กรุ๊ปเลือด, หมู่เลือด หรือ หมู่โลหิต (Blood Group หรือ Blood Type)

กรุ๊ปเลือด, หมู่เลือด หรือ หมู่โลหิต (Blood Group หรือ Blood Type)
กรุ๊ปเลือด, หมู่เลือด หรือ หมู่โลหิต (Blood Group หรือ Blood Type)

กรุ๊ปเลือด

กรุ๊ปเลือด, กรุ๊ปโลหิต, หมู่เลือด หรือหมู่โลหิต (Blood group หรือ Blood type) คือ ตัวบ่งบอกความแตกต่างของเลือด ซึ่งสามารถทราบได้จากการเจาะเลือด โดยดูจากสารที่มีชื่อว่า “แอนติเจน” (Antigens) เป็นสำคัญ การทราบกรุ๊ปเลือดของตัวเองถือเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรรู้ เนื่องจากจะช่วยให้แพทย์ให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันทีเมื่อมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายเลือด (Blood Transfusion)

ปกติแล้วเลือดของมนุษย์จะมีส่วนประกอบ ได้แก่ เซลล์เม็ดเลือดแดง (Red Rlood Cells), เซลล์เม็ดเลือดขาว (White Blood Cells), เกล็ดเลือด (Platelets) และพลาสมาหรือน้ำเลือด (Plasma) โดยความแตกต่างของเลือดที่นำมาระบุกรุ๊ปเลือดจะดูจากสาร 2 ชนิด คือ แอนติเจน (Antigens) และแอนติบอดี (Antibodies) ในเลือด โดยแอนติเจนนั้นคือโมเลกุลของโปรตีนที่พบอยู่ผิวบริเวณด้านนอกของเซลล์เม็ดเลือดแดง ส่วนแอนติบอดีจะมีอยู่ในพลาสมาหรือน้ำเลือด

ทั้งนี้ ความแตกต่างของแอนติเจนในแต่ละคนจะถูกถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม หากพ่อหรือแม่มีกรุ๊ปเลือดใด เด็กก็จะมีกรุ๊ปเลือดเหมือนพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่ง

ความสำคัญของการทราบกรุ๊ปเลือด

  • ใช้เป็นหลักในการพิจารณาหาเลือดที่เหมาะสมและเข้ากันได้กับผู้ป่วยที่ต้องได้รับเลือดเพื่อการรักษาภาวะผิดปกติของร่างกาย เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงจากการรับเลือด กล่าวคือ เมื่อเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุฉุกเฉินจะทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยต้องเข้ารับการเปลี่ยนถ่ายเลือด (ไม่ว่าจะเป็นในระหว่างการผ่าตัดหรือการเข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะ) ซึ่งหากผู้ป่วยไม่ทราบกรุ๊ปเลือดของตัวเองหรือแจ้งกรุ๊ปเลือดผิดก็อาจส่งผลอันตรายต่อผู้ป่วยได้ (เช่น ผู้ป่วยมีเลือดกรุ๊ปบี แต่ได้รับเลือดกรุ๊ปเอ แอนติบอดีชนิดเอที่อยู่ในน้ำเลือดของผู้ให้จะไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดที่มีแอนติเจนชนิดเอของผู้รับ)
  • กรุ๊ปเลือดมีความสำคัญต่อหญิงตั้งครรภ์หรือผู้วางแผนจะตั้งครรภ์ เพราะแพทย์จะได้พร้อมรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ได้ เพราะหากแม่มีกรุ๊ปเลือดอาร์เอชลบ แต่พ่อมีกรุ๊ปเลือดอาร์เอชบวก ทารกอาจมีแนวโน้มที่จะมีกรุ๊ปเลือดชนิดอาร์เอชบวกและมีโอกาสเสียชีวิตในครรภ์ได้ ทำให้แม่ต้องรับยา Rh immunoglobulin (RhoGAM) เพื่อป้องกันไม่ให้แม่สร้างแอนติบอดีที่ไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดของทารกในกรณีที่เลือดของแม่และเด็กเกิดการผสมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์
  • ทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ กรุ๊ปเลือดถูกนำมาใช้เพื่อระบุความเกี่ยวข้องกันทางพันธุกรรมถึงความเป็นพ่อแม่ลูกกันและใช้ศึกษาการสืบเชื้อสายของเหล่าพันธุ์ได้ อีกทั้งยังใช้ในการช่วยระบุตัวคนร้ายในกรณีที่เกิดเหตุอาชญากรรมได้ด้วย

ชนิดของกรุ๊ปเลือด

ในปัจจุบันมีระบบกรุ๊ปเลือดอยู่ 32 ระบบ แต่ระบบที่มีความสำคัญจะมีอยู่ 2 ระบบใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. กรุ๊ปเลือดระบบเอบีโอ (ABO system หรือ ABO blood group system) เป็นระบบที่นิยมใช้กันมากและสำคัญที่สุด โดยจะกำหนดกรุ๊ปเลือดได้จากการตรวจหาชนิดของแอนติเจน (สารก่อภูมิต้านทาน) และแอนติบอดี (สารภูมิต้านทาน) จากเลือด ซึ่งจะแบ่งกรุ๊ปเลือดออกเป็น 4 กรุ๊ป คือ
    • กรุ๊ปเลือด A คือ กรุ๊ปเลือดที่มีแอนติเจนชนิดเอ (A Antigens) ที่เซลล์เม็ดเลือดแดง และมีสารแอนติบอดีชนิดแอนติ-บี (Anti-B) ในพลาสมา ในคนไทยพบกรุ๊ปเลือดนี้ประมาณ 22%
    • กรุ๊ปเลือด B คือ กรุ๊ปเลือดที่มีแอนติเจนชนิดบี (B Antigens) ที่เซลล์เม็ดเลือดแดง และมีสารแอนติบอดีชนิดแอนติ-เอ (Anti-A) ในพลาสมา ในคนไทยพบกรุ๊ปเลือดนี้ประมาณ 33%
    • กรุ๊ปเลือด O คือ กรุ๊ปเลือดที่ไม่มีแอนติเจนที่เซลล์เม็ดเลือดแดง แต่มีแอนติบอดีทั้งชนิดแอนติ-เอ (Anti-A) และชนิดแอนติ-บี (Anti-B) ในพลาสมา ในคนไทยพบกรุ๊ปเลือดนี้ได้มากที่สุดประมาณ 22%
    • กรุ๊ปเลือด AB คือ กรุ๊ปเลือดที่มีแอนติเจนทั้งชนิดเอ (A Antigens) และชนิดบี (B Antigens) ที่เซลล์เม็ดเลือดแดง แต่ไม่มีแอนติบอดีชนิดแอนติ-เอ (Anti-A) และชนิดแอนติ-บี (Anti-B) ในพลาสมา ในคนไทยพบกรุ๊ปเลือดนี้ได้น้อยที่สุดประมาณ 8%
  2. กรุ๊ปเลือดระบบอาร์เอช หรือรีซัส (Rh system หรือ Rh (Rhesus) blood group system) เป็นระบบกรุ๊ปเลือดสำคัญรองจากระบบเอบีโอ ซึ่งประกอบไปด้วยแอนติเจนที่มีความสำคัญทางคลินิก 5 ชนิด คือ แอนติเจนดีใหญ่ (D), แอนติเจนซีใหญ่ (C), แอนติเจนอีใหญ่ (E), แอนติเจนซีเล็ก (c), แอนติเจนอีเล็ก (e) และแอนติเจนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแต่ไม่ค่อยมีความสำคัญทางคลินิกอีก 46 ชนิด แต่แอนติเจนตัวสำคัญที่เป็นตัวบ่งบอกชนิดของกรุ๊ปเลือดระบบอาร์เอชคือ แอนติเจนชนิดดีใหญ่ (D) ซึ่งจะแบ่งออกได้เป็น 2 กรุ๊ป (เมื่อเอ่ยถึงอาร์เอชบวกหรืออาร์เอชลบนั้นจะหมายถึงเฉพาะแอนติเจนชนิดดีใหญ่) คือ
    • กรุ๊ปเลือดอาร์เอชบวก (Rh+ หรือ Rh Positive) ผู้ที่มีกรุ๊ปเลือดดังกล่าวจะมีแอนติเจน-ดีใหญ่ (Antigen-D) อยู่ที่ผิวของเซลล์เม็ดเลือดแดง สามารถรับเลือดได้ทั้งชนิดอาร์เอชบวก (Rh+) และอาร์เอชลบ (Rh-) ซึ่งในคนไทยส่วนใหญ่จะมีกรุ๊ปเลือดอาร์เอช (D) บวกนี้ประมาณ 99.7%
    • กรุ๊ปเลือดอาร์เอชลบ (Rh- หรือ Rh Negative) ผู้ที่มีกรุ๊ปเลือดนี้จะไม่มีแอนติเจน-ดีใหญ่ (Antigen-D) อยู่ที่ผิวของเซลล์เม็ดเลือดแดง สามารถรับเลือดได้แค่เพียงชนิดอาร์เอชลบ (Rh-) เท่านั้น และในคนไทยพบผู้ที่มีเลือดนี้เพียง 0.3% ซึ่งเราเรียกว่าเป็น “กรุ๊ปเลือดหายาก” หรือ “กรุ๊ปเลือดพิเศษ

ดังนั้น กรุ๊ปเลือดระบบอาร์เอชจึงแบ่งการกรุ๊ปเลือดออกเป็น 8 กรุ๊ป ดังนี้

  1. กรุ๊ปเลือดเอ อาร์เอชบวก (A+)
  2. กรุ๊ปเลือดเอ อาร์เอชลบ (A-)
  3. กรุ๊ปเลือดบี อาร์เอชบวก (B+)
  4. กรุ๊ปเลือดบี อาร์เอชลบ (B-)
  5. กรุ๊ปเลือดโอ อาร์เอชบวก (O+)
  6. กรุ๊ปเลือดโอ อาร์เอชลบ (O-) เป็นกรุ๊ปเลือดที่ปลอดภัยสำหรับคนทุกกรุ๊ปเลือด เพราะเข้ากันได้กับทุกกรุ๊ปเลือด จึงมักถูกนำไปใช้ในกรณีฉุกเฉินเมื่อแพทย์ไม่ทราบกรุ๊ปเลือดของผู้ป่วย
  7. กรุ๊ปเลือดเอบี อาร์เอชบวก (AB+)
  8. กรุ๊ปเลือดเอบี อาร์เอชลบ (AB-)

หมู่เลือด
IMAGE SOURCE : www.tutorialspoint.com

การตรวจกรุ๊ปเลือด

การตรวจกรุ๊ปเลือดคือวิธีที่ช่วยให้ทราบกรุ๊ปเลือดของตนเองได้อย่างถูกต้องที่สุด โดยในการตรวจกรุ๊ปเลือดนั้นมักจะทำในกรณีที่ผู้ป่วยต้องได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือดหรือหลังจากการบริจาคเลือด โดยนำตัวอย่างของเลือดที่ได้จากการบริจาคไปตรวจด้วยวิธีการคัดแยกกรุ๊ปเลือด อย่างไรก็ตาม หากบุคคลทั่วไปต้องการทราบกรุ๊ปเลือดของตนเองก็สามารถเข้ารับการตรวจได้เลย

  • ขั้นตอนในการตรวจกรุ๊ปเลือด การตรวจกรุ๊ปเลือดจะเหมือนกับการตรวจเลือดทั่วไป แต่จะแตกต่างกันตรงที่ผู้เข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องงดน้ำงดอาหารก่อนตรวจแต่อย่างใด สามารถเข้ารับการตรวจได้เลย
    • ขั้นตอนการตรวจจะเริ่มจาก พยาบาลรัดต้นแขนด้วยสายรัดหรือยางยืดเพื่อให้เห็นเส้นเลือดดำได้ชัดเจนมากขึ้นและทำให้ง่ายต่อการใช้เข็มเจาะลงไปที่เส้นเลือดดำ
    • จากนั้นพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเจาะเลือดจะนำสำลีชุปแอลกอฮอล์มาเช็ดบริเวณที่จะเจาะเลือด และนำเข็มที่ผ่านการฆ่าเชื้อเจาะลงไปยังบริเวณดังกล่าวเพื่อเก็บตัวอย่างเลือด (แต่ถ้าเจาะแล้วไม่ได้เลือดตามที่ต้องการก็อาจจะต้องเปลี่ยนบริเวณที่เจาะและเปลี่ยนเข็มเจาะเลือดใหม่)
    • ในขณะที่เก็บตัวอย่างเลือด พยาบาลจะปลดรายรัดที่ต้นแขนออก เมื่อได้ปริมาณเลือดตามที่ต้องการแล้วพยาบาลจำนำเข็มออก และปิดทับบริเวณที่เจาะเลือดด้วยสำลีหรือพลาสเตอร์ปิดแผล
    • จากนั้นพยาบาลจะแนะนำให้ผู้เข้ารับการตรวจเลือดไปนั่งรอผลการตรวจต่อไป
    • การตรวจกรุ๊ปเลือดระบบอาร์เอชจะทำโดยใช้น้ำยาแอนติบอดี-ดีใหญ่ เพราะเม็ดเลือดแดงที่เป็นอาร์เอชบวกส่วนใหญ่เมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำยาตัวนี้จะเกิดปฏิกิริยาจับกลุ่มหรือเกิดการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดงให้เห็นชัดเจนทันที แต่ถ้าไม่เกิดการจับกลุ่มจะถือว่าบุคคลนั้นมีกรุ๊ปเลือดอาร์เอชลบ (ไม่มีแอนติเจน-ดีใหญ่)
  • ผลข้างเคียงจากการตรวจกรุ๊ปเลือด โดยปกติแล้วการตรวจกรุ๊ปเลือดเป็นวิธีที่ไม่มีอันตราย แต่ก็อาจพบความผลข้างเคียงได้บ้างเล็กน้อย เช่น การเกิดรอยฟกช้ำบริเวณที่เจาะเลือด, เกิดอาการวิงเวียนศีรษะหรือเป็นลม, เกิดหลอดเลือดบวมอักเสบหลังจากเจาะเลือดในบางราย หรือเลือดอาจไหลไม่หยุดในผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดหรือได้รับประทานยาแอสไพริน ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย หากผู้เข้ารับการตรวจมีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของเลือดหรือมีประวัติเคยเกิดรอยฟกช้ำได้ง่ายหรือเส้นเลือดดำบวมอักเสบ ก็ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบก่อนเสมอ เพื่อที่จะได้เพิ่มความระมัดระวังในการเจาะเลือดให้มากขึ้น

การถ่ายทอดกรุ๊ปเลือดระบบเอบีโอของพ่อแม่ลูกที่เป็นไปได้

พ่อและแม่จะถ่ายทอดกรุ๊ปเลือดระบบเอบีโอให้ลูกเป็นกรุ๊ปเลือดได้ดังตารางด้านล่างนี้

กรุ๊ปเลือดของพ่อแม่|กรุ๊ปเลือดของลูกที่เป็นไปได้
O + O|O เท่านั้น
O + A|O หรือ A
O + B|O หรือ B
O + AB|A หรือ B
A + A|A หรือ O
A + B|O, A, B หรือ AB
A + AB|A, B หรือ AB
B + B|B หรือ O
B +AB|A, B หรือ AB
AB + AB|A, B หรือ AB

กรุ๊ปเลือดที่เข้ากันได้

ความแตกต่างกันของแอนติเจนในเลือดทำให้ผู้ที่มีความแตกต่างกันของกรุ๊ปเลือดบางกรุ๊ปจะไม่สามารถรับเลือดของกรุ๊ปอื่นได้ แต่บางกรุ๊ปก็สามารถรับเลือดของกรุ๊ปเลือดอื่นได้ โดยผู้ที่มีกรุ๊ปเลือดในแต่ละกรุ๊ปหากมีความจำเป็นต้องได้รับเลือด แพทย์จะพิจารณาให้เลือดที่ตรงกับกรุ๊ปเลือดของผู้ป่วยก่อนเป็นอันดับแรก ยกเว้นในกรณีฉุกเฉินหรือไม่สามารถหาเลือดที่ตรงกับผู้ป่วยได้ แพทย์จะใช้หลักการให้เลือดที่เมื่อให้เข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยแล้ว เม็ดเลือดแดงจะต้องไม่มีแอนติเจน (สารก่อภูมิต้านทาน) ที่ตรงกับแอนติบอดี (สารภูมิต้านทาน) ที่ผู้ป่วยมี เพราะจะทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างกันแล้วเม็ดเลือดแดงนั้นจะถูกทำลายไป ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยกรุ๊ปเบือดเอที่มีเอนติเจนเอและมีแอนติบอดีบี จะรับเลือดกรุ๊ปบีที่มีแอนติเจนบีไม่ได้ เพราะจะทำปฏิกิริยากับแอนติบอดีบีของผู้ป่วยจนเม็ดเลือดแดงผู้ป่วยถูกทำลาย

โดยกรุ๊ปเลือดที่สามารถให้เลือดหรือพลาสมากันได้จะเป็นไปตามตารางด้านล่างนี้

  • ตารางความเข้ากันได้ของเม็ดเลือดแดง

    ความเข้ากันได้ของเม็ดเลือดแดง
    ความเข้ากันได้ของเม็ดเลือดแดง

  • ตารางความเข้ากันได้ของพลาสมา

    ความเข้ากันได้ของพลาสมา
    ความเข้ากันได้ของพลาสมา

ข้อสังเกตุ : ในธนาคารเลือดทั่วไปจะมีการสำรองส่วนประกอบของเลือดที่เป็นเม็ดเลือดแดงของกรุ๊ปเลือดโอเอาไว้ไม่ให้หาด เพราะคนกรุ๊ปเลือดโอจะสามารถให้เม็ดเลือดแดงแก่คนกรุ๊ปเลือดอื่นได้ทุกกรุ๊ป แต่จะรับเม็ดเลือดแดงได้จากคนกรุ๊ปเลือดโอเท่านั้น และจะพยายามสำรองส่วนประกอบของเลือดที่เป็นพลาสมาของกรุ๊ปเลือดเอบีเอาไว้สำหรับผู้ป่วยกรุ๊ปเลือดเอบี เพราะคนกรุ๊ปเลือดเอบีจะสามารถให้พลาสมากับคนกรุ๊ปเลือดอื่นได้ทุกกรุ๊ป แต่จะรับพลาสมาจากคนกรุ๊ปเลือดเอบีได้เท่านั้น

การทราบชนิดของกรุ๊ปเลือดระบบเอบีโอและระบบอาร์เอชของตนเอง รวมทั้งของบุคคลในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากมีความจำเป็นต้องใช้เลือดในการรักษาพยาบาลก็จะสามารถช่วยเหลือกันได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในผู้มีกรุ๊ปเลือดที่หายาก

เอกสารอ้างอิง
  1. หาหมอดอทคอม.  “หมู่เลือด หมู่โลหิต (Blood group)”.  (ผศ.พญ.จินตนา พัวไพโรจน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [23 ส.ค. 2018].
  2. พบแพทย์ดอทคอม.  “ไขความลับเรื่องกรุ๊ปเลือด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pobpad.com.  [23 ส.ค. 2018].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด