กระวานเทศ
กระวาน หรือ กระวานเทศ ชื่อสามัญ Cardamom, True cardamom, Small cardamom
กระวานเทศ ชื่อวิทยาศาสตร์ Elettaria cardamomum (L.) Maton (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Amomum cardamomum L.) จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)[1],[2],[3]
สมุนไพรกระวานเทศ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระวานแท้, กระวาน, กระวานขาว, ลูกเอล (Ela), ลูกเอน, ลูกเอ็น เป็นต้น[1] โดยมีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[2]
กระวานเทศ เป็นเครื่องเทศที่มีราคาสูงมาก มีราคาต่อหน่วยของน้ำหนักเป็นอันดับสามรองจากหญ้าฝรั่น (Saffron) และวานิลลา (Vanilla) ซึ่งในตลาดโลกมีการซื้อขายกระวานกันอยู่หลายชนิดจากหลาย ๆ ทวีป โดยชนิดที่มีคุณภาพดีที่สุด (แพงที่สุดด้วย) มีการซื้อขายกันมากที่สุดก็คือ กระวานเทศ (Cardamom) ซึ่งผลิตมาจากประเทศอินเดียและศรีลังกา ส่วนกระวานไทยนั้นจะมีคุณภาพรองลงมา แต่จะมีการนำมาใช้ทดแทนเมื่อกระวานเทศเกิดขาดแคลน หรือนำมาใช้ในอุตสาหกรรมที่ไม่ได้เน้นด้านคุณภาพมากนัก[3]
กระวานเทศ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ กลุ่มพันธุ์ผลเล็ก (E. cardamum var. cardamum) ผลมีขนาดยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผลแห้งเป็นสีเหลือง นิยมปลูกกันส่วนมาก และกลุ่มพันธุ์ผลใหญ่ (E. cardamum var. major Thwaites) เป็นกระวานเทศป่าจากศรีลังกา ผลมีขนาดยาวประมาณ 2.5-5.5 เซนติเมตร ผลแห้งเป็นสีน้ำตาลเข้ม[3]
ลักษณะของกระวานเทศ
- ต้นกระวานเทศ จัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุยาวหลายปี มีเหง้าหรือหัวอยู่ใต้ดิน ลำต้นเทียมมีความสูงประมาณ 1.5-5 เมตร ส่วนของต้นเกิดมาจากการรวมตัวกันของกาบใบที่เจริญขึ้นมาเหนือดิน จนมีลักษณะเป็นกอ ในแต่ละก้านจะมีใบอยู่ประมาณ 10-20 ใบ ทุกส่วนของลำต้นมีกลิ่นหอม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกกอ ซึ่งเป็นวิธีแบบไม่อาศัยเพศ และวิธีการเพาะกล้าจากเมล็ด มีการเพาะปลูกมากในประเทศอินเดีย ศรีลังกา แทนซาเนีย และกัวเตมาลา[1],[2],[3]
- ใบกระวานเทศ มีใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็น 2 แถว ด้านหลังใบมีสีเขียวเข้มและเป็นมัน ส่วนท้องใบสีจะจางกว่า ลักษณะของใบเป็นรูปหอกแกมรูปแถบ[2],[3]
- ดอกกระวานเทศ ช่อดอกออกจากเหง้าหรือบริเวณโคน มีความประมาณ 1-1.5 เมตร ทอดราบไปกับพื้นดิน ดอกมีสีขาวหรือสีเขียวอ่อน ส่วนลาเบลลัมเป็นสีขาวและประด้วยขีดสีม่วง[2]
- ลูกกระวานเทศ หรือ ผลกระวานเทศ ผลมีลักษณะยาวรีเป็นรูปไข่ หัวท้ายแหลม ปลายผลจะงอนคล้ายกับจะงอยปากนก ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ผลแก่แห้งมีสีน้ำตาลเข้ม เมื่อนำมาตัดขวางภายในจะเห็นเป็น 3 ช่อง รอยตัดจะเป็นแบบสามเหลี่ยม มีกลิ่นเฉพาะตัว ผลเมื่อแก่จะแตกตามยาวออกเป็น 3 ส่วน ภายในผลมีเมล็ดมาก ในแต่ละผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 15-20 เมล็ด[1]
- เมล็ดกระวานเทศ เมล็ดมีสีน้ำตาลอมดำอัดแก่นเป็นกลุ่มอยู่ภายในผล เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแบน แข็ง มีขนาดประมาณ 5 มิลลิเมตร มีเยื่อหุ้มเมล็ด โดยเมล็ดนั้นจะมีกลิ่นหอมฉุนและให้รสเผ็ดร้อน[1]
สรรพคุณของกระวานเทศ
- ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ผล)[1]
- ในต่างประเทศมีการใช้กระวานเทศผสมเป็นตัวบำรุงหัวใจ (ผล)[1]
- ช่วยกระจายโลหิต (ผล)[1]
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ปวดฟัน ปวดหู (ผล)[1]
- ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ผล)[1]
- ช่วยขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และในต่างประเทศมีการใช้ผลกระวานผสมกับขิง ผงกานพลู และเทียนตากบ (ผล)[1]
- ช่วยแก้อาการเกร็งของลำไส้ (ผล)[1]
- ช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร (ผล)[1]
- ในประเทศอินเดียและจีน มีการใช้กระวานเป็นยารักษาอาการผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[1]
- ช่วยแก้อาการผิดปกติของตับและคอ (ผล)[1]
- ช่วยลดอาการอักเสบ (ผล)[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระวานเทศ
- มีการทดลองให้หนูกินสารสกัดเอทานอลที่ได้จากเมล็ดกระวานเทศในขนาด 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็นระยะเวลา 7 วัน พบว่าเริ่มเกิดอาการพิษ ทำให้หนู (Mouse) มีน้ำหนักตัวที่ลดลง[1]
- น้ำมันจากเมล็ด มีฤทธิ์ช่วยลดอาการเกร็งของลำไส้หนู โดยทำการทดลองด้วยวิธีการแยกลำไส้ของหนูออกมาทดสอบภายนอก[1]
- การทดสอบฤทธิ์การยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เมื่อเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูด้วยเอทานอลพบว่า สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ (ขนาด 50-100 มก./กก.) สามารถช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 50% ส่วนสารสกัดเมทานอล (ขนาด 500 มก./กก.) จะช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 70% แต่ถ้าเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยยาแอสไพริน จะพบว่าสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ (ขนาด 12.5 มก./กก.) จะช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ถึง 100% และถ้าหากให้ในขนาดที่มากกว่า 12.5 มก./กก. จะพบว่าการออกฤทธิ์นั้นดีกว่ายารักษาโรคกระเพาะอาหารมาตรฐานอย่างรานิทิดีน (Ranitidine) ที่ให้ในขนาด 50 มก./กก.[1]
- ผลกระวานแห้งจะให้น้ำมันหอมระเหย (Essential oil) ประมาณ 3.5-7% ซึ่งน้ำมันหอมระเหยจะอยู่ภายในเมล็ดเป็นส่วนใหญ่ โดยน้ำมันนี้มีลักษณะเป็นน้ำสีเหลืองอ่อน ซึ่งองค์ประกอบส่วนใหญ่ในน้ำมันจะประกอบไปด้วย 1,8 cineol (20-60%), ?-caryophyllene, ?-pinene, ?-terpineol, ?-terpinyl acetate (20-53%), Geraniol, Geranyl acetate, Linalyl acetate, Limonene, Linalool, Myrcene, Nerol, Nerolidol, Sabinene, Terpinen-4-ol[1]
ประโยชน์ของกระวานเทศ
- ผลและเมล็ดแห้งใช้เป็นเครื่องเทศหรือใช้แต่งกลิ่นอาหาร เช่น การนำมาแต่งกลิ่นน้ำพริกแกง แต่งกาแฟ กลิ่นเค้ก ขนมปัง เหล้า เครื่องดื่มแบบชาฝรั่ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้ผสมในเครื่องหอมและใช้ในการแต่งกลิ่นสบู่ น้ำหอม ผงซักฟอก และนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการช่วยขับลม[2]
- ใช้ในการแต่งกลิ่นยาเตรียมหลายชนิด[1]
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “กระวานเทศ“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [18 พ.ย. 2013].
- คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. กรีนไฮเปอร์มาร์ท สารานุกรมผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากพืชในซุปเปอร์มาร์เก็ต ฉบับคอมพิวเตอร์. “กระวานเทศ“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sc.mahidol.ac.th. [18 พ.ย. 2013].
- เครือข่ายระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “กระวานและเร่ว“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: mis.agri.cmu.ac.th. [18 พ.ย. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by dinesh_valke, Aroma Assistant, twacar, jamyealexandra, Mohan_Suresh), เว็บไซต์วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)