง เรียกว่า “ชันนะตุ” เมื่อหายแล้วมักจะเป็นแผลเป็น ซึ่งจะไม่มีผมงอกอีกเลย นอกจากนี้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอของผู้ป่วยอาจจะมีขนาดใหญ่ขึ้นมาได้ด้วย
- ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการคัน เส้นผมไม่หักหลุดร่วง แต่จะมีแค่หนังศีรษะมีขุยมากกว่าปกติเล็กน้อยเหมือนเป็นรังแคธรรมดา ผู้ป่วยเหล่านี้จัดเป็นพาหะโรคของโรคกลาก ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อรา Trichophyton tonsurans และสามารถแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นได้
- สำหรับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน จะมีตุ่มหนองเกิดขึ้นรอบ ๆ รูขุมขน และลุกลามเป็นก้อนนูนใหญ่ อักเสบ สีแดง แล้วแตกออก และมีน้ำเหลืองเกรอะกรัง เรียกว่า “ชันนะตุ” เมื่อหายแล้วมักจะเป็นแผลเป็น ซึ่งจะไม่มีผมงอกอีกเลย นอกจากนี้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอของผู้ป่วยอาจจะมีขนาดใหญ่ขึ้นมาได้ด้วย
- โรคกลากที่เท้า (Tinea pedis, Athlete’s foot) บ้างเรียกว่า ฮ่องกงฟุต, น้ำกัดเท้า, กลากที่ง่ามนิ้วเท้า หรือ เชื้อราที่เท้า พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เพราะใส่ถุงเท้าและรองที่ทำให้อับชื้น นอกจากนี้ยังพบได้ในคนที่เท้าเปียกน้ำบ่อย ๆ เช่น ย่ำน้ำ รวมถึงคนที่มีนิ้วเท้าบีบชิดกันตามธรรมชาติ ทำให้ง่ามนิ้วเท้าอับชื้นได้ง่าย มักเป็นที่ง่ามเท้าที่ 3, 4 และ 5 ผิวหนังที่อยู่ระหว่างง่ามนิ้วเท้าของผู้ป่วยจะบวมแดงและมีขุยขาว ๆ ลักษณะยุ่ย ๆ ต่อมาจะลอกเป็นแผ่นหรือเกล็ด แล้วแตกเป็นร่องและมีกลิ่น (เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เท้ามีกลิ่นเหม็น) และผู้ป่วยมักมีอาการคันยิบ ๆ ร่วมด้วย ถ้าแกะลอกขุยขาว ๆ ที่เปื่อยยุ่ยออกจะเห็นผิวหนังข้างใต้มีลักษณะแดง ๆ และมีน้ำเหลืองซึม ในบางรายอาจลามไปที่ฝ่าเท้าหรือเล็บเท้า มีอาการฝ่าเท้าลอกเป็นขุยขาว ๆ หรือเป็นตุ่มพองใหญ่และมีอาการคันมาก
- โรคกลากที่มือ (Tinea manuum) ลักษณะของรอยโรคจะเหมือนโรคกลากที่เท้า และมักจะเป็นร่วมกับกลากที่เท้า แต่ที่มือมักจะเป็นแค่มือข้างเดียว
- โรคกลากที่เล็บ หรือ เชื้อราที่เล็บ (Tinea unguium) เป็นได้ทั้งเล็บมือและเล็บเท้า ถ้าเป็นที่เล็บเท้ามักจะเกิดจากโรคฮ่องกงฟุตที่เป็นแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการคัน โดยมากมักจะเป็นที่นิ้วก้อยมากกว่านิ้วอื่น ๆ และจะเกิดที่ปลายเล็บหรือด้านข้างของเล็บก่อน หรือถ้าเป็นที่เล็บมือ ผู้ป่วยมักจะมีอาการของโรคกลากที่บริเวณอื่นมาก่อน หรือติดเชื้อมาจากร้านเสริมสวยจากการแต่งเล็บด้วยเครื่องมือที่ไม่สะอาด ซึ่งเล็บจะมีลักษณะด้าน ไม่เรียบตรงและหนาขึ้น เล็บจะเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่นเป็นหย่อม ๆ สีเหลือง น้ำตาล หรือสีดำ มีลักษณะขรุขระและยุ่ย และตัวเล็บอาจแยกออกจากหนังใต้เล็บ (เรียกว่า Onycholysis) ถ้าเป็นมากเล็บจะผุกร่อนทั้งเล็บ และผู้ป่วยบางรายอาจพบเป็นเกือบทุกเล็บ
- โรคกลากที่ลำตัว (Tinea corporis) บ้างเรียกว่า กลากตามลำตัว หรือ ขี้กลากวงเดือน เป็นชนิดที่พบได้บ่อยกว่าชนิดอื่น ๆ มักพบขึ้นตามลำตัว แขนและขา ในระยะเริ่มจะเป็นตุ่มแดง ๆ แล้วค่อย ๆ ลามออกไปจนมีลักษณะเป็นวงที่มีขอบเขตชัดเจน ขอบจะนูนเล็กน้อยและมีสีแดง มักมีตุ่มน้ำใสเล็ก ๆ หรือขุยขาว ๆ อยู่รอบ ๆ วง วงนี้จะลุกลามขยายออกไปเรื่อย ๆ ส่วนผิวหนังที่อยู่ตรงกลาง ๆ วง จะมีลักษณะเป็นผิวหนังที่ปกติ เนื่องจากส่วนที่เป็นก่อนและเริ่มหายแล้ว และอาจขึ้นเป็นวงติด ๆ กันหลายวง หรือเป็นวงซ้อนวงกัน โรคกลากชนิดนี้มักมีอาการคันเล็กน้อย ถ้าเกามาก ๆ ก็อาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียอักเสบแทรกซ้อนได้
- โรคกลากที่ใบหน้า (Tinea faciei) พบได้ค่อนข้างน้อย มีรอยโรคคล้ายกับโรคกลากที่ลำตัว การเรียกโรคกลากที่ใบหน้าจะไม่รวมกลากที่ขึ้นบริเวณเครา หนวด และลำคอ ซึ่งจะมีชื่อเรียกและอาการที่ต่างกันไป
- โรคกลากที่เครา หนวด และลำคอ (Tinea barbae) มักพบได้ในผู้ชาย เป็นชนิดที่ส่วนใหญ่จะติดเชื้อมาจากสัตว์ที่เป็นโรค ส่วนการติดต่อระหว่างคนเกิดขึ้นได้น้อยมาก ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีอาชีพเลี้ยงสัตว์ มีอาการแสดงคือ ผิวหนังจะนูนแดง มีตุ่มหนอง และมีขุย หรือมีสะเก็ดน้ำเหลืองกรัง ขนหลุดร่วงง่าย ดูคล้ายกับโรคชันนะตุที่ศีรษะ แต่ต่างกันตรงที่ผู้ป่วยจะไม่ค่อยมีอาการคันหรือเจ็บ
- โรคกลากที่ขาหนีบ (Tinea cruris) บ้างเรียกว่า สังคัง หรือ เชื้อราที่ขาหนีบ เป็นชนิดที่พบได้มากในคนที่ร่างกายอับชื้นหรือมีเหงื่อออกมาก พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3 เท่า และในผู้ป่วยเอดส์ที่มักพบโรคกลากชนิดนี้ได้บ่อย ในระยะเริ่มแรกจะเป็นตุ่มแดง ๆ ที่ต้นขาหรือขาหนีบ แล้วลุกลามเป็นวงไปที่ต้นขาด้านในและอวัยวะเพศภายนอก (อัณฑะหรือปากช่องคลอด) หรืออาจลุกลามไปที่ก้น ผื่นจะมีลักษณะแดง มีเกล็ดขาว ๆ และมีขอบชัดเจน ในผู้ป่วยบางรายอาจลุกลามรวมกันเป็นวงขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีก มีอาการคัน และมักเป็นทั้งสองข้าง หรือบางรายอาจเกาจนมีน้ำเหลืองเฟะหรือผิวหนังหนา เมื่อหายแล้วอาจกำเริบขึ้นใหม่ได้ มักเป็นในช่วงหน้าร้อนเพราะมีเหงื่ออับชื้น การใส่กางเกงรัดแน่นจนเกินไปหรือในคนที่อ้วนมาก ๆ ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ผลข้างเคียงของโรคกลาก
- โรคนี้ถ้าไม่ได้รับการรักษามักจะเป็นเรื้อรังและลุกลามจนดูน่ารังเกียจ
- ผู้ป่วยโรคกลากที่ได้รับการรักษา รอยโรคบนผิวหนังต่าง ๆ จะหายไปโดยไม่เกิดแผลเป็น ผมที่ร่วงก็จะงอกกลับมาใหม่เหมือนปกติ แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคกลากที่ศีรษะแบบชันนะตุ หากปล่อยทิ้งไว้และไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมอย่างถาวรได้ หรือถ้ากลากขึ้นที่เล็บ ก็อาจทำให้เล็บผุกร่อนพร้อมกันเกือบทุกเล็บได้
- อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ทำให้ผิวหนังและเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนังเกิดการอักเสบและอาจเป็นฝีหนองขึ้นมาได้ แม้จะรักษาหายแล้วก็อาจกลายเป็นแผลเป็นได้เช่นกัน
- เชื้อราอาจลุกลามลงลึกไปจากชั้นเคราตินของผิวหนัง และทำให้เกิดเป็นตุ่มเนื้ออักเสบ (Majocchi granulo ma) ในชั้นใต้ผิวหนังได้
การวินิจฉัยโรคกลาก
- แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคกลากได้จากอาการที่แสดงเป็นหลัก แต่ในกรณีที่มีอาการจากลักษณะของผิวหนังไม่ชัดเจน อาจต้องใช้การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการเข้าช่วย โดยการขูดเอาเนื้อเยื่อผิวหนังตรงบริเวณผื่น (โดยเฉพาะตรงขอบที่ยกนูน) หรือขูดเล็บในกรณีที่เป็นที่เล็บ หรือดึงเส้นผมที่มีสีซีดและเปราะโดยให้ติดส่วนโคนมาด้วยในกรณีที่เป็นที่ศีรษะ แล้วนำมาวางบนแผ่นสไลด์ หยอดน้ำยาเคมีชื่อ โปแตสเซียมไฮดรอกไซด์ (KOH, Potassium hydroxide) และนำไปส่องดูกล้องจุลทรรศน์ก็จะพบเชื้อที่มีรูปร่างเป็นเส้น ซึ่งเรียกว่า Hyphae และพบส่วนของเชื้อราที่เรียกว่าสปอร์ (Spore) ร่วมด้วย ซึ่งถ้านำไปย้อมด้วยสีย้อมพิเศษก็จะเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
- ในทางการศึกษา ถ้าตัดผิวหนังบริเวณที่มีรอยโรคมาส่องดูกล้องจุลทรรศน์ก็จะพบว่ามีเคราตินหนาตัวขึ้น เซลล์ผิวหนังในชั้นหนังกำพร้ามีการบวมน้ำ มีเซลล์เม็ดเลือดขาวเข้ามาอยู่ในชั้นหนังกำพร้า และที่สำคัญคือจะพบเชื้อราที่มีรูปร่างเป็นเส้นที่อาจมีการแตกเส้นออกให้เห็นได้
- ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกลากและได้รับยาสเตียรอยด์มาใช้ทารักษา ลักษณะของผื่นจะเปลี่ยนแปลงไป และทำให้ยากต่อการวินิจฉัยในภายหลัง
- ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า Id reaction คือ มีการติดเชื้อราที่บริเวณหนึ่ง แต่กลับมีอาการเกิดขึ้นอีกบริเวณหนึ่งของร่างกาย (ถ้าตรวจหาเชื้อราบริเวณนั้นก็จะตรวจไม่พบ) ซึ่งมีสาเหตุมาจากปฏิกิริยาของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่พยายามต่อสู้กับเชื้อราที่อยู่บนผิวหนัง ผม หรือเล็บ จนทำให้เกิดรอยโรคขึ้นมา แล้วเซลล์เม็ดเลือดขาวบางตัวเหล่านี้กลับเดินทางไปยังผิวหนังบริเวณอื่น ๆ ที่ไม่ได้ติดเชื้อและทำปฏิกิริยากับผิวหนังบริเวณนั้นจนทำให้เกิดรอยโรคขึ้นมา เมื่อรักษาโรคกลากบริเวณที่ติดเชื้อหายแล้ว รอยโรคในบริเวณอื่นที่เกิดจากปฏิกิริยาดังกล่าวก็จะหายไปด้วย
- โรคผิวหนังที่ขึ้นเป็นผื่นคันนอกจากโรคกลากแล้วยังอาจมีสาเหตุอื่นอีกด้วย เช่น
- ลมพิษ ลักษณะของผื่นจะขึ้นเป็นปื้นนูน ๆ ขอบหยัก ๆ พร้อมกันหลายแห่ง และมีลักษณะคันมาก โดยมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันทันทีหลังสัมผัสถูกสิ่งที่แพ้ มักจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วันก็หาย หรือถ้ากินยาแก้แพ้อาการก็จะทุเลาลงได้
- ผื่นแพ้ จะขึ้นเป็นผื่นหรือตุ่มเล็ก ๆ มีอาการคันมาก ผู้ป่วยมักมีประวัติชอบแพ้อะไรง่าย ๆ เช่น ถ้าเป็นที่ง่ามนิ้วเท้า มักจะเกิดจากการแพ้รองเท้า ถุงเท้า หรือแพ้เหงื่อ ซึ่งอาจมีลักษณะอาการคล้ายกับโรคกลากได้ ทำให้ในบางครั้งอาจแยกไม่ออกระหว่างโรคกลากกับอาการผื่นคันจากการแพ้ โดยเฉพาะถ้าเป็นที่ขาหนีบหรือซอกเท้า ถ้าผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ ให้ลองทาด้วยครีมสเตียรอยด์ดูก่อน หากเกิดจากการแพ้มักจะได้ผล แต่ถ้าทาแล้วกลับลุกลามมากขึ้นก็มักจะเป็นโรคกลาก หรือในทางตรงกันข้ามถ้าผู้ป่วยไม่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้และผื่นลุกลามออกไปเรื่อย ๆ ให้ลองทาด้วยครีมรักษาโรคเชื้อราดูก่อน หากไม่ได้ผลค่อยเปลี่ยนไปรักษาแบบโรคภูมิแพ้ หากผู้ป่วยไม่แน่ใจก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ซึ่งแพทย์จะทำการขูดเอาขุย ๆ ของผิวหนังส่วนที่เป็นโรค ใส่น้ำยาโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ชนิด 10% แล้วนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ถ้าเป็นกลากจริงก็จะตรวจพบเชื้อราที่เป็นสาเหตุ
- เกลื้อน เกิดจากเชื้อราต่างชนิดกับกลาก ผื่นจะขึ้นเป็นดวงเล็ก ๆ สีขาว สีน้ำตาลจาง ๆ จนถึงสีน้ำตาลแดง กระจายทั่วไปบริเวณที่มีเหงื่อออกมาก เช่น หน้า ซอกคอ หน้าอก ไหล่ แผ่นหลัง เป็นต้น มักจะไม่มีอาการคันเหมือนโรคกลาก
- โรคสะเก็ดเงินชนิดเกิดที่เล็บ (Nail psoriasis) ในรายที่สงสัยว่าเป็นโรคกลากที่เล็บ (เล็บผุกร่อน) แล้วลองใช้ยารักษาโรคเชื้อราแล้วไม่ได้ผล ให้สงสัยว่าเป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดเกิดที่เล็บ
วิธีรักษาโรคกลาก
- ถ้าเป็นโรคกลากที่ลำตัว, ขาหนีบ, มือ, เท้า, เครา หนวด และลำคอ แพทย์จะให้ทาด้วยขี้ผึ้งรักษากลากเกลื้อนหรือขี้ผึ้งวิตฟิลด์ (Whitfield’s oinment) หรือทาด้วยครีมรักษาโรคเชื้อรา (Antifungel cream) โดยให้ทาบริเวณที่เป็นโรค วันละ 2-3 ครั้ง แต่ถ้าจำเป็นต้องถูกน้ำบ่อย หลังทำความสะอาดและเช็ดเท้าให้แห้งแล้ว ควรทายาซ้ำทุกครั้ง (ก่อนทายาควรล้างบริเวณที่เป็นผื่นและเช็ดให้แห้งก่อน แล้วให้ทายาจากรอบ ๆ ผื่นเข้าหาศูนย์กลางของผื่น และล้างมือให้สะอาดหลังจากทายาเสร็จ โดยไม่จำเป็นต้องปิดผื่นด้วยผ้าแต่อย่างใด ถ้าจะให้ดีควรทายาหลังจากอาบน้ำเสร็จ และให้ใส่เสื้อผ้าสวมทับได้ภายหลังจากทายาประมาณ 15 นาที เพื่อป้องกันไม่ให้ยาทาหลุดจากผิวหนังไปติดเสื้อจนยาไม่ออกฤทธิ์ที่ผิวหนัง) ถ้าอาการดีขึ้น ให้ทาติดต่อกันทุกวันนาน 3-4 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย เพื่อรอให้ผิวหนังที่ปกติงอกขึ้นมาแทนที่ (ปกติโรคกลากที่ลำตัวและขาหนีบจะใช้เวลารักษาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ส่วนโรคกลากที่มือหรือเท้าจะใช้เวลารักษานานกว่านี้คือประมาณ 8 สัปดาห์) สำหรับยารักษาเชื้อราที่มีขายในท้องตลาดมีอยู่ด้วยกันหลายยี่ห้อ เช่น โทนาฟ (Tonaf), ทราโวเจน (Travogen), ไนโซรัล (Nizoral), คัตซิน (Katsin), เคนาโซล (Kenazol), เคโนราล (Kenoral), เคทาซอน (Ketazon), ดาคทาริน (Daktarin), ฟังจิซิล (Fungisil), แคนดาโซล (Candazole), คานาโซล (Canazole), คาเนสเทน (Canesten) เป็นต้น
- ส่วนในรายที่เป็น ๆ หาย ๆ เป็นโรคกลากที่แผ่เป็นบริเวณกว้างหรือเรื้อรัง การทายาอาจไม่ทั่วถึงทำให้หายได้ช้า อาจต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทานแทน ได้แก่ กริซีโอฟุลวิน (Griseofulvin) ในขนาด 500-1,000 มิลลิกรัม (ส่วนในเด็กให้วันละ 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) วันละครั้ง หรือแบ่งให้วันละ 2-4 ครั้ง นาน 4-6 สัปดาห์ หรือให้ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole) ในขนาด 100 มิลลิกรัม วันละครั้ง นาน 15 วัน หรือขนาด 200 มิลลิกรัม วันละครั้ง นาน 7 วัน ยารับประทานเหล่านี้มีผลข้างเคียงหลายอย่าง ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์และให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาว่าควรรับประทานยาหรือไม่และควรรับประทานยาชนิดใด และเมื่อรับประทานแล้วต้องอยู่ภายในความดูแลใกล้ชิดของแพทย์เช่นกัน
- กริซีโอฟุลวิน (Griseofulvin) ยานี้อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และมีผลข้างเคียงที่พบได้น้อย คือ ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ผื่นคันจากการแพ้ยา ชาปลายมือปลายเท้าจากปลายประสาทอักเสบ, อาจทำให้แพ้แดดได้ง่ายและอาจกระตุ้นให้โรคเอสแอลอีกำเริบได้, อาจลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด, ผู้ชายที่กินยานี้ ควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 6 เดือนหลังหยุดยา เนื่องจากอาจทำให้เชื้ออสุจิผิดปกติได้ และไม่ควรรับประทานยานี้ร่วมกับยาบาร์บิทูเรต เพราะมีฤทธิ์ต้านยากริซีโอฟุลวิน
- ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) ยานี้อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดท้อง ท้องเดิน, อาจทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น ลมพิษ ผื่นคัน กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน และอาจทำให้ตับอักเสบ เอนไซม์ตับ (AST, ALT) ในเลือดสูงขึ้น ซึ่งเมื่อหยุดยาสามารถกลับเป็นปกติได้ จึงควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ
- ถ้าเป็นโรคกลากที่ศีรษะ แพทย์จะให้รับประทานยาฆ่าเชื้อรา เช่น กริซีโอฟุลวิน (Griseofulvin) ในขนาด 500-1,000 มิลลิกรัม (ส่วนในเด็กให้วันละ 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) วันละครั้งหรือแบ่งให้วันละ 2-4 ครั้ง นาน 4-6 สัปดาห์ หรือให้ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole) นาน 4 สัปดาห์ และให้ผู้ป่วยตัดผมให้สั้น สระผมด้วยแชมพูคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ส่วนผู้ที่เป็นพาหะโรคของโรคกลากที่ศีรษะ แม้จะไม่มีอาการก็ต้องรักษาเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น โดยการใช้แชมพูยาดังกล่าวสระผมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน แต่ถ้าหนังศีรษะยังคงเป็นขุยอยู่ก็ต้องใช้ยาแบบรับประทานร่วมด้วย
- ถ้าเป็นที่เล็บมือ แพทย์จะให้รับประทานยากริซีโอฟุลวิน (Griseofulvin) ในขนาด 500-1,000 มิลลิกรัม (ส่วนในเด็กให้วันละ 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) วันละครั้งหรือแบ่งให้วันละ 2-4 ครั้ง นาน 4-9 เดือน หรือให้ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole) ครั้งละ 200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุกวันต่อเนื่องกันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ต่อเดือน แล้วเว้นไปประมาณ 3 สัปดาห์ก่อนให้ยารอบใหม่ โดยให้นาน 2 เดือน ในบางครั้งอาจต้องถอดเล็บและทาด้วยครีมรักษาโรคเชื้อรา
- ถ้าเป็นที่เล็บเท้า แพทย์จะให้รับประทานยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole) ครั้งละ 200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุกวันต่อเนื่องกันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ต่อเดือน แล้วเว้นไปประมาณ 3 สัปดาห์ก่อนให้ยารอบใหม่ โดยให้นาน 3 เดือน ในบางครั้งอาจต้องถอดเล็บและทาด้วยครีมรักษาโรคเชื้อราร่วมด้วย
- โรคกลากอาจพบได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยเอดส์ เบาหวาน หรือผู้ป่วยที่กินยารักษามะเร็งเป็นประจำ เป็นต้น ถ้าพบผู้ที่เป็นโรคกลากเรื้อรัง ควรค้นหาสาเหตุและแก้เสีย
- สำหรับวิธีการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคกลาก ผู้ป่วยที่เป็นโรคกลากควรปฏิบัติดังนี้
- รักษาสุขภาพและรักษาโรคประจำตัวให้หายจนกลับมาเป็นปกติ
- ถ้ามีคนในบ้านหรือสัตว์เลี้ยงที่เป็นโรคนี้ด้วย ควรให้การรักษาพร้อม ๆ กันไป
- รักษาความสะอาดของร่างกายด้วยการอาบน้ำฟอกสบู่อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะบริเวณข้อพับและซอกต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ขาหนีบ ซอกนิ้ว อย่าให้ขี้ไคลหมักหมม เมื่ออาบน้ำเสร็จแล้วให้เช็ดตัวให้แห้ง อย่าปล่อยให้เปียกชื้น และระวังอย่าให้มีเหงื่ออับชื้นอยู่เสมอ
- ผู้ที่เล่นกีฬาบางประเภทที่ผิวหนังมีการเสียดสีกัน เช่น มวยปล้ำ ยูโด เทควันโด คาราเต้ ฯลฯ ควรรักษาตัวให้หายเสียก่อนเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
- ควรระวังอย่าให้บริเวณที่เป็นโรคกลากเปียกชื้นหรือสัมผัสกับน้ำบ่อย ๆ หรือตลอดเวลา
- ตัดเล็บมือเล็บเท้าให้สั้น หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ และอย่าเกาบริเวณที่ผื่นเพราะจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
- อย่าใช้มือขยี้ตา สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคกลากที่เล็บและหนังศีรษะ
- เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่บุคคลใกล้ชิดภายในบ้าน ผู้ป่วยควรแยกสิ่งของเครื่องใช้ เช่น เสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า หมวก รวมทั้งของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ ไม่ควรใช้สิ่งของเหล่านี้ปะปนกับผู้อื่น และควรซักทำความสะอาดและตากแดดให้แห้งก่อนใช้ทุกครั้ง รวมไปถึงการแยกเตียงกันนอน ไม่ใช้ผ้าปูที่นอน หมอน และหมอนข้างร่วมกัน และหมั่นนำเบาะนอน เบาะนั่ง และหมอนออกไปตากแดดบ่อย ๆ
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคกลากที่เท้าหรือฮ่องกงฟุต ควรล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดเท้าให้แห้งเสมอ อย่าปล่อยให้เท้าอับชื้น และควรใส่รองเท้าสานโปร่งที่เปิดเล็บเท้าแทนการสวมถุงเท้าและรองเท้าที่มิดชิด
- ห้ามใช้ครีมสเตียรอยด์ทารักษาโรคกลาก เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone), เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) ฯลฯ เพราะอาจจะทำให้โรคลุกลามได้
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคกลากหรือรู้จักโรคกลากเป็นอย่างดีแล้ว สามารถรักษาโรคกลากด้วยตัวเองด้วยการซื้อยาจากร้านขายยา แต่ต้องให้เภสัชกรอธิบายถึงวิธีการใช้ยาอย่างละเอียด เพราะยาแต่ละชนิดมีวิธีการใช้และผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไป และหากเคยแพ้ยาชนิดใดมาก่อนก็ควรแจ้งให้เภสัชกรทราบด้วย แต่ในกรณีที่เป็นโรคกลากที่ศีรษะหรือโรคกลากที่เล็บ ซึ่งต้องใช้ยาแบบรับประทานและรักษาเป็นระยะเวลานาน ควรได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ก่อนเสมอ เพราะยาแบบรับประทานมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้มากกว่า
- ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ในกรณีดังต่อไปนี้
- เมื่อพบว่ามีผื่นหรือตุ่มแดงคันตามลักษณะข้างต้นขึ้นตามลำตัว ใบหน้า ขาหนีบ หนวดเครา มือและเท้า หรืออาการลุกลามมากขึ้น หรืออักเสบเป็นหนองเฟอะ และได้รักษาด้วยยารักษากลากด้วยตนเองมาได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น
- หากมีผมร่วง เป็นรังแค และหนังศีรษะมีรอยโรคต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงผู้ป่วยที่มีรอยโรคที่เล็บ เช่น เล็บหนา เปราะ มีสีเปลี่ยนไป หรือเล็บแยกตัวออกจากหนังใต้เล็บ ควรไปพบแพทย์เสมอ เพราะผู้ป่วยต้องอาศัยการรับประทานยาเป็นเวลาหลายเดือน
- สำหรับผู้ที่ไม่มีผมร่วง ไม่มีรอยโรคที่หนังศีรษะ แต่มีเฉพาะรังแคที่เป็นมานานหลายเดือน อาจเป็นพาหะโรคของโรคกลากที่ศีรษะหรือโรคภูมิแพ้ที่หนังศีรษะ ควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องเช่นกัน
- สมุนไพรรักษาโรคกลาก สำหรับสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคกลากนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เช่น ทองพันชั่ง ข่า กุ่มบก อัคคีทวาร ฯลฯ
วิธีป้องกันโรคกลาก
- ไม่คลุกคลีหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ถุงเท้า รองเท้า หมวก หวี แปรงผม มีดโกนผม เป็นต้น
- รักษาความสะอาดด้วยการอาบน้ำฟอกสบู่ทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะบริเวณข้อพับและซอกต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ขาหนีบ ซอกนิ้ว อย่าให้ขี้ไคลหมักหมม เมื่ออาบน้ำเสร็จแล้วให้เช็ดตัวให้แห้ง อย่าปล่อยให้เปียกชื้น และระวังอย่าให้มีเหงื่ออับชื้นอยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าหนา ๆ หรืออบมากจนเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีอากาศร้อนหรือมีเหงื่อออกง่าย
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงที่เป็นขี้กลาก เช่น สุนัข แมว
- หลังสัมผัสสัตว์เลี้ยงหรือถ้าขุดดินมาก็ควรล้างมือให้สะอาด
- เล็บมือเล็บเท้าควรตัดให้สั้นอยู่เสมอ
- หมั่นล้างทำความสะอาดห้องน้ำ อ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ และฝักบัวอยู่เสมอ รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้อื่น ๆ ที่ต้องใช้ร่วมกัน
- หลังว่ายน้ำหรือออกกำลังกายต้องอาบน้ำและเปลี่ยนเป็นผ้าแห้ง
- หมั่นเปลี่ยนรองเท้าทุก ๆ 2-3 วันเพื่อให้รองเท้าแห้งอยู่เสมอ และใส่รองเท้าทุกครั้งเมื่ออยู่ในที่สาธารณะที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ห้องน้ำ สระว่ายน้ำสาธารณะ เป็นต้น
- สำหรับโรคสังคัง (โรคกลากที่ขาหนีบ) อาจป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงการใช้กางเกงในที่รัดแน่นหรือทำให้อบมากจนเกินไป ถ้าอ้วนก็ควรลดความอ้วน หลังอาบน้ำเสร็จก็ควรเช็ดบริเวณนั้นให้แห้ง และใช้แป้งธรรมดาโรย
- สำหรับโรคฮ่องกงฟุต (โรคกลากที่เท้า) อาจป้องกันได้ด้วยการไม่ใส่ถุงเท้าและรองเท้าที่เปียกหรืออับชื้น ถุงเท้าที่ใส่ควรทำมาจากผ้าฝ้าย หลีกเลี่ยงการใส่ถุงเท้าที่ทำจากไนลอนหรือใยสังเคราะห์ซึ่งอบเกินไป ส่วนรองเท้าแบบหุ้มส้นไม่ควรใส่แล้วแน่นเท้าจนเกินไปและหมั่นนำออกมาตากแดดอยู่เสมอ และหลังอาบน้ำเสร็จควรเช็ดบริเวณง่ามเท้าให้แห้ง ถ้าซอกเท้าเปียกน้ำ เช่น ย่ำน้ำ หรือมีเหงื่อออกมาก ก็ควรล้างเท้าให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้งด้วย สำหรับผู้ที่ต้องทำงานสัมผัสกับน้ำอยู่บ่อย ๆ หรือตลอดเวลาควรป้องกันด้วยการใส่ถุงมือยาง รองเท้าบูต หรือเสื้อยาง เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “กลาก (Ring worm/Tinea)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 981-983.
- หาหมอดอทคอม. “กลาก (Tinea)”. (พญ.สลิล ศิริอุดมภาส). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [14 มิ.ย. 2016].
ภาพประกอบ : medscapestatic.com, www.pcds.org.uk, mddk.com, www.regionalderm.com, www.dermquest.com, healthh.com, wikipedia.org (by Wes Washington, James Heilman), www.onlinedermclinic.com, www.hxbenefit.com, dermatologypracticeofroanoke.com, hubpages.com, perridermatology.com, www.dermis.net, escholarship.org, ringwormtinea.com, dermatologyoasis.net
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)