กรุงเขมา
กรุงเขมา ชื่อสามัญ Icevine, Pareira barva[2]
กรุงเขมา ชื่อวิทยาศาสตร์ Cissampelos pareira L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cissampelos poilanei Gagnep., Cissampelos pareira var. hirsuta (Buch.-Ham. ex DC.) Forman) จัดอยู่ในวงศ์บอระเพ็ด (MENISPERMACEAE)[2],[3]
สมุนไพรกรุงเขมา (อ่านว่า กรุง-ขะ-เหมา) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เปล้าเลือด (แม่ฮ่องสอน), หมอน้อย (อุบลราชธานี), สีฟัน (เพชรบุรี), กรุงเขมา (นครศรีธรรมราช), เครือหมาน้อย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ก้นปิด (ภาคตะวันตกเฉียงใต้), กรุงเขมา ขงเขมา พระพาย (ภาคกลาง), อะกามินเยาะ (มลายู-นราธิวาส), ยาฮูรู้ ซีเซิงเถิง อย่าหงหลง (จีนกลาง), วุ้นหมอน้อย, หมาน้อย เป็นต้น[1],[3],[4]
ลักษณะของกรุงเขมา
- ต้นกรุงเขมา หรือ เครือหมาน้อย จัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยขนาดกลางเนื้อแข็ง ไม่มีมือเกาะ เลื้อยพาดพันตามต้นไม้อื่น ๆ ยาวได้ประมาณ 1 เมตร มีรากสะสมอาหารใต้ดิน มีขนนุ่มสั้นขึ้นปกคลุมหนาแน่นตามเถา กิ่ง ช่อดอก และใบ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดหรือเหง้า ชอบดินร่วนปนทราย มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย แอฟริกา และอเมริกา ในประเทศไทยพบขึ้นทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นในป่าดิบ ป่าผลัดใบ และป่าไผ่ ตามริมแม่น้ำลำธาร ตั้งแต่พื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงความสูงประมาณ 1,100 เมตร ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนธันวาคม[1],[3],[4]
- ใบกรุงเขมา ใบเป็นใบเดี่ยว มีหลายลักษณะ เช่น รูปหัวใจ รูปไต รูปกลม หรือรูปไข่กว้าง ออกแบบสลับ ก้นใบปิด ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4.5-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4.5-11 เซนติเมตร ปลายใบส่วนมากมนหรือเรียวแหลมหรือเป็นติ่งหนาม โคนใบกลมตัด หรือเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนนุ่มสั้นกระจายทั้งหลังใบและท้องใบ เส้นใบออกจากโคนใบเป็นรูปฝ่ามือ ก้านใบยาวประมาณ 2-9 เซนติเมตร มีขนนุ่มสั้นหรือเกือบเกลี้ยงติดอยู่ที่โคนใบห่างจากขอบใบขึ้นมาประมาณ 0.1-1.8 เซนติเมตร ใบอ่อนจะมีขนอ่อนนุ่มขึ้นปกคลุมทั้งสองด้านและตามขอบใบ แต่ขนจะร่วงไปเมื่อใบแก่[3]
- ดอกกรุงเขมา ออกดอกเป็นช่อกระจุกสีขาว ดอกมีขนาดเล็กประมาณ 0.2-0.5 มิลลิเมตร ดอกเป็นแบบแยกเพศและอยู่ต่างต้นกัน ออกเรียงแบบช่อเชิงหลั่นมีขนาดเล็ก แต่ละช่อกระจุกจะมีก้านช่อดอกยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่ม ออกเป็นกระจุกเดี่ยว ๆ หรือ 2-3 กระจุกในหนึ่งช่อ โดยช่อดอกเพศผู้จะออกตามง่ามใบ ก้านช่อกระจุกแตกแขนง ยืดยาว ประกอบด้วยกระจุกดอกอยู่ตามง่ามใบประดับ ใบประดับมีลักษณะกลมและขยายใหญ่ขึ้น ดอกเพศผู้เป็นสีเขียวหรือสีเหลือง ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนขึ้นประปราย และมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 1.25-1.5 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนยาวห่าง มีเกสรเพศผู้เชื่อมติดกัน อับเรณูยาวประมาณ 0.75 มิลลิเมตร ส่วนช่อดอกเพศเมียนั้นจะเป็นช่อคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ทรงแคบ ยาวได้ถึง 18 เซนติเมตร โดยจะประกอบไปด้วยช่อดอกที่เป็นกระจุกติดแบบคล้ายเป็นช่อกระจะ แต่ละกระจุกจะอยู่ในง่ามของใบประดับ ใบประดับมีลักษณะกลม เมื่อขยายใหญ่ขึ้นจะยาวได้ถึง 1.5 เซนติเมตร มีขนขึ้นประปรายหรือมีขนยาวนุ่ม ก้านดอกย่อยของดอกเพศเมียจะยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 1 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับกว้าง โคนสอบ ยาวประมาณ 0.75 มิลลิเมตร และมีกลีบเลี้ยง 1 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับกว้าง ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ไม่มีเกสรเพศผู้ปลอม เกสรเพศเมียมี 1 อัน ขนาดประมาณ 0.5 มิลลิเมตร มีขนยาวห่าง ก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง และยอดเกสรเพศเมียจะแยกเป็น 3 พู กางออก[3]
- ผลกรุงเขมา ผลเป็นผลสด มีก้านอวบใหญ่ ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมรีอยู่ตอนปลาย ผลเป็นสีส้ม เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือสีน้ำตาลแดง ภายในผลมีเมล็ดลักษณะโค้งงอรูปพระจันทร์ครึ่งซีกหรือรูปเกือกม้า ผิวเมล็ดขรุขระ มีรอยแผลเป็นของก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ด้านข้าง มีขนสั้นนุ่ม ผนังผลชั้นในเป็นรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ด้านบนมีสันขวางประมาณ 9-11 สัน เรียงเป็น 2 แถว ชัดเจน[1],[3]
สรรพคุณของกรุงเขมา
- ทั้งต้นกรุงเขมามีรสขม ชุ่มหวานเล็กน้อย เป็นยาอุ่น ใช้เป็นยาฟอกเลือด กระจายเลือด แก้เลือดกำเดา (ทั้งต้น)[1] หรือใช้รากเป็นยาแก้โลหิต กำเดา (ราก)[3]
- เปลือกและแก่นเป็นยาบำรุงโลหิต (เปลือกและแก่น)[2] ลำต้นใช้เป็นยาบำรุงโลหิตสตรี (ลำต้น)[3]
- เนื้อไม้ใช้เป็นยารักษาโรคโลหิตจาง (เนื้อไม้)[2],[3]
- รากมีกลิ่นหอม รสสุขม ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ เป็นยาเจริญอาหาร เป็นยาบำรุง (ราก)[3] หมอยาไทยจะใช้รากนำมาทำให้เป็นผงละลายกับน้ำผึ้งกิน หรือขยี้กับน้ำ ดื่มเป็นยาอายุวัฒนะ รวมทั้งใช้รากเป็นส่วนประกอบในแป้งเหล้า โดยเชื่อว่าจะช่วยบำรุงร่างกาย (ราก)[7]
- ใช้เป็นยาสงบประสาท (ราก)[3]
- หมอยาไทยใหญ่จะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาลดความดันโลหิต ส่วนหมอยาพื้นบ้านบราซิลก็ใช้กรุงเขมาในสรรพคุณนี้เช่นกัน โดยใช้ราก ต้น เปลือก และใบนำมาต้มกิน เพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูง (ทั้งต้น)[7]
- รากใช้เป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือด (ราก)[2]
- ตำรายาไทยจะใช้เป็นยาแก้ไข้ (เปลือกและแก่น, ราก, ทั้งต้น)[1],[2] รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ เป็นยาลดไข้ แก้ไข้มาลาเรีย ไข้ออกตุ่ม และแก้อาการไอ เจ็บคอ ไอเจ็บหน้าอก เป็นยาขับเหงื่อ (ราก)[3],[4],[7]
- ลำต้นใช้เป็นยาดับพิษไข้ทุกชนิด (ลำต้น)[2]
- ใช้เป็นยาแก้ร้อนใน (ใบ, ส่วนเหนือดิน)[3]
- ยาจีนจะใช้ทั้งต้นเป็นยาแก้ลมชื้น หรือโรคหัวใจ (ทั้งต้น)[1]
- รากใช้เป็นยาแก้โรคตา (ราก)[3] ส่วนลำต้นใช้เป็นยาพอกแก้ตาอักเสบ (ลำต้น)[3]
- ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้หืด (ใบ)[3]
- ใช้เป็นยาแก้ลม (ราก)[2],[3]
- ใช้เป็นยาขับเสมหะ แก้เสมหะ (ราก)[1],[2],[4]
- ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ (ราก)[2]
- เนื้อไม้ใช้เป็นยารักษาโรคปอด (เนื้อไม้)[2],[3]
- หมอยาไทยเลยจะใช้รากกรุงเขมานำมาต้มกินเป็นยารักษาระบบทางเดินอาหารในหลาย ๆ อาการ เช่น แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ, จุกท้อง, แก้ท้องบิด, ท้องเสีย, ท้องร่วง, ปวดท้อง, แก้เจ็บท้อง (อาการปวดเกร็งที่ท้อง), แก้กินผิด (อาการวิงเวียนศีรษะหลังกินอาหารบางชนิด), แก้ถ่ายเป็นเลือด[2],[3],[4],[7] บ้างว่าใช้เป็นยาระบาย ยาช่วยย่อย ยาถ่าย ใช้เคี้ยวแก้ปวดท้องและโรคบิด (ราก)[2],[3],[4]
- หมอยาพื้นบ้านในอเมริกาใต้จะใช้รากเป็นยาต้านอาการปวดเกร็งทั่วไป โรคลำไส้อักเสบ ใช้รักษาโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome – IBS) เป็นต้น[7]
- รากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ขัดเบา ระบายนิ่ว แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ราก)[1],[2],[3],[4]
- ใช้เป็นยาบำรุงอวัยวะเพศให้แข็งแรง ช่วยรักษาโรคหนองใน (ราก)[3]
- ชนเผ่า Creoles ใน Guyana จะแช่ใบ เปลือก ราก ในเหล้ารัมเพื่อเป็นยาบำรุงสมรรถภาพทางเพศ (ราก, เปลือก, ใบ)[7]
- หมอยาไทยพวนจะใช้รากฝนกินกับน้ำเป็นยาแก้ปวดประจำเดือน แก้ไข้ทับระดู ช่วยปรับสมดุลของประจำเดือนให้เป็นปกติทั้งอาการที่มีประจำเดือนมากหรือน้อย ซึ่งคล้ายกับการใช้ของหมอยาพื้นบ้านในประเทศในแถบอเมริกาใต้และอเมริกาเหนือ โดยหมอยาเหล่านั้นจะใช้ เถา ราก ใบ และเปลือกของกรุงเขมาเป็นยาระงับอาการปวดทั้งก่อนคลอดและหลังคลอดบุตร ใช้รักษาอาการตกเลือดหลังคลอด ช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับระบบประจำเดือนของผู้หญิง เช่น อาการปวดประจำเดือน มีประจำเดือนมามากจนเกินไป อาการไม่สบายก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome – PMS) รวมไปถึงสิวที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน โดยมีความเชื่อว่าสมุนไพรชนิดนี้สามารถปรับสมดุลฮอร์โมนของเพศหญิงได้ (เถา, ราก, ใบ, เปลือก)[7]
- รากใช้เป็นยาขับระดู (ราก)[3] ต้น เปลือกและแก่นใช้เป็นยาแก้ระดูพิการของสตรี (ต้น, เปลือกและแก่น)[2]
- หมอยาไทใหญ่จะใช้รากของกรุงเขมาหรือเครือหมาน้อยนำมาต้มกินไปเรื่อย ๆ แทนยาคุมกำเนิด (แต่ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะในปัจจุบันมียาคุมกำเนิดที่ดีอยู่แล้ว) (ราก)[7]
- ใช้เป็นยาแก้ถุงน้ำดีรั่ว ดีล้น ดีซ่าน (ราก, ทั้งต้น)[1],[3]
- ส่วนเหนือดินใช้เป็นยาแก้โรคตับ (ส่วนเหนือดิน)[3]
- ช่วยแก้อาการบวมน้ำ (ราก)[3]
- ใช้เป็นยาขับน้ำเหลืองเสีย (ราก)[3]
- รากและใบใช้เป็นยาพอกเฉพาะที่ แก้หิด โรคผิวหนัง (รากและใบ)[3] หมอยาพื้นบ้านจะนำใบมาขยี้ให้เป็นวุ้นใช้เป็นยาพอกรักษาฝี แก้หิด แก้ผดผื่นคัน รวมทั้งจากแมลงสัตว์กัดต่อย อาการแสบร้อนตามผิวหนัง อาการอักเสบของผิวหนัง พอกแผล แก้แผลมะเร็ง ช่วยลดอาการบวมตามข้อ (ใบ)[2],[3],[4],[6],[7]
- พ่อหมอประกาศ ใจทัศน์ ที่บ้านน้อมเกล้า จังหวัดยโสธร จะใช้รากฝนกับน้ำมะพร้าวให้กินแทนน้ำไปเรื่อย ๆ เพื่อรักษาประดงไฟ ซึ่งมีลักษณะอาการออกร้อนตามตัว หรือที่ภาษาแพทย์เรียกว่า Burning sensation (ราก)[7]
- ใช้เป็นยาห้ามเลือด สมานแผล (ทั้งต้น)[1] รากมีสรรพคุณเป็นยาสมาน (ราก)[3]
- ใช้เป็นยาแก้ปวด ในยาจีนใช้เป็นยาแก้ฟกช้ำดำเขียว แก้ปวดเอว ภายนอกใช้เป็นยาแก้ปวดบวม ฟกช้ำดำเขียว คล้ายกล้ามเนื้อ (ทั้งต้น)[1] ส่วนหมอยาพื้นบ้านจะใช้รากเป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามตัว แก้ปวดหลังปวดเอว แก้บวม โดยจะฝนกินหรือต้มกินก็ได้ จะใช้เดี่ยว ๆ หรือใช่ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นก็ได้เช่นกัน ส่วนหมอยาพื้นบ้านชาวบราซิลจะใช้เป็นยาแก้ปวด แก้ไข้ (ราก)[2],[7] และหมอยาพื้นบ้านชาวอินเดียจะใช้การต้มใบและเถากินเป็นยาแก้ปวด (ใบและเถา)[7]
- ในอินเดียจะใช้กรุงเขมาเป็นยารักษาโรคธาตุอ่อน ทางเดินปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[1]
- ในตำราโอสถพระนารายณ์ กรุงเขมาจัดเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งในตำรับยาสำหรับแก้เตโชธาตุพิการ ซึ่งประกอบไปด้วยโกฐสอ โกฐเขมา รากพิลังกาสา รากกรุงเขมา รากมะแว้งเครือ รากจิงจ้อใหญ่ ผลราชดัด ผลสรรพพิศม์ ผลสวาด ผลจันทน์เทศ จุกโรหินี มหาหิงคุ์ เทียนดำ และเทียนขาว อย่างละเท่ากัน นำมาทำเป็นจุลละลายกับน้ำนมโคหรือส้มมะงั่ว หรืออีกสูตรในตำรับยาแก้ลมอัมพาตหรือลมไม่เดิน ด้วยการใช้รากกรุงเขมา 2 ส่วน, รากพริกไทย 2 ส่วน, ดีงูเหลือง 1 ส่วน และพิมเสน 1 ส่วน นำมาทำให้เป็นจุลละลายน้ำผึ้งรวงกินพอควร (ชยันต์ และคณะ, 2542) หรือในตำรายาโรคนิทาน ก็พบว่ามีการใช้สมุนไพรกรุงเขมาเป็นส่วนประกอบในตำรับยารักษาโรคหลายโรค เช่น โรคหัวใจ โรคเลือด อาการไอ จุกเสียด แน่นท้อง ท้องร่วง ริดสีดวง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยสมุนไพรหลากหลายชนิด (เพ็ญนภา, กาญจนา, ม.ป.พ.)[5]
ขนาดและวิธีใช้ : ใช้ทั้งต้น ยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือนำมาบดให้เป็นผง หรือนำยาสดมาตำพอกแผลตามที่ต้องการ (ถ้าใช้กรุงเขมาแบบไม่ได้สกัด ส่วนมากแล้วจะนิยมใช้เป็นยารักษาภายนอกมากกว่า)[1]
ข้อควรระวัง : ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้กับสตรีตั้งครรภ์[7]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกรุงเขมา
- รากมีปริมาณของอัลคาลอยด์สูง[2] สารที่พบ ได้แก่ สารจำพวกอัลคาลอยด์, Hayatinine, Hayatidine, Beburine, Cissamine, Cissampeline, Cissampareine, Pelosine, Sepurine, D-quescitol & Sterol, L-Beheerine เป็นต้น[1],[2],[3]
- ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิตสูง ทำให้หัวใจเต้นช้าลง กดระบบทางเดินหายใจ กดระบบประสาทส่วนกลาง บำรุงหัวใจ ต้านฮิสตามีน ยับยั้งการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ต้านการชัก ม่านตาขยาย เพิ่มน้ำลาย ขับปัสสาวะ ต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ต้านยีสต์ คลายกล้ามเนื้อ[2] มีฤทธิ์แก้ปวด แก้อักเสบได้ดี[7]
- อัลคาลอยด์ Hayatine มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อและลดความดันโลหิต โดยมีฤทธิ์เทียบเท่ากับ d-tubercurarine ที่ได้จากยางน่อง ส่วน Cissampeline แสดงฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์[3]
- เมื่อนำสาร Cissampareine ที่สกัดได้จากต้นกรุงเขมาขนาด 0.139 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม มาฉีดเข้ากล้ามเนื้อของกระต่ายทดลอง พบว่าสามารถทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตึงของกระต่ายคลายตัวได้ แต่ถ้านำมาฉีดเข้าในเส้นเลือดหัวใจของกระต่ายทดลองหรือหัวใจของกบที่แยกออกจากร่าง พบว่าสามารถช่วยกระตุ้นการเต้นของหัวใจให้แรงขึ้นได้ และไม่มีผลต่อความดันโลหิตของกระต่ายหรือกบ แต่ถ้านำมาใช้กับแมว พบว่ามีผลทำให้ความดันโลหิตลดลง[1]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อฉีดสารสกัดจากใบและกิ่งกรุงเขมาด้วยน้ำ หรือแอลกอฮอล์เข้าช่องท้องของหนูถีบจักรทดลอง พบว่าขนาดต่ำสุดที่เป็นพิษคือ 1 มล./ตัว และเมื่อฉีดสารสกัดอัลคาลอยด์เข้าหลอดเลือดของหนูถีบจักร พบว่าในขนาดที่สัตว์ทดลองทนได้คือ 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และเมื่อฉีดสารสกัดจากรากกรุงเขมาด้วยแอลกอฮอล์ต่อน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 เข้าที่ช่องท้องหรือใต้ผิวหนัง พบว่าขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม ไม่พบพิษ ส่วนพิษในกระต่ายพบว่าเมื่อฉีดสารสกัดด้วยน้ำเข้าหลอดเลือดในขนาด 0.4 กรัมต่อตัว ไม่พบพิษ[2]
- เมื่อปี ค.ศ.1979 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นกรุงเขมาด้วยน้ำและแอลกอฮอล์ (1:1) ในสัตว์ทดลอง ผลการทดลองพบว่า สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้[2]
ประโยชน์ของกรุงเขมา
- ในประเทศจีนจะใช้สารสกัดจากกรุงเขมาและดอกลำโพง นำมาฉีดให้คนไข้ที่ต้องผ่าตัดส่วนท้องหรือส่วนอก เพื่อทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ซึ่งจะช่วยให้การผ่าตัดนั้นง่ายขึ้น[1]
- ในปัจจุบันนิยมนำมาปลูกไว้ในครัวเรือน เพราะเป็นพืชปลูกง่าย ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี จะปลูกลงดินให้เลื้อยกับไม้ใหญ่หรือทำค้างแบบปลูกถั่วก็ได้ เพราะสามารถเก็บผลผลิตมาขายเป็นอาหารพื้นบ้าน ใช้เป็นอาหารสัตว์ของโคกระบือ และนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ดี[6]
- ใบนำมาคั้นเอาน้ำ เมื่อผสมกับเครื่องปรุงอาหารจะทำให้มีลักษณะเป็นวุ้น โดยใบกรุงเขมาจะมีสารเพกทินอยู่ประมาณ 30% (มีคุณสมบัติในการพองตัวอุ้มน้ำ) ถ้านำใบมาขยำกับน้ำ กรองเอากากออก เมื่อทิ้งไว้จะแข็งตัวเป็นวุ้น เรียกว่า “วุ้นหมาน้อย” สามารถนำมารับประทานเป็นอาหารได้ โดยนำใบมาประมาณ 20 ใบ ล้างน้ำให้สะอาด แล้วหาชามใบใหญ่ ๆ นำใบกรุงเขมามาขยี้กับน้ำ 1 แก้ว ขยี้ไปเรื่อย ๆ จะรู้สึกว่ามีเมือกลื่น ๆ มีฟองเล็กน้อย ขยี้ไปจนได้น้ำสีเขียวเข้ม จากนั้นให้แยกเอากากออกแล้วกรองด้วยผ้าขาวบางเอาแต่น้ำไว้ (ระหว่างคั้นใบให้คั้นใบย่านางผสมลงไปด้วย ซึ่งจะช่วยให้วุ้นแข็งตัวเร็วขึ้น) หลังจากกรองได้น้ำแล้ว ก็นำไปปรุงอาหารคาวหรือหวานได้ ถ้าเป็นอาหารคาว จะมีการเติมตั้งแต่เนื้อปลาสุก ปลาป่น ปลาร้า ผักชี หัวหอม ต้นหอม ข่า ตะไคร้ พริก เกลือป่น ฯลฯ จากนั้นก็เทน้ำคั้นหมาน้อยลงในถาด พอทิ้งไว้ราว 4-5 ชั่วโมง จะได้วุ้นอาหารคาวรสแซ่บ ตัดวุ้นออกเป็นชิ้น ๆ ให้พอดีคำ จะเป็นอาหารรับลมร้อนที่ดีมาก ส่วนคนอีสานจะนิยมนำมาทำเป็นเมนู “ลาบหมาน้อย” (ภาพด้านล่าง)[1],[3],[5],[6]
- ถ้าจะทำเป็นของหวาน อาจคั้นเอาน้ำใบเตยผสมลงไปด้วย แต่งเติมด้วยน้ำเชื่อม น้ำกะทิ ถ้าให้ดีก็ผสมน้ำผึ้ง ทิ้งไว้ให้เย็น เมื่อได้วุ้นหวานเย็นนี้มาก็ให้หั่นเป็นชิ้น ๆ นำมาใส่กับน้ำแข็งน้ำหวาน ใช้ดื่มกินอร่อยนัก เป็นขนมหวานเลิศรสที่อร่อยและดีต่อสุขภาพ โดยจะมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรที่เหมาะกับฤดูร้อน เพราะให้รสเย็น ช่วยแก้ไข้ ลดความร้อนในร่างกาย อีกทั้งวุ้นหมาน้อยยังเป็นวุ้นธรรมชาติที่ให้เพกทินสูง จึงช่วยเพิ่มกากอาหารในลำไส้ ช่วยย่อย แก้ปวดท้อง แก้ร้อนใน ช่วยในการขับถ่าย ดูดสารพิษจากทางเดินอาหาร ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็ง ลดการดูดซึมของน้ำและไขมัน จึงเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ส่วนผู้ที่ฟื้นไข้เมื่อได้รับประทานแล้วจะช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า เป็นต้น โดยกองโภชนาการ กรมอนามัย ได้มีการศึกษาคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะในส่วนของใบที่มีการนำมาแปรรูปเป็นอาหาร พบว่าใน 100 กรัม จะให้พลังงาน 95 กิโลแคลอรี, โปรตีน 8.5 กรัม, ไขมัน 0.7 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 13.6 กรัม, เบต้าแคโรทีน 6,577 ไมโครกรัม และวิตามินเอ 1,096 ไมโครกรัมอาร์อี (กองโภชนาการ กรมอนามัย)[1],[3],[5],[6]
- ในด้านความงามก็สามารถนำใบมาทำเป็นสมุนไพรมาส์กหน้า บำรุงผิว แก้สิวได้ด้วย เพียงแค่เด็ดใบนำมาล้างน้ำ ขยี้ใบให้เป็นวุ้น ๆ แล้วนำพอกหน้า หลังพอกจะรู้สึกผิวหน้าเต่งตึงสดใสเปล่งปลัง รู้สึกเย็นสบาย ช่วยแก้อาการอักเสบและสิวได้ ในปัจจุบันจึงมีผู้นำไปผลิตเป็นเจลพอกหน้ากันแล้ว[6],[7]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “กรุงเขมา”. หน้า 46.
- หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “กรุงเขมา”. หน้า 55-56.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เครือหมาน้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [25 มิ.ย. 2015].
- ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กรุงเขมา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [25 มิ.ย. 2015].
- หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 417, วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2550. “กรุงเขมา พืชป่ามหัศจรรย์ ณ แดนถิ่นอีสาน”.
- สมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณ แห่งประเทศไทย. “วุ้นหมาน้อยหรือวุ้นจากต้นกรุงเขมา (Mha Noi Jelly) เครื่องดื่มและอาหารสุขภาพ คลายร้อน”. อ้างอิงใน : มูลนิธิสุขภาพไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.ayurvedicthai.com. [25 มิ.ย. 2015].
- ตำรับยา ตำราไทย. “เรื่องน่ารู้ของเครือหมาน้อย กรุงเขมา : วุ้นธรรมชาติ ยาเย็น แก้ไข้ แก้ปวด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : thrai.sci.ku.ac.th. [25 มิ.ย. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke), www.oknation.net (by somchoke101), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual), www.baanmaha.com (by หยก ยโสธร), biodiversity.forest.go.th, treeofthai.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)