กระแจะ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกระแจะ 26 ข้อ ! (ทานาคา)

กระแจะ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกระแจะ 26 ข้อ ! (ทานาคา)

กระแจะ

กระแจะ ชื่อวิทยาศาสตร์ Hesperethusa crenulata (Roxb.) M. Roem. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Limonia crenulata Roxb., Naringi crenulata (Roxb.) Nicolson) จัดอยูในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)[1]

สมุนไพรกระแจะ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระแจะจัน ขะแจะ (ภาคเหนือ), ตุมตัง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[1], บ้างก็ว่าภาคกลาง[2]), พญายา (ราชบุรี, ภาคกลาง), ตะนาว (มอญ), พินิยา (เขมร), กระแจะสัน, ตูมตัง, จุมจัง, จุมจาง, ชะแจะ, พุดไทร, ฮางแกง, ทานาคา เป็นต้น[1],[2],[3],[4],[5]

ลักษณะของกระแจะ

  • ต้นกระแจะ หรือ ต้นทานาคา จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น หรือเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง แตกกิ่งต่ำ กิ่งก้านตั้งฉากกับลำต้น โดยกิ่งอ่อนและยอดอ่อนจะเกลี้ยง ส่วนเนื้อไม้เป็นสีขาว เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาล ผิวขรุขระ ลำต้นและกิ่งมีหนาม หนามมีลักษณะแข็งและยาว โดยหนามจะออกแบบเดี่ยว ๆ หรือออกเป็นคู่ ๆ และยาวได้ถึง 2.5 เซนติเมตร เนื้อไม้เมื่อตัดมาใหม่ ๆ จะเป็นสีขาวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน หากทิ้งไว้นาน ๆ จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนสีเหลืองอ่อน ต้นกระแจะสามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณทั่วไป รวมไปถึงป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-400 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดหรือการปักชำด้วยกิ่งอ่อนหรือราก โดยมีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศพม่า ปากีสถาน ศรีลังกา อินเดีย บังกลาเทศ มณฑลยูนนานของจีน และในภูมิภาคอินโดจีน ส่วนในประเทศไทยนั้นเขตการกระจายพันธุ์คือทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้[1],[3],[4],[5]

ต้นกระแจะ

ไม้กระแจะ

  • ใบกระแจะ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 4-13 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปวงรีแกมรูปไข่กลับ โคนและปลายใบมีลักษณะสอบแคบ ส่วนขอบใบเป็นซี่ฟันเลื่อยแบบตื้น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร ก้านใบแผ่เป็นปีก มีลักษณะเป็นครีบออกทั้งสองข้างและเป็นช่วง ๆ ระหว่างคู่ของใบย่อย เนื้อใบมีลักษณะบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายกับแผ่นหนัง ผิวเนียน เกลี้ยง เมื่อส่องดูจะเห็นต่อมน้ำมันเป็นจุดใส ๆ กระจายอยู่ทั่วไป ส่วนเส้นแขนงของใบมีอยู่ประมาณข้างละ 3-5 เส้น และก้านช่อใบยาวได้ถึง 3 เซนติเมตร ส่วนก้านใบย่อยไม่มี[1]

ใบกระแจะ

ใบกระแจะจัน

  • ดอกกระแจะ ออกดอกเป็นช่อแบบกระจะ รวมกันเป็นกระจุกตามซอกใบหรอตามกิ่งเล็ก ๆ ดอกมีขนสั้นนุ่มและเป็นสีขาวหรือสีขาวอมสีเหลือง กลีบดอกมี 4 กลีบ ดอกเมื่อบานแล้วจะแผ่ออกหรือลู่ไปทางส่วนของก้านเล็กน้อย กลีบดอกเกลี้ยง มีต่อมน้ำมันอยู่ประปราย ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่แกมรูปรี มีความกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตรและความยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวน 8 ก้าน มีความยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ยาวเกือบเท่ากันหรือสลับกันระหว่างสั้นกับยาว เกลี้ยง ส่วนก้านชูอับเรณูมีลักษณะเป็นรูปลิ่มแคบ อับเรณูเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ที่ปลายเป็นติ่งแหลมสั้นถึงติ่งแหลมอ่อน และรังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ เกือบกลม ยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร เกลี้ยงและมีต่อมน้ำมัน โดยจะมีอยู่ 4 ช่อง ซึ่งในแต่ละช่องจะมีออวุลอยู่ 1 เมล็ด ส่วนก้านเกสรตัวเมียจะยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีต่อมน้ำมันอยู่ใต้ยอดเกสรตัวเมีย โดยยอดเกสรตัวเมียส่วนปลายจะแยกเป็นแฉก 5 แฉก จานฐานดอกเกลี้ยง มีก้านช่อดอกยาวได้ถึง 2 เซนติเมตร และก้านดอกยาวประมาณ 8-10 มิลลิเมตร มีลักษณะเกลี้ยงหรือมีขน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมีอยู่ 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปคล้ายสามเหลี่ยม มีความกว้างและความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ปลายแหลม ผิวด้านในเกลี้ยง ส่วนผิวด้านนอกมีขนละเอียดและมีต่อมน้ำมัน โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[1]

ดอกกระแจะ

  • ผลกระแจะ ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ผลเมื่ออ่อนจะเป็นสีเขียว แต่เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำ ในผลมีเมล็ดอยู่ประมาณ 1-4 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอมสีส้มอ่อน ลักษณะของผลเป็นรูปเกือบกลมและมีความกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร ส่วนก้านยาวได้ถึง 2 เซนติเมตร โดยผลจะแก่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม[1]

ผลกระแจะ

ผลทานาคา

สรรพคุณของกระแจะ

  1. ผลมีรสขมและเฝื่อน ใช้เป็นยาบำรุงกำลังและเป็นยาบำรุงร่างกาย (ผล, ผลสุก)[1],[2],[6]
  2. ช่วยบำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น (เปลือกต้น)[1],[6]
  3. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ผลสุก[1], เปลือกต้น[6], แก่น[6])
  4. ช่วยแก้อาการผอมแห้ง (แก่น[1],[2],[6], ผล[6], ราก[6])
  5. แก่นมีรสจืดและเย็น นำมาดองกับเหล้าใช้กินเป็นยาแก้กษัยได้ (อาการป่วยที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบผอม และโลหิตจาง) (แก่น[1],[2],[6], ผล[6], ราก[6])
  6. แก่นใช้ดองกับเหล้ากินเป็นยาบำรุงโลหิต แก้โลหิตพิการ โรคเลือด (แก่น)[1],[2],[6]
  7. ใบกระแจะมีรสขมและเฝื่อน ใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นต้มกินแก้ลมบ้าหมู[1] แต่อีกตำราไม่ได้ระบุว่าต้องใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดใด[2] (ใบ[1],[2],[6], ผล[6], ราก[6])
  8. ช่วยแก้พิษ (ผล)[1],[2]
  9. ช่วยแก้ไข้ ถอนพิษไข้ (ผล, ผลสุก, เปลือกต้น, แก่น, ราก)[1],[2],[6]
  10. ช่วยแก้อาการร้อนใน ด้วยการใช้ต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 เวลา (ต้น)[1]
  1. ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย ด้วยการใช้แก่นนำมาดองกับเหล้าดื่มเป็นยา (แก่น[1],[2], เปลือกต้น[6])
  2. ช่วยขับเหงื่อ (ราก)[1],[2],[6]
  3. ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ผล)[2]
  4. ช่วยขับผายลม (เปลือกต้น)[1],[6]
  5. ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย (ผล)[1],[2],[6]
  6. รากมีรสขมเย็น ช่วยรักษาโรคในลำไส้ แก้อาการปวดท้องบริเวณลำไส้ใหญ่และบริเวณลิ้นปี่ (ราก)[1],[2]
  7. รากใช้เป็นยาถ่าย เป็นยาระบายอ่อน ๆ ได้ (ราก)[1],[2],[6]
  8. ช่วยในการคุมกำเนิด (ใบ)[6]
  9. ผลสุกใช้เป็นยาสมานแผล (ผลสุก)[1]
  10. ช่วยแก้โรคประดง (เป็นอาการของโรคผิวหนังที่มีผื่นคัน เป็นเม็ดขึ้นคล้ายกับผด จะมีอาการคันมาก และมักจะมีอาการไข้ร่วมด้วยเสมอ) ด้วยการใช้ต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 เวลา (ต้น)[1]
  11. ต้นนำมาต้มกับน้ำใช้ดื่มครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน และเย็น จะช่วยแก้อาการปวดเมื่อย ปวดตามข้อ แก้อาการเส้นตึงได้ (ต้น)[1]
  12. ช่วยแก้อาการปวดข้อ ปวดกระดูก (ใบ)[6]

ประโยชน์ของกระแจะ

  1. เนื้อไม้สีน้ำตาลปนสีเหลืองอ่อน จะมีลักษณะเป็นมันเลื่อม เนื้อหยาบแต่สม่ำเสมอ มีความแข็ง น้ำหนักปานกลาง และค่อนข้างเหนียว สามารถนำมาใช้ในงานแกะสลักได้ หรือจะใช้ทำตู้ ทำหีบใส่ของเพื่อป้องกันตัวแมลงก็ได้เช่นกัน[3]
  2. เนื้อไม้หากทิ้งไว้นาน ๆ จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนสีเหลืองอ่อน ๆ ชาวพม่าจะนิยมนำมาใช้ทำเป็นเครื่องประทินผิวที่เรียกว่า “กระแจะตะนาว” หรือ “ทานาคา” (Thanaka) (ชื่อไม้ชนิดนี้จะเรียกตามชื่อของเทือกเขาตะนาวศรี) โดยใช้เนื้อไม้นำมาบด ฝน หรือทำให้เป็นผงละเอียด ก็จะได้ผงที่มีกลิ่นหอมแบบอ่อน ๆ ใช้สำหรับทาผิว ทำให้ผิวเนียนสวย ซึ่งสามารถนำมาใช้ผสมในเครื่องหอม “กระแจะตะนาว” ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในพม่า หรือเป็นส่วนผสมหลักในเครื่องประทินผิวแบบโบราณได้หลายชนิด[1] ในพม่าจะนิยมใช้เปลือกและไม้นำมาฝนกับน้ำเป็นเครื่องหอมประทิวผิว โดยจะใช้เปลือกและไม้ฝนผสมกับไม้จันทน์ (Sandalwood)[3]
  3. รากนำมาฝนกับน้ำสะอาดใช้สำหรับทาหน้าแทนการใช้แป้ง จะทำให้ผิวเป็นสีเหลือง ช่วยแก้สิว แก้ฝ้าได้[1],[2]
  4. กิ่งอ่อนที่บดละเอียดสามารถนำมาใช้ผสมทำเป็นธูปหรือแป้งที่มีกลิ่นหอมแบบอ่อน ๆ ได้[4]

ทานาคา

ทานาคา

  • แป้งทานาคาจากการวิจัยพบว่าต้นกระแจะมีสารสำคัญที่ชื่อว่า Marmesin เป็นสารที่ช่วยกรองแสงอัลตราไวโอเลตที่ก่อให้เกิดการเสื่อมของเซลล์ผิวหนัง โดยไปกระตุ้นการสังเคราะห์เอนไซม์แมทริกซ์-เมทัลโลโปรตีเนส-1 (matrix-metalloproteinase-1, MMP-1) ซึ่งจะไปตัดกับเส้นใยโปรตีนคอลลาเจนที่มีหน้าที่ช่วยคงความแข็งแรงและเพิ่มความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อผิวหนังและลดการสังเคราะห์โปร-คอลลาเจน โดยพบว่าสารสกัดจากลำต้นกระแจะสามารถช่วยยับยั้ง MMP-1 และช่วยเพิ่มการสร้างโปร-คอลลาเจน[5]
  • ผงกระแจะและสารสกัดน้ำยังมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน ช่วยลดการเสื่อมของเซลล์ ช่วยต้านการอักเสบ และยังมีสาร Suberosin ที่มีฤทธิ์ในการช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งช่วยป้องกันและรักษาสิวได้[5]
  • สาวชาวพม่าที่ทำงานตากแดดแต่ยังมีผิวสวยใส นั่นเป็นเพราะว่าลำต้นของกระแจะมีสารอาร์บูติน (Arbutin) อยู่ประมาณ 1.711 -0.268 มคก./ก. (เป็นสารที่ทำหน้าที่ยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานินได้ ซึ่งเมลานินเป็นต้นเหตุของการเกิดฝ้า กระ และรอยหมองคล้ำด่างดำของผิว) อีกทั้งกระแจะยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (เอนไซม์ที่กระตุ้นในการเกิดเม็ดสีเมลานิน) เรียกได้ว่าร่วมด้วยช่วยกันในการออกฤทธิ์นั่นเอง[5]
  • กลิ่นหอมของทานาคาหรือกระแจะนั้นมาจากในกลุ่มคูมาลิน 4 ชนิด (coumarins) ซึ่งเป็นสารที่ไม่มีความเป็นพิษต่อหน่วยพันธุกรรมและไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์แต่อย่างใด[5]
  • ในปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบของทานาคาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนยุคใหม่มากขึ้น โดยจะเห็นได้จากผลิตภัณฑ์ผงทานาคาบดละเอียดที่สามารถนำมาใช้ได้เลย ไม่ต้องฝนกันให้เหนื่อย ส่วนที่เป็นชนิดครีมเลยก็มี แต่อย่างไรก็ตามควรทดสอบการแพ้กับท้องแขนของเราก่อน หากไม่มีอาการแพ้หรืออาการผิดปกติก็สามารถนำมาใช้กับใบหน้าได้[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “กระแจะ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [28 ม.ค. 2014].
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “กระแจะ”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 83.
  3. หนังสืออนุกรมวิธานพืช อักษร ก. ฉบับราชบัณฑิตยสถาน.
  4. มูลนิธิสุขภาพไทย.  “กระแจะ ไม้พื้นเมืองกลิ่นหอม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org.  [28 ม.ค. 2014].
  5. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “หน้าสวยด้วย ทานาคาของเมียนม่าร์หรือกระแจะของไทย”.  (รศ.พร้อมจิต ศรลัมพ์ ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [28 ม.ค. 2014].
  6. มหาวิทยาลัยนเรศวร.  “สมุนไพรไทยกระแจะ”.  (วชิราภรณ์ ทัพผา).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th.  [28 ม.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by silverfox_hwz, ngchongkin), www.thaicrudedrug.com, www.phargarden.com (by Sudarat Homhual), www.pharmacy.mahidol.ac.th, www.thaihof.org, www.khaodanherb.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด