กรามช้าง
กรามช้าง ชื่อวิทยาศาสตร์ Smilax blumei A.DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Smilax perfoliata Blume) จัดอยู่ในวงศ์ข้าวเย็นเหนือ (SMILACACEAE)[1]
ลักษณะของต้นกรามช้าง
- ต้นกรามช้าง จัดเป็นไม้เลื้อยขนาดใหญ่ มีความยาวได้ถึง 10 เมตร กิ่งก้านเรียวมีหนาม[1]
- ใบกรามช้าง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปวงรีถึงรูปไข่แกมสามเหลี่ยม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-18 เซนติเมตรและยาวประมาณ 13-27 เซนติเมตร มีเส้นใบออกจากโคนใบไปจรดปลายใบ 5 เส้น ส่วนก้านใบเป็นสันสามเหลี่ยมมน และมีหูใบเป็นรูปไข่กลับแผ่เป็นครีบ มือเกาะยาวประมาณครึ่งหนึ่งของแผ่นใบ[1]
- ดอกกรามช้าง ออกดอกเป็นช่อ ออกเป็นคู่ ๆ ตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้น โดยช่อดอกเพศผู้จะมีดอกย่อยประมาณ 30-50 ดอก ส่วนช่อดอกเพศเมียจะมีดอกย่อยประมาณ 20-40 ดอก มีกลีบรวมสีเหลืองแกมสีเขียว[1]
- ผลกรามช้าง ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้ม[1]
สรรพคุณของกรามช้าง
- ตำรับยาแก้ทอนซิลอักเสบ ระบุให้ใช้รากกรามช้าง รากตาล และรากไผ่ นำมาฝนน้ำรับประทานเป็นยาแก้ทอนซิลอักเสบ (ราก) [1]
- ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้หัวใต้ดินของต้นกรามช้างนำมาฝนหรือหั่นเป็นชิ้น ๆ โดยใช้ครั้งละ 2-3 ชิ้น นำมาต้มกับน้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง เป็นยาแก้ท้องเสีย (หัว) [1]
- ตำรับยารักษารำมะนาดระบุให้ใช้รากกรามช้าง รากเกล็ดลิ่น รากชุมเห็ดเล็ก รากชุมเห็ดเทศ รากงิ้ว รากถั่วพู รากแตงเถื่อน รากฟักข้าว รากปอขาว ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เครือข้าวเย็น ต้นกระไดลิง ต้นมะกอกเผือก นำมาฝนกับน้ำซาวข้าวเจ้ากินรักษารำมะนาด (ราก) [1]
- ตำรับยาผีเครือเหลือง ระบุให้ใช้รากกรามช้าง รากก่อเผือก รากคำแสนซีก รากไค้ตีนกรอง รากช่ำ รากเล็บเหยี่ยว รากมะพร้าว รากมะตูมป่า แก่นชมพู่ แก่นจันทน์แดง แก่นศรีคันไชย แก่นหาดเยือง ข้าวเย็น เขาเลียงผา ต้นกระไดลิง ต้นหมากขี้แรด นอแรดเครือ ว่านกีบแรด นำมาฝนกับน้ำข้าวเจ้ากินเป็นยาผีเครือเหลือง (ราก) [1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกรามช้าง
- มีการวิจัยทางคลินิกในประเทศจีน ได้ใช้กรามช้าง (ไม่ระบุว่าส่วนใด) นำมาผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ มากกว่า 10 ชนิด เพื่อใช้รักษาโรคตับอักเสบชนิดบี ซึ่งผลการทดลองพบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นถึง 74.5%[1]
ประโยชน์ของกรามช้าง
- หัวใต้ดินสามารถนำมาใช้แทนหัวข้าวเย็นได้ (เข้าใจว่าใช้แทนได้ทั้งหัวข้าวเย็นเหนือและหัวข้าวเย็นใต้) [1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “กรามช้าง”. หน้า 197.
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)