กระวาน สรรพคุณและประโยชน์ของกระวานไทย 37 ข้อ !

กระวาน

กระวาน ชื่อสามัญ Best cardamom, Camphor, Clustered cardamom, Siam cardamom

กระวาน ชื่อวิทยาศาสตร์ Amomum verum Blackw. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Amomum krervanh Pierre ex Gagnep.) จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)[1],[2]

สมุนไพรกระวาน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปล้าก้อ (ปัตตานี), กระวานขาว (ภาคกลาง, ภาคตะวันออก), มะอี้ (ภาคเหนือ), ข่าโคก ข่าโค่ม หมากเนิ้ง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กระวานไทย, กระวานดำ, กระวานแดง, กระวานจันทร์, กระวานโพธิสัตว์ เป็นต้น[1],[2]

กระวานจัดเป็นเครื่องเทศที่มีราคาแพง ที่ซื้อขายในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ

  • กระวานไทย หรือ กระวาน (Amomum krevanh) ผลจะมีลักษณะค่อนข้างกลม ปลูกมากในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย หมู่เกาะอินเดียตะวันตก สำหรับประเทศไทยแหล่งผลิตสำคัญจะเก็บได้จากตามป่าบริเวณเขาสอยดาว ในจังหวัดจันทบุรี หรือที่เรียกว่า “กระวานจันทบุรี” ซึ่งเป็นกระวานที่มีคุณภาพดีและเป็นที่ต้องการของตลาด และยังมาจากแหล่งอื่น ๆ ทางภาคใต้อีก เช่น กระวานสงขลา กระวานสุราษฎร์ธานี แต่จะมีคุณภาพต่ำกว่ากระวานจันทบุรี[3]
  • กระวานเทศ หรือ กระวานแท้ (Elettaria cardamomum) ผลมีลักษณะแบนรี ซึ่งแตกต่างจากกระวานไทย กระวานเทศนี้จะปลูกมากในประเทศอินเดีย ศรีลังกา แทนซาเนีย และกัวเตมาลา[3]

ลักษณะของกระวาน

  • ต้นกระวาน จัดเป็นไม้ล้มลุกมีเหง้า มีความสูงประมาณ 2 เมตร โดยมีกาบใบหุ้มซ้อนกันทำให้ดูคล้ายลำต้น โดยต้นกระวานมักขึ้นในที่ร่มหรือใต้ร่มไม้ที่มีความชื้นสูง หรือในที่ที่มีฝนตกชุกและอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลอย่างน้อย 800 ฟุตขึ้นไป โดยมักจะพบขึ้นทั่วไปตามไหล่เขาในบริเวณป่าดงดิบ[1],[3]

ต้นกระวาน

  • ใบกระวาน ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบแคบและยาว เป็นรูปขอบขนาน มีความยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ปลายใบแหลม[1]

ใบกระวาน

  • ดอกกระวาน ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกออกมาจากเหง้า ชูขึ้นขึ้นมาเหนือพื้นดิน เรียงสลับซ้อนกันตลอดช่อ ในซอกใบประดับจะมีดอกประมาณ 1-3 ดอก ปลายกลีบเลี้ยงมีหยัก 3 หยัก กลีบดอกมีสีเหลือง เป็นหลอดแคบ เกสรตัวผู้เป็นแบบไม่สมบูรณ์เพศ แปรสภาพเป็นกลีบขนาดใหญ่สีขาว มีแถบสีเหลืองอยู่ตรงกลาง[1]

ดอกกระวาน

  • ผลกระวาน หรือ ลูกกระวาน ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม ติดเป็นพวงราว 10-20 ผล ผลมีสีขาวนวล เปลือกผิวเกลี้ยง มองเห็นเป็นพู มี 3 พู ผลอ่อนมีขน ผิวเปลือกมีริ้วตามยาว เรียงตัวจากฐานไปสู่ยอด ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 6-15 มิลลิเมตร ทั้งหัวและท้ายผลมีจุก ผลจะร่วงไปเมื่อแก่ ผลแก่จะแตก มีเมล็ดอยู่ภายในจำนวนมาก แบ่งเป็น 3 กลุ่ม มีเมล็ดกลุ่มละประมาณ 12-18 เมล็ด

ผลกระวาน

  • เมล็ดกระวาน เมล็ดอ่อนมีสีขาวและมีเยื่อหุ้ม เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลไหม้ โดยทั้งผลและเมล็ดจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว คล้ายกับกลิ่นของการบูร มีรสเผ็ดและเย็น[1],[2]

ส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพร ได้แก่ ราก หัว และหน่อ เปลือกต้น แก่น กระพี้ เมล็ด ผลแก่ที่มีอายุประมาณ 4-5 ปี โดยจะเก็บผลในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนมีนาคม [1]

สรรพคุณของกระวาน

  1. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ผลแก่, ใบ, เปลือก, เมล็ด)[1],[2]
  2. ช่วยแก้ธาตุพิการ (เมล็ด)[1],[2] แก้ธาตุไม่ปกติ (ผลแก่)[2]
  3. ช่วยบำรุงกำลัง (ผลแก่, ใบ)[1],[2]
  4. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ผลแก่)[1],[2] แก้อาการเบื่ออาหาร (ผลแก่)[2]
  5. ช่วยบำรุงโลหิตในร่างกาย (กระพี้)[1]
  6. ช่วยขับโลหิต (ผลแก่)[1],[2] ช่วยฟอกโลหิต แก้โลหิตเน่าเสีย (ราก)[1] ช่วยรักษาโรคโลหิตเป็นพิษ (แก่น)[1]
  7. ช่วยแก้เสมหะให้ปิดธาตุ (ราก)[1] แก้ลมเสมหะให้ปิดธาตุ (ผลแก่, ใบ)[1],[2]
  8. ช่วยขับเสมหะ (ใบ, เปลือก, เมล็ด)[1],[2]
  9. แก้อาการสะอึก (ผลแก่)[2]
  10. ช่วยแก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน (ผลแก่)[2]
  1. ช่วยแก้ลม (ผล, ใบ, ราก)[1]
  2. ช่วยแก้ลมในอกให้ปิดธาตุ (ผลแก่)[1],[2]
  3. ช่วยแก้ลมสันนิบาต สันนิบาตลูกนก (ผลแก่, ใบ)[1],[2]
  4. ช่วยแก้พิษร้าย (แก่น)[1]
  5. ช่วยแก้อาการผอมเหลือง (เปลือก)[1]
  6. ช่วยรักษาโรครำมะนาด (ผลแก่, ใบ, ราก)[1],[2]
  7. ช่วยแก้ไข้ (เปลือก)[1]
  8. ช่วยแก้ไข้เพื่อลม (ใบ)[1]
  9. ช่วยแก้ไข้อันเป็นอชินโรคและอชินธาตุ (เปลือก)[1]
  10. ช่วยแก้ไข้อันง่วงเหงา (ใบ, เปลือก)[1]
  11. แก้ไข้เซื่องซึม (ใบ)[1]
  12. ช่วยแก้อาการปวดท้อง (เมล็ด)[2]
  13. แก้ลมจุกเสียดแน่นเฟ้อ ท้องอืด ท้องเฟ้อ ด้วยการใช้ผลกระวานแก่จัดประมาณ 6-10 ผล นำมาตากแห้งแล้วบดเป็นผง ใช้รับประทานครั้งละ 1-3 ช้อนชา ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว แล้วเคี่ยวจนเหลือครึ่งถ้วยแก้ว และนำมาใช้รับประทานเพียงครั้งเดียว (ผลแก่, ใบ)[1],[2]
  14. แก้ลมในลำไส้ (ผลแก่)[2] ช่วยขับผายลมในลำไส้ (เมล็ด, ใบ)[1],[2] มีฤทธิ์ในการขับลม (Carminative) ด้วยการใช้ผลกระวานแก่จัดประมาณ 6-10 ผล นำมาตากแห้งแล้วบดเป็นผง ใช้รับประทานครั้งละ 1-3 ช้อนชา แล้วต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว แล้วเคี่ยวจนเหลือครึ่งถ้วยแก้ว และนำมาใช้รับประทานเพียงครั้งเดียว (ผลแก่)[1],[2]
  15. ผลกระวานใช้ผสมกับสมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย เช่น มะขามแขก เพื่อใช้บรรเทาอาการไซ้ท้องหรืออาการคลื่นไส้อาเจียน (ผลแก่[1], เมล็ด[2])
  16. ช่วยแก้อุจจาระพิการ (เมล็ด)[1],[2]
  17. ช่วยแก้อัมพาต (ผลแก่)[2]
  18. ช่วยขับพยาธิในเนื้อให้ออกทางผิวหนัง (หัวและหน่อ)[1]
  19. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง (กระพี้, เปลือก)[1]
  20. ผลแก่มีรสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอม ประกอบไปด้วยน้ำมันหอมระเหย (Essential oil) 5-9% มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียบางชนิด (ผลแก่)[1]
  21. ใช้เป็นส่วนประกอบในพิกัดยาไทย ได้แก่ ตำรับยา “พิกัดตรีธาตุ” ซึ่งประกอบไปด้วย กระวาน ดอกจันทน์ และอบเชย เป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ธาตุพิการ แก้ไข้ แก้ลม แก้เสมหะ และยังจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดตรีทุราวสา” อันประกอบไปด้วย ผลกระวาน ผลราชดัด ผลโหระพาเทศ ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ลม แก้เสมหะ แก้พิษตานซาง และช่วยบำรุงน้ำดี[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระวาน

  • มีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยสารสกัดน้ำ-เอทานอลมีผลกระตุ้นการดูดกลับของกลูโคส และช่วยเสริมฤทธิ์ของอินซูลิน[2]
  • สารในกลุ่มเทอร์ปีนและ Diterpene peroxide ที่แยกบริสุทธิ์จากสารสกัดเฮกเซน มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum[2]
  • ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้เล็ก โดยมีสารที่ออกฤทธิ์คือ Cineole[2]
  • น้ำมันหอมระเหยจากผลกระวานมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas aeruginosa[2]
  • น้ำมันหอมระเหย หรือ Essential oil 5-9% ประกอบไปด้วย 1,8-cineol, ?-bisabolol, ?-curcumene, ?-pinene, ?-santalol, ?-terpineol, Bornyl acetate, Camphor 22.5%, Car-3-ene, Cineol, Cinnamaldehyde, Cis-laceol, (E)-nuciferol, Farnesol isomer, Limonene, Linalool, Myrcene, P-cymene, Safrole, Santalol, Terpinen-4-ol, Thujone, (Z)-?-trans- bergamotol[2]

กระวาน

ลูกกระวาน

ประโยชน์ของกระวาน

  1. เหง้าอ่อนของกระวานใช้รับประทานเป็นผักได้ ให้กลิ่นหอมและมีรสเผ็ดเล็กน้อย[1]
  2. ผลแก่ของกระวานนำมาตากแห้ง สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องเทศในการประกอบอาหารได้อย่างปลอดภัย[1],[2]
  3. เมล็ดมีกลิ่นหอม ใช้สำหรับแต่งกลิ่นขนมปัง ขนมเค้ก คุกกี้ และยังช่วยแต่งกลิ่นและดับกลิ่นคาวของอาหารประเภทเนื้อสัตว์ได้อีกด้วย[3]
  4. กระวานไทยสามารถนำมาใช้ทดแทนกระวานเทศได้[3]
  5. มีการนำผลกระวานมาแปรรูปทำเป็นน้ำมันหอมระเหย โดยการกลั่นด้วยไอน้ำ โดยน้ำมันกระวานสามารถนำไปแต่งกลิ่นเหล้า หรือเครื่องดื่มต่าง ๆ รวมไปถึงยังนำมาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอมอีกด้วย[3]
  6. กระวานเป็นเครื่องเทศส่งออกของประเทศไทยที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศปีละนับล้านบาท[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กระวาน“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [17 พ.ย. 2013].
  2. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “กระวานไทย“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [17 พ.ย. 2013].
  3. สำนักงานเกษตร อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี.  “กระวาน“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: soidao.chanthaburi.doae.go.th.  [17 พ.ย. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad), เว็บไซต์ thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด