กระสัง สรรพคุณและประโยชน์ของผักกระสัง 30 ข้อ !

กระสัง สรรพคุณและประโยชน์ของผักกระสัง 30 ข้อ !

กระสัง

กระสัง ชื่อสามัญ Peperomia, Shiny leave[2]

กระสัง ชื่อวิทยาศาสตร์ Peperomia pellucida (L.) Kunth จัดอยู่ในวงศ์พริกไทย (PIPERACEAE)[2] (ข้อมูลทั่วไปใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Peperomia pellucida Korth)

สมุนไพรกระสัง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักราชวงศ์ (แม่ฮ่องสอน), ผักกูด (เพชรบุรี), ผักสังเขา (สุราษฎร์ธานี), ผักฮากกล้วย (ภาคเหนือ), ผักกระสัง (ภาคกลาง), ชากรูด (ภาคใต้), ตาฉี่โพ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1]

ลักษณะของกระสัง

  • ต้นกระสัง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นเปราะหักง่าย มีความสูงได้ประมาณ 15-30 เซนติเมตร ลำต้นและใบเป็นสีเขียวและอวบน้ำ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด พบขึ้นทั่วไปในเขตร้อนทั่วโลก ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักขึ้นในแปลงผัก ตามสวน และตามสนามหญ้าทั่วไป[1] จัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง (การกำจัดและป้องกันสามารถใช้ได้ทั้งวิธีการเขตกรรม เช่น ถาก ถอน ทิ้งอยู่เสมอ และการใช้สารเคมีต่างๆ เช่น กรัมม็อกโซน มาร์เก็ต (ไกลโฟเซต), ดามาร์ค (ไกลโฟเลท), ทัชดาวน์ (ไกลโฟเซต, ไตรมีเซียมซอลต์) ฯลฯ[2]

ต้นกระสัง

  • ใบกระสัง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ โดยจะออกจากลำต้นในลักษณะตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบเว้าตื้น ส่วนขอบใบเรียบ มีต่อมโปร่งแสง แผ่นใบหนาเป็นคลื่นเล็กน้อย[1] ผิวใบด้านบนเป็นมัน ด้านล่างขุ่นและมีสีอ่อนกว่า ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร[2]

ใบกระสัง

  • ดอกกระสัง ออกดอกเป็นช่อตามซอกและที่ปลายกิ่ง ช่อดอกเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีครีม ช่อดอกจะออกบริเวณข้อตรงข้ามกับใบ เรียงโค้งขึ้น ประกอบไปด้วยดอกเล็ก ๆ ที่ไม่มีก้าน มีดอกย่อยจำนวนมากเวียนรอบแกน ดอกเป็นแบบสมบูรณ์เพศ ไม่มีทั้งกลีบดอกและกลีบเลี้ยง มีใบประดับดอกละ 1 ใบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน อยู่ข้าง ๆ รังไข่ อับเรณูเป็นสีขาว ก้านชูอับเรณูสั้น เกสรเพศเมียมี 1 อัน รังไข่มีลักษณะกลม อยู่เหนือฐานดอก[1],[2]

ดอกกระสัง

  • ผลกระสัง ผลเป็นผลสด มีลักษณะกลม ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดเป็นสีดำทรงกลมและมีขนาดเล็ก[1],[2]

ผลกระสัง

สรรพคุณของกระสัง

  1. ในตรินิแดด (Trinidad) นิยมใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นยาเย็นสำหรับเด็ก (ใบ)[1]
  2. ในบราซิลจะใช้สมุนไพรชนิดนี้เพื่อลดคอเลสเตอรอล (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[6]
  3. ในมาเลเซียเชื่อว่า การรับประทานผักกระสังจะสามารถช่วยรักษาโรคตาและต้อ (glaucoma) ได้ (ใบ)[6]
  4. ใบนำมาตำให้แหลกใช้เป็นยาแก้ปวดศีรษะ (ใบ)[1],[4]
  5. ใบผักกระสังที่ทำให้แหลกแล้ว สามารถนำมาใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้อักเสบได้ (ใบ)[1],[4],[5]
  6. ใบใช้รับประทานสด ๆ จะมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคลักปิดลักเปิดหรือโรคเลือดออกตามไรฟัน เนื่องจากมีวิตามินซีสูง (ใบ)[4],[6]
  1. ใบนำมาตำขยำใช้แปะทาเม็ดที่เป็นใต้ราวนม เป็นยาแก้มะเร็งเต้านม (ใบ)[6]
  2. น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง (ใบ)[1],[4]
  3. ในกียานา (Guyana) จะใช้ผักกระสังเป็นยาขับปัสสาวะ ลดไข่ขาวในปัสสาวะ ส่วนในแถบแอมะซอนจะใช้เป็นยาขับปัสสาวะ หล่อลื่น แก้หัวใจเต้นผิดปกติ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[6]
  4. ใช้เป็นยารักษาเริม ด้วยการนำต้นผักกระสังมาผสมกับขมิ้นและข้าวสาร (ฮูยงงูกุมาตอกูยิ) ตำให้ละเอียด แล้วนำมาพอกทิ้งไว้ 1 คืน (ต้นและใบ)[6]
  5. ยาชงจากใบใช้เป็นยาแก้ชัก (ใบ)[1],[5]
  6. ใบใช้ตำพอกฝีและแผล หรือคั้นเอาน้ำทาแผลฝีที่มีหนอง จะช่วยรักษาแผลฝีหนองได้ (ใบ)[1],[4],[5]
  7. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้พิษฝี หรือนำมาแช่น้ำทาแก้ผื่นคัน (ทั้งต้น)[3]
  8. หมอยาพื้นบ้านบางคนจะกินผักกระสังเป็นยาแก้ปวดข้อ ซึ่งในประเทศฟิลิปปินส์จะมีการกินผักกระสังสด ๆ หรือนำมาต้มกินเพื่อรักษาโรคเกาต์ อาการปวดข้อ และข้ออักเสบ โดยการนำผักกระสังต้นยาวสัก 20 เซนติเมตร นำมาต้มกับน้ำ 2 แก้ว ให้เหลือประมาณ 1 แก้ว ใช้แบ่งรับประทานครั้งละครึ่งแก้ว เช้าและเย็น (ในปัจจุบันฟิลิปปินส์กำลังศึกษาวิจัยเพื่อใช้เป็นยารักษาโรคข้ออักเสบรวมทั้งโรคเกาต์จากการที่ผักกระสังสามารถลดปริมาณกรดยูริกในกระแสเลือด) นอกจากนี้ชาวฟิลิปปินส์ยังใช้ทั้งต้นสดนำมาบดประคบฝีหรือตุ่มหนอง และโรคผิวหนังอื่น ๆ ซึ่งจากการศึกษาสมัยใหม่พบว่า ผักชนิดนี้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านแบคทีเรียได้หลายชนิด ทั้งยังมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งจะช่วยกำจัดเนื้อตายทำให้ฝีแตกได้โดยง่าย (ต้นและใบ)[6]
  9. ในโบลิเวียมีบันทึกที่มีอายุนานนับพันปีชื่อว่า “Altenos Indians Document” ซึ่งกล่าวไว้ว่า ผักกระสังทั้งต้นใช้บดผสมกับน้ำใช้กินเป็นยาห้ามเลือด ใช้ส่วนเหนือดินโปะแผล ใช้ส่วนของรากต้มกินเป็นยารักษาไข้ (ทั้งต้น)[6]
  10. นอกจากนี้ในประเทศอื่น ๆ ยังมีการใช้ผักกระสังเป็นยารักษาอาการปวดท้อง ทั้งแบบธรรมดาและปวดเกร็ง รักษาฝี สิว หัด อีสุกอีใส แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แก้อาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ระบบประสาทแปรปรวน มีแก๊สในกระเพาะ ปวดข้อรูมาติก[6]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระสัง

  • มีรายงานการศึกษาที่พบว่า ผักกระสังมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง เชื้อแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ แก้อาการปวด และไม่มีพิษภัย[6] โดยสารสกัดด้วยน้ำจากใบกระสังมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อ Micrococcus pyogenes Lehm. et Neum. var. aureus Huck. และเชื้อ Escherichia coli (Miq.) Cast. et Chalm.[1]
  • จากการศึกษาพบว่า ผักกระสังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและมีวิตามินสูง โดยใน 100 กรัมจะมีวิตามินสูงถึง 18 มิลลิกรัม ทางสถาบันวิจัยโภชนาการของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้พบว่าผักกระสังเพียง 100 กรัม จะมีเบต้าแคโรทีนประมาณ 285 ไมโครกรัม[6]
  • สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยพบว่า ผักกระสังมีฤทธิ์เสริมสร้างและซ่อมแซมกระดูกส่วนที่สึกหรอได้[7]

ประโยชน์ของกระสัง

  1. ต้นและใบใช้รับประทานเป็นผักสด โดยนำมาผัด ลวก หรือนึ่งเป็นอาหาร[1] หรือใช้ทำยำผักกระสัง ด้วยการนำผักมาหั่นเป็นชิ้นพอประมาณสัก 1-2 ทัพพี, กุ้งแห้ง 1-2 ช้อนโต๊ะ, น้ำมะนาว 1-2 ช้อนโต๊ะ, มะม่วงซอย 1-2 ช้อนโต๊ะ, แคร์รอตซอยฝอย ๆ 1-2 ช้อนโต๊ะ, ขิงซอย 1-2 ช้อนโต๊ะ, น้ำเปล่า 1-2 ช้อนโต๊ะ, น้ำตาลทราย 1-2 ช้อนโต๊ะ, พริกขี้หนูแห้งทอด พอประมาณ, ถั่วลิสงคั่ว พอประมาณ, หมูหยอง พอประมาณ, หัวหอมซอย พอประมาณ, โหระพาและสะระแหน่ไว้แต่งรส จากนั้นรวมเครื่องปรุงทุกอย่างเข้าด้วยกัน แล้วปรุงรสตามใจชอบ เพียงเท่านี้ก็พร้อมรับประทานได้แล้ว[5] ส่วนยำผักกระสังอีกสูตรจะใช้ผักกระสัง 6 ช้อนคาว, เนื้อหมูสามชั้น 2 ช้อนคาว, หนังหมู 2 ช้อนคาว, กุ้งต้ม 2 ช้อนคาว, หอม 1 ช้อนคาว, กระเทียม 1 ช้อนคาว, ถั่วลิสง 1 ช้อนคาว, พริกชี้ฟ้าแดง 2 เม็ด, น้ำปลา, น้ำตาล และมะนาว โดยขั้นตอนในการทำนั้นจะเริ่มจากการนำหมูและหนังหมูมาต้มให้พอสุก หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ยาวประมาณ 1 นิ้ว ซอยหอม กระเทียมตามยาวของกลีบ นำไปเจียวให้พอเหลือง จากนั้นนำถั่วลิสงมาหั่นตามยาวเป็นฝอย ๆ พริกแดงให้ผ่าเอาเมล็ดออก ตัดเป็นสองท่อน แล้วหั่นตามยาวเป็นฝอย ๆ แล้วคลุกเครื่องปรุงข้างต้นเข้าด้วยกัน ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล และมะนาวตามชอบใจ แล้วจึงนำผักกระสังมาตัดรากทิ้ง เด็ดเป็นท่อนสั้น ๆ ล้างน้ำให้สะอาด ทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ คลุกเคล้ากับเครื่องข้างต้นให้เข้ากัน แล้วจัดใส่จานพร้อมกับโรยหน้าด้วยหอมเจียวและพริกแดง เป็นอันเสร็จ (คู่มือการปรุงอาหารจากผักพื้นบ้านไทย, ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา)
  2. ผักชนิดนี้มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงและถูกจัดว่าเป็นผักต้านมะเร็งชนิดหนึ่ง[6]
  3. น้ำคั้นจากใบใช้ทารักษาสิว ทำให้สิวยุบเร็วขึ้น[6]
  4. ผักกระสังเป็นสมุนไพรสำหรับผู้หญิงอีกชนิดหนึ่ง เพราะนอกจากจะใช้รักษาสิวได้แล้ว สาว ๆ ในสมัยก่อนยังใช้น้ำต้มจากผักชนิดนี้นำมาล้างหน้าบ่อย ๆ เพื่อเป็นการบำรุงผิวและทำให้ผิวหน้าสดใสอีกด้วย[6]
  5. นอกจากนี้ยังมีการใช้ผักกระสังเป็นยาสระผม โดยนำใบมาขยำกับน้ำแล้วชโลมศีรษะให้ศีรษะเย็นเพื่อช่วยป้องกันผมร่วงและทำให้ผมนุ่ม เพราะผักชนิดนี้มีธาตุอาหาร มีความเป็นกรดอ่อน ๆ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรีย[6]
  6. ปัจจุบันมีการนำสมุนไพรชนิดนี้ไปผลิตเป็นสารสกัดเพื่อจำหน่ายในต่างประเทศ[6]

ข้อควรระวัง : สำหรับผู้ที่แพ้พืชที่มีกลิ่นฉุนประเภท Mustard (พืชเครื่องเทศทั้งหลาย) ไม่ควรรับประทานผักชนิดนี้[6]

เอกสารอ้างอิง
  1. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กระสัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [16 ส.ค. 2015].
  2. ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ผักกระสัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : clgc.agri.kps.ku.ac.th. [16 ส.ค. 2015].
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “Peperomia pellucida (L.) Humb., Bonpl. & Kunth”. อ้างอิงใน : หนังสือสารานุกรมสมุนไพร เล่ม 4 กกยาอีสาน หน้า 188. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [16 ส.ค. 2015].
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “กระสัง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [16 ส.ค. 2015].
  5. วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานีน้อมรับพระราชดำริ, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กระสัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : rspg.svc.ac.th. [16 ส.ค. 2015].
  6. กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. “เรื่องน่ารู้…ของผักกะสัง”. อ้างอิงใน : หน่วยปฏิบัติการวิจัยเคมีสารสนเทศ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dra.go.th. [16 ส.ค. 2015].
  7. ผู้จัดการออนไลน์. “สมุนไพรไม้เป็นยา : กระสัง อีกหนึ่งสมุนไพรต้านมะเร็ง ซ่อมแซมกระดูก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.manager.co.th. [16 ส.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Navida Pok, Tai Lung Aik, Nelindah, International Institute of Tropical Agriculture)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด