กระเจียวขาว สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกระเจียวขาว 5 ข้อ !

กระเจียวขาว

กระเจียวขาว ชื่อสามัญ White angel กระเจียวขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma parviflora Wall. จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE) เช่นเดียวกับกระเจียวแดง[1]

กระเจียวขาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า อาวขาว (เชียงใหม่), กระเจียวโคก กระชายดง (เลย), กระเจียวขาว (นครราชสีมา), ว่านม้าน้อย (สุโขทัย), กระจ๊อด, กระเจียว, ดอกดิน, อาว เป็นต้น[1],[3]

ลักษณะของต้นกระเจียวขาว

  • ต้นกระเจียวขาว จัดเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรง มีความสูงของต้นประมาณ 15-50 เซนติเมตรและอาจสูงได้ถึง 70 เซนติเมตร มีเหง้าอยู่ใต้ดิน และมีกลิ่นหอม เหง้ามีลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนดาประมาณ 2×1 เซนติเมตร ภายในเป็นสีน้ำตาลอ่อน ๆ และเหง้ามีขนาดสั้นมาก เหง้าของลำต้นเทียมที่แก่เต็มที่หรือมีดอกแล้วเท่านั้นที่จะบวมพองสะสมน้ำและอาหารได้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้หัวเหง้าและเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีอินทรียวัตถุสูงและมีแสงแดด ซึ่งในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ตามป่าดิบทั่วไป ป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ บริเวณโคกและบริเวณป่าโปร่ง ส่วนในต่างประเทศจะพบได้ที่ประเทศอินเดีย พม่า ลาว เวียดนาม มาเลเซีย และจีน[1],[2],[3]

ต้นกระเจียวขาว

  • ใบกระเจียว ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอกหรือเป็นรูปรี ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบเป็นรูปลิ่มหรือมน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 16-25 เซนติเมตร ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ก้านใบแผ่เป็นกาบ[1],[2]

ใบกระเจียวขาว

  • ดอกกระเจียวขาว ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายยอด โดยจะออกจากกลางลำต้น มีก้านช่อยาวประมาณ 7-30 เซนติเมตร ส่วนช่อดอกมีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร ช่อดอกมีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีขาว มีใบประดับเป็นสีเขียว ใบประดับส่วนยอดสีขาว กลีบดอกเป็นรูปไข่กลีบ มีสีขาวล้วนหรือมีสีม่วงหรือสีน้ำเงินแต้มอยู่ที่ส่วนปลาย ขอบกลีบหยักเป็นคลื่น ๆ ดอกมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันแผ่เป็นแผ่นคล้ายกลีบดอกสีม่วงอ่อน และจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนธันวาคม[1],[2]

รูปดอกกระเจียวขาว

ดอกกระเจียวขาว

  • ผลกระเจียวขาว ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปไข่กลับและมีขน[1]

สรรพคุณของกระเจียวขาว

  • หน่ออ่อนและดอกอ่อนของกระเจียวมีรสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอม เป็นยาช่วยขับลม (หน่ออ่อน, ดอกอ่อน)[3]
  • ใบนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำใช้เป็นยาทารักษาแผลสดและช่วยห้ามเลือด (ใบ)[1]
  • ตามตำรับยาพื้นบ้านล้านนาและชาวเขาเผ่าอีก้อ จะใช้ต้นกระเจียวขาวทั้งต้น หัวขมิ้นขาว หัวข่าหด หัวเร่ว หัวไพล หัวว่านมหาเมฆ หัวว่านสาวหลง และหัวว่านแสงอาทิตย์ นำมาเคี่ยวกับน้ำมันพืชแล้วกรองเอากากทิ้ง เอาแต่น้ำมันมาใช้เป็นยาทาถูนวด แก้อาการปวดเมื่อย (ทั้งต้น)[1]

ประโยชน์ของกระเจียวขาว

  • ดอกอ่อน หน่ออ่อน สามารถนำมาต้มหรือลวกใช้รับประทานเป็นผักได้ โดยใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก ลาบ ก้อย ส้มตำ หรืออาจนำมาใช้ปรุงอาหาร เช่น ทำแกง เป็นต้น โดยคุณค่าทางอาหารต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วย โปรตีน 1.2 กรัม แคลเซียม 31 มิลลิกรัม และธาตุเหล็ก 1.9 มิลลิกรัม[2],[3]
  • ต้นกระเจียวขาวมีช่อดอกที่ดูสวยงาม จึงนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับกันอย่างแพร่หลาย[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “กระเจียวขาว”.  หน้า 89.
  2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “กระเจียวขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [14 เม.ย. 2014].
  3. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร.  “กระเจียวขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [14 เม.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Wee Foong Ang, Tony Rodd, Len Worthington)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด